บุษยา รังสี (13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553) เป็นนักร้องรุ่นกลางของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของฉายา ราชินีเพลงสถาบัน และ ราชินีเพลงลา

บุษยา รังสี
จากปกแผ่นเสียงเพลง "รักที่ต้องมนตรา" และเป็นภาพหน้าศพขณะบำเพ็ญกุศลศพเมื่อเดือน ก.พ.2553
จากปกแผ่นเสียงเพลง "รักที่ต้องมนตรา" และเป็นภาพหน้าศพขณะบำเพ็ญกุศลศพเมื่อเดือน ก.พ.2553
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด13 สิงหาคม พ.ศ. 2483
มานี ทัพพะรังสี
เสียชีวิต15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 (69 ปี)
กรุงเทพมหานคร
คู่สมรสพลเรือโทชูชาติ เกษเสถียร
ปีที่แสดงพ.ศ. 2501 - 2552 (51 ปี)
ผลงานเด่นน้ำตาดาว ฝนหยาดสุดท้าย ฝากหมอน ฝากรัก

ประวัติ แก้

บุษยา รังสี หรือชื่อจริงว่า มานี ทัพพะรังสี ชื่อเล่น ต้อย เป็นบุตรสาวของพระยานราทรพิรัญรัฐ (เยื้อน ทัพพะรังสี) และเสงี่ยม ทัพพะรังสี เกิดเมื่อวันอังคารที่13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 บ้านเลขที่ 5 ถนนสุขุม ที่จังหวัดสงขลา มีพี่น้อง 17 คน ชาย 9 คน หญิง 8 คน เข้าศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดสงขลา ชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนหวังดี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-3ที่โรงเรียนสุกิจวิทยาลัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่4-6ที่โรงเรียนพาณิชยการ และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อนุปริญญาทางพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

โลกเสียงเพลง แก้

เริ่มเป็นนักร้องประจำวงพณิชยการพระนคร เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่พณิชยการพระนคร และยังช่วยร้องให้วงดนตรีโรงเรียนนายเรือสถานีวิทยุ อ.ส.ในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

ครั้งหนึ่งที่วงดนตรีโรงเรียนนายเรือ ณ สถานีวิทยุ อ.ส. ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงดนตรีร่วมด้วยนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ฟังเสียงเธอร้องเพลง "สำคัญที่ใจ" คู่กับ เทอด วรรธนา (ผู้แต่งคำร้องเพลง ครวญถึงเจ้า) ครูเอื้อติดใจในเสียงร้องของบุษยาถึงกับเชื้อชวนให้มาร่วมวงสุนทราภรณ์ แต่ด้วยยังห่วงเรียนจึงปฏิเสธไป

จนกระทั่งเมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณบุษยาก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักร้องวงสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะด้วยโชคชะตาที่ถูกกำหนดมาแล้วหรือไม่ก็ไม่อาจรู้ ด้วยวงดนตรีสุนทราภรณ์ไปบรรเลงที่มหาวิทยาลัย คุณบุษยาถูกชวนให้ขึ้นไปร้องเพลงร่วมกับครูเอื้อ สุนทรสนานในครั้งนั้นขณะที่เพิ่งเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 จึงถูกชักชวนจากครูเอื้ออีกครั้ง และในที่สุดบุษยาได้เข้าเป็นดาวรุ่งพรุ่งนี้ยุคแรกๆร่วมกับมาริษา อมาตยกุลและอ้อย อัจฉรา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ตั้งชื่อให้เธอว่า "ทัดดาว บุษยา" แต่ครูเอื้อ สุนทรสนานให้ใช้ชื่อว่า "บุษยา รังสี " คุณ บุษยา รังสีเคยกล่าวว่า “จริงๆเเล้วท่านครูเอื้อจะให้เราชื่อ รังสี บุษยา เเต่เราชอบชื่อบุษยามากกว่า”

เพลงแรกที่เธอได้บันทึกเสียง คือเพลง น้ำตาดาว ซึ่งเธอขับร้องออกรายการโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2502 ซึ่งเป็นเพลงที่อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง วิมานใยบัว นอกจากนั้นยังได้ขับร้องและแสดงจินตลีลาเพลง นิมิตสวรรค์ ในโอกาสครบรอบ 20 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนับตั้งแต่นั้น

บุษยาเคยรับราชการ กรมบัญชีกลางอยู่ระยะหนึ่งควบคู่ไปกับการร้องเพลง ก่อนลาออกมารับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์จนเมื่อครูเอื้อ สุนทรสนานเกษียณอายุราชการ จึงได้ออกมาร้องเพลงไทยสากลอยู่ระยะหนึ่ง เพลงที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ฝั่งหัวใจ ต่อมาได้ติดตามสามี (พลเรือโทชูชาติ เกษเสถียร) ไปอยู่ต่างประเทศระยะหนึ่ง เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ร้องเพลงให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์และวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ในงานการกุศลต่าง ๆ เป็นครั้งคราว แต่หยุดร้องเพลงไปนานกว่า 15 ปี จนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยเหตุผลทางสุขภาพ

ผลงาน แก้

เพลงแรกที่ทำชื่อเสียงและได้บันทึกแผ่นเสียง คือ "น้ำตาดาว "

ส่วนเพลงอื่นๆ ที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่

  • ขับร้องต้นฉบับ

กระซิบสวาท ,รักวันเติมวัน ,ฝากหมอน ,ฝนหยาดสุดท้าย ,สั่งไทร ,แก้วจ๋า ,หิมพานต์ ,ห่วงรัก ,เรือมนุษย์ ,ชีวิตวอลซ์ ,ปีศาจวสันต์ ,อยากเป็นของเธอ ,ป่านนี้พี่รอ ,ใกล้มือคว้า ,ฝั่งหัวใจ ,ปาฏลีอธิษฐาน ,จันทร์รอแรม ,ภารตะในฝัน,ปลายโลกร้าง ,ไม่รักไม่รู้(คู่ยรรยงค์ เสลานนท์) ,คลื่นเคืองทะเล ,ฝากใจฝัน ,ท่าน้ำ ,คลื่นละเมอฝั่ง(คู่เอื้อ สุนทรสนาน) ,ชีวิตวอลซ์ ,รักที่ต้องมนตรา ,รักอมฤต, มัทรีร้องไห้ เป็นต้น

  • เพลงลา/เพลงสถาบัน

โดมในดวงใจ ,อาลัยโดม ,จำจากโดม , กลิ่นกุหลาบ , ชมพู-ฟ้าอาลัย , ดุสิตรำลึก ,ปทุมวันในดวงใจ ,ปริญญาพยาบาล ,บางแสนแดนอาลัย ,มดลาบางบางอาลัยมด(คู่เอื้อ สุนทรสนาน) ,ขวัญจิตมิตรราม(คู่ยรรยงค์ เสลานนท์ ,คนึงขวัญ ,โดมร่มใจ ,โดมรอเธอ(คู่วินัย จุลละบุษปะ) ,เขตรั้วสีบลู ,ลาขอนแก่น ,ลาจุฬาพยาบาล ,ลาแม่โจ้ ,ลาแล้ววศ. ,ลาจปร. ,ลาพยาบาลภูมิพล ,ลาแล้วเวียงขวัญ ,รามาที่รัก ,ลาราม ,ลามหิดล ,ลาภูพิงค์ และเพลงลาของสถาบันต่างๆ ทำให้ได้ฉายาว่า'ราชินีเพลงสถาบัน'

  • เพลงที่นำมาบันทึกเสียงใหม่

ละครชีวิต(ต้นฉบับจุรี โอศิริ) ,ฝากรัก(ต้นฉบับเพ็ญศรี พุ่มชูศรี) ,แนวหลัง(ต้นฉบับรุจี อุทัยกร) ,ธารน้ำรัก คู่ สุนทราภรณ์(ต้นฉบับชวลีคู่สุนทราภรณ์) ,ฉันไม่ชอบเดือนหงาย(ต้นฉบับสุภาพ รัศมิทัต) ,ถิ่นไทยงาม(ต้นฉบับมัณฑนา โมรากุล) เป็นต้น

ถึงแก่กรรม แก้

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 นอนหลับไปแล้วไม่ตื่นที่บ้านพักของตนเอง หลังจากมีอาการเนื้องอกในสมองมานานหลายปี มิใช่ป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้อย่างที่เป็นข่าว[1]

อ้างอิง แก้

  1. "กระทู้ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของคุณบุษยา รังสี บ้านคนรักสุนทราภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-24. สืบค้นเมื่อ 2010-03-28.

รายการฟังสบาย บ่ายวันเสาร์ โดย พิมผกา วันดี, อโศก สุขศิริพรฤทธิ์