ทีนจอ

อดีตประธานาธิบดีพม่า

ทีนจอ (พม่า: ထင်ကျော်, เกิดวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2489) เป็นนักเขียนและนักวิชาการชาวพม่า อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าคนที่ 9 หลังจากได้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559 และได้ลาออกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561 เขาเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดและเป็นผู้นำพลเรือนคนแรกนับตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2505

ทีนจอ
ประธานาธิบดีพม่า คนที่ 9
ดำรงตำแหน่ง
30 มีนาคม พ.ศ. 2559 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ที่ปรึกษาแห่งรัฐอองซานซูจี
ก่อนหน้าเต้นเซน
ถัดไปมหยิ่นซเว
(รักษาการ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1946-07-20) 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 (77 ปี)
ย่างกุ้ง, บริติชเบอร์มา
ศาสนาพุทธเถรวาท
พรรคการเมืองสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
คู่สมรสซุซุลวีน

เขาเป็นคนเชื้อสายมอญ-พม่าและได้รับการกล่าวถึงในฐานะหนึ่งในผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่มีการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 และนางอองซานซูจี หัวหน้าสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ถูกตัดสิทธิ์จากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ

ประวัติ แก้

ทีนจอเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 เป็นบุตรของมี่นตุวูน นักเขียนและนักกวีผู้ได้รับความเคารพอย่างสูง ซึ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2533[1]

ทีนจอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง พ.ศ. 2511 (ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ย่างกุ้ง) หลังจากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยลอนดอนในปี พ.ศ. 2514-2515 และศึกษาที่โรงเรียนการจัดการอาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐในปี พ.ศ. 2530[2]

หลังจบการศึกษา ทีนจอประกอบอาชีพหลายอย่าง รวมทั้งเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้ากองในกระทรวงอุตสาหกรรม และรองผู้อำนวยการในกรมเศรษฐสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและการคลัง ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2523 ก่อนจะเกษียณตัวเอง หลังจากกองทัพเริ่มกระชับอำนาจ เขายังเป็นนักเขียนภายใต้นามปากกาว่า "ดาละ บัน" ชื่อของนักรบชาวมอญชื่อดัง และเป็นประธานกองทุนดอคีนจี องค์กรช่วยเหลือคนในพื้นที่ยากไร้ที่สุดในพม่า ก่อตั้งโดยอองซานซูจี และตั้งชื่อตามชื่อของแม่ผู้ล่วงลับของเธอ[3]

ทีนจอสมรสกับซุซุลวีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมืองโต้น-กวะ ทางใต้ของประเทศพม่า และเป็นประธานของคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่บิดาของซุซุลวีนหรือพ่อตาของทีนจอก็คือ อู้ลวีน ผู้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย

ตำแหน่งประธานาธิบดี แก้

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 รัฐสภาพม่าได้จัดการประชุมสมาชิกสภาสูงและสภาล่างเพื่อเลือกประธานาธิบดี ทีนจอได้รับเลือกจากสมาชิกสภาของพม่าเกินครึ่งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า นับเป็นประธานาธิบดีที่มาจากพลเรือนเป็นคนแรกในรอบกว่า 50 ปีของประเทศ

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ทีนจอได้คะแนน 360 เสียง จากจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 652 ที่นั่ง ตามด้วยอันดับสองคือ พลเอก มหยิ่นซเว ได้คะแนน 213 เสียง และอันดับ 3 นายเฮนรีบานที่ยู ได้ 79 คะแนน จึงทำให้พลเอก มหยิ่นซเว ได้เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1 และนายเฮนรีบานที่ยู ได้เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2[4][5][6]

ทั้งนี้ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงประธานาธิบดีของพม่ามีด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ทีนจอ อายุ 70 ปี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิกสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร เฮนรีบานที่ยู ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยสภาสูง และพลเอก มหยิ่นซเว อดีตนายทหารเกษียณอายุราชการ อายุ 64 ปี และได้รับการเสนอชื่อจากกองทัพที่รับการแต่งตั้งให้เข้าไปในสภาร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4[7][8]

อ้างอิง แก้

  1. "ျမန္မာႏိုင္ငံရဲ႕ ၉ ဦးေျမာက္ ႏိုင္ငံေတာ္သမၼတ". ဗီြအိုေအ. สืบค้นเมื่อ 2016-03-15.
  2. "Myanmar's NLD nominates presidential candidate | Kyodo News". english.kyodonews.jp. สืบค้นเมื่อ 2016-03-10.
  3. "Ex-driver gears up for Myanmar rule but Suu Kyi still at wheel". Yahoo News. สืบค้นเมื่อ 2016-03-10.
  4. Ei Ei Toe Lwin. "Daw Suu eyes foreign minister role". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2016-03-16.
  5. "NLD Dropped a Name List to Lead Its New Government". The Burma Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-24. สืบค้นเมื่อ 2016-03-16.
  6. "Myanmar Starts New Parliamentarye Era". The Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 6 March 2016.
  7. "Htin Becomes First Civilian Myanmar President". TRT.
  8. "Myanmar parliament elects first civilian president in decades". BBC.


ก่อนหน้า ทีนจอ ถัดไป
เต้นเซน    
ประธานาธิบดีพม่า
(30 มีนาคม พ.ศ. 2559 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2561)
  วี่น-มหยิ่น