นาฏศิลป์ไทย
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปะการแสดงประกอบดนตรีของไทย เช่น ฟ้อน รำ ระบำ โขน แต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป สาเหตุหลักมาจากภูมิประเทศ ภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่น ความเชื่อ ศาสนา ภาษา นิสัยใจคอของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละภาค
เป็นศิลปะการรำ และการละเล่น หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ฟ้อน” การฟ้อนเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนา และกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ชาวไต ชาวลื้อ ชาวยอง ชาวเขิน เป็นต้น ลักษณะของการฟ้อน แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบดั้งเดิม และแบบที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ แต่ยังคงมีการรักษาเอกลักษณ์ทางการแสดงไว้คือ มีลีลาท่ารำที่แช่มช้า อ่อนช้อยมีการแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สวยงามประกอบกับการบรรเลงและขับร้องด้วยวงดนตรีพื้นบ้าน เช่น วงสะล้อ ซอ ซึง วงปูเจ่ วงกลองแอว เป็นต้น โอกาสที่แสดงมักเล่นกันในงานประเพณีหรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ประวัติศาสตร์นาฏศิลป์ไทย
แก้นาฏศิลป์ไทยเป็นการเล่นเครื่องดนตรีหลาย ๆ ชนิดการละครฟ้อนรำและดนตรีอันมีคุณสมบัติตามคัมภีร์นาฏะหรือนาฏยะกำหนดว่า ต้องประกอบไปด้วย 3 ประการ คือ การฟ้อนรำ การดนตรี และการขับร้อง รวมเข้าด้วยกัน ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ เป็นอุปนิสัยของคนมาแต่ดึกดำบรรพ์ นาฏศิลป์ไทยมีที่มาและเกิดจากสาเหตุแนวคิดต่าง ๆ เช่น เกิดจากความรู้สึกกระทบกระเทือนทางอารมณ์ไม่ว่าจะอารมณ์แห่งสุข หรือความทุกข์และสะท้อนออกมาเป็นท่าทางแบบธรรมชาติและประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นท่าทางลีลาการฟ้อนรำ หรือเกิดจากลัทธิความเชื่อในการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธ์ เทพเจ้า โดยแสดงความเคารพบูชาด้วยการเต้นรำ ขับร้องฟ้อนรำให้เกิดความพึงพอใจ เป็นต้น นาฏศิลป์ไทยยังได้รับอิทธิพลแบบแผนตามแนวคิดจากต่างชาติเข้ามาผสมผสานด้วย เช่น วัฒนธรรมอินเดียเกี่ยวกับวรรณกรรมที่เป็นเรื่องของเทพเจ้าและตำนานการฟ้อนรำโดยผ่านเข้าสู่ประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมคือผ่านชนชาติชวาและเขมร ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงให้เป็นรูปแบบตามเอกลักษณ์ของไทย เช่น ตัวอย่างของเทวรูปศิวะปางนาฏราชที่สร้างเป็นท่าการร่ายรำของพระอิศวร ซึ่งมีทั้งหมด 108 ท่า หรือ 108 กรณะ หรือ กรณะ ๑๐๘ และรส ๘ ประการของศิลป์[1]: 2 โดยทรงฟ้อนรำครั้งแรกในโลกที่เสาไม้ในโคปูระ ประตูด้านตะวันออกทางเข้ามหาวิหารศิวนาฏราช ณ ตำบลจิทรัมพรัม เมืองมัทราส อินเดียใต้[1]: 3 ปัจจุบันอยู่ในรัฐทมิฬนาดูนับเป็นคัมภีร์สำหรับการฟ้อนรำ แต่งโดยพระภรตมุนี เรียกว่า คัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์[1]: 2–3 ถือเป็นอิทธิพลสำคัญต่อแบบแผนการสืบสานและถ่ายทอดนาฏศิลป์ของไทยจนเกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่มีรูปแบบ แบบแผนการเรียน การฝึกหัด จารีต ขนบธรรมเนียมมาจนถึงปัจจุบัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาทางด้านนาฏศิลป์ไทยได้สันนิษฐานว่า อารยธรรมทางศิลปะด้านนาฏศิลป์ของอินเดียนี้ได้เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติการสร้างเทวาลัยศิวะนาฏราชที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1800 ซึ่งเป็นระยะที่ไทยเริ่มก่อตั้งกรุงสุโขทัย ดังนั้นท่ารำไทยที่ดัดแปลงมาจากอินเดียในครั้งแรกจึงเป็นความคิดของนักปราชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการแก้ไขปรับปรุงหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ จนนำมาสู่การประดิษฐ์ท่าร่ายรำและละครไทยมาจนถึงปัจจุบัน
กำเนิดนาฏศิลป์ไทย
แก้ท่ารำตาม คัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์[1]: 2–3 นอกจากแม่ท่ารำที่เรียกว่า กรณะ ๑๐๘[1]: 2 แล้ว ยังกล่าวถึงท่าย่อยต่าง ๆ อาทิ ท่าที่แสดงด้วยกิริยาเหลือบแล ท่ากรอกลูกตา ท่าแสดงศรีษะ ท่าที่แสดงด้วยคิ้ว ริมฝีปาก แก้ม ลูกคาง และลำคอ มีชื่อเรียกท่าต่าง ๆ ท่ารำที่เห็นได้ชัดเจนคือ ท่ามือ แบ่งออกเป็นท่ามือเดี่ยว เรียกว่า อสํยุตหัสต์ มี 24 ท่า เช่น ท่ากำหมัด (มุสติ) ท่าจีบนิ้ว (หังสัสยะ) เป็นต้น และท่ามือคู่ เรียกว่า สํยุตหัสต์ มี 13 ท่า เช่น ท่าไหว้ (อัญชลี) ท่าปู (กรกตะ) เป็นต้น การแสดงท่ารำด้วยอวัยวะต่าง ๆ มีความหมายเช่นเดียวกับคำพูดเรียกการแสดงท่าเหล่านี้ว่านาฏยภาษา[1]: 4
หลักฐานที่ค้นพบและเกี่ยวข้องกับการกำเนิดนาฏศิลป์ไทย เช่น ปูนปั้นท่าลลิตะอายุสมัยทวารวดี ค้นพบที่เมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ ดินเผาท่ารำอัญจิตะอายุสมัยทวารวดี ค้นพบที่เมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ดินเผาท่าจตุระอายุสมัยทวารวดี ค้นพบที่เมืองโบราณบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และเทวรูปท่าวยัมสิตะอายุสมัยลพบุรี ค้นพบที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เหล่านี้ล้วนเป็นนาฏยภาษา หรือภาษานาฏศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย[1]: 5
สมัยสุโขทัย
แก้ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไม่มีหลักฐานกล่าวไว้ชัดเจนเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยว่าเล่นเป็นเรื่องเป็นราวแต่คงเป็นเพียงการละเล่นแบบพื้นบ้านพื้นเมือง เช่น การละเล่นในเทศกาลกฐินตามที่ปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 บรรทัดที่ 17-20 ว่า:-
เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกัน แต่อรัญญิกพู้นท้าวหัวลาน ดํบงคํกลอย ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเหล้น เหล้น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน[1]: 7
ความจารึกดังกล่าวกล่าวถึงนาฏศิลป์ไว้กว้าง ๆ เป็นความหมายรวม ๆ ว่ามีดนตรีประโคมในขบวนแห่อย่างครึกครื้น มีการขับร้อง ฟ้อนรำนำขบวน ใครมีศิลปะการละเล่นอย่างใดก็แสดงได้อย่างเสรี[3] เมื่อชนชาติไทยเมืองสุโขทัยเข้าไปเกี่ยวพันกับชนชาติที่เคยรับวัฒนธรรมจากอินเดียอยู่ก่อน เช่น มอญ และขอม นาฏศิลป์ไทยจึงเริ่มปรากฏว่ามีการละเล่นเป็นแบบแผนขึ้น[1]: 7
ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ หลักที่ 8 มหาศักราช ๑๒๘๑ (พ.ศ. 1903) รัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) บรรทัดที่ 15-22 กล่าวถึงการเต้นรำในเทศกาลไหว้พระพุทธบาทเหนือยอดเขาสมนกูฏ (เขาพระบาทใหญ่) เมืองสุโขทัย ว่า:-
ย่อมเรียงขันหมากขันพลูบูชาพิลมระบำเต้นเหล้นทุกฉัน ด้วยเสียงอันสาธุการบูชา อีกด้วยดูรยพาทพิณฆ้องกลองเสียงดังสีพดังดินจักหล่มอันใส้[4]
แม้ความจารึกไมได้กล่าวชัดแจ้งว่าเป็นระบำชนิดใด แต่ก็มีกล่าวถึงไว้ในวรรณกรรมสมัยสุโขทัยเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่เรียกการละเล่นว่า ระบำ เกิดขึ้นและเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในสมัยนั้น[1]: 7
บันทึกในสมัยอยุธยา
แก้ในสมัยอยุธยามีหลักฐานปรากฏในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า มีการให้จัดแสดงโขน และการแสดงประเภทอื่นขึ้นในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา ในลักษณะที่กล่าวได้ว่าเกือบจะเหมือนกับรูปแบบของนาฏศิลป์ไทยที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน และที่แพร่หลายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยในระหว่างที่ราชอาณาจักรอยุธยายังมีสัมพันธ์ทางการทูตโดยตรงกับฝรั่งเศส ราชทูตฝรั่งเศส ชื่อ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ ได้เข้ามายังประเทศสยาม ในปี ค.ศ. 1687 และพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้จดบันทึกทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศสยาม ตั้งแต่การปกครอง ภาษา ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี โดย ลาลูแบร์ ได้มีโอกาสได้สังเกตการแสดงนาฏศิลป์ประเภทต่าง ๆ ในราชสำนักไทย และจดบันทึกไว้โดยละเอียดดังนี้:
"ชาวสยามมีศิลปะการเวทีอยู่สามประเภท: ประเภทที่เรียกว่า"โขน"นั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควรแล้ว นาน ๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร หรือไม่เป็นหน้าอสูรปีศาจ" ส่วนการแสดงประเภทที่เรียกว่า "ละคร" นั้นเป็นบทกวีที่ผสมผสานกัน ระหว่างมหากาพย์ และบทละครพูด ซึ่งแสดงกันยืดยาวไปสามวันเต็ม ๆ ตั้งแต่ ๘ โมงเช้า จนถึง ๑ ทุ่ม ละครเหล่านี้เป็น ประวัติศาสตร์ที่ร้อยเรียงเป็นบทกลอนที่เคร่งครึม และขับร้องโดยผู้แสดงหลายคนที่อยู่ในฉากพร้อม ๆ กัน และเพียงแต่ร้องโต้ตอบกันเท่านั้น โดยมีคนหนึ่งขับร้องในส่วนเนื้อเรื่อง ส่วนที่เหลือจะกล่าวบทพูด แต่ทั้งหมดที่ขับร้องล้วนเป็นผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงเลย ... ส่วน "ระบำ" นั้นเป็นการรำคู่ของหญิงชาย ซึ่งแสดงออกอย่างอาจหาญ ... นักเต้นทั้งหญิงและชายจะสวมเล็บปลอมซึ่งยาวมาก และทำจากทองแดง นักแสดงจะขับร้องไปด้วยรำไปด้วย พวกเขาสามารถรำได้โดยไม่เข้าพัวพันกัน เพราะลักษณะการเต้นเป็นการเดินไปรอบ ๆ อย่างช้า ๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว แต่เต็มไปด้วยการบิดและดัดลำตัว และท่อนแขน"[5]
ในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งกายของนักแสดงโขน ลา ลูแบร์ ได้บันทึกไว้ว่า:
"นักเต้นใน "ระบำ" และ "โขน" จะสวมชฎาปลายแหลมทำด้วยกระดาษมีลวดลายสีทอง ซึ่งดูคล้าย ๆ หมวกของพวกข้าราชการสยามที่ใส่ในงานพิธี แต่จะหุ้มตลอดศีรษะด้านข้างไปจนถึงใต้หู และตกแต่งด้วยหินอัญมณีเลียนแบบ และมีห้อยพู่สองข้างเป็นไม้ทาสีทอง"[6]
อิทธิพลต่อประเทศในอุษาคเนย์
แก้นาฏศิลป์ และการละครของสยาม ที่ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสมบูรณ์แบบสูง และมีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมอาณาจักรข้างเคียงมาก ดังที่ กัปตันเจมส์ โลว์ นักวิชาการอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้บันทึกไว้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์:
"พวกชาวสยามได้พัฒนาศิลปะการแสดงละครของตนจนเข้าถึงความสมบูรณ์แบบในระดับสูง -- และในแง่นี้ศิลปะของสยามจึงเผยแพร่ไปในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งล้วนแต่เสาะหานักรำละครของสยามทั้งสิ้น"[7]
ประเภทของนาฏศิลป์ไทย
แก้นาฏศิลป์ไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1.รำ คือการแสดงที่มุ่งเน้นถึงศิลปะท่วงท่า ดนตรี ไม่มีการแสดงเป็นเรื่องราว รำบางชุดเป็นการชมความงาม บางชุดตัดตอนมาจากวรรณคดี หรือบางทีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเนื้อเพลงเช่นการรำหน้าพาทย์เป็นต้น รำจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
1.รำหน้าพาทย์ คือการรำประกอบเพลงหน้าพาทย์ เพลงหน้าพาทย์คือเพลงที่บรรเลงโดยไม่มีคำร้อง ใช้ในการเบิกโรง ประกอบอาอัปกิริยาต่างๆของตัวละคร โดยเพลงหน้าพาทย์จะมีท่ารำเฉพาะของแต่ละเพลง
2.รำบท คือการรำโดยใช้หลักนาฏศิลป์ แสดงออกตามบทร้อง หรือบทละคร แบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
2.1 รำเดี่ยว เป็นการแสดงที่มุ่งอวดศิลปะทางนาฏศิลป์อย่างแท้จริงชึ่งผู้รำจะต้อมมีผีมือดีเยี่ยม เพราะเป็นการแสดงที่แสดงแต่เพียงผู้เดียว รำเดี่ยวโดยส่วนมากก็จะเป็นการรำฉุยฉายต่าง ๆ เช่น ฉุยฉายเบญจกาย ฉุยฉายวันทอง ฯลฯ เป็นต้น
2.2 รำคู่ การแสดงชุดนี้ไม่จำเป็นจะต้องพร้อมเพียงกันแต่อาจมีท่าที่เหมือนก็ได้ เพราะการรำคู่นี้เป็นการใช้ลีลาที่แตกต่างกันระหว่างผู้แสดงสองคน เช่นตัวพระ กับตัวนาง หรือบทบาทของตัวแสดงนั้น รำคู่นี้ก็จะแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ 2.2.1 รำคู่สวยงามจากวรรณคดี เช่น หนุมานจับนาสุพรรณมัจฉา เป็นต้น 2.2.2 รำมุ่งอวดการใช้อุปกรณ์ เช่น การรำอาวุธ รำกระบี่กระบอง
2.3 รำหมู่ รำชุดนี้เป็นการรำที่เน้นความพร้อมเพรียง เช่นรำอวยพรชุดต่าง ๆ
2.4 รำละคร คือการรำที่ใช้ในการแสดงละครหรือโขน เป็นการแสดงท่าท่างสื่อความหมายไปกับบทร้อง หรือบทละคร และเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ ในการแสดงละคร
2.ระบำ คือการแสดงที่มีความหมายในตัวใช้ผู้แสดงสองคนขึ้นไป คือผู้คิดได้มีวิสัยทัศน์และต้องการสื่อการแสดงชุดนั้นผ่านทางบทร้อง เพลง หรือการแต่งกายแบบ ที่มาจากแรงบันดาลใจ จากเรื่องต่าง ๆ เช่นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และเป็นการแสดงที่จบในชุด ๆ เดียว เป็นต้น ระบำ จะแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
2.1 ระบำมาตรฐาน เป็นระบำที่บรมครูทางนาฏศิลป์ได้คิดค้นไว้ ทั้งเรื่องเพลง บทร้อง การแต่งกาย ท่ารำ ซึ่งไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ระบำมาตรฐานจะมีอยู่ทั้งหมด 6ชุด คือ ระบำสี่บท ระบำย่องหงิดหรือยู่หงิด ระบำพรหมมาตร ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤษดา ระบำเทพบันเทิง
2.2 ระบำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ เป็นระบำที่บรมครูหรือผู้รู้ทางนาฏศิลป์ได้คิดค้นและปรับปรุงชึ้นมาใหม่ ชึ่งสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามโอกาส อาจเป็นระบำที่ได้แรงบัลดาลใจที่ผู้ประดิษฐ์ต้องการสื่ออาจเป็นเรื่องของการแต่งกาย วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ระบำปรับปรุงมีอยู่หลากหลายเช่น ระบำชุมนุมเผ่าไทย ระบำไกรราศสำเริง ระบำไก่ ระบำสุโขทัย ฯลฯ เป็นต้น
ฟ้อน และ เซิ้ง ก็จัดว่าเป็นระบำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ เพราะผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญทางนาฏศิลป์ได้คิดค้นขึ้นมา มีการแต่งการตามท้องถิ่นเพราะการแสดงแต่ละชุดได้เกิดขึ้นมาจากแรงบัลดาลใจของผู้คิดที่จะถ่ายทอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต การแต่งกาย ดนตรี เพลง และการเรียกชื่อการแสดงนั้น จะเรียกตาม ภาษาท้องถิ่น และการแต่งกายก็แต่งกายตามท้องถิ่น เช่นภาคเหนือก็จะเรียกว่าฟ้อน เช่นฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ภาคอิสานก็จะเรียกและแต่งกายตามท้องถิ่น ทางภาคอิสานเช่น เซิ้งกะติ๊บข้าว เซิ้งสวิง เป็นต้น การแสดงต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากท้องถิ่นและแต่งกายตามท้องถิ่นไม่ได้มีหลักหรือ เกณฑ์ที่ใช้กันโดยทั่วไปในวงการนาฏศิลป์ไทยทั่วประเทศสามารถปรับปรุงหรื่อเปลี่ยนแปลงได้ตามโอกาสที่แสดง จึงถือว่า การฟ้อนและการเซิ้งเป็นระบำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่
3. ละคร คือการแสดงเรื่องราวโดยมีตัวละครต่างดำเนินเรื่องมีผูกเหตุหรือการผูกปมของเรื่อง ละครอาจประกอบไปด้วยศิลปะหลายแขนงเช่น การรำ ร้อง หรือดนตรี ละครจะแบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่ 3.1 ละครแบบดั้งเดิม มีอยู่สามประเภท คือ โนห์ราชาตรี ละครนอก ละครใน 3.2 ละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ มีอยู่หกประเภท ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครเสภา ละครพูด ละครร้อง ละครสังคีต
4.มหรสพ' คือการแสดงรื่นเริง หรือการแสดงที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ มีรูปแบบและวิธีการแสดงที่เป็นแบบแผน เช่น การแสดงโขน หนังใหญ่เป็นต้น
ดนตรีและเพลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์
แก้ดนตรี เพลง และการขับร้องเพลงไทยสำหรับประกอบการแสดง สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทย และเพลงสำหรับประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทย
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทย
แก้ประกอบด้วย
ดนตรีประกอบการแสดงโขน – ละคร
แก้วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนและละครของไทยคือ วงปี่พาทย์ ซึ่งมีขนาดของวงเป็นแบบวงประเภทใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของการแสดงนั้น ๆ ด้วย เช่น การแสดงโขนนั่งราวใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า 2 วง การแสดงละครในอาจใช้วงปี่พาทย์เครื่องคู่ หรือการแสดงดึกดำบรรพ์ต้องใช้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์เป็นต้น
ดนตรีประกอบการแสดงรำและระบำมาตรฐาน
แก้การแสดงรำและระบำที่เป็นชุดการแสดงที่เรียกว่า รำมาตรฐานและระบำมาตรฐานนั้น เครื่องดนตรีทีใช้ประกอบการแสดงอาจมีการนำเครื่องดนตรีบางชนิดเข้ามาประกอบการแสดง จะใช้วงปี่พาทย์บรรเลง เช่น ระบำกฤดาภินิหาร อาจนำเครื่องดนตรี ขิมหรือซอด้วง ม้าล่อ กลองต๊อก และกลองแด๋ว มาบรรเลงในช่วงท้ายของการรำที่เป็นเพลงเชิดจีนก็ได้
ดนตรีประกอบการแสดงพื้นเมือง
แก้ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงพื้นเมืองภาคต่าง ๆ ของไทยจะเป็นวงดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าของแต่ละภูมิภาค ได้แก่
ดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ
แก้มีเครื่องดนตรี เช่น พิณเปี๊ยะ ซึง สะล้อ ปี่แน ปี่กลาง ปี่ก้อย ปี่ตัด ปี่เล็ก ป้าดไม้ (ระนาดไม้) ป้าดเหล็ก (ระนาดเหล็ก) ป้าดฆ้อง (ฆ้องวงใหญ่) ฆ้องหุ่ย ฆ้องเหม่ง กลองหลวง กลองแอว กลองปู่เจ่ กลองปูจา กลองสะบัดไชย กลองเซิง กลองเต่งทิ้ง กลองม่าน และกลองตะโล้ดโป้ด เมื่อนำมารวมเป็นวง จะได้วงต่าง ๆ คือ วงสะล้อ ซอ ซึง วงปู่จา วงกลองแอว วงกลองม่าน วงปี่จุม วงเติ่งทิ้ง วงกลองปูจาและวงกลองสะบัดไชย
ดนตรีพื้นเมืองภาคกลาง
แก้เป็นเครื่องดนตรีประเภทเดียวกับวงดนตรีหลักของไทยคือ วงปี่พาทย์และเครื่องสาย ซึ่งลักษณะในการนำมาใช้อำนาจนำมาเป็นบางส่วนหรือบางประเภท เช่น กลองตะโพนและเครื่องประกอบจังหวะนำมาใช้ในการเล่นเพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว กลองรำมะนาใช้เล่นเพลงลำตัด กลองยาวใช้เล่นรำเถิดเทิง กลองโทนใช้เล่นรำวงและรำโทน ส่วนเครื่องเดินทำนองก็นิยมใช้ระนาด ซอหรือปี่ เป็นต้น
ดนตรีพื้นเมืองภาคอีสาน
แก้มีเครื่องดนตรีสำคัญ ได้แก่ พิณ อาจเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ซุง หมากจับปี่ หมากตับแต่งและหมากต๊ดโต่ง ซอ โปงลาง แคน โหวด กลองยาวอีสาน กลองกันตรึม ซอกันตรึม ซอด้วง ซอตรัวเอก ปี่อ้อ ปราเตรียง ปี่สไล เมื่อนำมาประสมวงแล้วจะได้วงดนตรีพื้นเมือง คือ วงโปงลาง วงแคน วงมโหรีอีสานใต้ วงทุ่มโหม่ง และวงเจรียงเมริน
ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้
แก้มีเครื่องดนตรีที่สำคัญ ได้แก่ กลองโนรา กลองชาตรีหรือกลองตุ๊ก กลองโพน กลองปืด โทน กลองทับ รำมะนา โหม่ง ฆ้องคู่ ปี่กาหลอ ปี่ไหน กรับพวงภาคใต้ แกระ และนำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาผสม ได้แก่ ไวโอลิน กีต้าร์ เบนโจ อัคคอร์เดียน ลูกแซ็ก ส่วนการประสมวงนั้น เป็นการประสมวงตามประเภทของการแสดงแต่ละชนิด
เพลงไทยสำหรับประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทย
แก้เพลงไทยประกอบการแสดงโขน ละคร รำ และระบำมาตรฐาน
แก้เพลงไทยที่ใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทย โขน ละคร รำและระบำมาตรฐานนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
เพลงหน้าพาทย์
แก้โดยหลักใหญ่ ๆ เพลงหน้าพาทย์แบ่งออกเป็นสองอย่างด้วยกันคือ เพลงหน้าพาทย์ใช้บรรเลงอย่างหนึ่ง และเพลงหน้าพาทย์ใช้ประกอบกิริยาอาการของตัวโขนละครตามบทอีกอย่างหนึ่ง ปี่พาทย์ที่ไม่ได้ประกอบการแสดงจะมีอิสระในการบรรเลงไม่กำหนดเวลาที่แน่นอนอยู่ที่ผู้บรรเลงเป็นส่วนใหญ่ ปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงนั้นผู้บรรเลงจะต้องยึดผู้แสดงเป็นหลักโดยใช้จังหวะที่แน่นอนท่วงทำนองเพลงต้องให้สอดคล้องกับผู้แสดงจึงจะเกิดความสมดุลกัน และเกิดสุนทรีย์รสมากขึ้น
เพลงขับร้องรับส่ง
แก้คือเพลงไทยทีนำมาบรรจุไว้ในบทโขน – ละคร อาจนำมาจากเพลงตับ เถา หรือเพลงเกร็ด เพื่อบรรเลงขับร้องประกอบการรำบทหรือใช้บทของตัวโขน ละครหรือเป็นบทขับร้องในเพลงสำหรับการรำแลระบำ เช่น เพลงช้าปี่ เพลงขึ้นพลับพลา เพลงนกกระจอกทอง เพลงลมพัดชายเขา เพลงเวสสุกรรม เพลงแขกตะเขิ่ง เพลงแขกเจ้าเซ็น เป็นต้น
เพลงไทยประกอบการแสดงพื้นเมือง เพลงไทยที่ใช้ประกอบการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง
แก้เป็นบทเพลงพื้นบ้านที่ใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง โดยแบ่งออกตามภูมิภาคดังนี้
เพลงบรรเลงและขับร้องประกอบนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ
แก้เพลงประกอบการฟ้อนเล็บได้แก่ เพลงแหย่งหลวง ฟ้อนเทียน ได้แก่ เพลงลาวเสี่ยงเทียน ฟ้อนสาวไหม ได้แก่ เพลงปราสาทไหวและสาวสมเด็จ ระบำซอ ได้แก่ ทำนองซอยิ๊และซอจ๊อยเชียงแสน บรเลง เพลงลาวจ้อย ต้อยตลิ่งและลาวกระแซ เป็นต้น
เพลงบรรเลงและขับร้องประกอบนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคกลาง
แก้เพลงประกอบการเต้นรำกำเคียว ได้แก่ เพลงระบำชาวนา เป็นต้น
เพลงบรรเลงและขับร้องประกอบนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคอีสาน
แก้เพลงประกอบการแสดงเซิ้งโปงลาง บรรเลงเพลงลายโปงลาง เซิ้งภูไทย บรรเลงลายลำภูไทย เป็นต้น
เพลงบรรเลงและขับร้องประกอบนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้
แก้เพลงประกอบการแสดงลิเกป่า นิยมใช้เพลงตะลุ่มโปง เพลงสร้อยสน เพลงดอกดิน การแสดงชุดรองเง็งบรรเลงเพลงลาฆูดูวอ เพลงมะอีนังลามา เพลงลานัง เพลงปูโจ๊ะปิชัง เป็นต้น
การแต่งกายนาฏศิลป์ไทย
แก้การแสดงนาฏศิลป์ไทยทั้งโขนและละครนั้นได้จำแนกผู้แสดงออกเป็น 4 ประเภทตามลักษณะของบทบาทและการฝึกหัดคือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวลิง ซึ่งในแต่ละตัวละครนั้น นอกจากบุคลิกลักษณะที่ถ่ายทอดออกมาให้ผู้ชมทราบจากการแสดงแล้ว เครื่องแต่งการของผู้แสดงก็ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ผู้นั้นรับบทบาทแสดงเป็นตัวใด
เครื่องแต่งการนาฏศิลป์ไทยมีความงดงามและกรรมวิธีการประดิษฐ์ที่วิจิตรบรรจงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะที่มาของเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ไทยนั้น จำลองแบบมาจากเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ (เครื่องต้น) แล้วนำมาพัฒนาให้เหมาะสมต่อการแสดง ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ฝ่าย ดังนี้
เครื่องแต่งตัวพระ
แก้คือ เครื่องแต่งกายของตัวพระมีลักษณะคล้ายเทพมีวิชา
เครื่องแต่งตัวนาง
แก้คือ เครื่องแต่งกายของผู้แสดงหรือผู้รำที่แสดงเป็นหญิง สำหรับเครื่องแต่งตัวพระและนางนี้ จะใช้แต่งกายสำหรับผู้ระบำมาตรฐาน เช่น ระบำสี่บท ระบำพรหมาสตร์และระบำกฤดาภินิหาร เป็นต้น และยังใช้แต่งกายสำหรับตัวละครในการแสดงละครนอกและละครในด้วย ส่วนในระบำเบ็ดเตล็ด เช่น ระบำนพรัตน์ ระบำตรีลีลา ระบำไตรภาคี ระบำไกรลาสสำเริง ระบำโบราณคดีชุดต่าง ๆ หรือระบำสัตว์ต่าง ๆ จะใช้เครื่องแต่งกายตามความเหมาะสมกับการแสดงนั้น ๆ เช่น นุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบ และสวมชุดไทยต่าง ๆ เป็นต้น ตลอดจนยังมีการแสดงหรือการฟ้อนรำแบบพื้นเมืองของท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งจะมีการแต่งกายที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น
เครื่องแต่งตัวยักษ์ (ทศกัณฐ์)
แก้คือ เครื่องแต่งกายของผู้แสดงเป็นตัวยักษ์ เป็นเครื่องยักษ์
เครื่องแต่งตัวลิง
แก้คือ เครื่องแต่งกายของผู้แสดงเป็นตัวลิง
นาฏศิลป์กับบทบาททางสังคม
แก้นาฏศิลป์เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สร้างสรรค์สุนทรียะด้านจิตใจและอารมณ์ให้กับคนในสังคมและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิตและกิจกรรมของคนในสังคม ทั้งที่เป็นกิจกรรมส่วนตัวและกิจกรรมส่วนรวม ดังพิจารณาได้จากบทบาทของนาฏศิลป์ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทางด้านต่าง ๆ เช่น บทบาทในพิธีกรรมรัฐพิธีและราชพิธี การแสดงนาฏศิลป์ในพิธีกรรมต่าง ๆ สามารถแสดงถึงความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติของภูตผีปีศาจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เช่น การฟ้อนรำในพิธีรำผีฟ้าเพื่อรักษาโรค หรือสะเดาะเคราะห์ของภาคอีสาน การฟ้อนผีมดผีเม็งในภาคเหนือ ที่จะมีผู้หญิงมาเข้าทรง เป็นต้น
ทัศนะ
แก้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับนาฏศิลป์ของราชสำนักไทยเปรียบเทียบกับนาฏศิลป์ของราชสำนักกัมพูชาไว้ว่า:–
ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นส่วนตัวสันนิษฐานด้วยเรื่องยักษ์กับมนุษย์ในลครไทยเราสักหน่อย ในชั้นต้นที่จะจับพิจารณาดูและรู้สึกขึ้นนั้น คือรู้สึกอยู่ว่า มนุษย์นั้นแต่งตัวตามแบบที่ไทยเราแต่งอยู่แต่โบราณนั้นเปนแน่แล้ว แต่ยักษ์หาได้แต่งเช่นนั้นไม่ ถ้าเช่นนั้นยักษ์แต่งเอาอย่างใครเล่า ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบดูตามรูปภาพและลายต่าง ๆ ข้างมัธยมประเทศ ก็เห็นชัดว่าไม่ใช่เอาอย่างจากที่นั้น เพราะยักษ์กับมนุษเขาแต่งเหมือนกันทุกประการ ใช่แต่เท่านั้น หน้าตายักษ์กับมนุษก็ไม่ผิดแผกแปลกกันปานใด หากจะผิดกันอยู่บ้าง ก็แต่ยักษ์มักมีเขี้ยวขาวออกมานอกปากบ้าง และบ้างก็มีหนวดหนาดัดโง้ง แลคิ้วขมวด เห็นได้ว่าเปนคนอย่างดุ ๆ แลถ้าไปโดนตัวที่มีหัวมีแขนมาก ๆ ก็เห็นง่ายหน่อยเท่านั้น เมื่อทราบแน่ว่าไม่ใช่เอาอย่างจากมัธยมประเทศแล้ว จึ่งหันมาตรวจทางชวา ก็เห็นได้อีกว่าไม่ใช่ จนเดินต่อมาถึงเขมร จึ่งถึง “บางอ้อ” ยักษ์คือขอมนั้นเอง เหมาะมาก เพราะถ้าจะเทียบกับครูเดิม เขาเรียกพวกตัวเขาเองว่า อริยกะ เปนพวกพระอินทร์ ส่วนพวกชนที่เคยอยู่ในพื้นเมืองมัธยมประเทศเดิมซึ่งพวกอริยกะได้รบพุ่งขับเขี้ยวกันอยู่มากนั้น เขาเรียกว่า ทัสยุหรืออสูร เปรียบไทยเราก็ได้แก่พวกอริยกะ เปรียบขอมได้แก่พวกทัสยุหรืออสูร ดูสมเหตุสมผลกันดี ใช่แต่เท่านั้น เครื่องแต่งตัวและหน้าก็เปนพยานอยู่ คือ
๑) มนุษย์และเทวดานุ่งหางหงษ์จีบทับสนับเพลาอย่างแบบไทย ยักษ์นุ่งถกเขมรอย่างขอม ผ้าปิดก้นคือชายกระเบนที่ชักขึ้นไปแลปล่อยห้อยลงไปข้างหลัง ผ้านุ่งยาวไม่พอ จึ่งทำเปนอีกผืน ๑ ต่างหาก ผูกเข้าแทนชายกระเบน
๒) ชฎาชนิดที่เรียกว่าชฎามนุษนั้น พิจารณารูปดู จะเห็นได้ว่ามีรูปเดียวคือเปนอย่างลำพอกไทย ที่ชฎายักษ์มียอดอุตตริต่าง ๆ แต่ครั้นไปดูรูปภาพนครธมก็พบชฎายอดอุตตริต่าง ๆ นั้นอยู่บริบูรณ จึ่งเห็นได้ว่ายักษ์ก็ใส่ชฎาขอมนั้นเอง
๓) มนุษย์และเทวดาเขียนหน้าไม่มีเคราเลย หากจะมีก็แต่หนวดซึ่งเขียนเปนอย่างพรายปากไว้นั้นเท่านั้น ทียักษ์สิมีหนวดมีเคราออกรุงรัง ดังปรากฎอยู่ที่กระหนกที่ปากและคางเปนแผ่นหนา ๆ ทั้งสองแห่ง ทั้งคิ้วก็ดกมาก คราวนี้ไปดูรูปภาพของนครธมจะเห็นได้ว่า ผู้ชายทุกคนมีคิ้วดกหนวดเคราดก หน้าตาใกล้หัวโขนยักษ์เปนอันมาก
๔) ยักษ์ตัวท้าวพญาใส่ชฎา แตเสนายักษ์หัวโล้นมีแต่กรอบหน้าและสุวรรณมาลา ตรวจรูปขอมนครธมดูก็จะเห็นว่า ตัวที่เปนท้าวพญาใส่ชฎา แต่ตัวเปนเสนาข้าเฝ้าผมข้างบนตัดสั้น มีกรอบหน้าและสุวรรณมาลาทุกคน เหมือนเสนายักษ์
โดยหลักถานพยานเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึ่งลงเนื้อเห็นว่า ยักษ์ของเราแต่งเอาอย่างขอม ซึ่งเปนคนที่เราเกลียดชังเห็นเปนข้าศึกนั้นเปนแน่แล้ว อนึ่งบางทีจะมีท่านช่างรู้บางคนจะร้องว่า ลครขององค์พระศรีสวัสดิ์เจ้านครกัมพูชานั้น พระกับยักษ์ก็แต่งอย่างของไทยเรา หัวโขนยักษ์ก็เปนอย่างของเรา เหตุไฉนเขมรเขาจะดูถูกพวกเขาเองให้เปนยักษ์เปนมารแลยกย่องไทยเปนเทวดาฉนี้ไซร้ ข้าพเจ้าขอตอบว่า เครื่องที่ลครของเจ้ากรุงกัมพูชาแต่งอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่แบบเขมร เปนแบบไทย ถึงวิธีรำก็เปนแบบไทย แม้บทร้องก็ใช้ภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาเขมรหามิได้ เมื่อเจ้านครกัมพูชามาเอาแบบลครไทยไปเล่น ก็เอาอย่างตลอดจนเครื่องแต่งตัว เพราะฉะนั้นจะว่าเขมรเขาตั้งใจดูถูกพวกขอมโบราณในการที่แต่งยักษ์เปนขอมนั้นหามิได้เลย[8][1]: 10–11
— พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบรมราชาธิบายกล่าวด้วยนาฏกะ, ศกุนตลา ของ กาลิทาสรัตนกวี ฉะบับภาษาไทย
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ราชอาณาจักรกัมพูชาทรงแสดงทฤษฎีเกี่ยวกับนาฏศิลป์กัมพูชาต่อ Malcolm MacDonald คณะกรรมาธิการข้าหลวงใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น ต่อมา Malcolm John MacDonald จึงยกเอาทฤษฎีดังกล่าวตีพิมพ์เผยแพร่ลงในหนังสือเรื่อง Angkor (หน้า 32–33) เมื่อ ค.ศ. 1958 ว่า:–
พระเจ้าสีหนุได้ทรงแสดงทฤษฎีเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของพวกละคอนแก่ข้าพเจ้า พระองค์ตรัสเล่าว่า ในราชสำนักของจักรวรรดิขอมโบราณนั้น พวกละคอนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าบาง ๆ เบา ๆ เหมือนรูปนางอัปสรที่ข้าพเจ้าได้เห็นในภาพแกะสลักที่้เทวสถานที่เรียกว่า นครวัด แล้วเหตุใดในบัดนี้พวกละคอนจึงนุ่งห่มหุ้มห่อตัวเองเสียจนมิดชิดตั้งแต่ศรีษะถึงเท้า
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุทรงตรัสอธิบายแก่ Malcolm MacDonald ว่า:–
เมื่อราว ๕๐๐ ปีมาแล้ว พวกไทยมายึดได้พระนครธม ราชสำนักขอมจึงต้องทิ้งราชธานีไปอย่างรีบด่วน เลยทิ้งพวกละคอนหลวงไว้ด้วยความสำนึกผิด ต่างรีบหนีข้าศึกกัน จึงไม่มีใครได้นึกถึงพวกละคอนหลวง พวกละครหลวงจึงต่างซุกซ่อนอยู่ในพระราชวังร้าง เพราะฉะนั้นจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของไทยผู้มีชัยชนะ พวกไทยจึงพาเอาพวกละคอนหลวงไปยังกรุงศรีอยุธยาราชธานีของตน พร้อมด้วยทรัพย์เชลยอีกเป็นอันมาก พวกละคอนหลวงของขอมจึงตกไปเป็นคณะละคอนหลวงของพระมหากษัตริย์ไทย ณ กรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งได้นำเอาประเพณีทางนาฏศิลป์ของขอมไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ครั้งนั้น
อย่างไรก็ดีคนไทยมีความคิดเห็นในเรื่องเครื่องแต่งกายละคอนแตกต่างไปจากความคิดของขอม คนไทยเป็นชนที่มาแต่ดินแดนทางเหนือในแคว้นยูนนานซึ่งมีอากาศหนาว และเคยใช้เสื้อผ้านุ่งห่มมาก เมื่อเห็นพวกละคอนหลวงของขอมใช้เครื่องแต่งกายง่าย ๆ จนเกือบจะครึ่ง ๆ เปลือยเช่นนี้ คนไทยจึงรู้สึกว่า ถ้ามิใช่แต่งอย่างคนป่าก็เป็นชาวบ้านนอก เพราะฉะนั้น ช่างเครื่องแต่งกายในพระราชวังกรุงศรีอยุธยาจึงจัดการแต่งกายให้พวกละคอนหลวงของขอมซึ่งเป็นชาวต่างชาติด้วยเครื่องแต่งกายหรูหราตามแบบไทย ครั้นล่วงเวลาหลาย(ร้อย)ปีต่อมา
เมื่อพวกละคอนกลับคืนมาสู่ราชธานีใหม่ของเขมร ณ กรุงพนมเปญ นาฏศิลป์ที่เป็นแบบโบราณของขอมซึ่งสูญไปหลายศตวรรษแล้ว ก็ได้มีการรื้อฟื้นกันขึ้นใหม่ในพระราชวัง แต่เครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดงละคอนของเขาเป็นแบบต่างชาติ ซึ่งลอกแบบมาจากไทย[1]: 17
ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น อธิบายทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุซึ่งตรัสแก่ Malcolm MacDonald ว่า:–
พึงทราบว่ามิใช่แต่เครื่องแต่งกายละคอน ความจริงลีลาท่าทีและแบบอย่างในการรำ เราก็ได้ปรับปรุงเป็นแบบไทย แม่แต่บทร้องก็เป็นภาษาไทย ดังพระบรมราชาธิบายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งข้าพเจ้าคัดมาไว้ข้างต้น เพราะฉะนั้นละคอนรำในราชสำนักเขมรทุกวันนี้ จึงเป็นแบบละคอนไทยชัด ๆ ไม่ใช่แบบโขนละคอนของขอมโบราณอย่างที่เจ้าสีหนุเฟ้อฝัน[1]: 17
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- นาฏศิลป์ไทย เก็บถาวร 2012-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- นาฏศิลป์ไทย
- นาฏศิลป์ไทย เก็บถาวร 2018-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 ธนิต อยู่โพธิ์. (2516). ศิลปละคอนรำหรือคู่มือนาฏศิลปไทย. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพรโปรดให้พิมพ์ในงานฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร.
- ↑ Leonowens, A. H. (1873). "SIAMESE LITERATURE AND ART", The English Governess at the Siamese Court: Being Recollections of Six Years in the Royal Palace at Bangkok, Entered according to Act of Congress, in the year 1870 by, Fields, Osgood, & Co., in the Office of the Librarian of Congress, at Washington. Boston: James R. Osgood and Company. p. 176. ISBN 978-059-8-61691-3
- ↑ พิทูร มลิวัลย์, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. (2517). วรรณคดีสุโขทัย [Thai Literature of the Sukhothai Period TH231]. กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. หน้า 109. ISBN 974-598-864-2
- ↑ กรมศิลปากร. (2507). คําบรรยายสัมนาโบราณคดีสมัยสุโขทัย พ.ศ. ๒๕๐๓. จัดพิมพ์เนื่องในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 40.
- ↑ Simon La Loubère, The Kingdom of Siam (Oxford Univ Press, 1986) (1693), p. 49
- ↑ La Loubère (1693), at 49
- ↑ James Low, On Siamese Literature (1839), p. 177|url=http://www.siamese-heritage.org/jsspdf/2001/JSS_095_0i_Smyth_JamesLowOnSiameseLiterature.pdf เก็บถาวร 2022-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ กาลิทาส และมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. "ภาคผนวก ๑ กล่าวด้วยนาฏกะ," ศกุนตลา ของ กาลิทาสรัตนกวี ฉะบับภาษาไทย : พระบาทสมเด็จพระแรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ ประกอบด้วยคำนำและอธิบายศัพท์. พระนคร: ไทยพิทยา, ม.ป.ป.