สุปาณี พุกสมบุญ
สุปาณี พุกสมบุญ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 – 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563) ชื่อเล่น เจี๊ยบ นักร้องยุคต้นของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของฉายา "เสียงมีดกรีดสังกะสี" ด้วยเสียงที่เล็กและแหลมมากจนเป็นเอกลักษณ์ และเป็นนักร้องต้นฉบับเพลงมองอะไร บ้านใกล้เรือนเคียง (บ้านเรือนเคียงกัน) ที่มีชื่อเสียงมากจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
สุปาณี พุกสมบุญ | |
---|---|
สุปาณี พุกสมบุญ | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 ปกิต พุกสมบุญ จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 (96 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | สริ ยงยุทธ (ถึงแก่กรรม) |
บุตร | 4 คน |
อาชีพ | นักร้อง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2483 - 2563 |
ผลงานเด่น | เจ้าชู้ประตูดิน มองอะไร บ้านเรือนเคียงกัน ดาวเย้ยเดือน หาดแสนสุข |
ประวัติ
แก้สุปาณี พุกสมบุญ มีชื่อเดิมว่า "ปกิต พุกสมบุญ" เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 ที่บ้านหม้อ จังหวัดพระนคร มีชื่อเล่นว่า เจี๊ยบ ซึ่งครูเวส สุนทรจามร เป็นคนตั้งให้
เริ่มต้นการศึกษาด้านนาฏศิลป์ด้วยการเข้าไปฝึกรำละครในวังหลวง ท่าเตียน และเคยได้แสดงที่โรงละครสวนมิสกวัน จนกระทั่งกรมมหรสพถูกยุบแล้วโอนย้ายไปอยู่กับกรมศิลปากร จึงได้ออกมาเรียนที่โรงเรียนบำรุงวิทยา หลังกรมโฆษณาการ ร่วมรุ่นกับเลิศ ประสมทรัพย์ และ สมพงษ์ ทิพยะกลิน จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2482 โดยก่อนหน้านี้ได้ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนหุตะวนิชแล้ว ในช่วงนี้สุปาณีได้ไปอัดแผ่นเสียงเพลงกสิกร ประกอบภาพยนตร์เรื่องหนามรัก ของทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง) นับได้ว่าเป็นเพลงแรกที่ได้บันทึกเสียง
สุปาณี พุกสมบุญ ถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11.00 นาฬิกา สิริอายุ 96 ปี 6 เดือน
การทำงาน
แก้สุปาณี พุกสมบุญเริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกเป็นแคชเชียร์ที่ร้านผลิตผลไทย ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุง เนื่องจากในขณะนั้นไม่รู้สึกว่าการรับราชการเป็นงานที่เหมาะกับตนเองนัก เมื่ออายุ 14 ปี ในระยะนั้นสมจิตร เที่ยงธรรม ได้มาชักชวนให้เข้าร่วมประกวดนางงามรัฐธรรมนูญหรือปัจจุบันคือ นางสาวไทยในปีนั้นสว่างจิตต์ คฤหานนท์ (คุณหญิงสว่างจิตต์ หงสกุลในปัจจุบัน) ได้เป็นนางงามรัฐธรรมนูญ สุปาณีจึงตกรอบ ในครั้งนั้นได้รู้จักกับพรพรรณ วรรณมาศ นักแสดงละครวิทยุคณะจารุกนกที่เข้าประกวดในครั้งนั้นด้วย (พรพรรณ วรรณมาศ เป็นมารดาของไพโรจน์ สังวริบุตร)
สำหรับชีวิตการร้องเพลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการนั้น สุปาณีได้รับการชักชวนจากสรรพสิริ วิรยศิริ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวต่างประเทศของกรมโฆษณาการในขณะนั้น ได้มาชักชวนสุปาณีให้เข้าไปทำงานที่กรมโฆษณาการ โดยในขณะนั้นมีนักร้องอยู่เพียง 2 คน คือ นางสาวจุรี โมรากุล (มัณฑนา โมรากุล) และนางสาวรุจี อุทัยกร เมื่อ พ.ศ. 2483 สำหรับเพลงที่สุปาณีนำมาทดสอบเสียงเพี่อเข้าวงนั้น คือเพลงขวัญของเรียม ผลงานของพรานบูรพ์ ผลปรากฏว่า สุปาณีได้บรรจุเป็นคีตศิลปิน แผนกบันเทิง กรมโฆษณาการ เมื่ออายุ 16 ปี ได้เงินเดือน 15 บาท
เมื่ออยู๋ที่วงดนตรีกรมโฆษณาการ ชื่อ "ปกิต พุกสมบุญ" ได้ถูกเปลี่ยนไป โดยเสวกเอกพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช)เห็นว่า ชื่อปกิตไปเหมือนผู้ชาย ชื่อสุปาณี พุกสมบุญจึงเริ่มต้นขึ้นตอนนั้น โดยในระยะที่อยู่ในวงเป็นระยะที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา เพลงที่ร้องจึงมักเป็นเพลงปลุกใจ โดยสุปาณีจะต้องนั่งรถรางจากบ้านที่บางลำภูไปร้องที่ศาลาแดงทุกวัน ส่วนเพลงแนวอื่น ๆ ที่สุปาณีร้อง มักจะเป็นเพลงเร็ว และค่อนข้างสนุกสนาน เนื่องด้วยเสียงอันแหลมและเล็กของสุปาณีนั่นเอง เช่น เพลงมองอะไร เพลงบ้านใกล้เรือนเคียง เพลงชีวิตกับความสุข เพลงรักแม่เอ๊ย
ครอบครัว
แก้สุปาณี พุกสมบุญ สมรสกับครูสริ ยงยุทธ นักเปียโนของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2487 จึงต้องลาออกจากราชการตามระเบียบในสมัยนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 แต่ยังกลับมาช่วยร้องเพลงกับวงบ้างเป็นครั้งคราว โดยมักไปร่วมงานในนามวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นวงนอกราชการของครูเอื้อ สุนทรสนาน และยังร้องเพลงให้กับวงดนตรีสุนทรจามร ของครูเวส สุนทรจามรในชื่อลัดดาวัลย์ พันธ์ชาติ รวมไปถึงร้องเพลงอื่น ๆ อยู่บ้างในระยะหลัง เช่น รักอย่าลวง (ผลงานครูพยงค์ มุกดา), สายตาสายใจ เป็นต้น
สุปาณี พุกสมบุญ มีบุตรกับครูสริ ยงยุทธ 4 คน คือ เสกสรร ยงยุทธ (เกิด 2488) วิทยา ยงยุทธ (เกิด 2490) ศุภสิทธิ์ ยงยุทธ (เกิด 2493) และนุสรา ยงยุทธ (เกิด 2494) ซึ่งทั้ง 4 คน ล้วนแล้วแต่เป็นนักดนตรีทั้งสิ้น โดยเสกสรรถนัดการเล่นเปียโนตามรอยบิดา ส่วนวิทยา และศุภสิทธิ์ถนัดการเล่นกีตาร์ และนุศราถนัดการเล่นออร์แกนไฟฟ้า โดยปัจจุบันสุปาณีพักอยู่ทีบ้านย่านถนนจักรพรรดิพงษ์ ใกล้วัดแคนางเลิ้ง แต่บางครั้งก็ไปพักที่บ้านบุตรสาวคนเล็กที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีบ้างเป็นบางครั้ง
ผลงานเพลง
แก้สุปาณี พุกสมบุญ มีผลงานการขับร้องเพลงไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะร้องกับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยไม่ค่อยร้องเพลงข้างนอกวงนัก สำหรับเพลงที่สุปาณี พุกสมบุญขับร้อง พอจะประมวลได้ ดังนี้
- เกี้ยวไม่เป็น
- กำสรวลรัก (นำมาบันทึกใหม่ฉบับสเตริโอใจจังหวะบีกิน)
- คะนองรัก (คู่กับเลิศ ประสมทรัพย์)
- คิดถึงฉันบ้างไหม
- จับปลาสองมือ (คู่กับเลิศ ประสมทรัพย์และชวลี ช่วงวิทย์)
- ใจฉัน
- เจ้าชู้ประตูดิน
- ชีวิตกับความสุข
- เซ็งลี้ฮ้อ (คู่วินัย จุลละบุษปะ)
- ดื่มน้ำรัก
- ดาวเย้ยเดือน
- นานแล้วไม่พบกัน (ไม่ได้บันทึกเสียง)
- นาน ๆ พบกัน (คู่ประพนธ์ สุนทรจามร)
- บ้านเกิดเมืองนอน (ไม่ได้บันทึกเสียง)
- บ้านเรือนเคียงกัน (ต้นฉบับ)
- เบื่อผู้ชาย
- ปรึกษารัก (คู่ชวลี ช่วงวิทย์)
- ปากกับใจ
- ผิดนัด (คู่วินัย จุลละบุษปะ)
- ผู้ชายนี่น้า
- ผู้ชายนี่ร้ายนัก คู่ ชวลี (ไม่ได้บันทึกเสียง)
- ผู้หญิงสวยตรงไหน (คู่สุนทราภรณ์และวินัย จุลละบุษปะ)
- โธ่ผู้ชาย (คู่มัณฑนา โมรากุลและชวลี ช่วงวิทย์)
- เพลินลีลาศ
- มองอะไร
- รักคะนองคองก้า (คู่เลิศ ประสมทรัพย์) ไม่ได้บันทึกเสียง
- รักฉันตรงไหน
- รักแม่เอ๊ย (นำหมู่ชาย)
- รักอย่าลวง
- รักไม่เป็น (คู่สุนทราภรณ์) (ไม่ได้บันทึกเสียง)
- ลาก่อน (ไม่ได้บันทึกเสียง)
- ลาขอลา (ไม่ได้บันทึกเสียง)
- สะพานทอง
- สายตาสายใจ (นำหมู่ชาย)
- หาดแสนสุข
- หนองคาย (คู่มัณฑนา โมรากุล ร้องสด)
- อย่าลืม
- อะไรนะชาย
- อำนาจเงิน (คู่วินัย จุลละบุษปะ)
เป็นต้น
เกร็ดประวัติ
แก้- สุปาณี พุกสมบุญ ได้รับฉายาว่า "เสียงมีดกรีดสังกะสี" เนื่องจากมีเสียงเล็กและแหลมมาก เหมือนกับเอามีดไปกรีดสังกะสี ซึ่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ยังเคยกล่าวไว้ว่า ยังไม่มีใครสักคนเดียวที่จะร้องเพลงไทยสากลเปรี้ยว ๆ มาเท่าเทียมเธอได้
- เรื่องที่สุปาณีรู้สึกตื่นเต้นไม่มีวันลืมมี 2 เรื่อง คือ การหลบระเบิดในหลุมหลบภัยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งหนึ่งระเบิดเกือบโดนหลุมหลบภัยที่สุปาณีหลบภัยอยู่กับ การได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในโอกาสครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์
- ถึงแม้สุปาณีจะลาออกจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปแล้ว แต่ครูเอื้อ สุนทรสนาน ยังเคยโทรศัพท์มาตามตัวอยู่ เช่น "เจี๊ยบเอ๊ย ! มางานหัวหน้าหน่อย แต่งตัวมาเดี๋ยวนี้" ทำให้เห็นความผูกกันกับในวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ จนถึงปัจจุบัน
- ทางกลุ่มเพื่อนฝันและวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดงานคอนเสิร์ต 80 ปี สุปาณี พุกสมบุญ เมื่อ พ.ศ. 2547 นับว่าเป็นคอนเสิร์ตที่รวบรวมเพลงของสุปาณี พุกสมบุญอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
อ้างอิง
แก้- สุปาณี พุกสมบุญ ต้นฉบับเพลงมองอะไร[ลิงก์เสีย]
- หนังสือพระเจ้าทั้งห้า : ตำนานความเป็นมาของวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดย ไพบูลย์ สำราญภูติ
- หนังสือ อนุสรณ์ "สุนทราภรณ์" ครบรอบ 30 ปี โดย เล็ก โตปาน