แยกไฟฉาย

(เปลี่ยนทางจาก สามแยกไฟฉาย)

แยกไฟฉาย เป็นสี่แยกถนนพรานนกบรรจบถนนจรัญสนิทวงศ์ ใจกลางพื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นจุดเริ่มต้นของถนนพรานนก ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนอิสรภาพและถนนอรุณอมรินทร์ ไปยังตลาดสดพรานนก และพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของฝั่งธนบุรีชั้นใน ได้แก่ท่าน้ำวังหลัง โรงพยาบาลศิริราช ในเขตบางกอกน้อย และวัดอรุณฯ พระราชวังเดิม ในเขตบางกอกใหญ่

สี่แยก ไฟฉาย
แยกไฟฉายในปี พ.ศ. 2562
แผนที่
ชื่ออักษรไทยไฟฉาย
ชื่ออักษรโรมันFaichai
รหัสทางแยกN407 (ESRI), 154 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงบ้านช่างหล่อและแขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนจรัญสนิทวงศ์
» แยกบางขุนนนท์
ถนนพรานนก
» แยกพรานนก
ถนนจรัญสนิทวงศ์
» แยกพาณิชยการธนบุรี
ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4
» ถนนกาญจนาภิเษก

แยกไฟฉายเดิมมีสภาพเป็นสามแยกจนกระทั่งโครงการถนนพรานนกตัดใหม่แล้วเสร็จ จึงเกิดสภาพเป็นสี่แยก โดยเชื่อมถนนจรัญสนิทวงศ์และถนนพรานนกเข้ากับถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งจะทำให้การสัญจรระหว่างพื้นที่บางกอกน้อยและพื้นที่รอบนอก เช่น ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา สะดวกสบายมากขึ้น ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558[1]

ประวัติ แก้

 
แยกไฟฉายในปี พ.ศ. 2559
 
แยกไฟฉายในปี พ.ศ. 2561

สามแยกไฟฉายเกิดขึ้นภายหลังการต่อขยายถนนพรานนก ซึ่งเป็นถนนลาดยางจากสามแยกปากถนนพรานนกตัดถนนอิสรภาพ (สี่แยกพรานนก) เข้ามาบรรจบกับถนนลูกรังในโครงการทางหลวงสายบางซ่อน-สะพานพระราม 6-บางกอกน้อย (ถนนจรัญสนิทวงศ์ในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2484[2]

ชื่อสามแยกไฟฉายเกิดขึ้นในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งไทยได้เข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นที่ได้ขอเดินทัพผ่านประเทศไทยไปยังดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ คือพม่าและอินเดีย ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศโดยทิ้งระเบิด เพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่าง ๆ และตัดขาดการคมนาคมของกองทัพญี่ปุ่น สำหรับในกรุงเทพฯ ได้มีการติดตั้งไฟฉายขนาดใหญ่หลายจุด เพื่อค้นหาเป้าหมายให้หน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานภาคพื้นดินสามารถยิงสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ทำการในเวลากลางคืนได้ บริเวณสามแยกไฟฉายนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการติดตั้งไฟฉายขึ้น โดยมีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับจุดยุทธศาสตร์ ได้แก่สถานีรถไฟบางกอกน้อย กรมอู่ทหารเรือ พระบรมมหาราชวัง และพื้นที่พระนครชั้นใน

ในอดีต บริเวณสามแยกไฟฉายเป็นย่านการค้าที่สำคัญของฝั่งธนบุรี เพราะมีการก่อตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ของบริษัท ขนส่ง จำกัด ขึ้น บริเวณด้านทิศใต้ของทางแยก (ซอยสายใต้เก่าในปัจจุบัน) ทำให้เกิดชุมชนที่พักอาศัยโดยรอบ มีศูนย์การค้านครหลวงอยู่ตรงข้าม (ซอยจรัญสนิทวงศ์ 29/1) ซึ่งภายในเป็นอาคารตลาดนครหลวง ห้างใต้ฟ้า ที่ย้ายมาจากแยกราชวงศ์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นห้างจัมโบ้ที และปัจจุบันเป็นร้าน ซุปเปอร์คุ้ม ในเครือท็อปส์ ซูเปอร์ สาขาจรัญสนิทวงศ์) และโรงภาพยนตร์นครหลวงรามา (ปัจจุบัน โรงภาพยนตร์ถูกรื้อถอนแล้ว) ส่วนด้านทิศเหนือของทางแยกด้านหลังโรงพยาบาลศรีวิชัย ก็ยังมีท่ารถประจำทางปรับอากาศสายใต้อีกแห่งหนึ่ง

นอกจากนี้ แยกไฟฉายก็ยังมีชุมชนและตลาดอีกหลายแห่งโดยรอบ ได้แก่ ตลาดเก่าสามแยกไฟฉาย วัดยางสุทธาราม วัดรวก ตลาดสดพรานนก ตลาดสดบางขุนศรี และซอยบุปผาสวรรค์ (ซอยจรัญสนิทวงศ์ 27) ซึ่งเคยเป็นแหล่งรวมของสำนักงานวงดนตรีลูกทุ่งมากมายในยุคที่วงการลูกทุ่งเฟื่องฟูในอดีตช่วงปี พ.ศ. 2510[3]

กายภาพ แก้

เป็นจุดบรรจบของถนนจรัญสนิทวงศ์ ขนาด 6 ช่องจราจร (มีเกาะกลาง) ในแนวเหนือ-ใต้ ถนนพรานนก ขนาด 6 ช่องจราจร (มีเกาะกลาง) ด้านทิศตะวันออก และถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ด้านทิศตะวันตก

สถานที่สำคัญบริเวณทางแยก แก้

โครงการที่เกี่ยวข้อง แก้

  • โครงการถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 เฉพาะในช่วงแรกจากทางแยกไฟฉายถึงถนนกาญจนาภิเษก เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ส่วนช่วงที่ 2 จากถนนกาญจนาภิเษกถึงถนนพุทธมณฑล สาย 4 ยังต้องมีการเวนคืนเพิ่มเติม
  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยกไฟฉาย ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ ขนาด 2 ช่องจราจร โดยเปิดให้สัญจรในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565[4] คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการนี้ในปี 2547 ก่อนจะเริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2552[5] การก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากได้รับผลกระทบอุทกภัยและการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วง เตาปูน - ท่าพระ เปิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "เปิดแล้วถนนตัดใหม่จากแยกไฟฉาย-กาญจนาภิเษก". เดลินิวส์. December 18, 2015. สืบค้นเมื่อ August 2, 2016.
  2. พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงสายบางซ่อน-สะพานพระราม 6-บางกอกน้อย เชื่อมทางหลวงสายธนบุรี-นครปฐม และถนนอิสสระภาพ พุทธศักราช 2484 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 1306 วันที่ 7 ตุลาคม 2484
  3. "หางเครื่อง จังหวะชีวิตบนถนนดนตรีลูกทุ่ง". สารคดี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  4. "กทม.พร้อมเปิดการจราจรทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนพรานนกภายใน ส.ค.นี้". สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2022.[ลิงก์เสีย]
  5. Buyers, Home. "ศึกอุโมงค์ - สะพาน จรัญฯ-พรานนก". www.home.co.th/news.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°45′17″N 100°28′10″E / 13.754804°N 100.469434°E / 13.754804; 100.469434