ถนนวังหลัง (อักษรโรมัน: Thanon Wang Lang) เป็นถนนสายสำคัญในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นถนนแอสฟัลต์ 4 ช่องจราจร ไม่มีเกาะกลาง ความยาวประมาณ 950 เมตร เขตถนนกว้าง 14.50 เมตร ผิวจราจรกว้าง 11.40 เมตร[1] เริ่มต้นจากท่าเรือพรานนกและท่าเรือวังหลัง (ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามท่าพระจันทร์) ตรงไปทางทิศตะวันตกในท้องที่แขวงศิริราช ตัดกับถนนอรุณอมรินทร์ที่ทางแยกศิริราช จากนั้นข้ามคลองบ้านขมิ้น ตั้งแต่จุดนี้ถือเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงศิริราชทางฟากเหนือกับแขวงบ้านช่างหล่อทางฟากใต้ของถนน ตรงไปทางทิศเดิมจนกระทั่งสิ้นสุดถนนที่ทางแยกพรานนก โดยมีแนวถนนตรงต่อเนื่องไปเป็นถนนพรานนก

บรรยากาศยามเย็นของถนนวังหลังด้านหน้าโรงพยาบาลศิริราช
ร้านข้างทางบริเวณถนนวังหลัง
รถตุ๊กตุ๊กประจำทางบริเวณถนนวังหลัง

ประวัติ แก้

ถนนวังหลังเป็น "ถนนสายที่ 5" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถนนสายที่ 5 เป็นหนึ่งในถนนซอย 6 สายที่ตัดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมต่อกับถนนหลัก 4 สายแรก มีแนวเส้นทางตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้โรงพยาบาลศิริราช ผ่านถนนสายที่ 2 (ปัจจุบันคือถนนอรุณอมรินทร์) ตรงไปออกถนนสายที่ 3 (ปัจจุบันคือถนนอิสรภาพ) กว้าง 16 เมตร และยาวประมาณ 830 เมตร ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร[2]

ก่อนหน้าที่จะตัดถนนขึ้น ถนนส่วนต้นที่ข้างโรงพยาบาลศิริราชเดิมเคยเป็นตรอกฉางเกลือมาก่อน และจุดเริ่มต้นถนนบริเวณริมแม่น้ำยังเป็นบ้านเดิมของศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันทน์ นักพฤกษศาสตร์คนสำคัญของไทย ที่ถูกเวนคืนไปเพื่อตัดถนน[3] และเนื่องจากถนนสายนี้ตัดผ่านบริเวณซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานพิมุขหรือวังหลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงตั้งชื่อถนนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถนนวังหลัง เพื่อเป็นการรักษาชื่อวังหลังไว้ไม่ให้สูญหายไป พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนสายนี้ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอ[4] แต่ปรากฏว่าถนนวังหลังเพิ่งมาสร้างเสร็จในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งสภาพบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน ประกอบกับทางราชการต้องการเปลี่ยนชื่อถนนเจ้ากรุงธนซึ่งมีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็น "ถนนอิสรภาพ" เพื่อให้ชื่อถนนทั้งสองสายมีความหมายเกี่ยวเนื่องกันจึงเปลี่ยนชื่อถนนวังหลังเป็น ถนนพรานนก[5] ตามชื่อบ้านพรานนกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเคยเป็นสมรภูมิแห่งหนึ่งในเส้นทางการกอบกู้เอกราชของพระยาตาก โดยมีพิธีเปิดถนนทั้งสองสายเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2482[5] ภายหลังมีการสร้างถนนต่อจากทางแยกพรานนกไปออกถนนจรัญสนิทวงศ์ที่ทางแยกไฟฉาย

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถนนฝั่งธนบุรีของสำนักการโยธาและสำนักงานปกครองและทะเบียน ตามที่ได้รับมอบหมายจากกรุงเทพมหานคร ทำให้พบข้อมูลว่าถนนพรานนกตั้งแต่ท่าเรือพรานนกถึงทางแยกพรานนกในอดีตได้รับการกำหนดชื่อว่าถนนวังหลัง ดังนั้น ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555 คณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร และในวันที่ 31 ตุลาคม ปีเดียวกัน คณะกรรมการพิจารณากำหนดหรือเปลี่ยนชื่อถนน ตรอก ซอย คูคลอง ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย จึงมีมติให้เปลี่ยนชื่อถนนพรานนกช่วงดังกล่าวเป็น "ถนนวังหลัง" เพื่อให้ตรงตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตบางกอกน้อยได้ออกประกาศเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556[6] สำหรับช่วงที่ต่อจากทางแยกพรานนกไปจนถึงทางแยกไฟฉายให้คงชื่อถนนพรานนกไว้ตามเดิม[7]

สภาพทั่วไป แก้

ถนนวังหลังในอดีตเป็นย่านการค้าที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ชุมชนชั้นในของฝั่งธนบุรีบริเวณวังหลัง มีตลาดสดหลายแห่งรอบบริเวณและมีสถานที่สำคัญอยู่รายรอบ เช่น โรงพยาบาลศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี วัดอมรินทราราม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) สนามหลวง ท่าช้าง พระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยศิลปากร ฐานทัพเรือกรุงเทพ กรมอู่ทหารเรือ วัดระฆังโฆสิตาราม ย่านโรงหล่อพระบ้านช่างหล่อ เป็นต้น และที่ท่าเรือพรานนกก็เคยเป็นต้นทางของรถโดยสารประจำทางหลายสาย รวมถึงสาย 42 ก่อนที่จะมีการเปิดใช้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในปี พ.ศ. 2516

ปัจจุบันถนนวังหลังเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างถนนอิสรภาพกับถนนอรุณอมรินทร์ เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างย่านตลาดสดบริเวณทางแยกพรานนก และย่านการค้าและสถานที่ราชการบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ทั้งยังมีท่าเรือวังหลังและท่าเรือพรานนกซึ่งเป็นท่าเทียบเรือด่วนเจ้าพระยาที่สำคัญที่สุดในบริเวณรอบเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ และยังมีบริการเรือข้ามฟากจากท่าเรือวังหลังไปยังท่าพระจันทร์และท่าช้างวังหลวง ซึ่งอยู่ใกล้สนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง และเป็นถนนที่มีการจราจรคับคั่งตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น ดังนั้น ถนนวังหลังจึงมีบริการรถสามล้อเครื่อง รถสองแถว รถสี่ล้อเล็ก และรถตู้ ให้บริการจากท่าเรือพรานนกหลายเส้นทาง

ซอยแยกย่อย แก้

สถานที่สำคัญ แก้

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง ข้อมูลโครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.
  2. "พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ก): 230–240. 2 พฤศจิกายน 2473. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-06-21.
  3. จำลอง เพ็งคล้าย และธวัชชัย สันติสุข [บรรณาธิการ]. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร. เต็ม สมิตินันทน์ ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯมหานคร วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2538 เวลา 17.00 น. กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้, 2538.
  4. กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 330-331.
  5. 5.0 5.1 สำนักงานปกครองและทะเบียน. สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร. "โปรแกรมจัดทำข้อมูลถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร." [โปรแกรมประยุกต์]. [ม.ป.ป.]. สืบค้น 20 สิงหาคม 2559.
  6. สำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตบางกอกน้อย. ประกาศสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตบางกอกน้อย เรื่อง เปลี่ยนชื่อถนนจาก ถนนพรานนก เป็น ถนนวังหลัง (เฉพาะช่วงท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราชถึงถนนอิสรภาพ).
  7. ข่าวสดออนไลน์. "กทม. เตรียมเปลี่ยนชื่อถนนพรานนก เป็นถนนวังหลัง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNME1ESTNNRGcyTlE9PQ==&catid=01 2555. สืบค้น 21 มิถุนายน 2555.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′25″N 100°28′56″E / 13.756992°N 100.482229°E / 13.756992; 100.482229