การประปาส่วนภูมิภาค

การประปาส่วนภูมิภาค หรือ กปภ. (อังกฤษ: Provincial Waterworks Authority) เป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2522 มีหน้าที่ผลิตและให้บริการเกี่ยวกับน้ำประปาในทุกพื้นที่ของประเทศไทย (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ) อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลก

การประปาส่วนภูมิภาค
Provincial Waterworks Authority
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ)
สำนักงานใหญ่72 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
งบประมาณประจำปี2,890.7539 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ธนาคม จงจิระ, ประธานกรรมการ
  • วิบูลย์ วงสกุล, ผู้ว่าการ[2]
ต้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย
เว็บไซต์http://www.pwa.co.th

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้ง "กรมสุขาภิบาล" เพื่อบริหารจัดการน้ำมาใช้ในพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 รัฐบาลในขณะนั้นได้อนุมัติให้ กรมโยธาธิการ ดำเนินการก่อสร้างการประปาขึ้น ณ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ โคกกระเทียม ใช้ชื่อว่า "การประปาพิบูลสงคราม" เพื่อผลิตและจำหน่ายน้ำให้ประชาชน และได้ขยายไปยังต่างจังหวัดในปี พ.ศ. 2497 รวม 6 แห่ง คือ ขอนแก่น ราชบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และ ภูเก็ต

การผลิตและจำหน่ายน้ำสำหรับประชาชน เดิมแบ่งออกเป็น 2 หน่วยงาน คือ

  • กองประปาภูมิภาค กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบระบบประปาในเขตชุมชนที่มีจำนวนประชากรตั้งแต่ 5,000 คน ขึ้นไป
  • กองประปาชนบท กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบระบบประปาในหมู่บ้าน

ต่อมาได้มีการศึกษาวิธีการจัดรูปแบบการบริหารจัดการประปาภูมิภาค โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมีการตราพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 มีผลให้กิจการประปาของกรมโยธาธิการ และกรมอนามัย ถูกโอนมารวมกันเป็น "การประปาส่วนภูมิภาค" ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522[3]

พื้นที่บริการ

การประปาส่วนภูมิภาค มีเขตพื้นที่บริการแบ่งออกเป็น 10 เขต ได้แก่[4]

  1. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด และระยอง
  2. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 2 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา นครนายก ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี
  3. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 3 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
  4. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 4 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง และชุมพร
  5. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 5 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล ตรัง และพัทลุง
  6. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 6 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม
  7. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 7 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร
  8. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 8 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์
  9. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 9 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และลำพูน
  10. การประปาส่วนภูมิภาคเขต 10 รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร และกำแพงเพชร

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. ผู้จัดการออนไลน์ (2022-08-23). "ครม.เห็นชอบแต่งตั้ง "วิบูลย์ วงสกุล" เป็นผู้ว่าการ กปภ. คนที่ 16". mgronline. สืบค้นเมื่อ 2022-09-18.
  3. พระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522
  4. "การแบ่งเขตการบริหารของ กปภ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-27. สืบค้นเมื่อ 2010-12-23.

ดูเพิ่ม