พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิง คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ[1]
วันที่ | 25–29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 |
---|---|
สถานที่ | พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง |
ที่ตั้ง | กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน เป็นต้น ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธีนั้น ได้มีการซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย และพระที่นั่งราเชนทรยาน เพื่อให้พร้อมใช้ในพิธีจริง นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างราชรถ ราชยานขึ้นมาใหม่ คือ ราชรถปืนใหญ่และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย[2] รวมทั้งประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงให้มีความร่วมสมัย[3][4] โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์วินิจฉัยในการจัดสร้างพระเมรุมาศ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานอำนวยการพระราชพิธี[5]
ทั้งนี้กราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังสำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการะพระบรมศพฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 5 ตุลาคม ประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาคต่างหลั่งไหลมายังบริเวณท้องสนามหลวงด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน แม้รู้ว่าต้องต่อแถวยาวเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง โดยมียอดรวมประชาชนที่เดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพฯ ตลอด 337 วัน รวม 12,739,531 คน
การเตรียมงาน
แก้พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เริ่มเตรียมการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เรื่อยมา มีการสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ การบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธี รวมถึงการเตรียมงานมหรสพในงานออกพระเมรุมาศ โดยสรุปแล้วเรียงลำดับการเตรียมงานได้ดังนี้
พ.ศ. 2559
แก้- 3 พฤศจิกายน ปรับพื้นที่บริเวณท้องสนามหลวงให้รองรับการจัดพระราชพิธี[6]
- 14 พฤศจิกายน บวงสรวงตัดไม้จันทน์หอม[7]
- 19 ธันวาคม บวงสรวงพระมหาพิชัยราชรถ[8]
- 20 ธันวาคม ช่างสิบหมู่รับมอบไม้จันทน์หอม[9]
- 26 ธันวาคม พิธีปักหมุดก่อสร้างพระเมรุมาศ[10]
พ.ศ. 2560
แก้- 27 กุมภาพันธ์ พิธีบวงสรวงยกเสาเอกเพื่อเริ่มการก่อสร้างพระเมรุมาศ[11]
- 1 มีนาคม ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ครั้งแรก ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงร่วมการประชุมด้วย[12]
- 24 มีนาคม บวงสรวงราชรถปืนใหญ่[13]
- 1 พฤษภาคม ส่งมอบราชรถปืนใหญ่ให้กรมศิลปากร[14]
- 5 พฤษภาคม กรมศิลปากรเคลื่อนย้ายราชรถปืนใหญ่ไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อดำเนินการตกแต่งให้สมพระเกียรติ[15]
- 26 มิถุนายน ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ครั้งที่ 2[16]
- 6 กรกฎาคม ติดตั้งกล้องและเครื่องเสียงในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ[17]
- 7 สิงหาคม หม่อมราชวงศ์บุตรี วีระไวทยะ พล.ท.ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล พล.ต.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร ที่ปรึกษาคณะกรรมการริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศปฐมนิเทศราชสกุลที่จะเข้าร่วมขบวนพระบรมราชอิสริยยศ
- 21 กันยายน บวงสรวงการอัญเชิญราชรถและพระยานมาศ[18]
- 2 ตุลาคม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ตรวจความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ[19]
- 4 ตุลาคม มีการเปิดเผยว่าพระเมรุมาศจะเสร็จสิ้นการก่อสร้างในวันที่ 10 ตุลาคม[20]
- 11 ตุลาคม คณะทูตานุทูตจาก 65 ประเทศเข้าเยี่ยมชมการก่อสร้างพระเมรุมาศและราชรถ[21]
- 12 ตุลาคม ซ้อมยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศครั้งแรก[22]
- 13 ตุลาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความคืบหน้าในการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบเป็นการส่วนพระองค์[23]
- 16 ตุลาคม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เปิดเผยว่าการก่อสร้างพระเมรุมาศเสร็จสมบูรณ์แล้ว 100%[24]
- 17 ตุลาคม ซ้อมยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศครั้งที่ 2[25]
- 18 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นอันเสร็จสิ้นการก่อสร้างพระเมรุมาศอย่างสมบูรณ์และเป็นทางการ[26]
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
แก้คณะรัฐมนตรีรับทราบมติที่คณะอนุกรรมการฯ ฝ่ายจัดการพระราชพิธีฯ กำหนดวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พร้อมทั้งพิจารณาหมายกำหนดการพระราชพิธีฯ และกำหนดจำนวนริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศไว้เป็นที่เรียบร้อย[27][1] โดยมีพระราชพิธีสำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ในวันที่ 25 ตุลาคม, พระราชพิธีเชิญพระบรมโกศออกพระเมรุมาศ และถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษด้วย, พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิและเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 27 ตุลาคม, พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ในวันที่ 28 ตุลาคม, พระราชพิธีเลี้ยงพระ และเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ในวันที่ 29 ตุลาคม
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ
แก้วันพุธที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
เวลา 15 นาฬิกา เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ปี่พาทย์ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร แล้วทรงประเคนพัดรองที่ระลึกงานออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะที่จะถวายพระธรรมเทศนา จำนวน 11 รูป และพระราชาคณะที่จะสวดศราทธพรต 30 รูป พระสงฆ์ที่จะสดับปกรณ์ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระสงฆ์ที่จะสวดพระอภิธรรม 8 รูป บรรพชิตจีนและญวน 20 รูป แล้วพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 แล้ว พระสงฆ์ 30 รูปสวดศราทธพรต จบ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรถวายพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนา และพระสงฆ์ที่สวดศราทธพรต 30 รูป สดับปกรณ์ พระสงฆ์ทั้งนั้นถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วเจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ สวดมาติกา จบ ทรงทอดผ้าไตร และย่ามที่ระลึกงานออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระสงฆ์ 89 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลาแล้ว บรรพชิตจีน 10 รูป และบรรพชิตญวน 10 รูป ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ สวดมาติกา จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตรและย่ามที่ระลึกงานออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรบรรพชิตจีนและญวนสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่แท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมจนถึงเวลา 21 นาฬิกา รุ่งขึ้นรับพระราชทานฉัน และชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประจำ ยามตามราชประเพณี เสด็จพระราชดำ เนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี[28]
พระราชพิธีอัญเชิญพระบรมโกศไปพระเมรุมาศ
แก้วันพฤหัสบดี ที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 เจ้าพนักงานเตรียมการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เทียบพระยานมาศสามลำคานที่จะอัญเชิญพระบรมโกศออกพระเมรุมาศ โดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตั้งแต่งพระที่นั่งทรงธรรม พระจิตกาธาน พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ไว้พร้อม
ตั้งขบวนกองทหารเกียรติยศนำ ขบวนกองทหารเกียรติยศตาม และขบวนพระบรมราชอิสริยยศ สำหรับแห่อัญเชิญพระบรมโกศไปบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณี
อนึ่ง ตามแนวราชวิถีที่ขบวนกองทหารเกียรติยศและขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่อัญเชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถ มีราชรถสมเด็จพระราชาคณะนั่งอ่านพระอภิธรรมนำ จัดทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์รายทางถวายพระเกียรติ สลับกับตำรวจนครบาล ยืนรักษาการณ์ไว้พร้อม
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
เวลา 7 นาฬิกา เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมศพที่หน้าพระแท่นสุวรรณเบญจดล แล้วทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 30 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง
เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าพนักงานเปลื้องพระโกศทองใหญ่ที่ประกอบพระลองออก
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานสนมพลเรือนเปลื้องพระโกศทองใหญ่ถวายตาดคลุมพระลองแล้ว ตำรวจหลวงอัญเชิญลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล นายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์อัญเชิญพระลองออกพระทวารทางมุขตะวันตก ลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อัญเชิญพระลองประดิษฐานบนพระเสลี่ยงแว่นฟ้า แล้วอัญเชิญไปที่หน้ากำแพงแก้วโดยมีตำรวจหลวงนำทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์อัญเชิญพระลองขึ้นประดิษฐานบนเกยลา แล้วประกอบพระโกศทองใหญ่ แล้วเลื่อนพระบรมโกศเข้าประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน
ขณะที่อัญเชิญพระลองลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดลนั้น ทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ ถวายพระเกียรตินาทีละ 1 นัด ตลอดเวลา จนเมื่ออัญเชิญพระบรมโกศไปเทียบยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงหยุดยิง และเมื่อนายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อัญเชิญพระลองลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดพระทวารมุขเหนือ ไปประทับที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรการอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน เจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นถวายบังคมประคองหน้าหลัง นายทหารราชองค์รักษ์เป็นคู่เคียง
ขณะเปลื้องพระโกศทองใหญ่ ณ ที่ประดิษฐานพระแท่นสุวรรณเบญจดลภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ชาวพนักงานประโคมในริ้วขบวนจะได้กระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ตลอดเวลา และหยุดประโคมเมื่อเทียบพระยานมาศสามลำคานที่เกรินพระมหาพิชัยราชรถ
พร้อมแล้ว อัญเชิญพระบรมโกศโดยพระยานมาศสามลำคานออกจากพระบรมมหาราชวัง มีนายทหารราชองครักษ์เชิญธงมหาราชนำ ขณะนั้น กองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระยานมาศสามลำคานอัญเชิญพระบรมโกศออกทางประตูศรีสุนทร ประตูเทวาภิรมย์ เข้าประจำขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เจ้าหน้าที่ยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร คันดาลถวายกางกั้นพระบรมโกศซึ่งประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน คู่เคียงนายทหารราชองครักษ์ อินทร์ พรหม พระกลด บังพระสูรย์ มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าประจำที่ในริ้วตามลำดับ
เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยศอัญเชิญพระบรมโกศ 4 สาย มีเจ้าพนักงานนำริ้ว ธง 3 ชายคู่แห่นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ ตำรวจหลวงถือหอก มหาดเล็กหลวงคู่หน้า สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร นั่งเสลี่ยงกลีบบัวอ่านพระอภิธรรมนำ คู่เคียง อินทร์ พรหมนาลิวัน ขบวนพระบรมราชอิสริยยศประกอบด้วย พระอภิรุมชุมสาย ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ แห่อัญเชิญพระบรมโกศตามราชประเพณีไปตามถนนมหาราช ถนนท้ายวัง
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมโกศไปยังพลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เทียบพระยานมาศสามลำคานแล้วอัญเชิญพระบรมโกศประดิษฐาน ณ ท้ายเกรินบันไดนาค ทรงทอดผ้าไตร 20 ไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์เที่ยวละ 5 ไตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับยังพลับพลายก เจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งท้ายเกรินบันไดนาค ถวายบังคมแล้วประคองพระบรมโกศ เจ้าหน้าที่ผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถถวายบังคมพร้อมกันกับเจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วเลื่อนเกรินอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นสู่บุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ขณะนั้น ขบวนพระบรมราชอิสริยยศกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ถวายความเคารพ วงโยธวาทิตบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบแล้ว ขบวนหน้าทั้งหมดกลับสู่ราชวิถีที่จะเชิญพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมื่อเคลื่อนขบวนทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ถวายพระเกียรตินาทีละ 1 นัด จนกว่าพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแล้วจึงหยุดยิง ขบวนพระบรมราชอิสริยยศมีมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประโคมตลอดเวลา และหยุดประโคมเมื่อได้เปิดพระวิสูตรบนพระเมรุมาศแล้ว
ครั้นประตูหลังขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระบรมโกศผ่านพลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามที่ประทับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าขบวนตามพระบรมโกศโดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ มหาดเล็กพระราชพิธีเชิญเครื่องพระราชอิสริยยศของพระบาสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แซงเสด็จ แล้วต่อด้วยพระราชวงศ์ฝ่ายหน้า ข้าราชบริพาร และหน่วยงานในพระองค์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร พลเรือน
พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
ทหารกองเกียรติยศขบวนหน้านำพระบรมโกศ ยาตราไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน เลี้ยวเข้าถนนกลางท้องสนามหลวง แล้วเลี้ยวเข้าตั้งแถวแต่ละกองพันในสนามด้านทิศเหนือ หลังแถวทหารกองเกียรติยศพระบรมศพ หน้าพลับพลายกนอกราชวัติพระเมรุมาศ
ขบวนพระบรมราชอิสริยยศตอนหน้าพระมหาพิชัยราชรถตรงไปตามถนนกลางท้องสนามหลวง เทียบราชรถพระนำที่มุมราชวัติต่อถนนพระจันทร์ส่งสมเด็จพระวันรัตลงจากราชรถพระนำ ไปพักที่ท้ายพระที่นั่งทรงธรรม แล้วราชรถพระนำเลยไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมด้วยฉัตรพระนำ สมเด็จพระวันรัต คู่เคียง อินทร์ พรหม คู่แห่ นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ นำริ้วธง 3 ชาย มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เดินเข้าไปตั้งแถวในพระเมรุมาศตามแนวริมราชวัติด้านเหนือ ตะวันออก และด้านใต้ พร้อมด้วยฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง
เมื่อพระมหาพิชัยราชรถจะถึงที่เทียบสะพานเกรินบันไดนาคหน้าพลับพลายกนอกราชวัติพระเมรุมาศ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารกองเกียรติยศแห่นำพระบรมโกศถวายความเคารพ เทียบพระมหาพิชัยราชรถที่ประตูราชวัติพระเมรุมาศคู่เคียง อินทร์ พรหม และเครื่องสูงหักทองขวาง มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ นาลิวัน ประตูหลัง เดินชิดขวาเคียงข้างพระมหาพิชัยราชรถริมขอบสนามไปตั้งแถวในราชวัติรวมกับเครื่องสูงขบวนหน้า
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปประทับ ที่พลับพลายกพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทอดพระเนตรการอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถไปประดิษฐานเหนือราชรถปืนใหญ่เพื่อเตรียมเวียนพระเมรุมาศ
ขบวนทหารกองเกียรติยศกองหลังเลี้ยวเข้าถนนตัดเข้าพระเมรุมาศ แล้วเลี้ยวซ้ายไป ตั้งแถวตรงประตูราชวัติพระเมรุมาศด้านตะวันออก และด้านใต้ตามลำดับกองพัน
เจ้าพนักงานเชิญเกรินบันไดนาคเทียบพระมหาพิชัยราชรถ และเทียบราชรถปืนใหญ่เรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายบังคมพร้อมกับผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ แล้วเจ้าพนักงานภูษามาลาจะได้เลื่อนอัญเชิญพระบรมโกศเคลื่อนลงทางเกรินบันไดนาคประดิษฐานเหนือราชรถปืนใหญ่ มีทหารปืนใหญ่ฉุดชักราชรถปืนใหญ่ อัญเชิญพระบรมโกศเข้าเวียนพระเมรุมาศ
เลขาธิการพระราชวังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต เชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ราชรถปืนใหญ่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ตามพระบรมโกศเวียนพระเมรุมาศ โดยอุตราวัฏ 3 รอบ แล้ว เสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งทรงธรรม เจ้าพนักงานเทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศด้านเหนือ เจ้าพนักงานเลื่อนพระบรมโกศสู่เกริน อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน ครั้นถึงที่แล้วปิดพระฉาก ปิดพระวิสูตร หยุดประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เปลื้องพระบรมโกศประกอบพระโกศจันทน์ แวดล้อมด้วยฉัตรดอกไม้สด 4 มุม แล้วเปิดพระฉาก เปิดพระวิสูตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระเมรุมาศทางบันไดด้านตะวันตก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะกราบถวายบังคมพระบรมศพ แล้วเสด็จลงทางเดิม ขึ้นพระที่นั่งทรงธรรมไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
ระหว่างที่พระบรมศพประดิษฐานที่พระเมรุมาศ พระสงฆ์จะได้สวดพระอภิธรรมประจำซ่าง 4 ซ่าง ทั้งกลางวันและกลางคืน จนกว่าจะได้อัญเชิญพระบรมอัฐิกลับ และมีชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ ปี่พาทย์และประโคมยามตามเวลา[29]
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
แก้เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
เวลา 16 นาฬิกา 30 นาที รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หลังพระที่นั่งทรงธรรม ถนนหน้าพระธาตุ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธนำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ตามเสด็จ ประทับพระราชอาสน์ตรงหน้าอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียน เครื่องทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพทรงธรรมที่พระเมรุมาศ ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะ ถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 แล้ว พระสงฆ์ 50 รูป สวดศราทธพรตจบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตร สมเด็จพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนาและพระสงฆ์ 50 รูป ที่สวดศราทธพรตสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชอาสน์ที่มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ขบวนผู้แทนจิตอาสาเชิญพานดอกไม้จันทน์ จำนวน 9 พาน เดินเข้ามณฑลพิธี เมื่อถึงหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ถวายความเคารพแล้ว ออกจากมณฑลพิธี
เวลา 17 นาฬิกา 30 นาที พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งทรงธรรมไปขึ้นพระเมรุมาศ โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ ทรงวางเครื่องราชสักการะพระบรมศพ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพเป่าแตรเดี่ยวสัญญาณนอน จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนดอกไม้จันทน์ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ และปี่พาทย์ กองเกียรติยศทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และยิงปืนเล็กยาว 9 นัด พร้อมกันกับทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ถวายพระเกียรติ 21 นัด
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระเมรุมาศไปประทับ ณ มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพ 3 เหล่าทัพ ที่ในราชวัติพระเมรุมาศเดินแถวกลับ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศ์ พระประมุข ประมุข พระราชวงศ์และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ผู้นำศาสนา ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพตามลำดับหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับพระประมุข พระราชวงศ์ และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพวงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ จะได้ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตามลำดับ[30]
ถวายพระเพลิงพระบรมศพ(จริง) เวลา 22 นาฬิกา เจ้าพนักงานภูษามาลาและสนมพลเรือนกองพระราชพิธีสำนักพระราชวังพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมการที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระจิตกาธานบนพระเมรุมาศไว้พร้อม
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เสด็จขึ้นพระเมรุมาศปิดพระฉากและพระวิสูตรเพื่อเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เวลา 22 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระเมรุมาศไปยังพระที่นั่งทรงธรรม ประทับพระราชอาสน์ที่หน้าอาสน์สงฆ์ พระสงฆ์สวดมาติกาทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 30 รูปสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระเมรุมาศพร้อมด้วยพระบรมวงศ์ ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้วเสด็จลงจากพระเมรุมาศ ประทับ ณ มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม
เจ้าพนักงานปฏิบัติการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระเมรุมาศ ทรงทอดผ้าไตรที่พระจิตกาธานถวายพระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ครั้งละ 1 รูป เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางศ์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี[31]
พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ อัญเชิญพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารไปพระบรมมหาราชวัง
แก้วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 เจ้าพนักงานตั้งแต่งเตรียมการพระราชกุศลเก็บพระบรมอัฐิที่พระที่นั่งทรงธรรม จัดตั้งพระแท่นแว่นฟ้าบุษบกสำหรับประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ และเตรียมโตกสำรับคาวหวาน 3 หาบ ถวายพระสงฆ์พร้อมเครื่องสังเค็ด และเตรียมการจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิด้วยพระที่นั่งราเชนทรยาน และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารด้วยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยคู่แห่ เครื่องสูงมโหระทึกสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศของพระบรมอัฐิไว้พร้อม
เวลาเช้าเจ้าพนักงานจะได้ถวายภัตตาหารพระพิธีธรรมที่สวดพระอภิธรรมประจำซ่างพระเมรุมาศ
ที่พระเมรุมาศทอดพระราชอาสน์ที่ประทับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างพระจิตกาธานเจ้าพนักงานภูษามาลาดับพระเพลิงด้วยน้ำพระสุคนธ์ประมวลพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร ถวายคลุมด้วยผ้าเยียรบับ ที่เพดานเหนือพระจิตกาธานแขวนนพปฎลมมหาเศวตฉัตรถวายกางกั้น ตั้งเครื่องพระสุคนธ์ขันทองคำสำหรับสรงพระบรมอัฐิ พระโกศทองคำลงยาประดับเพชรสำหรับบรรจุพระบรมอัฐิ พร้อมด้วยเครื่องราชสักการะตามพระราชประเพณีไว้พร้อม
เวลา 8 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เทียบรถยนต์พระที่นั่งหลังพระที่นั่งทรงธรรม ถนนหน้าพระธาตุ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัย พระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ตามเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระเมรุมาศ พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ตามเสด็จ ประทับพระราชอาสน์ข้างพระจิตกาธาน เจ้าพนักงานถวายเปิดผ้าเยียรบับ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิแล้ว ถวายน้ำพระสุคนธ์สรงพระบรมอัฐิ เจ้าพนักงานถวายปิดผ้าเยียรบับคลุมพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิบูชาพระสงฆ์แล้วทรงทอดผ้าไตร 3 หาบ บนผ้าเยียรบับที่ปิดคลุมพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ 9 รูป ขึ้นสดับปกรณ์ที่พระจิตกาธานครั้งละ 1 รูป จนครบ 9 รูป เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายเปิดผ้าเยียรบับคลุมพระบรมอัฐิ ทรงเก็บพระบรมอัฐิสรงพระสุคนธ์ในขันทองคำแล้วประมวลลงในพระโกศทองคำลงยาประดับเพชร รวม 6 พระโกศพระราชทานพระโกศพระบรมอัฐิแก่พระบรมวงศ์แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากพระเมรุมาศไปยังพระที่นั่งทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตาม และประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าอาสน์สงฆ์เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานในบุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้า ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร เจ้าพนักงานจะได้ประมวลลงในพระผอบโลหะปิดทอง พักไว้บนพระเมรุมาศ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิแล้วทรงประเคนโตกภัตตาหาร 3 หาบ แด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ 9 รูปที่ได้สดับปกรณ์พระบรมอัฐิแล้วนั้น พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องสังเค็ดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แด่พระสงฆ์ 3 หาบและพระสงฆ์ 30 พระอาราม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์อีก 30 รูป ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์สวดมาติกาจบ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก กลับ
ในระหว่างพระสงฆ์รับพระราชทานฉันภัตตาหาร 3 หาบ เจ้าหน้าที่จะได้ตั้งริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานสำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ และเทียบพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยที่หน้าพระที่นั่งทรงธรรมสำหรับอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากบุษบกแว่นฟ้าไปประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน อัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศ 4 สาย มีเจ้าพนักงานนำริ้ว ธง 3 ชาย นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ ตำรวจหลวงถือหอก มหาดเล็กหลวง เป็นคู่แห่ ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ นายทหารราชองครักษ์เคียงพระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระโกศพระบรมอัฐิ และอินทร์ พรหม ที่พระที่นั่งราเชนทรยานน้อยทรงพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร มีข้าราชบริพารในพระองค์ และอินทร์พรหม เคียงข้าง พร้อมด้วยเครื่องสูงอภิรุมชุมสายหักทองขวาง พระกลด บังพระสูรย์ พัดโบก เจ้าพนักงานภูษามาลาประคองพระโกศพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศตามราชประเพณี
เลขาธิการพระราชวังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระบรมอัฐิ เข้าพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระที่นั่งทรงธรรม โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ ตามขบวนอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าริ้วขบวนไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง
ยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารออกทางประตูพระเมรุมาศด้านเหนือ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเลี้ยวขวาถนนตัดเข้าพระเมรุมาศ ออกถนนราชดำเนินในเลี้ยวขวาเข้าถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี ถนนจักรีจรัณย์ ขบวนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย คู่เคียง อินทร์ พรหม พระกลด บังพระสูรย์ พัดโบก แยกออกไปเลี้ยวถนนหน้าศาลาสหทัยสมาคม เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยที่เกยประตูหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยไปประดิษฐานพักไว้ในพระศรีรัตนเจดีย์
ขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระบรมอัฐิตรงเข้าไปประตูพิมานไชยศรีเลี้ยวขวา ถนนอมรวิถี ไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงรอรับพระโกศพระบรมอัฐิที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งราเชนทรยาน เข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตาม
เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล ณ มุขตะวันตกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ แล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี[32]
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ
แก้วันเสาร์ ที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 เจ้าพนักงานเตรียมการพระราชกุศลพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีออกประดิษฐานบนพระแท่นมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยต้นไม้ทองเงิน เครื่องบรมราชอิสริยยศราชูปโภค เครื่องราชสักการะ เชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิและพระอัฐิพระบรมราชบุพการี พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประดิษฐานที่พระแท่นมณฑลมุก ทอดเครื่องนมัสการไว้พร้อม
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
เวลา 17 นาฬิกา 30 นาที เสด็จเข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระแท่นมหาเศวตฉัตรแล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งประดิษฐานในบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระแท่นมณฑลมุก ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิแด่พระราชาคณะที่จะถวายพระธรรมเทศนา พระราชาคณะ 31 รูป สวดพระพุทธมนต์ พระสงฆ์รับอนุโมทนา 4 รูป และพระสงฆ์สดับปกรณ์ 12 รูป แล้วพระสงฆ์ 30 รูป ส่วนพระพุทธมนต์ จบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย สำหรับพระบรมอัฐิและพระอัฐิพระบรมราชบุพการี และสำหรับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนาภัณฑ์ 1 จบแล้ว ถวายอนุโมทนา พระสงฆ์ 4 รูปรับอนุโมทนา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์และทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ที่ถวายพระธรรมเทศนาและรับอนุโมทนารวม 5 รูป สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ 12 รูป สวดมาติกา จบ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่อัญเชิญออกประดิษฐานในการพระราชกุศลนี้ แล้วถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี[33]
พระราชพิธีอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
แก้วันอาทิตย์ ที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวังผ่านประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
เวลา 10 นาฬิกา 30 นาที เสด็จเข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรซึ่งประดิษฐานในบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ประดิษฐานบนพระแท่นมหาเศวตฉัตร พระสงฆ์ 30 รูป ที่สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน เสร็จแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 จบ แล้วถวายอนุโมทนา พระสงฆ์ 4 รูป รับอนุโมทนา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรพระสงฆ์ที่ถวายพระธรรมเทศนาและรับอนุโมทนารวม 5 รูป สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วเจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ สวดมาติกา จบ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา
ระหว่างพระสงฆ์รับพระราชทานฉันในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เจ้าพนักงานจะได้เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานสำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไว้ที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตำรวจหลวง มหาดเล็กเป็นคู่แห่ 4 สาย นายทหารราชองครักษ์เป็นคู่เคียงพระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระโกศพระบรมอัฐิ พร้อมด้วยเครื่องพระอภิรุมชุมสายมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ พระกลด บังพระสูรย์ พัดโบก ภูษามาลาประคอง และมหาดเล็กพระราชพิธีอัญเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ ไว้พร้อม
เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ เชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ไปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงจากบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล ออกทางพระทวารพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมุขตะวันออกไปยังเกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตาม
เจ้าพนักงานภูษามาลาประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน ขบวนพระบรมราชอิสริยยศประโคมกระทั่งมโหระทึกสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ พร้อมแล้วยาตราขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตามพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์
เมื่อเทียบพระที่นั่งราเชนทรยานที่อัฒจันทร์ตะวันออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานในพระวิมานแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระสัมพุทธพรรณโณพาศแล้ว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี[34]
พระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร
แก้เจ้าพนักงานเตรียมการพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ไว้พร้อม
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ผ่านประตูวิเศษไชยศรี ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
เวลา 17 นาฬิกา 30 นาที เลขาธิการพระราชวังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร เชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระราชยานจากพระศรีรัตนเจดีย์ มีตำรวจหลวงนำ ไปออกประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามอัญเชิญไปถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ รถยนต์พระที่นั่ง
ยาตราขบวนอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยขบวนกองเกียรติยศทหารม้ารักษาพระองค์ มี พลตรีหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงม้านำ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่งทรงอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารแล้วกองเกียรติยศทหารม้ารักษาพระองค์ขบวนหลังตาม ขบวนอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปตามถนนหน้าพระลาน เลี้ยวขวาถนนสนามไชย เลี้ยวซ้ายถนนกัลยาณไมตรี ข้ามสะพานช้างโรงสี เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายถนนราชบพิธ
ขบวนหน้าทหารม้ารักษาพระองค์แห่นำ รถยนต์พระที่นั่งอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารเทียบที่ประตูวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารเข้าซุ้มประตูวัด พระบาสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ เสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมราชสรีรางคาร
เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ในพระอุโบสถข้างพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธอังคีรสพระประธานในพระอุโบสถ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 30 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายอดิเรก แล้วทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ทรงวางพวงมาลาของส่วนพระองค์และของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ขณะนั้นชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง ทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร อีกส่วนหนึ่งเข้าขบวนกองเกียรติยศทหารม้ารักษาพระองค์แห่นำไปยังพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
รถยนต์พระที่นั่งอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารเทียบที่ประตูวัดบวรนิเวศวิหาร ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปยังพระอุโบสถประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ข้างพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธชินสีห์พระประธานพระอุโบสถ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร 30 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระวันรัตถวายอดิเรก แล้วทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ทรงวางพวงมาลาของส่วนพระองค์ และของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ขณะนั้นชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี[35]
รายการผู้แทนต่างประเทศที่ร่วมพระราชพิธีฯ
แก้ผู้นำและประมุขของแต่ละประเทศ ตลอดจนผู้แทนพระองค์หรือผู้แทนพิเศษของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จพระราชดำเนิน เสด็จ และเดินทางมาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีรายพระนามและรายนามดังต่อไปนี้
รายพระนามและรายนามผู้นำ พระราชวงศ์ และผู้แทนต่างประเทศที่ร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ | |||
---|---|---|---|
ประเทศ | พระนามหรือชื่อ | เสด็จฯ แทนพระองค์/ เป็นผู้แทนของ |
อ้างอิง |
ภูฏาน | สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก | พระประมุขและคู่อภิเษกสมรสเสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์เอง | [36] |
สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก | |||
เลโซโท | สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 แห่งเลโซโท | [37] | |
สมเด็จพระราชินีมาเซเนต โมฮาโต เซเอโซ | |||
ตองงา | สมเด็จพระราชาธิบดีตูโปอูที่ 6 | [37] | |
สมเด็จพระราชินีนานาซีเปาอู ตูกูอาโฮ | |||
สวีเดน | สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน | สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดน | [38] |
สเปน | สมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน | สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งสเปน | [37] |
เบลเยียม | สมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม | สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเบลเยียม | [39] |
เนเธอร์แลนด์ | สมเด็จพระราชินีแม็กซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์ | สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนเธอร์แลนด์ | [40] |
ญี่ปุ่น | เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ (พระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี) | สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น | [41] |
เจ้าหญิงคิโกะ พระชายาฯ | |||
นอร์เวย์ | เจ้าชายโฮกุน มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ | สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ | [42] |
เดนมาร์ก | เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก | สมเด็จพระราชินีนาถและเจ้าชายพระราชสวามีแห่งเดนมาร์ก | [37] |
ลักเซมเบิร์ก | แกรนด์ดยุกกีโยม ฌ็อง โฌเซฟ มารี รัชทายาทแห่งลักเซมเบิร์ก | แกรนด์ดยุกและแกรนด์ดัชเชสแห่งลักเซมเบิร์ก | [37] |
มาเลเซีย | สุลต่านนริน มูอิซซัดดิน ชาห์ (สุลต่านรัฐเประห์ และรองสมเด็จพระราชาธิบดี) | สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย | [37] |
ตวนกู ซาระห์ ซาลิม พระชายาแห่งสุลต่านรัฐเประห์ | |||
บริเตนใหญ่ | เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก (พระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถและดยุกแห่งเอดินบะระ) | สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร และดยุกแห่งเอดินบะระ | [37] |
บาห์เรน | เจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ (พระปิตุลาในสมเด็จพระราชาธิบดี และนายกรัฐมนตรี) | สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งบาห์เรน | [43] |
ลีชเทินชไตน์ | เจ้าหญิงมาร์กาเรธาแห่งลิกเตนสไตน์ (พระชายาของพระอนุชาในเจ้าชายพระประมุข) | เจ้าชายและเจ้าหญิงพระประมุขแห่งลิกเตนสไตน์ | [37] |
กาตาร์ | เชคตะนี บิน ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี (พระอนุชาในเจ้าผู้ครองรัฐ) | เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ | [44] |
สิงคโปร์ | ฮาลีมะฮ์ ยากบ (ประธานาธิบดี) | ประมุขแห่งรัฐและคู่สมรสเดินทางมาด้วยตัวเอง | [45] |
โมฮัมเมด อับดุลละฮ์ อัลฮับชี | |||
พม่า | ทีนจอ (ประธานาธิบดี) | [37] | |
ซูซูลวีน | |||
ลาว | บุนยัง วอละจิด (ประธานประเทศ) | [37] | |
คำเมิง วอละจิด[44] | |||
ออสเตรเลีย | ปีเตอร์ คอสโกรฟ | ผู้สำเร็จราชการและคู่สมรสเดินทางมาด้วยตัวเอง | [46] |
ลินน์ คอสโกรฟ[44] | |||
แคนาดา | ฌูลี พาแย็ต | ผู้สำเร็จราชการเดินทางมาด้วยตัวเอง | [37] |
กัมพูชา | สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน (นายกรัฐมนตรี) | พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา | [37] |
เอสวาตินี | บาร์นาบัส ซีบูซีโซ ดลามีนี (นายกรัฐมนตรี) | สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งสวาซิแลนด์ | [37] |
บรูไน | ลิม จ็อก เส็ง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า) | สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านแห่งบรูไนดารุสซาลาม | [44] |
นครรัฐวาติกัน | อาร์ชบิชอป กิอัมบัตติสตา ดีควัตโตร (เอกอัครสมณทูตประจำสาธารณรัฐอินเดียและสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล) | สมเด็จพระสันตะปาปา | [37] |
สวิตเซอร์แลนด์ | โจเซฟ ไดสส์ (อดีตประธานาธิบดี) | ประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิส (นางดอริส ลิวธาร์ด) | [37] |
เยอรมนี | คริสเตียน วูล์ฟฟ์ (อดีตประธานาธิบดี) | ประธานาธิบดีเยอรมนี | [37] |
อินโดนีเซีย | เมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี (อดีตประธานาธิบดี) | ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย | [44] |
เวียดนาม | ดัง ธิ ง็อก ธินห์ (รองประธานาธิบดี) | ประธานาธิบดีเวียดนาม | [37] |
ฝรั่งเศส | ฌ็อง-มาร์ก เอโร (อดีตนายกรัฐมนตรี) | ประธานาธิบดีฝรั่งเศส | [37] |
บริฌิต เอโร | |||
เกาหลีใต้ | พัก จู-ซุน (รองประธานรัฐสภา) | ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ | [37] |
สหรัฐ | เจมส์ นอร์แมน แมตทิส (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) | ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา | [37] |
ศรีลังกา | ทิลัก มาราพานา (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงนโยบายและแผน) | ประธานาธิบดีศรีลังกา (นายไมตรีพาลา สิริเสนา) | [37] |
สเตลลา มาราพานา | |||
ปากีสถาน | อวาอิส อาเหม็ด ข่าน เลการี (รัฐมนตรี) | ประธานาธิบดีปากีสถาน (นายมัมนูน ฮุสไซน์) | [44] |
อินเดีย | เอ็ม. เจ. อักบาร์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) | ประธานาธิบดีอินเดีย | [37] |
จีน | จาง เกาลี่ (รองนายกรัฐมนตรี) | ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน | [47] |
รัสเซีย | โอลกา อีพิฟาโนวา (รองประธานสภาผู้แทนราษฎร) | ประธานาธิบดีรัสเซีย | [44] |
นิวซีแลนด์ | เจมส์ บอลเกอร์ (อดีตนายกรัฐมนตรี) | ผู้สำเร็จราชการนิวซีแลนด์ (นางแพทริเซีย ลี เรดดี) | [44] |
ตุรกี | ฟีกรี อิสิก (รองนายกรัฐมนตรี) | ประธานาธิบดีตุรกี | [44] |
ฟิลิปปินส์ | อลัน ปีเตอร์ กาเยตาโน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) | ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ | [44] |
มาเรีย ลาร์นี โลเปซ กาเยตาโน | |||
เนปาล | พิมเสน ดาส ปราดาน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) | ประธานาธิบดีเนปาล (นางพิทยา เทวี ภัณทารี) | [44] |
บิดยา บันมาลี ปราดาน | |||
บังกลาเทศ | โมฮัมเหม็ด ชาห์ริอะร์ อะลัม (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) | ประธานาธิบดีบังกลาเทศ | [44] |
การจัดแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ
แก้การแสดงมหรสพในครั้งนี้ยึดตามธรรมเนียมปฏิบัติและโบราณราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ สำหรับครั้งนี้เวทีโขนและหนังใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง เวทีละครทั้งหมดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก และเวทีดนตรีสากลตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนพระเมรุมาศซึ่งเป็นประธานในมณฑลพิธีตั้งอยู่ทางทิศใต้ เนื่องจากการจัดสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบครั้งนี้ใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก
เวทีมหรสพทั้ง 3 เวทีมีขนาดใหญ่กว่างานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, งานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยได้ประสานสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เพื่อกำหนดจุดสร้างเวทีอย่างชัดเจน ส่วนแบบโรงมหรสพ โครงสร้างจอโขนและหนังใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปกรรมเป็นผู้ออกแบบ โดยส่วนนี้เป็นการแสดงนอกมณฑลพิธี ส่วนการแสดงหน้าพระเมรุมาศเป็นการแสดงโขนชุดใหญ่ ตอนยกรบ และระบำอู่ทอง ซึ่งใช้นักแสดงเป็นจำนวนมาก[48]
การแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ บริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือประกอบด้วยการแสดงโขนหน้าไฟหน้าพระเมรุมาศ เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร, ยกรบ, รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และระบำอู่ทอง ส่วนการแสดงมหรสพสมโภช ประกอบด้วยการแสดงหนังใหญ่ และโขนพระราชทาน ตอน รามาวตาร การแสดงละคร หุ่นหลวงและหุ่นกระบอก และการบรรเลงดนตรีสากล "ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า" ล่าสุดได้จัด เตรียมผู้แสดงทั้งในส่วนของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ครูนาฏศิลป์ และนิสิต-นักศึกษา ทั้งหมดประมาณ 2,000 คน
โดยการแสดงโขนเบื้องต้นได้ประสานงานกับสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งมอบหมายให้ ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เป็นผู้จัดทำบทโขนพระราชทานทุกตอนเพื่อกำหนดจำนวนผู้แสดงด้านต่าง ๆ อาทิ ผู้แสดงโขนพระราชทานทั้งตัวพระ นาง เสนายักษ์ 18 มงกุฎ หนุมาน เสนาลิง สุครีพ ชมพูพาน ซึ่งนักแสดงบางส่วนเคยได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แสดงโขนพระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาแล้ว ส่วนละครใน เรื่องอิเหนา ตอนตัดดอกไม้ฉายกริช สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีผู้แสดงละครนอก แสดงเรื่องมโนราห์ ผู้แสดงบัลเลต์เรื่องมโนราห์ นักดนตรีสากล ส่วนนักดนตรีวงดนตรีไทยที่เข้าไปบรรเลงบริเวณพระเมรุมาศ ส่วนการแสดงหน้าพระเมรุมาศได้เตรียมผู้แสดงแสดงโขนพระรามข้ามสมุทร, ยกรบ, รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และผู้แสดงระบำอู่ทอง ซึ่งจัดทำบทใหม่ โดยใช้คู่พระนางจำนวน 35 คู่ ถือว่าครั้งนี้ใช้ผู้แสดงมากที่สุดเท่าที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และวิทยาลัยนาฏศิลป์เคยจัดการแสดงมหรสพมา โดยขณะนี้ได้เริ่มทดสอบและคัดเลือกนักศึกษาเข้าเป็นผู้ร่วมแสดงมหรสพสมโภช ทั้งโขน ละครใน ละครนอก หุ่นหลวง หุ่นกระบอก และมีการจัดทำสูจิบัตรผู้แสดงแล้ว สำหรับการแสดงมหรสพสมโภชเป็นงานที่จัดขึ้นตามจารีตประเพณีในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น ผู้แสดงต้องมีทักษะความสามารถด้านนาฏศิลป์ และมีประสบการณ์การแสดงมาพอสมควร ซึ่งขณะนี้สถาบันวางตัวผู้แสดงแล้วจากบทละครที่กำหนด ทั้งตัวพระ นาง ทหาร ระบำ แต่ละสถาบันทั้งครูและนักเรียนผู้แสดงแยกกันซ้อมในที่ตั้ง เมื่อใกล้งานพระราชพิธีถวายพระเพลิง ได้มีกำหนดการตารางซ้อมการแสดงร่วมกัน พร้อมดนตรีสด ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยและศิลปินแห่งชาติเป็นผู้ควบคุม ซึ่งใช้โรงละครวังหน้าฝึกซ้อมรวม ส่วนการแสดงที่สนามหลวงจัดบนเวที มีการผูกโรงแสดง [49]
ทั้งนี้ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้ร่วมแสดงในเวทีดนตรีสากลด้วย โดยมีวงดนตรี 7 วง ประกอบด้วยวงดนตรีสี่เหล่าทัพ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ วงดนตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ทำการแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ไม่ซ้ำกัน ซึ่งมีนักศึกษาของสถาบันฯ และวงดุริยางค์เยาวชนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาจำนวนประมาณ 40 คน ที่มีความสามารถด้านขับร้องประสานเสียงและเล่นดนตรีเข้าร่วมแสดงดนตรีในชุดดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า ร่วมกับวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากร สมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ วงดนตรีสหายพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงเรียนราชินี และวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ สำหรับบทเพลงที่นำมาบรรเลงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมด ได้แก่ แผ่นดินของเรา, Alexandra, ไร้จันทร์, ไร้เดือน และ No Moon นอกจากนี้ มีการแสดงบัลเล่ต์เรื่องมโนห์รา หนึ่งในบทพระราชนิพนธ์ ซึ่งประกอบด้วยเพลง Nature Waltz, The Hunter, Kinari Waltz, A love Story, ภิรมย์รัก และ Blue day แล้วยังมีบทเพลงเทิดพระเกียรติที่ทางสถาบันฯ แสดงอีก 2 เพลง คือ พระราชาผู้ทรงธรรม และ ในหลวงของแผ่นดิน โดยนักร้องประสานเสียง 89 คน มี อ.วานิช โปตะวณิช เป็นวาทยกร โดยหลังจากได้รับโน๊ตเพลงจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร แต่ละวงแยกกันฝึกซ้อม แลพในเดือนกันยายนได้มีการนัดฝึกรวมซ้อมใหญ่ ณ เวทีจริง ก่อนวันประกอบพระราชพิธีจริงวันที่ 26 ตุลาคม นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้รับมอบหมายให้จัดการแสดงดนตรีภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอีกด้วย โดยใช้วงดุริยางค์เยาวชนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาทำการแสดงเพลงพระราชนิพนธ์ รวมถึงมีศิลปินรับเชิญจากต่างประเทศที่ร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านด้วย และตลอดทั้งปีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้จัดกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์มาแสดงทุกครั้ง
เวทีดนตรีสากลในงานมหรสพครั้งนี้วงดนตรีทั้ง 7 วง แสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์จำนวน 44 บทเพลง เริ่มการแสดงวงแรกตั้งแต่ 23.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม ต่อเนื่องถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม โดยวงของสถาบันกัลยาณิวัฒนาเปิดการแสดงเป็นวงแรก ตามด้วยวงดนตรีสี่เหล่าทัพ วงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ และปิดท้ายด้วยวงดนตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีกรมศิลปากรควบคุมตลอดการแสดง[50]
ของที่ระลึกในพระราชพิธี
แก้เหรียญที่ระลึก
แก้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้จัดทำเหรียญที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี 4 แบบ คือ ได้แก่[51]
- เหรียญที่ระลึกทองคำ ราคาเหรียญละ 50,000 บาท
- เหรียญที่ระลึกเงิน ราคาเหรียญละ 2,000 บาท
- เหรียญที่ระลึกทองแดงรมดำพ่นทราย ราคาเหรียญละ 3,000 บาท
- เหรียญที่ระลึกคิวโปรนิกเกิล ราคาเหรียญละ 100 บาท
ลักษณะของเหรียญที่ระลึก
แก้เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ มีลักษณะดังนี้
- ด้านหน้า พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่าง มีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร”
- ด้านหลัง มีรูปพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อยู่เหนือลายเมฆ เบื้องบนรูปพระเมรุมาศมีอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องหลังรูปพระเมรุมาศมีรูปแสงพระอาทิตย์แผ่รัศมีผ่านปุยเมฆ เบื้องล่างมีข้อความว่า “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” และข้อความ “วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2560” ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
การเปิดรับจอง
แก้กรมธนารักษ์ได้ร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย สภาสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคาร 19 แห่งทุกสาขาทั่วประเทศ เปิดเป็นหน่วยรับจองเหรียญที่ระลึกดังกล่าว โดยกำหนดเปิดรับจองตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ซึ่งเหรียญได้เกิดการขาดตลาดทำให้กรมธนารักษ์ได้ยประกาศผลิตเหรียญเพิ่มและนำมาเปิดรับจองในวันที่ 18 กันยายนถึงวันที่ 30 กันยายน
แสตมป์ที่ระลึก
แก้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 3 แผ่น 3,000,000 ชุด แสตมป์ชุดนี้มีทั้งหมด 13 ดวง เพื่อให้ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 การออกแบบใช้วิธีนำภาพถ่ายมาวาดใหม่และแสตมป์ชุดนี้ยังมีความพิเศษตรงที่สำนักพิมพ์ของประเทศแคนาดาได้อาสามาจัดพิมพ์ให้ แสตมป์นี้จำหน่ายในราคาชุดละ 99 บาท โดยจำนวน 1.2 ล้านชุด เปิดให้ประชาชนจองได้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม - 11 กันยายน พ.ศ. 2560 ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศและทางเว็บไซต์[52]
ลักษณะของแสตมป์ที่ระลึก
แก้- แผ่นแรก เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ขณะทรงแย้มพระสรวล(ยิ้ม) จำนวน 9 ภาพ ราคาดวงละ 9 บาท
- แผ่นที่ 2 ภาพเครื่องประกอบสำคัญอันได้แก่ พระบรมโกศ พระยานมาศสามลำคาน และพระมหาพิชัยราชรถ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ พื้นหลังเป็นภาพพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพฯ ราคาดวงละ 3 บาท
- แผ่นที่ 3 เป็นภาพพระเมรุมาศประกอบภาพเหตุการณ์พสกนิกรร่วมกันจุดเทียนแสดงความอาลัยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559
เข็มกลัดที่ระลึก
แก้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำเข็มที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเกิดจากมติของคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระราชานุญาต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาต โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ผลิต แต่การผลิตออกมายังทำได้ไม่เต็มที่ จึงได้มีการกำหนดช่วงก่อนงานพระราชพิธีพระบรมศพให้มีการผลิตนำมาจำหน่ายส่วนหนึ่งก่อน จำนวน 4 หมื่นเข็ม เปิดจำหน่ายวันที่ 22 ตุลาคม ราคาเข็มละ 300 บาท ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (เดิม) ถนนพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร โดยจำกัดคนละ 2 เข็ม
จากนั้นระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน มีการจำหน่ายที่งานนิทรรศการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ท้องสนามหลวง จำกัด 1 คนต่อ 2 เข็มเช่นเดียวกัน โดยใช้บัตรประชาชนในการสั่งซื้อ และจอง ส่วนการสั่งจองเริ่มสั่งจองได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป โดยสั่งจองได้ที่กองคลัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล และธนาคารกรุงไทย ส่วนภูมิภาคสั่งจองได้ที่สำนักงานจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ สามารถรับเข็มได้ ณ สถานที่ที่สั่งจอง ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป โดยสามารถติดเข็มที่อกเสื้อได้ทุกวันรวมถึงหลังงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก็ยังสามารถใช้ได้ตลอดไป และสำหรับรายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยทั้งหมด
ลักษณะของเข็มที่ระลึก
แก้ลักษณะของเข็มเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม ตอนปลายสอบยาวตรง ด้านหน้าอัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ลงยาสีฟ้า สีเหลือง สีขาวนวล มีพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีอยู่เบื้องบน ประดิษฐานกึ่งกลาง มีอักษรคำว่า "พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 2560" จารึกเบื้องล่างโดยรอบ และด้านหลังเข็มมีตราสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่กึ่งกลาง สีของเข็มเป็นโทนสีเหลือง-ทอง ซึ่งเป็นสีวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สื่อมวลชน
แก้การถ่ายทอดสดพระราชพิธีและศูนย์สื่อมวลชน
แก้จุดติดตั้งกล้องและเครื่องเสียงในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีดังนี้
- จุดติดตั้งกล้องโทรทัศน์เพื่อถ่ายทอดสด บริเวณพระเมรุมาศ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุนที่ 1 - 4
- จุดติดตั้งเครื่องเสียง บริเวณพระเมรุมาศ พระที่นั่งทรงธรรม ห้องควบคุมระบบเสียงและวิทยุ บริเวณด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม
- ห้องผู้บรรยาย
- ศูนย์สื่อมวลชนภายในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- เส้นทางริ้วขบวน
โดยการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ใช้กล้องบันทึกภาพทั้งระบบสายและไร้สายจำนวนมากกว่า 100 ตัว และมีการทดสอบทั้งการแพร่ภาพ และเสียงออกอากาศ ก่อนส่งไปให้ประชาชนรับชมทั่วประเทศอย่างสมพระเกียรติ นอกจากนี้ยังมีการบริการข้อมูล ข่าวสารและภาพ แก่สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นศูนย์สื่อมวลชน[17]
การดำเนินการของสถานีโทรทัศน์ระหว่างช่วงพระราชพิธี
แก้โฆษณาและออกอากาศ
แก้สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) และผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ได้ร่วมกันหาแนวทางการออกอากาศในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วง[53] และมีผังรายการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้[54]
วันที่ | แนวทางการออกอากาศ | ลดระดับสี | ลักษณะเนื้อหา/รายการพิเศษ | การโฆษณา |
---|---|---|---|---|
1-12 ตุลาคม พ.ศ. 2560 | การรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ | ภาพและรายการต้องลดระดับสีลงประมาณ 40% (ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม กสทช. สั่งการให้ใช้สีภาพตามปกติ) | การออกอากาศรายการสถานีให้นำรายการปกติมาออกอากาศได้ โดยให้ปฏิบัติตามประกาศ หลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการเนื้อหารายการ ผังรายการ และการจัดระดับความเหมาะสมของรายการตามที่ กสทช. กำหนดโดยเคร่งครัด | โฆษณาได้ โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับความเหมาะสมของรายการที่สามารถออกอากาศได้ |
ควรสอดแทรกรายการพิเศษที่เกี่ยวกับการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเข้าไปด้วย | ||||
13-24 ตุลาคม พ.ศ. 2560 | วันคล้ายวันสวรรคต | การออกอากาศรายการสถานีให้ออกอากาศนำรายการที่มีระดับความเหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย (ป) สำหรับเด็ก (ด) รายการทั่วไป (ท) และสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป (น๑๓+) ได้ แต่ไม่ควรมีเนื้อหาที่มีลักษณะตลก เฮฮา ความรุนแรง เรื่องทางเพศ และการใช้ถ้อยคำหยาบคาย | โฆษณาได้ โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับความเหมาะสมของรายการที่สามารถออกอากาศได้ | |
ให้เน้นการปรับบรรยากาศและความรู้สึกของประชาชนให้รำลึกถึงการสูญเสียและความอาลัยไปด้วย | ไม่ควรมีเนื้อหาที่มีลักษณะตลก เฮฮา ความรุนแรง เรื่องทางเพศ และการใช้ถ้อยคำหยาบคาย | |||
25-27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 | พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ (ช่วงแรก) | ภาพและรายการต้องลดระดับสีลงประมาณ ร้อยละ 40 ยกเว้นการถ่ายทอดสดพระราชพิธีเท่านั้นที่สามารถใช้สีปกติได้ | การถ่ายทอดสดพระราชพิธีสำคัญ โดยให้เชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) | ห้ามโฆษณาใด ๆ ทั้งสิ้น ให้แสดงข้อความไว้ทุกข์เท่านั้น แต่ต้องปรากฏชื่อบริษัท ห้างร้าน คณะบุคคล และสถานที่ และลดสีลง 40% จนถึงระดับขาวดำ |
ไม่สามารถออกอากาศรายการใด ๆ ได้ เนื่องจากเป็นการออกอากาศในลักษณะเกินความเหมาะสม ซึ่งเข้ากันไม่ได้กับความรู้สึกของประชาชนชาวไทย | ||||
28-29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 | พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ (ช่วงที่ 2) | ภาพและรายการสามารถใช้สีปกติได้ | การออกอากาศรายการสถานีให้ออกอากาศนำรายการที่มีระดับความเหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย (ป) สำหรับเด็ก (ด) รายการทั่วไป (ท) และสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป (น๑๓+) ได้ แต่ไม่ควรมีเนื้อหาที่มีลักษณะตลก เฮฮา ความรุนแรง เรื่องทางเพศ และการใช้ถ้อยคำหยาบคาย | โฆษณาได้ โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับความเหมาะสมของรายการที่สามารถออกอากาศได้ |
ควรสอดแทรกรายการพิเศษที่เกี่ยวกับการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเข้าไปด้วย | ไม่ควรมีเนื้อหาที่มีลักษณะตลก เฮฮา ความรุนแรง เรื่องทางเพศ และการใช้ถ้อยคำหยาบคาย | |||
30-31 ตุลาคม พ.ศ. 2560 | วันออกทุกข์ | การออกอากาศรายการสถานีให้นำรายการปกติมาออกอากาศได้ โดยให้ปฏิบัติตามประกาศ หลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการเนื้อหารายการ ผังรายการ และการจัดระดับความเหมาะสมของรายการตามที่ กสทช. กำหนดโดยเคร่งครัด | โฆษณาได้ โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับความเหมาะสมของรายการที่สามารถออกอากาศได้ | |
ควรสอดแทรกรายการพิเศษที่เกี่ยวกับการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเข้าไปด้วย |
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์บางสถานีได้ปรับโทนสีของอัตลักษณ์บนหน้าจอเป็นโทนขาว-ดำ ซึ่งเป็นลักษณะเช่นเดียวกับเมื่อครั้งช่วง 100 วันแรกหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ 179 ช่อง ให้ปรับโทนสีหน้าจอการออกอากาศเป็นสีปกติ ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันเดียวกัน เป็นต้นไป[55]
การถ่ายทอดสดกีฬา
แก้ส่วนการถ่ายทอดสดกีฬาต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลจากต่างประเทศ ยังคงถ่ายทอดสดตามปกติ ยกเว้นกีฬาที่มีลักษณะรุนแรง หรือมีการเชียร์กันอึกทึก เช่น มวย งดการถ่ายทอดสดเป็นเวลา 1 เดือน (ยกเว้น สนามมวยสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 (ช่อง 7HD)[56]) ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ที่ 0307.4/ว5469 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง ขอให้งดการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต จัดให้มีการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560[57]
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
แก้นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีชื่อว่า "พระเมรุมาศพิมานนฤมิต สรรพศาสตร์ ศิลป์พร้อม น้อมถวายพระราชาผู้ทรงธรรม" จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกับเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีไทย ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทย ซึ่งได้รับการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยการจัดแสดง 5 ส่วน ดังนี้
- พระเมรุมาศ อนุญาตให้เดินชมได้โดยรอบลานอุตราวัฏ หรือพื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาตทั้ง 4 ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่าง ๆ
- พระที่นั่งทรงธรรม ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถชมภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ จำนวน 3 ภาพ คือภาพจิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจากภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดความสูง 5 เมตร 80 เซนติเมตร ยาว 12 เมตร ประดับมุขด้านขวาของพระที่นั่งทรงธรรม (ยืนหันหน้าเข้าสู่พระเมรุมาศ) มุขกลางพระที่นั่งทรงธรรม เป็นภาพจิตกรรมฝาผนังโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและพระราชดำริในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 19 โครงการ มุขซ้ายประดับภาพจิตรกรรมฝาผนังฝั่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจากภาคกลางและภาคใต้ 14 โครงการ ภายในโถงพระที่นั่งทรงธรรมจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ แบ่งเป็น 5 หัวข้อที่ตั้งชื่อร้อยเรียงอย่างไพเราะ ดังนี้
- เมื่อเสด็จอวตาร นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพ เช่น ภาพถ่ายสำเนาลายพระราชหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนาม "ภูมิพลอดุลยเดช" และเรื่องราวเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วย วังสระปทุม ที่ประทับแห่งแรกในประเทศไทย อาทิ การจำลองตู้ขายของของเจ๊กตู้ ซึ่งเป็นที่มาของของเล่นเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พร้อมพระรูปที่หาชมยาก อาทิ พระรูปทรงฉายร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเชษฐภคินี บนดาดฟ้าแฟลตที่ประทับ เลขที่ 63 ถนนลองวูด เมืองบรูคลายน์ ชานเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา, พระรูปทรงฉายกับหม่อมเจ้ากุสุมา เกษมสันต์ ซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกว่า "ป้าจุ่น" ขณะทรงนำเสด็จไปถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในโอกาสเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า เดือนเมษายน พ.ศ. 2475
- รัชกาลที่ร่มเย็น นำเสนอข้อมูลการทรงงานด้านต่าง ๆ นับตั้งแต่การเสด็จฯ ออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ทรงริเริ่มออกแบบและทดลองโครงการด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนชาวไทยผ่านการจัดแสดง ‘อุปกรณ์ทรงงาน’ หลายอย่าง ซึ่งเป็นอุปกรณ์จำลอง โดยใช้ของรุ่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่ของที่ใช้งานจริง อาทิ โต๊ะทรงงาน, และภาพยนตร์ส่วนพระองค์ รวมทั้งงานมัลดิมีเดียผ่านการใช้รหัสคิวอาร์ของสมาร์ทโฟนผู้เข้าชมนิทรรศการ อาทิ คลิปพระสุรเสียงของรัชกาลที่ 9 ขณะทรงติดต่อสนทนากับศูนย์ควบคุมค่ายวิทยุสายลม โดยทรงใช้สัญญาณเรียกขาน วีอาร์ 009 ในช่วงปี พ.ศ. 2528 ซึ่งกรุงเทพมหานครเกิดน้ำท่วม ทรงแนะนำเรื่องการใช้วิทยุสื่อสารให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในครั้งนั้น ทรงใช้คำพูดในการสนทนาแบบเรียบง่าย
- เพ็ญพระราชธรรม อธิบาย ทศพิธราชธรรม จากหนังสือ "พระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยทรงครองราชย์ครบหมื่นวัน" จัดพิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวารถวายพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื้อหาครอบคลุมทศพิธราชธรรม 10 ประการ จากธรรมกถาในพิธีบำเพ็ญจิตภาวนาพุทโธโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร รวมทั้งนิทรรศการความเป็นมา รูปลักษณ์ และความหมายของ พระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงออกแบบเพื่อพระราชทานแก่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2509
- นำพระราชไมตรี นำเสนอการทรงงานด้านการต่างประเทศ นับตั้งแต่แรกทรงครองสิริราชสมบัติ คือการทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะและการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปเอเชีย จากนั้นจึงเสด็จเยือนสหรัฐ ต่อด้วย 13 ประเทศในทวีปยุโรป และประเทศอื่นอีกหลายประเทศ จนถึงครั้งที่เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งนอกจากการเผยแพร่พระเกียรติคุณให้นานาประเทศรู้จักแล้ว ผลจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยังนำมาซึ่งสัมพันธไมตรีที่ดีกับมิตรประเทศเหล่านั้น ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีและความร่วมมืออีกมากมายตราบปัจจุบัน
- พระจักรีนิวัตฟ้า ประมวลภาพหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประชาชนแต่งกายไว้ทุกข์ชุดดำนับหมื่นนับแสนหลั่งไหลเพื่อให้ได้เฝ้าส่งเสด็จขบวนพระบรมศพ ภาพประชาชนทั่วทุกสารทิศเดินทางกราบถวายบังคมพระบรมศพตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พร้อมทั้งผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมรับรู้ความรู้สึกสูญเสียบุคคลสำคัญของโลก โดยมีพระราชสาส์นและแถลงการณ์แสดงความอาลัย มายังพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน
- ศาลาลูกขุน 6 หลัง จัดแสดงนิทรรศการพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ งานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ แยกตามศาลาลูกขุนดังนี้
- สมมติเทวพิมาน จัดแสดงนิทรรศการสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ เล่าเรื่องแนวคิด คติความเชื่อเกี่ยวกับการก่อสร้างพระเมรุมาศที่สืบทอดมาจากสมัยสุโขทัย ซึ่งมีพัฒนาการเชิงรูปแบบสถาปัตยกรรมและความหมายที่เป็นต้นแบบของพระเมรุมาศรัชกาลที่ 9
- ณ วิธานสถาปกศาลา เล่าเรื่องขั้นตอนการออกแบบ-ก่อสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ โดยจำลองบรรยากาศ ‘วิธานสถาปกศาลา’ หรือ ‘โรงแบบขยายแบบเท่าจริง’ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ที่มีลักษณะเฉพาะและมีระเบียบแบบแผนในการวางองค์ประกอบ จึงต้องขยายแบบเท่าจริงลงบนกระดาษขนาดใหญ่ เพื่อตรวจทานมิให้รูปแบบผิดเพี้ยน โดยเฉพาะรูปแบบ ‘เรือนยอด’ ที่มีลักษณะเรียวแหลม อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘อากาศกิน’ คือมวลของยอดที่สูงพุ่งไปในอากาศถูกมองเห็นว่าเล็กลีบเกินความเป็นจริง ซึ่งไม่สามารถคาดเดาหรือคำนวณการถูกอากาศกินได้ จึงจำเป็นต้องเขียนแบบเท่าขนาดจริง เพื่อตรวจทานมุมมองที่อยู่สูงขึ้นไป รวมทั้งเครื่องมือ-อุปกรณ์เขียนแบบซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงใช้ในการร่วมเขียนแบบขยายด้วยพระองค์เอง รวมทั้ง ‘พระมาลา’ ทรงสวมขณะทรงพระดำเนินลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศหลายครั้ง และยังจัดแสดงโต๊ะทำงานที่ ก่อเกียรติ ทองผุด ใช้ร่างแบบพระเมรุมาศรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นโต๊ะที่ได้รับสืบทอดมาจาก พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่ง พล.อ.ต.อาวุธ ได้รับสืบทอดโต๊ะทำงานตัวนี้มาจาก อ.ประเวศ ลิมปรังษี อดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญพิเศษกรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ร่วมด้วยการจัดแสดงวีดิทัศน์ฉายภาพลำดับการก่อสร้างในพื้นที่สนามหลวงตั้งแต่เริ่มวางฐานรากจนถึงการประกอบติดตั้งแล้วเสร็จ
- ประติมาสร้างสรรค์ จัดแสดงลำดับขั้นตอนการจัดสร้างงานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ซึ่งเป็นการทำงานของสำนักช่างสิบหมู่ ร่วมกับ ช่างปั้นปูนสดเมืองเพชรบุรี คณาจารย์จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และกลุ่มช่างฝีมือศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดและสีบัวทอง รวมทั้งจิตรกรจิตอาสา
- สวรรค์บรรจงวาด จำลองภาพจิตรกรรมบนฉากบังเพลิงทั้ง 4 ทิศของพระเมรุมาศ ในอัตราส่วน 1 : 2 โดยการถ่ายภาพและพิมพ์ลงบนผืนผ้าใบ เพื่อให้เห็นรายละเอียดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกล่าวถึงการจัดสร้างจิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ติดตั้งบนผนังขนาดใหญ่ 3 ผนังของพระที่นั่งทรงธรรม
- ยาตรากฤษฎาธาร จัดแสดงเรื่องราวการทำงานในส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ รวมทั้งราชรถราชยานที่สร้างขึ้นใหม่ครั้งนี้ คือราชรถปืนใหญ่ เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศเวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ และ พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารแทนพระวอสีวิกากาญจน์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมศิลปากร กรมสรรพาวุธทหารบก และกรมอู่ทหารเรือ รวมทั้งได้แรงสนับสนุนจากจิตอาสาเข้ามาช่วยงานในหลายส่วน
- ตระการวิจิตรศิลปกรรม จัดแสดงงานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี ประกอบด้วยการเล่าขั้นตอนการจัดสร้างและชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นพระโกศจันทน์ จัดแสดงฟืนไม้จันทน์ ภาพพระโกศทรงพระบรมอัฐิทองคำลงยา จำนวน 6 องค์ จัดทำโดยกรมศิลปากรและสถาบันสิริกิติ์ และยังจัดแสดงแบบเครื่องสังเค็ด ภาพแสดงขั้นตอนการทำช่อไม้จันทน์ ทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีความแตกต่างจากเดิมที่มีลักษณะเป็นงานซ้อนไม้ลายใบเทศ โดยเปลี่ยนเทคนิคการสร้างงานเป็นการแกะสลักไม้จันทน์ในลักษณะนูนต่ำ เพื่อให้ช่อไม้จันทน์มีมิติเพิ่มมากขึ้น โดยครั้งนี้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดทำช่อไม้จันทน์ซึ่งผูกลายให้มีความแตกต่างกันตามอย่างลำดับชั้น ทั้งหมด 7 แบบ ได้แก่ ช่อไม้จันทน์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังจัดแสดงตัวอย่างงานเครื่องสดทั้งภาพและชิ้นงานจริง อาทิ ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถักตาข่ายดอกรักชั้นที่ 9 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรือนยอด 9 ชั้นในงานเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน
- ทับเกษตร ในหัวข้อ นำสัมผัสพระสุเมรุ เป็นนิทรรศการเพื่อผู้พิการทางสายตา จัดแสดงแผนผังบริเวณมณฑลพิธีแบบนูนต่ำ พร้อมอักษรเบรลล์กำกับให้ทราบว่าแต่ละส่วนคืออาคารใด พระเมรุมาศจำลองขนาดย่อส่วน และสัตว์หิมพานต์ให้ได้ลองสัมผัส เพราะตามปกติแล้วผู้พิการทางสายตาไม่มีโอกาสชมความงามของงานศิลปกรรม แม้ได้ยินการอธิบายความงามเป็นคำพูด แต่ก็จินตนาการลำบาก จนกว่าจะได้คลำชิ้นงาน แต่นิทรรศการในส่วนนี้ทำให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ความงามของงานศิลปกรรมไทยได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะงานประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ที่ทำให้ประหลาดใจราวกับเห็นภาพจริง ๆ จากคำกล่าวที่ว่าจิตรกรไทยนำจุดเด่นของสัตว์หลายชนิดมาสร้างเป็นสัตว์หิมพานต์แต่ละตัว เช่น สุบรรณเหรา ที่มีลำตัวเป็นครุฑ หางเป็นพวงเหมือนไก่ มีเขาเหมือนมังกรและหงอนของพญานาคนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งหากงานเหล่านี้มีโอกาสจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก็น่าจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศได้เรียนรู้ความงามของศิลปกรรมไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติได้ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งอาจเรียกความสนใจจากผู้พิการทางสายตาจากทั่วโลกให้เดินทางมาชมและศึกษาศิลปกรรมไทย ซึ่งในสหรัฐและสหราชอาณาจักรต่างก็มีตัวอย่างพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยทับเกษตรและศาลาลูกขุนแต่ละหลัง มีข้าราชการกรมศิลปากรปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการประจำแห่งละ 4 คน คอยให้คำอธิบายและตอบข้อสงสัย หมุนเวียนกัน 2 รอบต่อวัน
- ภูมิทัศน์ด้านหน้าพระเมรุมาศ สะท้อนให้เห็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก และกังหันน้ำชัยพัฒนา[58]
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเป็นประธานเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน โดยนิทรรศการดังกล่าวเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 2 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ตั้งแต่เวลา 07.00 - 22.00 น. เบื้องต้นเปิดให้เข้าชมอย่างอิสระ รอบละ 5,500 คน รองรับประชาชน ได้วันละ 104,000 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มภิกษุ สามเณร 500 รูปต่อวัน ผู้พิการทุกประเภท 500 คนต่อวัน นักท่องเที่ยว 8,000 คนต่อวัน นักเรียน นักศึกษา 15,000 คนต่อวัน และประชาชนทั่วไป 80,000 คนต่อวัน กำหนดเวลาเข้าชมรอบละ 1 ชั่วโมง แบ่งเป็น ให้ประชาขนถ่ายภาพที่ระลึกบริเวณถนนเส้นกลางทางเข้าพระเมรุมาศ 15 นาที จากนั้น ให้เข้าชมพื้นที่ด้านใน 45 นาที โดยให้เข้าชมได้อย่างอิสระ ในส่วนของพระเมรุมาศเปิดให้ขึ้นลงได้ 2 ด้าน ทั้งนี้ก่อนหมดเวลาเข้าชม 5 นาที เจ้าหน้าที่จะส่งสัญญาณหมดเวลาทุกรอบ เพื่อเปิดให้รอบต่อไปได้เข้า โดยตลอดระยะเวลาในการจัดแสดงนิทรรศการ 29 วัน มีประชาชนเข้าชมมากที่สุด 3,016,000 คน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขึ้นชมพระเมรุมาศได้เฉพาะชั้น 1 เท่านั้น[59]
ทางผู้รับผิดชอบเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกผู้เข้าชมอย่างเต็มที่ โดยมีจุดคัดกรอง 5 จุด โดยประชาชนทั่วไปให้เข้าในจุดคัดกรอง 3 จุด คือบริเวณหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ท่าช้าง และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ส่วนผู้พิการเข้าตรงจุดคัดกรองหลังกระทรวงกลาโหม และพระภิกษุสามเณร เข้าทางด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการแต่งการเข้าชม ขอความร่วมมือ ประชาชนแต่งชุดสุภาพ เช่นเดียวกับการเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยงดเว้นสายเดี่ยว กางเกงขาสั้น และเสื้อแขนกุด ซึ่งประชาชนสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่เวลา 07.00 - 22.00 น. โดยมีการเตรียมพื้นที่ให้เข้าชม แบ่งเป็นเวทีมหรสพ และนิทรรศการพระเมรุมาศ ซึ่งผู้ประสงค์จะเข้าชมนิทรรศการ สามารถเข้าคิวรอตรงจุดพักรอบริเวณเต็นท์ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อรอคิวเข้าชม การเข้าชมนั้นใช้แนวปฏิบัติเดียวกับการกราบถวายบังคมพระบรมศพ โดยจัดเป็น 4 แถว ส่วนการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางนั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดรถโดยสารให้บริการฟรีใน 6 เส้นทาง ตั้งแต่เวลา 05.00 - 23.00 น. เส้นทางละ 10 คัน รอบละ 60 คัน ได้แก่ 1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สนามหลวง 2. หัวลำโพง-สนามหลวง 3. วงกลมรอบเกาะรัตนโกสินทร์-สนามหลวง 4. เอกมัย-สนามหลวง 5. สายใต้ใหม่-สนามหลวง และ 6. หมอชิต-สนามหลวง ส่วนทางเรือให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 - 22.30 น. ที่ท่านิเวศน์วรดิฐ และท่าราชนาวิกสภา ขณะเดียวกันได้มีการประสานกรมเจ้าท่า ขอความร่วมมือผู้ให้บริการเรือด่วน เรือเมล์ขยายเวลารองรับการเดินทางของประชาชนด้วย
ส่วนการจัดแสดงมหรสพ ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการแสดงมหรสพ ซึ่งมีการนำนักแสดง และนักดนตรีจากสำนักการสังคีต สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมทั้งวงดนตรีจากทหาร 4 เหล่าทัพ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาจัดการแสดงภายในบริเวณพระเมรุมาศ โดยวางแนวทางเบื้องต้น มีการแสดงมหรสพ และการแสดงชุดต่าง ๆ เวลา 18.00 - 22.00 น. และมีการประโคมดนตรี วงบัวลอย บริเวณศาลาลูกขุน เวลา 08.00-17.00 น. นอกจากนี้ ในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ มีการแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม เพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการ ได้ซึบซับบรรยากาศเสมือนวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ[60]
ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะให้ประชาชน เยาวชน และผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล มีโอกาสเข้าชมพระเมรุมาศอันเป็นผลงานทางวัฒนธรรมไทยที่ทรงคุณค่า และนิทรรศการฯ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้อย่างทั่วถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาการเข้าชมพระเมรุมาศและนิทรรศการดังกล่าว ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560[61] และในวันที่ 30 และ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็น 2 วันสุดท้ายที่จะเปิดให้ประชาชมเข้าชมนิทรรศการนั้น กรมศิลปากรมีการจัดแสดงโขนครั้งใหญ่ ในเรื่องรามเกียรติ์ชุดพิเศษ หน้าพระที่นั่งทรงธรรม ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป โดยแต่ละวันใช้เวลาแสดง 90 นาที เพื่อให้ประชาชนที่เข้าชมพระเมรุมาศ และนิทรรศการได้รับชมการแสดงโขน[62][63] โดยสำนักสังคีต กรมศิลปากร จัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดพิเศษ "เย็นศิระ พระอวตาร" เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[64]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หยุดราชการ26 ต.ค.60". ไทยโพสต์. 25 เมษายน 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-12. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.
- ↑ เตรียมสร้าง“ราชรถรางปืน-พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย”องค์ใหม่
- ↑ 14 ประติมากรรม ประดับตกแต่งพระเมรุมาศ 'ร.9'
- ↑ เผยภาพแบบก่อสร้างพระเมรุมาศในหลวงร.9
- ↑ "กทม. ลงปรับพื้นที่สนามหลวง เตรียมการก่อสร้างพระเมรุมาศช่วงต้นปีหน้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-04. สืบค้นเมื่อ 2017-10-25.
- ↑ "ปรับพื้นที่สนามหลวงสร้างพระเมรุมาศ". วอยซ์ทีวี. 3 พฤศจิกายน 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-04. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.
- ↑ "บวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมใช้ในงานพระบรมศพ-แปรรูปส่งกรมศิลป์ ธ.ค.นี้". โพสต์ทูเดย์. 14 พฤศจิกายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.
- ↑ "ธนะศักดิ์บวงสรวงบูรณะราชรถพระยานมาศพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". สนุกดอตคอม. 19 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.
- ↑ "ช่างสิบหมู่รับมอบ "ไม้จันทน์หอม" 1,461 แผ่น เผยออกแบบพระโกศจันทน์เพิ่ม "ครุฑ" เป็นครั้งแรก". ผู้จัดการออนไลน์. 20 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ปักหมุด9จุดสนามหลวงสร้างพระเมรุมาศ". โพสต์ทูเดย์. 26 ธันวาคม 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-29. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.
- ↑ "พิธีบวงสรวง ยกเสาเอก พระเมรุมาศ". เนชั่นทีวี. 27 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.
- ↑ "สมเด็จพระเทพฯทรงร่วมประชุมจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". ไทยโพสต์. 1 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "กรมสรรพาวุธทหารบก บวงสรวงราชรถปืนใหญ่". พีพีทีวี. 24 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ส่งมอบราชรถปืนใหญ่สง่างามสมพระเกียรติ". เดลินิวส์. 1 พฤษภาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2017.
- ↑ "กรมสรรพาวุธ ส่งมอบ 'ราชรถปืนใหญ่' ให้กรมศิลปากร". เอ็มไทย. 5 พฤษภาคม 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2017.
- ↑ "สมเด็จพระเทพฯ เสด็จร่วมประชุมงานถวายพระเพลิง". ไทยรัฐ. 27 มิถุนายน 2017. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2017.
- ↑ 17.0 17.1 "กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ติดตั้งระบบถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช". กรมประชาสัมพันธ์. 6 กรกฎาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "นายกฯ บวงสรวงราชรถพระยานมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิง". สนุก.คอม. 21 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2017.
- ↑ "'พลเอกธนะศักดิ์' ตรวจการจัดสร้างพระเมรุมาศ คืบหน้าแล้ว 98.6%". เรื่องเล่าเช้านี้. 3 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "กรมศิลป์ยันอีก6วันงานก่อสร้างพระเมรุมาศสมบูรณ์". สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น. 4 ตุลาคม 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-04. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2017.
- ↑ "ทูต65ประเทศชมพระเมรุมาศ-ราชรถงานออกพระเมรุในหลวงร.9". เดลินิวส์. 11 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2017.
- ↑ "17 ต.ค.ซ้อมยกฉัตรขนาด น้ำหนักเท่าองค์จริง". คมชัดลึก. 12 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2017.
- ↑ "พระเมรุมาศคืบหน้าร้อยละ 99.5 สมพระเกียรติ". เดลินิวส์. 13 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2017.
- ↑ "'บิ๊กเจี๊ยบ' เผย 18 ต.ค.นี้ 'รัชกาลที่10' เสด็จฯไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร". ไทยรัฐ. 16 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2017.
- ↑ "'ธนะศักดิ์'ตรวจการซ้อมยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรฯ". ทีเอ็นเอ็น24. 17 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2017.
- ↑ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ". ประชาชาติธุรกิจ. 18 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2017.
- ↑ "กำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ "ร.๙" รวม ๕ วัน". สยามรัฐรายวัน. 10 เมษายน 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-18. สืบค้นเมื่อ 2017-04-26.
- ↑ https://prachatai.com/journal/2017/10/73828
- ↑ https://prachatai.com/journal/2017/10/73828
- ↑ https://prachatai.com/journal/2017/10/73828
- ↑ https://prachatai.com/journal/2017/10/73828
- ↑ https://prachatai.com/journal/2017/10/73828
- ↑ https://prachatai.com/journal/2017/10/73828
- ↑ https://prachatai.com/journal/2017/10/73828
- ↑ https://prachatai.com/journal/2017/10/73828
- ↑ ""กษัตริย์จิกมี-สมเด็จพระราชินี"เตรียมเสด็จฯร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". โพสต์ทูเดย์. 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 2017-10-10.
- ↑ 37.00 37.01 37.02 37.03 37.04 37.05 37.06 37.07 37.08 37.09 37.10 37.11 37.12 37.13 37.14 37.15 37.16 37.17 37.18 37.19 37.20 37.21 "เผยรายพระนาม-รายนาม พระราชวงศ์-ผู้นำทั่วโลก เยือนไทยร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิง". ข่าวสด. 2017-10-19. สืบค้นเมื่อ 2017-10-20.
- ↑ "Deltagande vid kremeringsceremoni för Thailands framlidne konung Bhumibol Adulyadej". ราชสำนักสวีเดน. 2017-10-19. สืบค้นเมื่อ 2017-10-19.
- ↑ "พระราชินีเบลเยียมร่วมถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่9". กรุงเทพธุรกิจ. 2017-10-07. สืบค้นเมื่อ 2017-10-10.
- ↑ ""พระราชินีแม็กซิมา" แห่งเนเธอร์แลนด์ เสด็จฯทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิง 26 ต.ค.นี้". ข่าวสด. 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 2017-10-12.
- ↑ "Japan's Prince Akishino to visit Thailand for late king's funeral". เกียวโด. 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-10.
- ↑ "มกุฎราชกุมารนอร์เวย์ เสด็จร่วมงานพระราชพิธีฯ". เดลินิวส์. 2017-10-12. สืบค้นเมื่อ 2017-10-12.
- ↑ "เจ้าชายบาห์เรน – ประธานสภาแห่งชาติจีน ร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ ร.9 พร้อมราชวงศ์-ผู้แทน34ประเทศ". มติชน. 2017-10-23. สืบค้นเมื่อ 2017-10-24.
- ↑ 44.00 44.01 44.02 44.03 44.04 44.05 44.06 44.07 44.08 44.09 44.10 44.11 "กต.เผยบุคคลสำคัญต่างประเทศยืนยันร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9 แล้ว 42 ประเทศ". ข่าวสด. 2017-10-24. สืบค้นเมื่อ 2017-10-24.
- ↑ "30 Nations Ask to Attend Ceremony". บางกอกโพสต์. 2017-10-18. สืบค้นเมื่อ 2017-10-18.
- ↑ "ผู้แทนเครือรัฐออสเตรเลียเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิง". วอยซ์ ทีวี. 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2017-10-18.
- ↑ "รองนายกรัฐมนตรีจีน เยือนไทยร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ 26 ต.ค." ข่าวสด. 2017-10-24. สืบค้นเมื่อ 2017-10-24.
- ↑ "มหรสพยิ่งใหญ่ถวายพระเพลิงร.9". ไทยโพสต์. 2 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2017.
- ↑ "2 พันคนแสดงมหรสพถวายร.9". ไทยโพสต์. 8 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2017.
- ↑ "ระดม 7 วงดนตรี 889 ชีวิต ถ่ายทอดเพลงพระราชนิพนธ์ ในมหรสพดนตรีสากลพระราชพิธี". ผู้จัดการออนไลน์. 19 พฤษภาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เปิดจองเหรียญที่ระลึกฯถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9 เริ่ม 22 ส.ค.60 นี้". สนุก.คอม. 21 สิงหาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2017.
- ↑ "เปิดจองแสตมป์ประวัติศาสตร์ร.9". ไทยโพสต์. 26 สิงหาคม 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-21. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2017.
- ↑ "4 แนวทางการโฆษณาช่วงเดือนตุลาคม2560 งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". Marketing Oops!. 23 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2017.
- ↑ "ผังรายการดิจิตอลทีวี ฉบับที่ 3 เดือนตุลาคม 2017" (PDF). เซ้นส์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์และกสทช. 1 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ แจ้งทีวี 179 ช่องปรับโทนสีออกอากาศเป็นปกติ
- ↑ ตู้ 7 สียังทำการแข่งขันอีกนัดก่อนงด[ลิงก์เสีย]
- ↑ หนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ที่ 0307.4/ว5469 เรื่อง ขอให้งดการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต จัดให้มีการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันในช่วงเดือนตุลาคม 2560[ลิงก์เสีย],
- ↑ "พระเมรุมาศพิมานนฤมิต". กรุงเทพธุรกิจ. 10 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2017.
- ↑ "เปิดให้เข้าชมพระเมรุมาศ หลังเสร็จพระราชพิธี เริ่ม 2-30 พ.ย. เข้าชมรอบละ 5 พันคน". ข่าวสด. 27 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2017.
- ↑ "สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดนิทรรศการพระเมรุมาศ 2พ.ย.นี้". คมชัดลึก. 12 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2017.
- ↑ "โปรดเกล้าฯ ขยายเวลาเข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศถึง31ธค". โพสต์ทูเดย์. 29 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2017.
- ↑ "เตรียมรื้อถอนพระเมรุมาศในหลวงร.9". คมชัดลึก. 23 ธันวาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2017.
- ↑ "วธ.เตรียมรื้อพระเมรุมาศ ช่วงกลางมกราคมไปเก็บพิพิธภัณฑ์". สนุก.คอม. 22 ธันวาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2017.
- ↑ สรุปข่าวในประเทศ : สื่อทำเนียบแจงงดตั้งฉายา ครม. / ผบ.ทบ.ปรับโฉมทหารไร้มาเฟีย ผม-ชุดต้องเป๊ะ!
- "หมายกำหนดการ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2017.
- การถ่ายทอดสด พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย