ศาลาแดง คือชื่อของย่านชุมชนเมืองและชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นหนึ่งในเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่เชื่อมต่อถนนที่สำคัญ 3 สาย คือ ถนนสีลม ถนนพระรามที่ 4 และถนนสาทร อีกทั้งยังเป็นจุดตัดของระบบขนส่งมวลชน คือ สถานีศาลาแดง (รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม) กับ สถานีสีลม (รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล)

ทางเข้าถนนศาลาแดงจากถนนสีลม
ถนนศาลาแดง

สภาพทางกายภาพ แก้

ถนนศาลาแดงเป็นถนนเดินรถ 2 ช่องทางจราจร ความกว้าง 10.40–10.60 เมตร ความยาวประมาณ 0.565 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ถนนสีลมไปยังถนนสาทรเหนือ ถนนศาลาแดงมีซอยย่อยที่สำคัญ คือ ซอยยมราช เป็นซอยเดินรถ 2 ช่องทางจราจร ความกว้าง 6.60 เมตร ความยาวประมาณ 0.194 กิโลเมตร จากถนนศาลาแดงถึงอาคารอับดุลราฮิม และซอยศาลาแดง 1 เป็นซอยเดินรถ 2 ช่องทางจราจร ความกว้าง 11.80–12.50 เมตร ความยาวประมาณ 0.565 กิโลเมตร จากถนนศาลาแดงถึงถนนพระรามที่ 4 ซอยย่อยอื่น ได้แก่ ซอยศาลาแดง 1/1 ซอยศาลาแดง 2 ซอยศาลาแดง 3 และซอยมเหสักข์ 3

พื้นที่บริเวณถนนศาลาแดง มีอาคารสำนักงานขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากเช่น อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ อาคารอับดุลราฮิม อาคารอื้อจือเหลียง อาคารทิสโก้ อาคารซิลลิคเฮ้าส์ เป็นต้น รวมไปอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าสีลมคอมเพล็กซ์[1] มีโรงแรมและอาคารพาณิชยกรรมเพื่อการพักอาศัยขนาดเล็ก เช่น โรงแรมดุสิตธานีและโรงแรมโซ แบงค็อก อาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ (อาคารชุด) อาคารพักอาศัยขนาดเล็ก (บ้านแถว และ บ้านเดี่ยว) และชุดอาคารพาณิชยกรรม (ตึกแถว) จากข้อมูลราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน พ.ศ. 2559–2562 โดยกรมธนารักษ์ ระบุว่าถนนศาลาแดง มีราคาประเมินที่ดิน 500,000 บาทต่อตารางวา[1]

ถนนศาลาแดงยังมีบ้านของ 3 ตระกูลเก่าแก่ คือ ตระกูลโอสถานุเคราะห์ เป็นบ้านโบราณอายุร่วม 100 ปี ปัจจุบันเครือดุสิตธานีได้เช่าเป็นร้านอาหารชื่อ บ้านดุสิตธานี บ้านตระกูลสารสิน ปัจจุบันยังเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบ้านตระกูลจิราธิวัฒน์ซึ่งเดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยและศูนย์รวมของคนในตระกูลรุ่นแรก ที่ได้ซื้อต่อมาจากสถานทูตออสเตรเลีย[2]

ประวัติ แก้

 
บ้านศาลาแดง ถ่ายราว พ.ศ. 2460

เมื่อ พ.ศ. 2434 มีการพัฒนาที่ดินบริเวณถนนศาลาแดงโดยเป็นผลจากการตัดถนนเพิ่มถึง 18 สายในกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายความเจริญและส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ย้ายมาอยู่ที่บ้านศาลาแดงและเริ่มซื้อที่นาและที่สวนในบริเวณใกล้เคียงจนรวมเป็นแปลงใหญ่จึงมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 112 ไร่ 1 งาน 84 ตารางวา จึงมีการตัดถนนย่อยเพื่อติดต่อระหว่างถนนสีลมและถนนสาทร เริ่มจากถนนคอนแวนต์ รวมถึงถนนศาลาแดง และเชื่อมระหว่างสองถนนด้วยถนนศาลาแดงซอย 2 ในปัจจุบัน[3]

เหตุที่ชื่อ "ศาลาแดง" เพราะเดิมทีเป็นท้องนา เป็นที่ทำนาหลวง จนเมื่อ พ.ศ. 2436 เมื่อมีการเปิดทางรถไฟสายปากน้ำ มีการตั้งสถานีถัดจากสถานีหัวลำโพง เป็นสถานีทาหลังคาสีแดง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทุ่ง จึงเรียก "ศาลาแดง"[4] ตรงหัวมุมถนนสีลมด้านคลองเตย ยังมี บ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) สร้างเมื่อราว พ.ศ. 2430 เป็นบ้านตึกโอ่โถงแบบฝรั่ง เดิมเป็นบ้านของฝรั่งชื่อกัปตันวอแรน ซึ่งขายต่อให้พระคลังข้างที่ แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) จนถึงปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานแก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2482 ทายาทของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้โอนขายบ้านศาลาแดงแก่กระทรวงการคลัง หลังจากนั้น อาคารในบริเวณบ้านศาลาแดงถูกใช้เป็นที่ทำการสมาคมต่าง ๆ หลายแห่ง อาทิ แพทยสมาคม สมาคมเภสัชฯ และสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ[5] บ้านศาลาแดงถูกรื้อถอนเมื่อ พ.ศ. 2508 เพื่อสร้างโรงแรมดุสิตธานี[6]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ธารรวี งามศิริอุดม. "สัณฐานการเปลี่ยนแปลงที่ดินจัดสรรขนาดเล็กในเขตศูนย์กลางทางธุรกิจของกรุงเทพฯ กรณีศึกษาถนนศาลาแดง แขวงสีลม เขตบางรัก" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  2. "เบื้องหลังบ้าน100 ปี "โอสถานุเคราะห์" สู่บ้านใหม่ "ดุสิตธานี"". ฐานเศรษฐกิจ.
  3. อรวรรณ ศรีอุดม. วันวาน...กับวันนี้ของถนนสีลม. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พรินติ้งกรุ๊พ จำกัด, 2535: 4–25
  4. "ทุ่งศาลาแดง". ไทยรัฐ.
  5. "จากบ้านศาลาแดง สู่โรงแรมดุสิตธานี".
  6. "สเตฟาโน คาร์ดู ชีวิตการงานและสังคมของช่างฝรั่งยุคแรก" (PDF). ดำรงวิชาการ.