พระยานมาศสามลำคาน

ราชยานแบกหาม

พระยานมาศสามลำคาน เป็นคานหามขนาดใหญ่ กลางตั้งแท่นทำด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจกสี มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน ลักษณะเป็นแท่นซ้อนลด 4 ชั้น ย่อมุมไม้สิบสอง ชั้นบนสุดทำเป็นแผงราชวัตรจำหลักลายประดับกระจกกั้น เว้นช่องที่ส่วนหน้าและส่วนหลัง และมีมุขยื่นออกมา ฐานชั้นที่ 3 ประดับรูปครุฑแกะสลักโดยรอบ 38 ตัว ชั้นที่ 4 ประดับเทพนม 26 องค์ ตัวแท่นยานมาศตั้งยึดติดกับลำคานทั้ง 3 บนยานมีแผ่นไม้ขนาดใหญ่รูปแปดเหลี่ยมพร้อมขอเกี่ยว 4 ตัว ติดไว้ พื้นไม้ด้านบนทาสีแดง รอบข้างสลักลายปิดทอง เป็นที่สำหรับตั้งพระโกศให้มั่นคง คานทั้ง 3 เป็นไม้กลึงกลมทาสีแดง สร้างจากไม้เนื้อแข็งจำนวนสามลำ ปลายสลักเป็นหัวเม็ดปิดทองประดับกระจกสี ใช้พนักงานหาม 60 คน เวลาหามจริงใช้คน 2 ผลัด พระยานมาศสามลำคานองค์แรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นครั้งแรก

พระยานมาศสามลำคาน
พระยานมาศสามลำคาน (2 องค์กลาง) พระที่นั่งราเชนทรยาน (2 องค์ซ้าย) และพระเวชยันตราชรถ (ขวา)
ภาพรวม
เริ่มผลิตเมื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (จำนวน 2 องค์)
ผู้ออกแบบช่างสิบหมู่
ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทราชยาน[1]
แพลตฟอร์มคานหาม
มิติ
ความยาว
  • องค์ที่หนึ่ง (รหัส นช.541) 7.73 เมตร
  • องค์ที่สอง (รหัส 9789) 8.24 เมตร[2]
ความสูง
  • องค์ที่หนึ่ง (รหัส นช.541) 1.78 เมตร
  • องค์ที่สอง (รหัส 9789) 1.10 เมตร[2]
น้ำหนัก
  • องค์ที่หนึ่ง (รหัส นช.541) 700 กิโลกรัม
  • องค์ที่สอง (รหัส 9789) 500 กิโลกรัม[2]

การใช้งาน แก้

เพื่ออัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ โดยกระบวนพยุหยาตราสี่สายจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายกตรงสี่แยกบริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพไปถึงพระเมรุมาศแล้ว ก็จะใช้พระยานมาศสามลำคานนี้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระมหาพิชัยราชรถเวียนรอบพระเมรุมาศท้องสนามหลวง อีกครั้งหนึ่ง ยกเว้นถ้าเป็นพระบรมศพหรือพระศพของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อยังทรงพระชนม์ จะใช้ราชรถปืนใหญ่เวียนรอบแทน

งานพระบรมศพ แก้

  1. งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2454
  2. งานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2463
  3. งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2469
  4. งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พ.ศ. 2493
  5. งานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พ.ศ. 2499
  6. งานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2528
  7. งานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ. 2539
  8. พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2551
  9. พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พ.ศ. 2555
  10. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สถานที่เก็บพระยานมาศสามลำคาน แก้

พระยานมาศสามลำคานเก็บรักษา ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งมีการบูรณะซ่อมแซมเมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้