สะพานพระพุทธยอดฟ้า

สะพานในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์)

สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์[2] หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า สะพานพุทธ เป็นสะพานถนนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เก่าที่สุดของประเทศไทย เชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ที่ปลายถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กับปลายถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี พร้อมกับปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของสะพานฝั่งพระนคร ปัจจุบันสะพานแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท

สะพานพระพุทธยอดฟ้า
สะพานพระพุทธยอดฟ้า
เส้นทางถนนตรีเพชร, ถนนประชาธิปก
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ตั้งแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร
แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี
ชื่อทางการสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
ตั้งชื่อตามพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ผู้ดูแลกรมโยธาธิการ (ไม่ทราบ - พ.ศ. 2545)
กรมทางหลวงชนบท (พ.ศ. 2545 - ปัจจุบัน)
สถานะเปิดใช้งาน
รหัสส.003
เหนือน้ำอุโมงค์รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
ท้ายน้ำสะพานพระปกเกล้า
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทชนิดเปิด - ปิดได้ (เปิดเป็นครั้งคราวเมื่อมีเรือหลวงผ่าน)
วัสดุโครงเหล็กตลอด
ความยาว229.76 เมตร
ความกว้าง10.00 เมตร
ความสูง7.30 เมตร
ทางเดิน2
จำนวนตอม่อ2
ประวัติ
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันเริ่มสร้าง3 ธันวาคม พ.ศ. 2472; 95 ปีก่อน (2472-12-03)
ต้นปี พ.ศ. 2569 (บูรณะ)
วันเปิด6 เมษายน พ.ศ. 2475; 93 ปีก่อน (2475-04-06)[1]
ปลายปี พ.ศ. 2569 (หลังบูรณะ)
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนสะพานพระพุทธยอดฟ้า
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005610

ประวัติ

แก้
 
สะพานพุทธขณะเปิดให้เรือผ่าน ภาพถ่ายจาก พ.ศ. 2497

สะพานพระพุทธยอดฟ้าเป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากสะพานพระราม 6 ในปัจจุบันถูกปรับปรุงให้ใช้เป็นสะพานรถไฟเท่านั้น สะพานพระพุทธยอดฟ้าจึงถือเป็นสะพานถนนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เก่าที่สุดของประเทศไทย

โครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และสะพานได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (ต่อมาเป็นกรมพระยา) อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งทรงอำนวยการแผนกศิลปกรรม คิดแบบอย่างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์ หล่อด้วยทองสำริด ขนาดสูงตั้งแต่ฐานถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งทรงรับสั่งให้กองแบบแผน กรมรถไฟหลวง เป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง แสดงทางขึ้นลงทั้ง 2 ข้าง และตัวสะพาน พร้อมด้วยขนาดและรายการ เพื่อเปิดประมูลจากบริษัทต่าง ๆ โดยได้เลือกแบบของบริษัทดอรแมนลอง ประเทศอังกฤษ และสร้างเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และอาจยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า ตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

รัฐบาลได้ประมาณการงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ไว้เป็นจำนวน 4,000,000 บาท นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง รัฐบาลส่วนหนึ่ง ส่วนอีกจำนวนหนึ่งนั้นทรงพระราชดำริว่าควรบอกบุญเรี่ยไรประชาชน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานและปฐมบรมราชานุสรณ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475[3][1]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สะพานพระพุทธยอดฟ้าถูกระเบิดทำลายจนขาด อันเนื่องจากเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ[4] บริเวณใกล้เคียงอย่างวัดราชบุรณราชวรวิหารและโรงไฟฟ้าวัดเลียบก็ถูกทำลาย

การใช้งาน

แก้
 
ถนนสะพานพุทธ เป็นถนนที่อยู่ด้านล่างสะพานล้อมรอบสะพาน เป็นถนนที่เชื่อมไปยังถนนจักรวรรดิ, ถนนตรีเพชร และปากคลองตลาด จากภาพมองเห็นสภาพของปากคลองตลาดบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ในปัจจุบัน นอกจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าจะเป็นที่ประดิษฐานปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีลานสาธารณะให้คนมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นลานกีฬาของเด็กนักเรียนในย่านนั้นด้วย ทั้งฟุตบอลและสเกตบอร์ด ก็จะมีให้เห็นทุกวันในช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิก

นอกจากนี้ พื้นที่ใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้าจนถึงใต้สะพานพระปกเกล้าในปัจจุบัน ในช่วงกลางคืน ตั้งแต่ประมาณ 18:00 – 01:00 ของวันรุ่งขึ้น จะมีลักษณะเป็นตลาดกลางคืน ที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่น รวม​ทั้งอุปกรณ์​ตกแต่งมือถือ เคส​ ฟิล์ม​ ซีดี​ และสินค้ามือสอง เช่น เสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ อีกทั้งยังมีศิลปินอิสระ ส่วนมากเป็นนักศึกษาเพาะช่าง มารับวาดภาพและขายภาพวาดด้วย เนื่องจากสินค้ามีราคาถูก ประกอบกับรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น ทำให้ตลาดสะพานพุทธในปัจจุบันคลาคล่ำด้วยวัยรุ่นจำนวนมาก

ท่าเรือ

แก้

การปรับปรุง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "Memorial Bridge". Bureau of Maintenance and Traffic Safety, Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2008. สืบค้นเมื่อ 10 December 2014.
  2. "สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์". myfirstbrain.com. สืบค้นเมื่อ 5 July 2015.
  3. Duncan Stearn (30 May – 5 June 2003). "A Slice of Thai History : The air war over Thailand, 1941-1945 ; Part Two, The Allies attack Thailand, 1942-1945". Pattaya Mail. Pattaya Mail Publishing Co. XI (21). สืบค้นเมื่อ 17 February 2012.
  4. "สะพานพระพุทธยอดฟ้าถูกระเบิดตัดขาดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2". ศิลปวัฒนธรรม.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′21″N 100°29′51″E / 13.739207°N 100.497564°E / 13.739207; 100.497564

จุดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
อุโมงค์รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
 
สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า)
 
ท้ายน้ำ
สะพานพระปกเกล้า