พระแม่ธรณี เป็นเทพีแห่งพื้นแผ่นดิน ปรากฏในตำนานของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ[1]

พระแม่ธรณี
เทพีแห่งพื้นดิน
จิตกรรมฝาผนังส่วน "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" ที่อุโบสถวัดหงส์รัตนาราม
ส่วนเกี่ยวข้องศาสนาฮินดู, ศาสนาพุทธ
เป็นที่นับถือในกัมพูชา · ไทย · พม่า · ลาว · อินเดีย · ทิเบต · มาเลเซีย
เทพที่เทียบเท่าในความเชื่ออื่น

สันนิษฐานว่าแนวคิดพระแม่ธรณีมีวิวัฒนาการมาจากแนวคิดเทพเจ้าและพระแม่แห่งพื้นดิน พระแม่ปฤธวีในศาสนาฮินดูยุคพระเวท และต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นแนวคิดพระภูเทวี ในฐานะพระชายาของพระวิษณุ พระภูเทวีมีพระนามต่าง ๆ ที่เรียกอย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือพระนามพระศรีวสุนธรา หรือพระพสุธา[1] ซึ่งมีการกล่าวถึงพระนามนี้บ่อยครั้งในพุทธประวัติของพระโคตมพุทธเจ้า โดยเฉพาะในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงชนะมารหรือตอน "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" ปรากฏในความเชื่อของศาสนาพุทธในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2] สำหรับในประเทศไทยมีการบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้อย่างชัดเจนในปฐมสมโพธิกถา ฉบับพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสซึ่งทรงแปลในสมัยรัชกาลที่ 3[1]

ประวัติศาสตร์

แก้
 
จิตรกรรมฝาผนังรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม อุโบสถวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี ที่กล่าวกันว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังรูปพระแม่ธรณีที่งดงามที่สุด จิตรกรรมแบบสกุลช่างนนทบุรี[3]

ในคัมภีร์และงานเขียนยุคแรกของศาสนาพุทธ เช่น พระไตรปิฎก, อรรถกถา ไม่มีการระบุถึงบทบาทของพระธรณีในตอนมารวิชัย อย่างไรก็ตามหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่มีการระบุถึงพระแม่ธรณีในตอนมารวิชัยคือลลิตวิสตระในนิกายมหายาน แต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 8 โดยระบุว่าพระแม่ธรณีได้เสด็จมาแสดงความยินดีร่วมกับเทวดาองค์อื่น ๆ หลังพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ในศิลปะอินเดียยุคราชวงศ์คุปตะปรากฏการสร้างพระแม่ธรณีในรูปสตรีนั่งอยู่ประกอบฉากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในฐานะของเทพเจ้าแห่งพื้นดิน (ซึ่งอาจหมายถึงพระภูเทวีหรือเทพเจ้าที่คล้ายคลึงกันองค์อื่น ๆ ) ในท่าทางพนมมือหรือถือหม้อกลัศ[4] อาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลีได้ให้ความเห็นว่าเป็นหม้อซึ่งบรรจุน้ำทักษิโณทกของพระพุทธเจ้าในชาติต่าง ๆ ก่อนตรัสรู้[5] คติลักษณะการบีบมวยผมของพระแม่ธรณีนั้นปรากฏพบเฉพาะในภูมิภาคไทย ลาว พม่า และเขมรเท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏชัดเจนว่าเริ่มต้นมีความเชื่อนี้ตั้งแต่เมื่อใด[1]

พระแม่ธรณีบีบมวยผม

แก้

ลักษณะของพระแม่ธรณีบีบมวยผมเพื่อขับไล่พญามารนั้นเป็นที่แพร่หลายเฉพาะในแถบไทย ลาว พม่า และ กัมพูชา อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าคติการบีบมวยผมของพระแม่ธรณีเริ่มต้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าเริ่มมีในพุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นต้นมา[1] ส่วนในประเทศไทยพบหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ทั้งในลักษณะของงานประติมากรรมและจิตรกรรมบนฝาผนังของวัด[1][4] อีกหลักฐานหนึ่งในโคลงของศรีปราชญ์ก่อนถูกประหารที่ได้กล่าวถึง "ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน..." แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องพระแม่ธรณีที่ปรากฏในสมัยอยุธยา ในปัจจุบันพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น การประปานครหลวง, การประปาส่วนภูมิภาค และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 กิ่งมณี, อรุณศักดิ์ (2017). ทิพยประติมา: ที่มา ความหมาย ๑๔ ทิพยเทพแห่งโชคลาภ-อุดมสมบูรณ์ของไทยและเอเชีย. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส. ISBN 978-616-7674-13-1.
  2. Cooler, Dr. Richard M. (2009). "The Enlightened Buddha". The art and culture of Burma, Chapter III The Pagan period : Burma's classic age - 11th To 14th centuries, Part 4 D. Sculpture, 2. A thematic discussion of iconography and meaning. SEAsite, Center for Southeast Asian Studies, Northern Illinois University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Illustrated study guide)เมื่อ 2012-03-13. สืบค้นเมื่อ 2011-01-20. {{cite web}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  3. พินิจนคร, รายการตอน นนทบุรี วิถีโบราณแห่งย่านตลาดแก้ว-ตลาดขวัญ อัศจรรย์มรดกสกุลช่างเมืองนนท์: วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554 ทางไทยพีบีเอส
  4. 4.0 4.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ (19 กันยายน 2019). "รูปลักษณ์ ความเชื่อ "แม่ธรณี" ในรัฐฉานและล้านนา". มติชน.
  5. ติงสัญชลี, เชษฐ์ (2016). ประติมากรรมฮินดู – พุทธในศิลปะอินเดีย กับคัมภีร์ศิลปะศาสตร์ภาษาสันสกฤต. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์. ISBN 9786164233959.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้