พระราชพิธีทรงผนวชในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง เมื่อ พ.ศ. 2499 มีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระสนองพระเดชพระคุณในการทรงผนวชในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
ภูมิพโลภิกขุ | |
วันที่ | 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 |
---|---|
สถานที่ | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ผนวช) วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (ประทับ) |
ที่ตั้ง | จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
ผู้เข้าร่วม | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
ผล | สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ |
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ดังตามลำดับเหตุการณ์ในระหว่างทรงประทับพระผนวช ดังนี้[1]
วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499
แก้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูต เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช
อีกทั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เพื่อมีพระราชดำรัสแก่ประชาราษฎร ความตอนหนึ่งว่า
"ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน"
วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499
แก้เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศา โดยสมเด็จพระราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล” ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงรับประเคนผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงรับไทยธรรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามลำดับ
จากนั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทำทัฬหิกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[2] จากนั้นทรงประกอบพิธีตามขัตติยราชประเพณี แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น
วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499
แก้เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์
วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499
แก้เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2499
แก้เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม
วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
แก้ได้เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ 2499
แก้เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตรจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี อีกด้วย
วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
แก้พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลาผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร รวมเวลาทรงผนวชทั้งสิ้น 15 วัน
-
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชปฏิสันถารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
รายพระนามและรายนามพระเถระที่นั่งหัตถบาส
แก้ในพระราชพิธีนี้ มีพระเถระ 30 รูป นั่งหัตถบาส มีรายนามดังนี้[3]
- สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
- สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย)
- พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (โสม ฉนฺโน)
- พระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)
- พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
- พระธรรมโกศาจารย์ (ปลอด อตฺถการี)
- พระธรรมดิลก (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
- พระธรรมปาโมกข์ (วาสน์ วาสโน)
- พระธรรมไตรโลกาจารย์ (วน ฐิติญาโณ)
- พระธรรมธีรราชมหามุนี (ธีร์ ปุณฺณโก)
- พระธรรมปิฎก (พิมพ์ ธมฺมธโร)
- พระมงคลเทพมุนี (สาลี อินฺทโชโต)
- พระมงคลทิพยมุนี (เซ็ก พฺรหฺมสโร)
- พระรัชชมงคลมุนี (เทศ นิทฺเทสโก)
- พระเทพเวที (ฟื้น ชุตินฺธโร)
- พระเทพเมธี (ชอบ อนุจารี)
- พระเทพมุนี (ทรัพย์ โฆสโก)
- พระเทพโมลี (วิน ธมฺมสาโร)
- พระอมราภิรักขิต (ทองดำ จนฺทูปโม)
- พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม)
- พระโศภนคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระอภิบาล
- พระกิตฺติวงศเวที (สุวรรณ สุวณฺณโชโต)
- พระมหานายก (เติม โกสลฺโล)
- พระจุลนายก (แก้ว อตฺตคุตฺโต)
- พระไตรสรณธัช (แก้ว โกลิโต)
- พระปัญญาภิมณฑมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม)
- พระสาธุศีลสังวร (สนธิ์ กิจฺจกาโร)
- พระอุดมญาณมุนี (ยศ โกสิโต)
สถาปนาฐานันดรศักดิ์และสมเด็จพระสังฆราช
แก้อนึ่ง ในการทรงผนวชครั้งนี้ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ขึ้นเป็น พระบรมราชินีนาถ และวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกันนี้ (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และถวายฐานันดรศักดิ์เป็นกรมหลวง
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงผนวช
- ↑ จดหมายเหตุ ตามรอยทรงพระผนวช , หน้า 29
- ↑ วัดบวรนิเวศวิหาร, ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, กรุงเทพฯ : วัดบวรนิเวศวิหาร, 2503, หน้า 105-7
- บรรณานุกรม
- คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกและสื่อสารคดี เนื่องในโครงการอุปสมบท ๙๙๙ รูปเฉลิมพระเกียรติฯ. จดหมายเหตุตามรอยทรงพระผนวช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งและพับลิชชิ่ง, 2554. 400 หน้า. ISBN 978-616-235-031-3