ถนนพรานนก
ถนนพรานนก (อักษรโรมัน: Thanon Phran Nok) เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากถนนจรัญสนิทวงศ์ที่ทางแยกไฟฉาย ตรงไปทางทิศตะวันออก ไปสิ้นสุดที่ทางแยกพรานนกซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนอิสรภาพ เดิมถนนเส้นนี้เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3188 ในความดูแลของกรมทางหลวง ต่อมาโอนให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล
ปัจจุบันถนนพรานนกเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนอิสรภาพ เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างย่านที่พักอาศัยบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ ทั้งยังเป็นถนนที่มีการจราจรคับคั่งตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น
ประวัติ
แก้ถนนพรานนกเป็นถนนสายที่ 5 ในโครงการตัดถนน 11 สายในฝั่งธนบุรี ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยเป็นหนึ่งในถนนซอย 6 สายที่ตัดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมต่อกับถนนหลัก 4 สายแรก
"สายที่ 5 กว้าง 16 เมตร ยาวประมาณ 830 เมตร ต้นแต่ริมแม่น้ำทางใต้โรงพยาบาลศิริราช ไปผ่านถนนสายที่ 2 (ถนนอรุณอมรินทร์) ตรงไปออกถนนสายที่ 3 (ถนนอิสรภาพ)"[1]
ก่อนหน้าที่จะตัดถนนขึ้น ถนนส่วนต้นที่ข้างโรงพยาบาลศิริราชหรือพื้นที่วังหลังเดิม เคยเป็นตรอกฉางเกลือมาก่อน และจุดเริ่มต้นถนนบริเวณริมแม่น้ำยังเป็นบ้านเดิมของศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันทน์ นักพฤกษศาสตร์คนสำคัญของไทย ที่ถูกเวนคืนไปเพื่อตัดถนน[2]
ในภายหลังได้ตัด "ทางสายแยกจากถนนอิสสระภาพตรงปากถนนพรานนก" (ซึ่งปัจจุบันคือสี่แยกพรานนก) ไปเชื่อมต่อกับทางหลวงสายบางซ่อน-สะพานพระราม 6-บางกอกน้อย (หรือถนนจรัญสนิทวงศ์) จึงทำให้ถนนพรานนกเชื่อมต่อกับถนนจรัญสนิทวงศ์ที่สามแยกไฟฉายในปัจจุบัน[3]
ชื่อถนนพรานนกตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งพระยาวชิรปราการ (พระเจ้าตากสิน) ได้รวบรวมกำลังพลตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันออก เพื่อหลบหนีและเตรียมกอบกู้เอกราชในภายหลัง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากหมู่บ้านรายทางทั้งเรื่องเสบียงและกำลังพล โดยขณะที่ยกทัพมาถึงบ้านพรานนก (ปัจจุบันอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลโพสาวหาญ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ได้เกิดการสู้รบกับทัพพม่า แต่ทัพพระยาตากได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้าน และพรานนกต่อ ซึ่งมีชื่อตามตำนานว่า "เฒ่าคำ" จึงสามารถหลบหนีไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้ในที่สุด
ถนนพรานนกตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ชุมชนชั้นในของฝั่งธนบุรีซึ่งมีตลาดสดและสถานที่สำคัญหลายแห่ง ส่วนบริเวณทางแยกพรานนกเคยมีโรงภาพยนตร์ศรีพรานนก (ภายหลังปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อเป็น "เพชรพรานนก" เมื่อปี พ.ศ. 2522 กลายเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นสอง ก่อนเลิกกิจการไป) ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลตา หู คอ จมูก เดิม (ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่ทางแยกต่างระดับสิรินธร ส่วนอาคารโรงพยาบาลเดิมเปลี่ยนเป็นอาคารพรานนกพลาซ่า)
กายภาพ
แก้- ถนนแอสฟัลต์ 6 ช่องจราจร มีเกาะกลางแบ่งทิศทางการจราจร
- ความยาว 900 เมตร จากทางแยกไฟฉายถึงทางแยกพรานนก
- เขตถนนกว้าง 29.50 เมตร
- ผิวถนนกว้าง 15.00 เมตร
- ทางเท้าด้านซ้ายกว้าง 2.70 เมตร ด้านขวากว้าง 3.70 เมตร[4]
ซอยแยกย่อย
แก้- ซอยสินสมุทร
- ซอยสุดสาคร
- ซอยวัดยาง - เชื่อมต่อซอยอิสรภาพ 43 (ซอยวัดยางเก่า)
- ซอยกุฎีหลวง
- ซอยพรพิพัฒน์
- ซอยพรานนก 15 (สันติสุข)
ปัจจุบันทางราชการได้เปลี่ยนชื่อซอยทั้งหมดโดยใช้ระบบหมายเลขซอย
สถานที่สำคัญ
แก้- ที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย
- วัดยางสุทธาราม
- มัสยิดกุฎีหลวง
โครงการที่เกี่ยวข้อง
แก้- ปัจจุบันมีการก่อสร้าง ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 จากสามแยกไฟฉาย แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย ไปบรรจบถนนพุทธมณฑล สาย 4 (โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมกับโครงการถนนพุทธมณฑล และมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนหลายฉบับ แต่ติดปัญหางบประมาณเวนคืนจนพระราชกฤษฎีกาหมดอายุ ทำให้โครงการยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับถนนพุทธมณฑล สาย 1)
- ช่วงแรกระยะทาง 8 กิโลเมตร ตัดผ่านถนนราชพฤกษ์และถนนพุทธมณฑล สาย 1 ไปบรรจบถนนกาญจนาภิเษกที่แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน และแขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา (เปิดให้บริการแล้ว)
- ช่วงหลังระยะทาง 8.4 กิโลเมตร จากถนนกาญจนาภิเษก ขนานคลองบางเชือกหนังด้านทิศเหนือ ตัดผ่านถนนพุทธมณฑล สาย 2 และถนนพุทธมณฑล สาย 3 ไปบรรจบถนนพุทธมณฑล สาย 4 ที่ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม[5]
- อุโมงค์ลอดแยกไฟฉาย ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ ปัจจุบันเปิดใช้งานแล้ว
- โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สนามหลวง-พรานนก เดิมวางแผนเป็นทางวิ่งใต้ดินตามแนวถนนพรานนกบางส่วน ระหว่างสี่แยกพรานนกถึงสามแยกไฟฉาย โดยจะมีสถานีปลายทางบริเวณถนนพรานนกตัดใหม่ ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีไฟฉาย ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ ปัจจุบันโครงการนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 47 หน้า 230 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2473
- ↑ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ป.ม.ช., ม.ว.ม. หอพรรณไม้ กรมป่าไม้, 2538.
- ↑ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงสายบางซ่อน-สะพานพระราม 6-บางกอกน้อย เชื่อมทางหลวงสายธนบุรี-นครปฐม และถนนอิสสระภาพ พุทธศักราช 2484 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 1306 วันที่ 7 ตุลาคม 2484
- ↑ สถิติจราจร ปี 2548 สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร
- ↑ ปัจจุบันอยู่ระหว่างบังคับใช้ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 พ.ศ. 2550 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอน 22 ก หน้า 13 วันที่ 1 พฤษภาคม 2550
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนพรานนก
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์