อาวุธ เงินชูกลิ่น

ศาสตราภิชาน พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น (22 มีนาคม 2485 — 17 กุมภาพันธ์ 2556) ทหารอากาศและสถาปนิกชาวไทย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร อาจารย์พิเศษในหลายมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย หัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพถึง 3 ครั้ง ได้แก่ พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ท้องสนามหลวง[1]


อาวุธ เงินชูกลิ่น

เกิด22 มีนาคม พ.ศ. 2485
เสียชีวิต17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 (70 ปี)
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่าสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร
โรงเรียนช่างศิลป
โรงเรียนวัดราชโอรส
โรงเรียนวัจนะศึกษา
รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย)
ผลงานสำคัญ

พลอากาศตรี อาวุธ ยังได้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบถึง 2 งานหลัก ๆ ได้แก่ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร[2] นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณะปฏิสังขรณ์ โบราณสถานแห่งชาติที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นงานงานบูรณะมณฑป โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ในปี พ.ศ 2539 ให้เป็นมณฑปสีดำ หรือหุ้มด้วยทองแดง[3] ยอดพระมหามณฑป วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร[4] จนต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อย สถาปัตยกรรม ประจำปี พ.ศ. 2539

ประวัติ

แก้

ศาสตราภิชาน พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2485 ที่บ้านเลขที่ 199 ถนนริมคลองด่าน แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร (เดิมคือ บ้านเลขที่ 762 ริมคลองด่าน ตำบลบางค้อ อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี โดยบ้านเป็นเรือนไทยโบราณ) ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องสามคนของนายทองเปลว และนางละเมี้ยน เงินชูกลิ่น ท่านมีพี่สาวต่างมารดา 1 คน คือ นางบังอร เงินชูกลิ่น (พี่สาวเกิดไม่นาน คุณแม่ก็เสียชีวิต) มีน้องชาย 1 คน คือ นายสุทธินาถ เงินชูกลิ่น และน้องสาว 1 คน คือ นางอุษณีย์ ลีละเศรษฐกุล

พลอากาศตรี อาวุธ สมรสกับนางชาริณี เงินชูกลิ่น (สกุลเดิม บุราวาศ) เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายชวิน เงินชูกลิ่น (เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2520) และนายวทนะ เงินชูกลิ่น (เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2528)

ชีวิตวัยเยาว์

แก้
 
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครหลังปัจจุบัน

คุณพ่อของพลอากาศตรี อาวุธ รับราชการที่กระทรวงการคลัง ตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการ คือ เลขานุการกรมธนารักษ์ ส่วนคุณแม่ทำการค้าขายงอบ คุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีระเบียบมากและเป็นคนประหยัด และจะทำบุญอยู่เสมอ

 
พล.อ.ต. อาวุธ ออกแบบเปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ ใน โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

เมื่ออายุถึงวัยเข้าเรียน คุณพ่อได้พาท่านไปเข้าเรียนที่โรงเรียนวัจนะศึกษา (ปัจจุบันเลิกกิจการแล้ว) ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 - 4 เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คุณพ่อได้พาท่านไปเข้าโรงเรียนวัดราชโอรสซึ่งอยู่ไม่ไกลบ้านมากนัก

พลอากาศตรี อาวุธ เป็นพี่ชายที่ดีของน้อง ๆ มาตลอด โอบอ้อมอารีกับน้อง ๆ และผู้อื่น นิสัยเงียบขรึม ใจเย็น ใจกว้าง เสียสละ และให้อภัย ปฏิบัติตามที่คุณพ่อคุณแม่สั่งสอน สมัยเมื่อท่านยังเป็นเด็กยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้ตะเกียงเจ้าพายุใส่น้ำมัน คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูก ๆ ทบทวนการเรียนทุกวัน ท่านและน้อง ๆ ก็จะมานั่งกับพื้น และวางหนังสือบนโต๊ะไม้สัก เมื่อทุกคนเสร็จก็จะมาช่วยกันทำงานบ้านและงานอื่น ๆ ที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ได้

 
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ได้รับการออกแบบเป็นสีขาว ให้เรียบง่าย และประหยัด

หลังจากทบทวนการเรียนแล้ว ท่านและน้อง ๆ จะช่วยงานทำงอบซึ่งเป็นอาชีพของครอบครัว ท่านจะประดิษฐ์กระหม่อมงอบ (ด้านบนสุดของตัวงอบ) ให้มีลวดลายสวยงามด้วยกระดาษอังกฤษ ซึ่งมีลักษณะเป็นสีต่าง ๆ เงางาม เพื่อเพิ่มคุณค่าและเพิ่มราคาขึ้น โดยนำใบลานมาฉลุเป็นลวดลาย แล้วสอดกระดาษสีต่าง ๆ ไว้ข้างใต้ นำใบลานอีกชิ้นมาประกบด้านล่าง ก็จะได้ลวดลายและสีงดงาม ลักษณะเช่นเดียวกับการสลักหยวกกล้วย แล้วนำกระดาษสีสอดใต้ลายฉลุ

เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่รักการทำบุญ เมื่อมีงานประจำปีของวัดราชโอรส วัดนางนอง และวัดหนัง ก็จะพาท่านและน้อง ๆ ไปกราบพระ หลังจากนั้นจะพาไปชมร้านค้า ร้านที่ท่านและน้อง ๆ ชอบที่สุด และจะหยุดดูทุกครั้งที่มางานวัด คือร้านหัวโขน หัวลิง ทำจากกระดาษ ชฎาทำจากใบลาน มีดพระขรรค์ และตุ๊กตาคนแก่หัวเป็นสปริง หัวสั่นได้ คุณแม่ไม่ได้ซื้อของเล่นให้เพราะต้องประหยัด จะซื้อชฎาใบลานให้น้องสาวเพียงคนเดียว คุณพ่อซึ่งมีความสามารถทางช่าง ท่านวาดภาพสีน้ำมัน ภาพสีน้ำ ทำงานปั้นและงานไม้ ที่บ้านมีเครื่องมือช่างไม้และงานอื่น ๆ ไว้ใช้ ต่อโต๊ะ ต่อเก้าอี้ เมื่อคุณแม่ไม่ได้ซื้อของเล่นให้พี่ ๆ กลับมาบ้านคุณพ่อก็สอนพี่ ๆ ประดิษฐ์ของเล่นโดยนำดินเหนียวมาปั้น และใช้ลวดสปริงทำคอเป็นคนแก่หัวสั่นได้ แต่ไม่ได้ระบายสี พลอากาศตรีอาวุธ จะเรียนรู้งานปั้นโดยไม่รู้ตัว ส่วนหัวโขนหัวกระดาษ คุณพ่อก็สอนให้หัดทำ

 
มณฑปวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

ทุกปีมีงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนซึ่งจัดงานบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยกับโรงเรียนเพาะช่าง จะมีการนำผลงานต่าง ๆ ของนักเรียนทั่วประเทศมาแสดง คุณพ่อคุณแม่จะพาลูก ๆ ไปชมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของลูก ๆ ทุกปี

คุณพ่อเห็นท่านมีนิสัยรักงานศิลปะ จึงซื้อเครื่องพิมพ์เขียว (แบบโบราณ) มาให้เล่น ลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เวลาพิมพ์จะใส่น้ำยาลงไป หลังจากนั้นจะนำไปตากแดดให้แห้ง คุณพ่อเป็นผู้มีฝีมือทางเขียนอักษรไทยและลายไทย จะซื้อหนังสือมาให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง และสอนการหัดเขียน วันหนึ่งท่านซื้อหนังสือชุดรามเกียรติ์มาให้ ทุกคนดีใจมาก แต่ผู้ที่อ่านจบทั้งชุดก็คือ พลอากาศตรี อาวุธ นั่นเอง

หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชโอรส เมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนช่างศิลป โดยมีคุณพ่อเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้งานศิลปะของท่าน เพราะท่านเป็นลูกชายคนโต ต้องช่วยคุณพ่อทำงานช่างต่าง ๆ ทุกครั้ง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านสอบเข้าเรียนในโรงเรียนช่างศิลป์ เมื่อเรียนจบจากช่างศิลป์ ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรได้ เริ่มต้นมีความคิดที่จะเข้าเรียนคณะมัณฑนศิลป์ ก็ไปปรึกษาคุณพ่อ ท่านแนะนำว่าถ้าคณะมัณฑนศิลป์จะต้องรอให้ผู้อื่นออกแบบก่อน เราถึงจะทำต่อได้ (ความเข้าใจในสมัยนั้น) แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรม เราจะได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง แต่คุณพ่อของท่านก็ไม่ได้บังคับท่าน เพียงแต่แสดงความเห็นให้ทันตัดสินใจด้วยตนเองเท่านั้น ท่านจึงได้ศึกษาสถาปัตยกรรมไทยจนได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2507 ซึ่งในสมัยนั้นยังมิได้สถาปนาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังเช่นปัจจุบัน

การทำงาน

แก้
 
งานออกแบบพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ศาสตราภิชาน พลอากาศตรี อาวุธ เมื่อจบการศึกษาไดทำงานเป็นผู้ออกแบบเล็กๆน้อยๆ กับพันเอก จิระ ศิลปะกนก สถาปนิกรุ่นพี่มาระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ค่อยมั่นคงจึงสมัครเข้ารับรับราชการเป็นสถาปนิกประจำกองทัพอากาศอยู่นาน 9 ปี จนติดยศเรืออากาศเอก โดยพลอากาศตรี อาวุธ ได้เคยเล่าเกร็ดชีวิตทหารให้ฟังในวันงานเลี้ยงเชิดชูเกียรติ โดยสภาสถาปนิกครั้งหนึ่งว่า เป็นโชคร้ายหรือโชคดีก็ไม่ทราบ ที่ในเช้าวันหนึ่งเกิดมองไม่เห็นทหารชั้นนายพลผู้บังคับบัญชาที่เดินสวนมา จึงไม่ได้ยืนตรงทำความเคารพ เลยถูกสั่งขังเสียหลายวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ได้โอนมาเป็นนายช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2518 เมื่อถึงปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบูรณปฏิสังขรณ์ ในกองสถาปัตยกรรมไทย ในกรมศิลปากรนั้นเอง และได้เจริญเติบโตเรื่อยมา จากที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ ระดับ 9 จนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2544 และมาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์สถาปนิกระดับ 10 เมื่อ พ.ศ. 2545 และเกษียณอายุราชการในปีนั้น

 
พระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี งานออกแบบชิ้นสุดท้ายของ พลอากาศตรี อาวุธ ในขณะที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งท่านยอมรับว่าเป็นพระเมรุที่สวยที่สุดที่เคยออกแบบมา

พลอากาศตรี อาวุธ มีผลงานมากมาย โดยเฉพาะผลงานสำคัญ ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ และออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมไทย เช่น งานบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์, งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง, งานออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุมาศ และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2538 ดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง พระที่นั่งสันติชัยปราการ ในสวนสันติชัยปราการ, พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นต้น ท่านได้เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และงานอื่นๆ ที่ได้มีส่วนร่วมอยู่หลายงาน เช่น พระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นต้น

ในด้านการเผยแพร่วิชาความรู้ ด้านสถาปัตยกรรมไทย และการอนุรักษ์ พลอากาศตรี อาวุธ ได้เป็นอาจารย์พิเศษ ที่เป็นกำลังสำคัญ ที่ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย ให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จบการศึกษามา นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้บรรยาย และเป็นวิทยากรในกิจกรรมทางวิชาการมากมาย

หน้าที่และตำแหน่งทางราชการ

แก้
  • พ.ศ. 2509 - 2518 เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ ในตำแหน่ง สถาปนิก ได้รับพระราชทานยศเป็นลำดับมาจนถึง "เรืออากาศเอก"
  • พ.ศ. 2518 โอนมารับราชการ ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ในตำแหน่ง นายช่างศิลปกรรม
  • พ.ศ. 2521 ย้ายมาดำรงตำแหน่งสถาปนิก ในกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์
  • พ.ศ. 2539 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สถาปนิก 10 วช. (ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยและบูรณปฏิสังขรณ์)
  • พ.ศ. 2543 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น อธิบดีกรมศิลปากร
  • พ.ศ. 2545 เกษียณอายุราชการ และได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ และสถาปัตยกรรมไทย ของกรมศิลปากร

ผลงานทางวิชาการ

แก้
  • เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชามรดกไทย (สถาปัตยกรรมไทย) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาวัฒนธรรมไทย (สถาปัตยกรรมไทย) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยของกรมศิลปากร แก่ครูบาอาจารย์ นิสิต นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป

เกียรติคุณ

แก้
  • พ.ศ. 2539
- ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ พุทธศักราช 2539 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สถาปัตยกรรมไทย) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
  • พ.ศ. 2540 ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ประเภทบุคคล จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย
  • พ.ศ. 2541 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช 2541 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2551 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • พ.ศ. 2552
- ได้รับปริญญาดุษ์ฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาสถาปัตยกรรมไทย) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราภิชาน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราภิชานเงินทุนเพื่อการบริหารวิชาการ และการศึกษา กองทุนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึง 30 กันยายน 2553
  • พ.ศ. 2553 ได้รับการคัดเลือกและยกย่อง เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย (ด้านสถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช 2553 จากคณะอนุกรรมการคัดเลือกและเผยแพร่ผลงานดีเด่นของชาติ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

ยศทางทหาร

แก้
  • 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 - นาวาอากาศเอก (เป็นกรณีพิเศษ) [5]
  • 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 - พลอากาศตรี (เป็นกรณีพิเศษ) [6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

มรณกรรม

แก้

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นช่วงเตรียมการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยได้เข้ารับการรักษาอาการป่วยอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลศิริราช และถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 05.40 น.

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม พร้อมฉัตรเบญจาตั้งประกอบเกียรติยศ และรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ มีกำหนด 7 วัน ระหว่างวันที่ 17 ถึง 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ณ ศาลากวีนฤมิต (ศาลากลางน้ำ) วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 18.00 น.

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น.

อ้างอิง

แก้
  1. สิ้น พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ 3 พระเมรุ[ลิงก์เสีย], manageronline .วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556
  2. 9 สถาปัตย์ศิลป์ที่ "ในหลวง" ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบ[ลิงก์เสีย], thaisday .วันที่ 4 มกราคม 2555
  3. อ.แพน - เผ่าทอง ชวนชม "โลหะปราสาท" ผ่านเทคนิคพิเศษ [ลิงก์เสีย], manageronline .วันที่ 24 กันยายน 2553
  4. "พระมหามณฑป" วัดไตรมิตร สง่างาม สร้างเพื่อถวายในหลวง, คมชัดลึก .วันที่ 10 พ.ย. 2552
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ, เล่ม 114, ตอนที่ 31 ข, 26 ธันวาคม 2540, หน้า 6
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ, เล่ม 126, ตอนที่ 9 ข, 9 มีนาคม 2540, หน้า 128
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๓, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๑, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2008-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๒, ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๗๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖๑, ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕