อุทกทาน มีความหมายว่า ให้ทานด้วยน้ำ (หรือให้น้ำเป็นทาน) เป็นศาลตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินใน ใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์ และ สะพานผ่านพิภพลีลา สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปูนปั้นรูปพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม มีน้ำสะอาดไหลออกมาจากปลายมวยผม สามารถใช้ดื่มกินได้

อุทกทาน
แผนที่
ที่ตั้งถนนราชดำเนินใน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ผู้ออกแบบสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระยาจินดารังสรรค์ (พลับ)
ประเภทรูปสักการะ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
สร้างเสร็จพ.ศ. 2460
การเปิด27 ธันวาคม พ.ศ. 2460
อุทิศแด่พระแม่ธรณีบีบมวยผม
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนอุทกทาน
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005578

อุทกทาน สร้างจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดบริสุทธิ์ให้ผู้คนทั่วไป โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะกำลังทรงพระยศเป็น เจ้าฟ้าวชิราวุธฯ อยู่นั้น ได้พระราชทานคำแนะนำให้สร้างอุทกทาน เป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ปั้นขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ร่วมกับ พระยาจินดารังสรรค์ (พลับ) แล้วเสร็จทำพิธีเปิดในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2460 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่ข้าวยากหมากแพง อุทกทานนี้ถูกชาวบ้านเข้ามาขโมยเอาอุปกรณ์ท่อน้ำต่างๆไป จนทำให้ใช้การไม่ได้ และได้รับการซ่อมแซมให้ใช้ได้เหมือนเดิมในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่สถานที่นี้ก็ไม่ได้ใช้เป็นที่แจกจ่ายน้ำสะอาดอีกต่อไป คงเหลือแต่ศาลศักดิ์สิทธิ์ ที่ให้ผู้คนมาสักการะ

บริเวณลานอุทกทาน เคยมีแผงขายหนังสือจำนวนหลายสิบร้าน จนเป็นแหล่งขายหนังสือที่สำคัญ ก่อนที่จะถูกกรุงเทพมหานครให้ย้ายไปอยู่ที่สวนจตุจักร ในปี พ.ศ. 2528

รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของหลายหน่วยงาน รวมทั้งเป็นเครื่องหมายของกิจการประปาในประเทศไทยทั้งการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และ พรรคประชาธิปัตย์

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°45′25″N 100°29′41″E / 13.756888°N 100.494769°E / 13.756888; 100.494769