สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต

สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต หรือ หม่อมสุลาลีวัลย์ สุริยง ณ อยุธยา (19 ตุลาคม พ.ศ. 2463 – 27 กันยายน พ.ศ. 2535) ชื่อเล่น ทอง เป็นนักแสดงหญิงชาวไทย เธอเป็นมารดาของทนงศักดิ์ ภักดีเทวา นักร้องชาวไทย และเป็นย่าของหม่อมหลวงสุรีย์วัล สุริยง ซึ่งเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงเช่นเธอ

หม่อมสุลาลีวัลย์ สุริยง ณ อยุธยา
ชื่อเกิดสุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต
เกิด19 ตุลาคม พ.ศ. 2463
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต27 กันยายน พ.ศ. 2535 (71 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
บิดาสุหร่าย สุวรรณทัต
มารดาเจอ บุรานนท์
คู่สมรสยอแสง ภักดีเทวา (หย่า)
หม่อมเจ้าอติวงศ์วิวัสวัติ สุริยง
บุตรทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
หม่อมราชวงศ์ธิติสาร สุริยง
หม่อมราชวงศ์ประยูรพันธุ์ สุริยง
หม่อมราชวงศ์นันทนา สุริยง
หม่อมราชวงศ์อำพน สุริยง
หม่อมราชวงศ์อัจจิมา สุริยง
อาชีพนักแสดง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2482 - 2535

ประวัติ แก้

สุลาลีวัลย์เป็นบุตรีของสุหร่าย สุวรรณทัต กับเจอ บุรานนท์ ข้าหลวงในเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เมื่ออายุได้ 7-8 ขวบ มารดาได้นำตัวไปถวายกับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ รุ่นเดียวกันกับพูลทรัพย์ ตราโมท และผัน โมรากุล จึงได้รับการฝึกฝนให้เรียนละครกับสำนักเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ซึ่งท่านก็แสดงได้ดี จนส่วนใหญ่ได้รับเป็นตัวยืนเครื่องชั้นดี รับบทนำเด่น ๆ เสมอ โดยป้าทองได้รับการฝึกฝนจากคุณครูที่มีฝีไม้ลายมือชั้นเลิศ เช่น ท้าววรจันทร์ (วาด อิเหนา), เจ้าจอมมารดาเขียน, พระยานัฏกานุรักษ์ เป็นต้น

ป้าทองก้าวเข้าสู่วงการครั้งแรกก็จากการชักชวนของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เมื่อแรกผลิตภาพยนตร์ในนาม ไทยฟิล์ม ช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2482[1] บทบาทแรกเริ่มยังไม่ค่อยโดดเด่นมากนัก จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง วงการภาพยนตร์ต้องหยุดฉาย หยุดสร้าง เพราะวัตถุดิบคือฟิล์มไม่มีการส่งมาจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทไทยฟิล์มเลิกกิจการสร้างภาพยนตร์ เปลี่ยนมาทำละครเวทีแทน ในนามอัศวินการละคร ยุคละครเวที พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ได้นางเอกสุพรรณ บูรณะพิมพ์มารับบทนางเอกละครเจ้าน้ำตา เรียกคนดูได้เป็นอย่างดี นางร้ายเลยเหมาะกับหม่อมสุลาลีวัลย์ โดยใช้นามสกุลเดิมในวงการนามว่า สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต แสดงได้ดี จนทำให้คนดูออกอาการเกลียดนางร้ายอย่างป้าทองอย่างมาก โดยบทที่โด่งดังมากคือบท ป้าทอง ในละครเวทีเรื่องวนิดา[2] จนหม่อมหลวงทรงสอางค์ ฑิฆัมพร ได้ตั้งชื่อเล่นให้สุลาลีวัลย์ว่าป้าทอง[ต้องการอ้างอิง] ป้าทองมีชื่อเสียงในรุ่นเดียวกับ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ และ มาลี เวชประเสริฐ

ถึงแม้ชีวิตการแสดงส่วนใหญ่ของป้าทอง มักจะรับบทเป็นคนใช้ ถึงกระนั้นป้าทองก็เคยรับบทนำเช่นกันใน "กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่" (2523)[3] โดยรับบทเป็นแม่ ในการแสดงบทร้าย ๆ นั้นสุพรรณ บูรณะพิมพ์นักแสดงละครเวทีรุ่นน้องก็มักจะนั่งจำท่าทีการแสดงของป้าทอง จนภายหลังสุพรรณได้กลายเป็นนางร้ายผู้ยิ่งใหญ่ในแวดวงละคร

ชีวิตครอบครัว แก้

สุลาลีวัลย์สมรสครั้งแรกกับยอแสง ภักดีเทวา อดีตครูโขน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา นักร้องผู้โด่งดัง[4] และได้หย่าร้าง[5]กับครูยอแสงในเวลาต่อมา

ต่อมาสุลาลีวัลย์สมรสครั้งที่สองกับหม่อมเจ้าอติวงศ์วิวัสวัติ สุริยง[6] เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2482 จึงมีศักดิ์เป็น หม่อมสุลาลีวัลย์ สุริยง ณ อยุธยา มีบุตรธิดา 5 คน ดังนี้

    • หม่อมราชวงศ์ธิติสาร สุริยง (บิดาของหม่อมหลวงสุรีย์วัล สุริยง)
    • หม่อมราชวงศ์ประยูรพันธุ์ สุริยง
    • หม่อมราชวงศ์นันทนา สุริยง
    • หม่อมราชวงศ์อำพน สุริยง
    • หม่อมราชวงศ์อัจจิมา สุริยง

ผลงานภาพยนตร์ แก้

ผลงานละครโทรทัศน์ แก้

  • 2504: สี่แผ่นดิน ช่อง 4
  • 2510-2522: หุ่นไล่กา ช่อง 5
  • 2510: ขุนศึก ช่อง 4
  • 2510: เดิมพันชีวิต ช่อง 4
  • 2510: วนิดา ช่อง 4
  • 2515: คู่กรรม ช่อง 4
  • 2517: เหมือนคนละฟากฟ้า ช่อง 3
  • 2518: ภาพยนตร์ชุด ปอบผีฟ้า ของดาราฟิล์ม ช่อง 7
  • 2518: ตะวันขึ้นที่อ่าวพังงา ช่อง 5
  • 2518: อนิลทิตา ช่อง 5
  • 2520: ล่าวิญญาณ ช่อง 5
  • 2521: ตะวันยอแสง ช่อง 3
  • 2521: คู่กรรม ช่อง 9
  • 2521: ความรัก ตอนวัยรุ่น ช่อง 3
  • 2521: สกาวเดือน ช่อง 9
  • 2523: ปิ่นรัก ช่อง 9
  • 2523: สี่แผ่นดิน ช่อง 5
  • 2526: วิมานคนบาป ช่อง 9
  • 2526: แรงรัก ช่อง 9
  • 2527: อยู่เพื่อรัก ช่อง 3
  • 2528: รักในสายหมอก ช่อง 3
  • 2529: ความรักแสนกล ช่อง 3
  • 2529: กามนิต-วาสิฏฐี ช่อง 3 (รับเชิญ)
  • 2530: ฟ้าต่ำ ช่อง 3
  • 2530: ตะวันขึ้นที่อ่าวพังงา ช่อง 5
  • 2531: อีสา ช่อง 7
  • 2531: อาศรมสาง ช่อง 3
  • 2531: สังเวียนรัก ช่อง 3
  • 2531: ปราสาทมืด ช่อง 7
  • 2531: เกมกามเทพ ช่อง 3
  • 2532: ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง ช่อง 3
  • 2532: บ้านไม่รู้โรย ช่อง 9
  • 2532: เมียหลวง ช่อง 7
  • 2532: เคหาสน์สีแดง ช่อง 7
  • 2532: เกิดจากวัด ช่อง 3
  • 2532: แม่นาคพระโขนง ช่อง 3
  • 2533: คนเหนือดวง ช่อง 7
  • 2533: ตะกายดาว ตอน ดาวตกกระ ช่อง 9
  • 2533: โหด เลว อ้วน ช่อง 3
  • 2533: โก๋ตี๋กี๋หมวย ช่อง 3
  • 2533: หงส์ทอง ช่อง 7
  • 2533: บัวแล้งน้ำ ช่อง 7
  • 2533: ดวงตาสวรรค์ ช่อง 7
  • 2533: รอยมาร ช่อง 3
  • 2534: บ้านสาวโสด ช่อง 3
  • 2534: วนิดา ช่อง 3
  • 2534: กะลาก้นครัว ช่อง 7
  • 2534: ป่ากามเทพ ช่อง 3
  • 2534: คุณหญิงบ่าวตั้ง ช่อง 9
  • 2534: ละอองเทศ ช่อง 9
  • 2534: พระสุริโยทัย ช่อง 5
  • 2535: โทน ช่อง 3
  • 2535: คลื่นซัดใจ ช่อง 3
  • 2535: ชีวิตเปื้อนฝุ่น ช่อง 7 (เรื่องสุดท้ายก่อนเสียชีวิต)

ถึงแก่กรรม แก้

ป้าทอง สุลาลีวัล สุวรรณทัต หรือ หม่อมสุลาลีวัล สุริยง ณ อยุธยา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2535 สิริอายุ 72 ปี

อัฐิส่วนหนึ่งบรรจุอยู่ในวิหารน้อย[7] สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในฐานะสมาชิกแห่งราชสกุลสุริยง

อ้างอิง แก้

  1. บันเทิงเรื่องอดีต
  2. ละครไทยในความทรงจำ - ป้าทอง+นางจวง วนิดา 2534 | Facebook
  3. "★อมตะหนังไทย เรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" ออกฉายโรงเมื่อ 37 ปีที่แล้ว(ชมฉาก บักทองฆ่าแม่,สร้างพระธาตุฯ และ ตอนบักทองถูกประหารชีวิต)". picpost.postjung.com.
  4. "อาลัยแด่นักร้องเสียงอ้อน "ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา"". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 2007-11-23.
  5. บันเทิงเรื่องอดีต
  6. หนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าอติวงศ์วิวัสวัติ สุริยง ป.ม. ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร, วันที่ 5 มิถุนายน 2550
  7. "อัฐิของป้าทอง ณ วิหารน้อย สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-05. สืบค้นเมื่อ 2021-06-05.