คู่กรรม
คู่กรรม เป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและวีรคติ ประพันธ์โดย ทมยันตี ดำเนินเรื่องที่มีฉากหลังในประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อราวปี พ.ศ. 2508 จากการเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี และเข้าชมสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรักที่ฝังร่างของเหล่าทหารสัมพันธมิตร โดยสะดุดใจเมื่อเห็นคำจารึกถึงบนหลุมศพทหารสัญชาติเนเธอร์แลนด์คนหนึ่ง เมื่อสอบถามดูได้ความว่าเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัวที่มาเสียชีวิตลงที่ประเทศไทย โดยที่ผู้เป็นพ่อแม่มิอาจมาร่วมฝังศพของลูกชายได้[1]
คู่กรรม | |
---|---|
ผู้ประพันธ์ | ทมยันตี (วิมล เจียมเจริญ) |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ภาษา | ภาษาไทย |
ประเภท | โศกนาฏกรรมและวีรคติ |
สำนักพิมพ์ | นิตยสารศรีสยาม |
พิมพ์ในภาษาไทย | พ.ศ. 2512 |
หน้า | 701 (สองเล่ม) |
ISBN | 9786117052040 |
เรื่องถัดไป | คู่กรรม 2 |
คู่กรรม เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2508 ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารศรีสยาม (ในเครือนิตยสารขวัญเรือน)[2] และรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 แล้วตีพิมพ์มาหลายครั้ง มีภาคต่อคือ คู่กรรม 2 ถือว่าเป็นบทประพันธ์ที่ชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของทมยันตี
คู่กรรม ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์แล้วหลายครั้ง เริ่มจาก ช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นละครถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2513, พ.ศ. 2515 และต่อมาทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในปี พ.ศ. 2521 ครั้งสำคัญเป็นละครทางช่อง 7 สี ในปี พ.ศ. 2533 เป็นละครที่สร้างประวัติศาสตร์เรตติ้งสูงสุดอันดับ 1 ของเมืองไทยตลอดกาล เรตติ้ง 40 [3][4] และได้รับรางวัลทั้งเมขลาและโทรทัศน์ทองคำในปีเดียวกัน หลังจากนั้นได้นำมาสร้างใหม่เป็นละครทางช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2547 (มีภาคต่อคือ คู่กรรม 2)
คู่กรรม ยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ในปี พ.ศ. 2516, พ.ศ. 2531, พ.ศ. 2538 ซึ่งทั้ง 2 ครั้งหลังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลตุ๊กตาทองไปทั้งคู่
นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงเป็นละครเวที โดยค่ายดรีมบอกซ์ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2547 แสดงที่โรงละครกรุงเทพ และกลางปี พ.ศ. 2550 แสดงที่โรงละครกรุงเทพเมโทรโพลิส
และในปี พ.ศ. 2556 มีการออกอากาศ คู่กรรม เป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ในปีเดียวกัน ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน โดยเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์ผลิตโดยเอ็กแซ็กท์และซีเนริโอ ออกอากาศทางช่อง 5 และเวอร์ชั่นภาพยนตร์สร้างโดยเอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ ซึ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างคู่กรรมทั้ง 2 เวอร์ชั่นจากผู้รับชม[5]
ละครโทรทัศน์
แก้คู่กรรม ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) รวม 6 ครั้ง ได้แก่
- ในปี พ.ศ. 2513 สร้างครั้งแรกออกอากาศทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม สร้างโดย เทิ่ง สติเฟื่อง ในนามของ คณะศรีไทยการละคร
- ต่อมาออกอากาศทางช่อง 4 บางขุนพรหม ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2515 ต่อมาออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ในปี พ.ศ. 2521
- ในปี พ.ศ. 2533 ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 สร้างโดย สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้ถือลิขสิทธิ์นวนิยาย หยิบเรื่องนี้จัดทำเป็นละครโทรทัศน์ ภายใต้นโยบายทำตามบทประพันธ์ ร่วมกับ ดาราวิดีโอ กำกับการแสดงโดย ไพรัช สังวริบุตร ออกอากาศวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00 - 22.00 น. เพลงประกอบชื่อ คู่กรรม คำร้องและทำนองโดย สุทธิพงษ์ วัฒนจัง สร้างประวัติศาสตร์ละครที่เรตติ้งสูงสุดของประเทศไทย [6] เรื่องนี้ส่งผลให้ได้ได้รับรางวัลทั้งเมขลาและโทรทัศน์ทองคำหลายสาขา ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม - วันที่ 9 มิถุนายน 2533
- ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สร้างโดย เรด ดราม่า กำกับการแสดงโดย นพดล มงคลพันธ์ ออกอากาศวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.20 น.[7] มีภาคต่อคือ คู่กรรม 2
- ครั้งล่าสุด ปี พ.ศ. 2556 ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ออกอากาศทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สร้างโดย เอ็กแซ็กท์ และ ซีเนริโอ กำกับการแสดงโดย สันต์ ศรีแก้วหล่อ ออกอากาศวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.10 - 21.40 น.[8][9] ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 16 เมษายน พ.ศ. 2556 รวม 24 ตอน
ภาพยนตร์
แก้คู่กรรม ได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2516, พ.ศ. 2531, พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2556 ได้แก่
ละครเวที
แก้ดูบทความหลักที่ คู่กรรม เดอะมิวสิคัล
คู่กรรมได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นละครเวที ในรูปแบบ ละครเพลง (sung-through musical) กลางปี พ.ศ. 2547 โดยค่ายดรีมบอกซ์ กำกับการแสดงโดย สุวรรณดี จักราวรวุธ แสดงที่โรงละครกรุงเทพ
- เซงิ โอเซกิ รับบท โกโบริ
- ธีรนัยน์ ณ หนองคาย รับบท อังศุมาลิน
- วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ รับบท วนัส
จากนั้นได้กลับมาแสดงอีกครั้ง กลางปี พ.ศ. 2550 โดยทีมงานชุดเดิมทั้งหมด แสดงที่ โรงละครกรุงเทพเมโทรโพลิส
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ สัมภาษณ์ทมยันตี คู่กรรม(2538) จากรายการเกาะกล่องหนังไทย ทางไทยพีบีเอส
- ↑ พนิดา ชอบวณิชชา, ชุติมา ศรีทอง. The 40-Years-Old-Magazine, The Legend of ขวัญเรือน. กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก, 2552. 256 หน้า. ISBN 978-611-7079-03-0
- ↑ ข่าวเจาะประเด็น ช่อง 7, 17 เม.ย. 2555, ช่วงภาพเก่าเล่าใหม่ "ตอนอวสานโกโบริ",สร้างประวัติศาสตร์เรตติ้งสูงสุดของละครไทย เรตติ้ง 40
- ↑ ข่าวเช้าวันนี้ที่หมอชิต ช่อง 7, 20 สิงหาคม 2555, "ตอนปิดตำนานอังศุมาลิน",ละครที่เรตติ้งสูงสุดของประวัติศาสตร์ละครไทย
- ↑ "จับผิดภาพโปรโมตหนัง "คู่กรรม" เวอร์ชัน "ณเดชน์" เสาอากาศทีวีเพียบ!?". ผู้จัดการออนไลน์. 30 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ “คู่กรรม” วรรณกรรมอมตะ ที่ถ่ายทอดเป็นละคร และภาพยนตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า[ลิงก์เสีย]
- ↑ ละครโทรทัศน์คู่กรรม พ.ศ. 2547
- ↑ ละครโทรทัศน์คู่กรรม พ.ศ. 2556
- ↑ "ออกอากาศละครคู่กรรม พ.ศ. 2556". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-01. สืบค้นเมื่อ 2013-01-28.