ถนนสิบสามห้าง

(เปลี่ยนทางจาก ถนนบวรนิเวศ)

ถนนสิบสามห้าง (อักษรโรมัน: Thanon Sip Sam Hang) และ ถนนบวรนิเวศน์ (อักษรโรมัน: Thanon Bowon Niwet) เป็นถนนสายเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในย่านบางลำพู แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยถนนสิบสามห้าง เป็นถนนที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีที่มาจากกลุ่มพ่อค้ากลุ่มหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นมีห้างร้านอยู่ทั้งสิ้น 13 ห้าง ได้รวมตัวกันเพื่อเข้าช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการค้าและอื่น ๆ มีตึกทำการอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง

ถนนสิบสามห้าง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ฝั่งตรงข้ามคือ ถนนบวรนิเวศน์ที่ตั้งของวัดบวรนิเวศวิหาร

ต่อมาเมื่อชาวจีนเข้ามาจับจองทำกิจการค้าที่บางลำพู ได้นำวิธีการนี้มาใช้ และได้สร้างอาคารซึ่งมีลักษณะเหมือนอาคารที่ทำการสมาคมเช่นเดียวกันนี้ขึ้นที่บางลำพู แม้ภายหลังเมื่ออาคารดังกล่าวจะถูกรื้อถอน แต่ชื่อสิบสามห้างยังคงอยู่ และได้กลายเป็นชื่อถนนที่เคยเป็นที่ตั้งอาคารสมาคม[1]

นอกจากนี้แล้ว ถนนสิบสามห้างในช่วงกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) เป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นเช่นเดียวกับสยามสแควร์ในปัจจุบัน เพราะเป็นแหล่งของร้านอาหารจำนวนมาก ที่เปิดกันจนถึงช่วงดึก และยังมีร้านไอศกรีมซึ่งเป็นสิ่งที่หารับประทานยากในสมัยนั้น รวมถึงยังมีบริการโทรทัศน์เปิดให้กับลูกค้าได้ดูอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่อีกอย่างหนึ่ง[2]

ถนนสิบสามห้างได้รับการกล่าวถึงในภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2540 ด้วยเป็นฉากหลังสำคัญในเนื้อเรื่องที่ตัวละครต่าง ๆ ในเรื่องยกพวกตีกัน[3]

ถนนสิบสามห้างและถนนบวรนิเวศน์ยังเป็นวงเวียนที่เป็นจุดบรรจบกันของถนนตะนาว, ถนนรามบุตรี และถนนตานี และเกาะกลางถนนยังเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กในลักษณะของสวนหย่อม สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2519 จากเดิมที่เคยเป็นคลอง ต่อมาได้มีการถมที่เพื่อสร้างเป็นถนน โดยกองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร มีขนาดความกว้าง 13.70 เมตร ยาว 102.10 เมตร รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,844 ตารางเมตร (1 ไร่ 52 ตารางวา)[4]

สถานที่สำคัญใกล้เคียง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. มติชน : กรุงเทพฯ
  2. ไทยสรวง, ปิลันธน์ (2016-04-26). ""บางลำพูในความทรงจำ" จากย่านตลาดเก่าสู่สวรรค์ราคาถูกของนักท่องเที่ยว". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-13. สืบค้นเมื่อ 2018-02-23.
  3. "2499 อันธพาลครองเมือง[HD]". ยูทิวบ์. 28 April 2015. สืบค้นเมื่อ 23 August 2015.
  4. "สวนหย่อมสิบสามห้าง". ศูนย์ข้อมูล เกาะรัตนโกสินทร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-13. สืบค้นเมื่อ 2018-03-15.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′38″N 100°29′57″E / 13.760640°N 100.499257°E / 13.760640; 100.499257