มัณฑนา โมรากุล
มัณฑนา โมรากุล ปัจจุบันมีชื่อจริงว่า มัณฑนา เกียรติวงศ์[1] (30 มีนาคม พ.ศ. 2466) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปีพ.ศ. 2552 อดีตนักร้องหญิงคนแรกของวงดนตรีกรมโฆษณาการและนักร้องรุ่นแรกของวงสุนทราภรณ์
มัณฑนา เกียรติวงศ์ | |
---|---|
![]() | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 30 มีนาคม พ.ศ. 2466 (97 ปี) เจริญ โมรากุล |
คู่สมรส | บุญยงค์ เกียรติวงศ์ |
อาชีพ | นักร้อง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2479 - 2517 |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2552 - สาขาศิลปะการแสดง - ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง |
ประวัติแก้ไข
มัณฑนาเกิดที่บ้านสวนสุพรรณ ที่พำนักของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) (เป็นที่ประทับตามพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี) เป็นบุตรคนที่สี่ในจำนวนหกคนของหลวงสิริราชทรัพย์ (ชัย โมรากุล) (2439-2504) ข้าราชการกรมบัญชีกลางเชื้อสายจีน[2] กับผัน โมรากุล (สกุลเดิม เครือสุวรรณ) ซึ่งเป็นครูละครในบ้านสวนสุพรรณ
ชื่อของมัณฑนานั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง เมื่อแรกเกิด เป็นเวลาที่บิดาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากขุนขึ้นเป็นหลวง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ จึงเมตตาตั้งชื่อให้ว่า "เจริญ" เพราะเกิดมาพร้อมกับความเจริญของบิดา ในช่วงหนึ่งได้มีโอกาสเล่นละครร่วมกับคณะบรรทมสินธุ์ของพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ท่านจึงให้ชื่อสำหรับใช้เล่นละครว่า แสงจำเริญ ต่อมาได้ไปฝึกการขับร้องเพลงกับครูสกนธ์ มิตรานนท์ เมื่อพ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนให้ชื่อเป็น จุรี และครั้งหลังที่สุดจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น มัณฑนา เมื่อพ.ศ. 2485[3]
มัณฑนาได้ฝึกร้องเพลงครั้งแรกกับมิสแมคแคน ที่ในโบสถ์พระคริสต์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเริ่มหัดร้องเพลงไทยเดิมกับครูเจอ บุรานนท์ (มารดาของสุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต) ที่ในบ้านสวนสุพรรณ ภายหลังเกิดแรงบันดาลใจจากการขับร้องเพลงไทยสากลของจำรัส สุวคนธ์ บวกกับมีความชื่นชอบในการขับร้องเพลงไทยสากลอยู่แล้ว จึงได้ฝึกขับร้องเพลงไทยสากลอย่างจริงจังจาก ครูสกนธ์ มิตรานนท์, ครูเวส สุนทรจามร และครูสริ ยงยุทธ รวมถึงฝึกฝนด้วยตนเอง
ด้านการศึกษา เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสาวภา แต่จบเพียงชั้นมัธยมปีที่ 2 เพราะฐานะทางบ้านไม่อำนวย จึงได้แต่หัดร้องเพลงกับครูสกนธ์ มิตรานนท์ และครูพิมพ์ พวงนาค โดยเล่นละครวิทยุกับคณะจารุกนกอยู่ระยะหนึ่ง จนมีโอกาสได้บันทึกเสียงเพลงไทยสากลเพลงแรกเมื่อพ.ศ. 2482 กับห้าง ต. เง็กชวน คือเพลง "น้ำเหนือบ่า" แต่งโดยครูพิมพ์ พวงนาค
ต่อมาได้มีโอกาสไปขับร้องเพลงในงานวันประสูติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 มัณฑนาจึงได้รับการชักชวนจาก พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมโฆษณาการในขณะนั้น ให้ไปเป็นนักร้องของวงดนตรีโฆษณาการในวันถัดมา ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 16 ปี จึงยังบรรจุเป็นข้าราชการไม่ได้ ต้องบรรจุในตำแหน่งพนักงานวิสามัญ(ลูกจ้าง)ก่อน จนมีอายุครบตามกำหนดจึงได้เลื่อนเป็นนักร้อง นับเป็นนักร้องหญิงคนแรกของวง
ในช่วงที่รับราชการในกรมโฆษณาการ มัณฑนาได้ขับร้องเพลงปลุกใจ และเพลงพระราชนิพนธ์ รวมถึงเพลงไทยสากลประเภทต่างๆไว้เป็นจำนวนมากกว่า 200 เพลง ลักษณะการร้อง เธอเป็นนักร้องหญิงคนแรก ๆ ของไทย ที่นำการใช้ลูกคอแบบตะวันตกมาใช้ร้องในเพลงไทย เพื่อช่วยการร้องให้เกิดเสียงสูง เรียกว่า "เสียงสมอง" นอกจากนี้ ยังได้รับหน้าที่โฆษกหญิงยุคต้นของกรมโฆษณาการด้วย เธอเป็นสมาชิกของวงดนตรีกรมโฆษณาการและสุนทราภรณ์ 10 ปี และลาออกเมื่อพ.ศ. 2494 เพื่อสมรสกับบุญยงค์ เกียรติวงศ์ มีบุตร-ธิดารวมสี่คน
หลังจากลาออกจากราชการ มัณฑนาได้ร่วมกับสามีทำกิจการโรงภาพยนตร์ศรีพรานนกและสร้างภาพยนตร์ในระยะหนึ่ง ด้านการร้องเพลงก็ได้มาร่วมร้องในรายการโทรทัศน์เป็นครั้งคราว จนถึงพ.ศ. 2515 จึงเลิกร้องเพลงอย่างถาวรด้วยเหตุผลทางสุขภาพ และอยู่กับบุตร-ธิดาที่บ้านย่านพุทธมณฑลสาย 2 แต่ยังปรากฏตัวตามงานคอนเสิร์ตการกุศลบ้าง เช่น
- คอนเสิร์ต "ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล" จัดขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ในโอกาสครบรอบ 72 ปี
- คอนเสิร์ต "นิมิตใหม่ ใช่เพียงฝัน 80 ปีมัณฑนา โมรากุล" จัดโดยกรมศิลปากร ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
- คอนเสิร์ตการกุศล "ย้อนเวลากับมัณฑนา โมรากุล" เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในโอกาสครบรอบ 84 ปี [4]
- คอนเสิร์ต "ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ" จัดขึ้น ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553 ในโอกาสได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปีพ.ศ. 2552 และมีอายุครบ 87 ปี[5]
เกียรติยศแก้ไข
- ได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปีพ.ศ. 2552 เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553[6]
ผลงานแก้ไข
ขับร้องแก้ไข
- ดวงใจกับความรัก (เพลงพระราชนิพนธ์)
- เทวาพาคู่ฝัน (เพลงพระราชนิพนธ์)
- น้ำเหนือบ่า
- จันทร์แจ่มฟ้า
- สกุณาพาคู่
- ใจชาย
- สุดอาลัย
- วัฒนธรรม
- สวมหมวก
- พลเมืองดี
- สวนครัว
- ปลุกไทย
- หนองคาย
- ไทยไม่ทำลายไทย
- ทางสร้างชาติ
- ทรัพย์ในดิน
- วังบัวบาน
- ดาวที่อับแสง
- จุฬาตรีคูณ
- ปรัชญาขี้เมา
- รักคะนองคองก้า (คู่ วินัย จุลละบุษปะ)
- กล่อม
- กล่อมดรุณ
- สนต้องลม
- วังน้ำวน
- ผู้แพ้รัก
- ดวงใจที่ไร้รัก
- อาลัยลา
- ลมโชย
- นักเรียนพยาบาล
- ปองใจรัก (คู่กับเอื้อ สุนทรสนาน)
- สิ้นรักสิ้นสุข
- เมื่อไรจะให้พบ
- สวยรวย
- เพลินชมดง
- สายลมครวญ
- เงาแห่งความหลัง (คู่ วินัย จุลละบุษปะ)
- หนูเอย
- ราตรี
- ผีเสื้อยามเช้า
- วิญญาณรัก
- ศาสนารัก
- ปางหลัง
- ชั่วชีวิต
- เทพบุตรในฝัน
- ดอกไม้กับแมลง
- น้ำค้างกลางหาว
- ผาเงอบ
- จันทร์กะพ้อร่วง
- ธรณีกรรแสง ฯลฯ
คำประพันธ์แก้ไข
มัณฑนา มีผลงานประพันธ์คำร้องของเพลง ดังต่อไปนี้[7]
- วาสนากระต่าย (เอื้อ สุนทรสนาน ขับร้อง เป็นหนึ่งในบรรดาเพลงโปรดของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี)
- ใจหนอใจ (จันทนา โอบายวาทย์ ขับร้อง)
- รักมีกรรม (วินัย จุลละบุษปะ ขับร้อง)
- เสียงดุเหว่า (มาริษา อมาตยกุล ขับร้อง)
- ราตรีสุดท้าย (รวงทอง ทองลั่นธม ขับร้อง)
- แสนห่วง (บุษยา รังสี ขับร้อง)
- สุดคะนึง (มัณฑนา โมรากุล ขับร้อง)
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ "'แม่ผ่องศรี' ชู 'ในหลวง' ต้นแบบสู้วิกฤติน้ำท่วม" (Press release). ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556. Check date values in:
|accessdate=
(help) - ↑ "ดาวประดับฟ้า "มัณฑนา โมรากุล" (ตอนที่ 1) : ชีวิตต้องสู้!". ผู้จัดการออนไลน์. 12 มกราคม 2553. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2559. Check date values in:
|accessdate=, |date=
(help) - ↑ ภูมิหลังของชีวิต มัณฑนา โมรากุล
- ↑ ข่าวงานคอนเสิร์ต 84 ปี มัณฑนา โมรากุล
- ↑ ขอเชิญชมคอนเสิร์ต ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ
- ↑ มัณฑนา โมรากุล (เกียรติวงศ์) จากเว็บไซต์ศิลปินแห่งชาติ
- ↑ มัณฑนา โมรากุล กับเพลงที่แต่งเนื้อร้องเอง