โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงริเริ่มดำเนินการทดลองการแปรรูปผลิตผลการเกษตรขึ้นในพระราชวังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยในปี พ.ศ. 2530 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ แก้วขวัญ วัชโรทัย เป็น ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
ก่อตั้งพ.ศ. 2504
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประเภทโครงการที่ไม่หวังผลตอบแทน (เชิงธุรกิจ)
วัตถุประสงค์การทดลองการแปรรูปผลิตผลการเกษตร
สํานักงานใหญ่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
ที่ตั้ง

ประวัติโครงการสวนจิตลดา แก้

จากการที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะเห็นประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด “โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นราชฐานที่ประทับในปีพุทธศักราช 2504

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อศึกษา ทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่าง ๆ เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิล และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างในการนำไปปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการโดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน จึงมีโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร เช่น เมื่อเกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงนมผงขึ้น เพื่อแปรรูปน้ำนมดิบให้เก็บไว้ได้นาน โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการก่อสร้าง และยังมีการตั้งศูนย์รวมนม เพื่อรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอีกด้วย

สัญลักษณ์ แก้

  • พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระมหากษัตริย์ เนื่องจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นเจ้าของ
  • รัศมี แสดงถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงให้การสนับสนุนและพระราชทานความช่วยเหลือแก่เกษตรกร
  • สีเขียว แสดงถึง การเกษตร เนื่องจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นโครงการที่สนับสนุน เผยแพร่ วิจัย และพัฒนาทางด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริ

วัตถุประสงค์ แก้

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานอยู่ 3 ประการ คือ

  1. เป็นโครงการศึกษาทดลอง
  2. เป็นโครงการตัวอย่าง ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทำการศึกษา เพื่อสามารถนำกลับไปดำเนินการเองได้
  3. เป็นโครงการที่ไม่หวังผลตอบแทน (เชิงธุรกิจ)

การดำเนินงาน แก้

การดำเนินงานของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 โครงการไม่ใช่ธุรกิจ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยงานจากเอกชน ที่สนองพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการเกษตร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการไม่ใช่ธุรกิจ ได้แก่ ป่าไม้สาธิต นาข้าวทดลอง การเพาะพันธุ์ปลานิล กังหันลม ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตน้ำเย็นด้วยพลังงานความร้อนจากแกลบ โรงกระดาษสา และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

2 โครงการกึ่งธุรกิจ ที่มีกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไรสูงสุด โดยมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศ และยังมีการบริหารจัดการเงินอย่างครบวงจร ทั้งนี้รายได้จะนำมาใช้บริหารจัดการภายในโครงการต่อไป

กลุ่มงานของโครงการกึ่งธุรกิจ ได้แก่

  • กลุ่มงานเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ซึ่งศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย รวมถึงการแปรรูปน้ำนมดิบเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ เช่น นมพาสเจอร์ไรส์ นมยูเอชที นมผง นมผงอัดเม็ด เนย ไอศกรีม โยเกิร์ต และยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคนมสด และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนมสด ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • กลุ่มงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งมีการศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ เช่น โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา โรงบดแกลบ โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ โรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลไม้อบแห้ง โรงขนมอบ โรงเพาะเห็ด งานเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง โรงปุ๋ยอินทรีย์ โรงหล่อเทียนหลวง โรงน้ำผึ้ง โรงน้ำดื่ม และงานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยกระบวนการผลิตที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย โดยดำเนินการภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษา ทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และประชาชนผู้สนใจทั่วไป

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และดำเนินการต่อมาด้วยรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งจากการทูลเกล้าฯ ถวายเงินสนับสนุน และการน้อมเกล้าฯ ถวายอาคาร เครื่องมือ และคำแนะนะต่าง ๆ จึงเป็นหน่วยงานราชการเพียงหน่วยงานเดียวที่สามารถบริหารจัดการด้านบัญชีและการเงินเอง โดยไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินสนับสนุน แต่ละโรงงานจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวเอง มีบัญชีเบิกจ่ายแยกกันไปในแต่ละโรงงาน

จากพระราชประสงค์ให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นโครงการศึกษาทดลอง และเป็นโครงการตัวอย่าง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาชมกิจการ รวมทั้งฝึกปฏิบัติงาน เพื่อนำความรู้ไปเป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2504 มีคณะพระราชอาคันตุกะจากประเทศต่าง ๆ คณะบุคคลสำคัญ ข้าราชการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร รวมทั้งผู้สนใจ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นจำนวนมาก

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°45′57″N 100°31′03″E / 13.765881°N 100.51751°E / 13.765881; 100.51751