สะพานพระราม 6
สะพานพระราม 6 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสะพานสำคัญที่สุดในเส้นทางสายใต้ เชื่อมระหว่างแขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กับแขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางรถไฟสายใต้
สะพานพระราม 6 | |
---|---|
สะพานพระราม 6 ในปี พ.ศ. 2551 (ก่อนการสร้างสะพานขนานทางรถไฟ) | |
เส้นทาง | ทางรถไฟสายใต้ |
ข้าม | แม่น้ำเจ้าพระยา |
ที่ตั้ง | เขตบางซื่อ, เขตบางพลัด |
ชื่อทางการ | สะพานพระราม 6 |
เหนือน้ำ | สะพานพระราม 7 |
ท้ายน้ำ | สะพานทางพิเศษประจิมรัถยา |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ความยาว | 442.08 เมตร |
ความกว้าง | 10 เมตร |
ความสูง | 10 เมตร |
จำนวนช่วง | 5 |
จำนวนตอม่อ | 6 |
ขีดจำกัดบรรทุก | 15-20 ตัน |
ประวัติ | |
วันเริ่มสร้าง | ธันวาคม พ.ศ. 2465 |
วันสร้างเสร็จ | ธันวาคม พ.ศ. 2469 |
วันเปิด | 1 มกราคม พ.ศ. 2469 12 ธันวาคม พ.ศ. 2496 (หลังบูรณะ) |
ที่ตั้ง | |
ข้อมูลตัวสะพาน
แก้สะพานสร้างตามแบบ Cantilever ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 5 ช่วง ส่วนหนึ่งเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กให้รถยนต์ทุกชนิดผ่าน อีกส่วนหนึ่งเป็นทางรถไฟ พร้อมทางเดินเท้า 2 ด้าน ตัวสะพานมีความยาว 442.08 เมตร กว้าง 10 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 10 เมตร ดังนั้นเรือขนาดธรรมดาสามารถลอดผ่านได้[1]
ปัจจุบันสะพานพระราม 6 ปิดการจราจรส่วนที่เป็นถนน เมื่อมีการก่อสร้าง สะพานพระราม 7 ขึ้นเป็นสะพานคู่ขนาน แล้วนำส่วนที่เคยเป็นถนนแปรสภาพเป็นทางรถไฟ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทางคู่ช่วงชุมทางบางซื่อ - นครปฐม สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2546 แม้กระนั้นก็ตาม เวลาใช้งานจริงต้องให้รถไฟแล่นผ่านไปครั้งละขบวน เพื่อป้องกันไม่ให้สะพานทะลายลงมาเพราะรับน้ำหนักเกินพิกัด
สะพานพระราม 6 เป็นสะพานเหล็กโครงทรัสรองรับทางรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างสถานีชุมทางบางซื่อ กับ สถานีบางบำหรุ ในทางรถไฟสายใต้ (แยกพระราม 6) โครงสร้างของสะพานมีลักษณะสมมาตรตามแนวยาว ประกอบด้วย
- ตะม่อ (Pier) รองรับตัวสะพาน จำนวน 6 ตะม่อ (Pier) คือ ตะม่อ (Pier) A , B , C , D , E และ F
- ความยาวช่วงสะพานระหว่างตะม่อแต่ละช่วงโดยประมาณเป็น 77 , 84 , 120 , 84 และ 77 เมตร ตามลำดับ รวมความยาวทั้งสิ้นโดยประมาณ 442 เมตร
- ตัวสะพานเป็นสะพานเหล็กโครงทรัส (Truss) มีจำนวน 5 Truss คือ Truss A , B , C , D และ E โดยที่ Truss A และ E เป็น Simple Truss , Truss B และ D เป็น Anchor Truss และ Truss C เป็น Suspended Truss
เนื่องจากสะพานพระราม 6 เป็นสะพานซึ่งถูกออกแบบให้มีทางรถยนต์ขนานคู่ไปกับทางรถไฟมีผลให้ขนาดหน้าตัดของชิ้นส่วนโครงทรัสทั้ง 2 ฝั่งไม่เท่ากัน โดยขนาดหน้าตัดของชิ้นส่วนโครงทรัสฝั่งทางรถไฟ (Railway Side) จะมีขนาดใหญ่กว่าโครงทรัสฝั่งทางรถยนต์ (Highway Side) ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการทุบรื้อทางรถยนต์ขนานคู่ไปกับทางรถไฟบนสะพานออกไป และได้ดำเนินการเสริมกำลัง (Strengthening) โครงทรัสฝั่งทางรถยนต์ (Highway Side) เสริมกำลัง Stringer และ Floor Beam (Cross Girder) อีกทั้ง ติดตั้ง Stringer และวางทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทางแทนทางรถยนต์ขนานคู่ไปกับทางรถไฟเดิม
เมื่อปี พ.ศ. 2544 จากการวิเคราะห์และประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานพระราม 6 โดยกิจการร่วมค้า บริษัท เคทีเอ็ม เครน และบริษัท จีทีแอนด์อาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปรากฏตามรายงาน “รายงานการตรวจสอบและประเมินสภาพโครงสร้างสะพานพระราม 6 โครงการปรับปรุงตรวจสอบและประเมินสภาพสะพานพระราม 6 โดยกิจการร่วมค้า เคทีเอ็ม เครน-จีทีแอนด์อาร์ เสนอการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2544” ใช้วิธีการประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานโดยวิธีการ Working Stress Method ตามมาตรฐานของ AREMA (American Railway Engineering and Maintenance-of-Way Association) Manual for Railway Engineering , 2003 Volume 2 CHAPTER 15 Steel Structures Part 7 Existing Bridges , Section 7.3 Rating for Existing Bridges. พบว่า
- น้ำหนักบรรทุกชนิด DL.15 หรือ น้ำหนักกดเพลา 15 ตัน วิ่งขบวนรถเพียงทางเดียวทั้ง 2 ทาง (ทางเดิมและทางใหม่) และวิ่งขบวนรถพร้อมกันทั้ง 2 ทาง โครงสร้างสะพานสามารถรับ น้ำหนักขบวนรถได้ อย่างปลอดภัย
- น้ำหนักบรรทุกชนิด DL.16 หรือ น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน วิ่งขบวนรถเพียงทางเดียวบนทางเดิมหรือทางใหม่ โครงสร้างสะพานสามารถรับ น้ำหนักขบวนรถได้ อย่างปลอดภัย หากวิ่งขบวนรถพร้อมกันทั้ง 2 ทาง มีบางชิ้นส่วนของโครงสร้างไม่สามารถรับ น้ำหนักได้ จำเป็นต้องเสริมกำลัง
- น้ำหนักบรรทุกชนิด U.20 หรือ น้ำหนักกดเพลา 20 ตัน วิ่งขบวนรถเพียงทางเดียวบนทางเดิม โครงสร้างสะพานสามารถรับน้ำหนักขบวนรถได้ อย่างปลอดภัย หากวิ่งขบวนรถพร้อมกันทั้ง 2 ทาง มีบางชิ้นส่วนของโครงสร้างไม่สามารถรับ น้ำหนักได้ จำเป็นต้องเสริมกำลัง
ประวัติ
แก้สะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกของประเทศไทย ลงนามในสัญญาก่อสร้าง เมื่อ เมษายน พ.ศ. 2465 เริ่มการก่อสร้างเมื่อ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2465 วางหีบพระฤกษ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2466 โดย กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] เพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดต่อกัน โดยให้บริษัท เล เอตาบริดจ์มองต์ ไตเต ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้รับเหมา เนื่องจากชนะการประมูลโดยอาศัยค่าเงินฟรังก์ฝรั่งเศสที่อ่อนตัว (1 บาทแลกได้ 5 ฟรังก์) เมื่อเปรียบเทียบกับเงินปอนด์อังกฤษที่ผูกติดกับทองคำ (1 ปอนด์แลกได้ 11 บาท) ในเวลานั้นเงินบาทสยามผูกติดกับเงินปอนด์อังกฤษด้วย โดยค่าก่อสร้างเท่ากับ 2,714,113.30 บาท
สะพานสร้างเสร็จในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2469 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าสะพานพระราม 6 ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีเปิดสะพานให้ขบวนรถไฟเดินผ่านข้ามเป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2469 (นับอย่างปัจจุบันต้องปี พ.ศ. 2470 แล้ว) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้รถจักรไอน้ำ " บอลด์วิน " ล้อแบบแปซิฟิก หมายเลข 226 ทำขบวนเสด็จ
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานได้ถูกกองทัพสหรัฐและอังกฤษทิ้งระเบิดอย่างหนัก ในที่สุดช่วงกลางสะพานขาดเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 และได้ซ่อมแซมใหม่โดยบริษัทดอร์แมนลอง (ผู้รับเหมาจากประเทศอังกฤษที่เคยประมูลการก่อสร้างสะพานพระราม 6 แต่แพ้การประมูลเพราะค่าเงินปอนด์แข็งเกินไป) และบริษัทคริสเตียนนี แอนด์ นีลเส็น (ไทย) จำกัด (ผู้รับเหมาเดนมาร์กที่ภายหลังได้เป็นผู้รับเหมาไทยเต็มตัวเมื่อปี พ.ศ. 2535 เพราะย้ายฐานมาเมืองไทย มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นสำคัญ) ในระหว่าง พ.ศ. 2493 - 2496 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานพระราม 6 หลังจากซ่อมแซมแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2496 โดยใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้า " ซูลเซอร์ " หมายเลข 562 ทำขบวนเสด็จ [3]
อ้างอิง
แก้- ↑ Bangkok Tourist Division (2004). "RAMA VI BRIDGE @ bangkoktourist.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-06.
- ↑ กรมทางหลวงชนบท (2019). "สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพและปริมณฑล" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-04. สืบค้นเมื่อ 2024-09-07.
- ↑ มติชนออนไลน์. "ครบรอบ 93 ปีเปิดใช้สะพานพระราม 6 สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรก". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-09-07. สืบค้นเมื่อ 2024-09-07.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สะพานพระราม 6
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
ดูเพิ่ม
แก้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน | |||
---|---|---|---|
เหนือน้ำ สะพานรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อน |
สะพานพระราม 6 |
ท้ายน้ำ สะพานทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร |