ริ้วขบวนในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ

ริ้วขบวนในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณาเห็นชอบให้มีทั้งสิ้น 6 ริ้วขบวน ดังรายละเอียดต่อไปนี้[1]

การฝึกซ้อมริ้วขบวน แก้

ในส่วนการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีฝึกการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศขึ้น ได้ฝึกซ้อมในสถานที่จริง และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศจริง โดยมี คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมการขนส่งทหารบก กรมพลาธิการทหารบก กรมสรรพาวุธทหารบก หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ นักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทหารสามเหล่าทัพ กรมดุริยางค์ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจม้า และนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้ร่วมเดินฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ[2] แต่ในริ้วขบวนสุดท้ายนั้นทหารม้ารักษาพระองค์ได้ทำการฝึกซ้อมภายในกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์[3] และครั้งต่อไปได้ร่วมฝึกซ้อมกับริ้วขบวนที่เหลือในสถานที่จริง[4] โดยรายละเอียดในการฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ มีดังนี้

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 แก้

กรมสรรพาวุธทหารบก กรุงเทพมหานคร ทำพิธีเปิดการฝึกพลฉุดชักราชรถ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพลโท อาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรม เป็นประธานในพิธี ณ โรงเรียนสรรพาวุธทหารบก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมกำลังพลที่ผ่านการคัดเลือกเป็นพลฉุดชักและเจ้าหน้าที่จำนวน 411 นาย ทำพิธีเปิดการฝึกอย่างพร้อมเพรียง[5]

31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 แก้

กำลังพลจากกรมสรรพาวุธทหารบก จำนวน 441 นาย ได้ร่วมกันซักซ้อมการปฏิบัติในการฉุดชักราชรถในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่สนามบินเล็ก กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นการซ้อมเดี่ยวครั้งสุดท้ายของกรมสรรพาวุธทหารบก ก่อนจะไปร่วมซ้อมเป็นส่วนรวมกับทุกภาคส่วนในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่จะเริ่มซักซ้อมในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และบริเวณท้องสนามหลวง[6]

7 กันยายน พ.ศ. 2560 แก้

กองทัพภาคที่ 1 จัดการฝึกซ้อมกำลังพลกรมสรรพาวุธทหารบกที่ปฏิบัติหน้าที่ฉุดชักราชรถ ราชยาน ประกอบการเคลื่อนริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งหมด 3 ริ้ว ซึ่งจำลองพื้นที่คล้ายจริง และห้วงเวลาเสมือนจริง โดยการซักซ้อมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้จะมีฝนตกโปรายปรายมาในช่วงเช้า ขณะที่การซ้อมย่อยเต็มขบวนจะมีขึ้นในวันที่ 21 กันยายน ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์[7]

22 กันยายน พ.ศ. 2560 แก้

ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บางเขน กองทัพภาคที่ 1 ได้ทำการฝึกซ้อมกำลังพลฉุดชักราชรถ และผู้เข้าร่วมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งถือเป็นการฝึกซ้อมให้เห็นถึงภาพรวมการกำหนดจุด ตำแหน่งการเคลื่อนขบวนของกำลังพล และผู้เข้าร่วมทั้ง 3 ริ้วขบวนร่วมกันเป็นครั้งแรก สำหรับผู้ที่เข้าร่วมฝึกซ้อมในขบวนครั้งนี้ มีจำนวนมากกว่า 2,000 คน ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ อาทิ ขบวนทหาร 4 เหล่าทัพ กำลังพลฉุดชักราชรถจากกรมสรรพาวุธทหารบก ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมพลาธิการทหารบก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ตำรวจม้า สำนักพระราชวังผู้เชิญฉัตรเครื่องสูง โดยการฝึกครั้งนี้ กำหนดการซักซ้อมเหมือนจริงทุกประการ นับตั้งแต่การเชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน ใช้พระโกศทองใหญ่จำลอง รถบรรทุกทหารแทนพระมหาพิชัยราชรถ เดินประกอบเพลงไปตามกำหนดเวลาในพระราชพิธีจริง เพื่อให้กำลังพลได้รับทราบตำแหน่ง ระยะการเดิน และระยะห่างของริ้วขบวนต่างๆ เพื่อให้การเชื่อมต่อริ้วขบวนมีความสง่างาม สมพระเกียรติยศ โดยจะมีการฝึกซ้อมร่วมกันครั้งต่อไปในวันที่ 28 กันยายนนี้[8]

28 กันยายน พ.ศ. 2560 แก้

กรมสรรพาวุธทหารบก ฝึกซ้อมกำลังพลฉุดชักราชรถในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อเตรียมความพร้อมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีกำลังเข้าร่วมฝึกซ้อมมากกว่า 3,000 คน ซึ่งการฝึกซ้อมครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่กำลังพลฉุดชักราชรถในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 1-3 มาฝึกซ้อมร่วมกัน จากทั้งหมด 6 ริ้วขบวนตามหมายกำหนดการงานพระราชพิธี เพื่อความพร้อมเพรียง งามสง่า และสมพระเกียรติสูงสุด ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งมีพื้นที่กว้างใกล้เคียงสถานที่จริง และหลังจากนี้จะมีกำหนดซ้อมย่อยอีกครั้งในพื้นที่จริง คือวันที่ 7 และ 14 ตุลาคมนี้ ที่บริเวณท้องสนามหลวง[9]

7 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แก้

กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ นำโดย พลโท อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พลโท กู้เกียรติ ศรีนาคา จัดพิธีซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในสถานที่จริง คือ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นครั้งแรก โดยพื้นที่โดยรอบมีประชาชนจำนวนมากมาจับจองพื้นที่เฝ้ารอชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศกันอย่างเนืองแน่น เพื่อร่วมน้อมถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย[10]

8 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แก้

กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จัดซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในริ้วขบวนที่ 6 ซึ่งจะเป็นริ้วขบวนสุดท้ายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ บริเวณรอบๆ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีกองทหารม้า จำนวน 77 ม้า ร่วมการฝึกซ้อม ซึ่งตลอดทั้งเส้นทางการซักซ้อมริ้วขบวนเคลื่อนผ่านนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระจายกำลัง เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็มีประชาชนทั่วทุกสารทิศเดินทางมาชมการซักซ้อมจำนวนมาก[11]

13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แก้

พลเอก วิทัย ลายถมยา กรรมการบริหารสมาคมกี่ฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหน่วยหน่วยม้าทรงประจำพระองค์ ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงร่วมฝึกซ้อมการปฏิบัติในริ้วขบวนพระราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6 ในตำแหน่ง ผู้บังคับกองทหารม้าเกียรติยศ ในการเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ในการนี้ทรงฝึกกำลังพลในแถว และตรวจเครื่องแต่งกายทั้งของกำลังพลและม้าด้วยพระองค์เอง เพื่อลงรายละเอียดในการปฏิบัติทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความสง่างามและสมพระเกียรติสูงสุด[12]

15 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แก้

กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จัดพิธีฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทอดพระเนตรการฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ซึ่งในช่วงเช้ามีการซ้อมในริ้วขบวนที่ 1-3 และทรงร่วมเดินในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศด้วย โดยการซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 และเป็นการซ้อมในพื้นที่จริงเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยมีคณะรัฐมนตรีนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ กำลังพลจากกรมสรรพาวุธทหารบก และกองทัพภาคที่ 1 จำนวนกว่า 3,000 นาย มีราชนิกูล ข้าราชบริพาร และผู้ถวายงานเข้าร่วมในการซ้อมในครั้งนี้ด้วย[13] ส่วนในช่วงบ่าย พันโทหญิง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ผู้บังคับการกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ทรงม้านำขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในริ้วขบวนที่ 6[14]

21 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แก้

กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จัดพิธีฝึกซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งสุดท้าย ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในริ้วขบวนที่ 1-3 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ทรงร่วมซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เช่นเดียวกับ คุณพลอยไพลิน เจนเซน เดวิด วีลเลอร์ สามี คุณสิริกิติยา เจนเซน[15] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่ได้ร่วมซ้อมด้วย

ก่อนหน้านี้ ในเวลา 05.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูจุดคัดกรองทั้ง 9 จุด และมีประชาชนเป็นจำนวนมากต่างสวมใส่ชุดดำสีสุภาพ มารอที่จุดคัดกรองตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดจุดคัดกรอง เพื่อมาชมความงดงาม สมพระเกียรติของริ้วขบวนและร่วมกันถวายความจงรักภักดี โดยกองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามาชมการซ้อมริ้วขบวนตั้งแต่ถนนมหาราชตั้งแต่แยกท่าช้าง-ท่าเตียน บริเวณหน้าศาลหลักเมืองไปจนถึงฝั่งตรงข้ามมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และนำแผงกั้นเหล็กมากั้นไว้บนฟุตบาท เพื่อป้องกันอันตราย[16]

ทั้งนี้ ประชาชนในวันนี้มีจำนวนมากทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่โดยรอบท้องสนามหลวงสามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 40,000 คน และในจุดคัดกรองบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม เปิดให้ประชาชนเข้าได้ 15,500 คน เพื่อเข้าชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ บริเวณทางเท้าถนนราชดำเนินในฝั่งศาลฎีกา ตั้งแต่แยกหลักเมืองถึงแยกสะพานผ่านพิภพลีลา[17]

22 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แก้

กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จัดพิธีฝึกซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งสุดท้าย ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในริ้วขบวนที่ 4-6 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทรงร่วมพิธีซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสสริยยศ ในริ้วขบวนที่ 4 และ 5 โดยทั้งสองริ้วขบวนนี้เป็นการซ้อมในพื้นที่จริงครั้งแรกและครั้งเดียว[18]

ในส่วนของริ้วขบวนที่ 6 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในฉลองพระองค์สีขาว สนับเพลาสีดำ พระมาลาสีดำกำมะหยี่ ประดับพู่สีฟ้า ทรงม้านำกองทหารม้ารักษาพระองค์จำนวน 77 ม้า จากหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เพื่อทรงมาเตรียมตั้งริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศริ้วที่ 6 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงร่วมการซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในริ้วขบวนที่ 6 เป็นครั้งสุดท้าย โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงม้าชื่อ W-CALATA (เว-คาลาตา) อันเป็นม้าทรงประจำพระองค์ฯ สายพันธุ์โฮล์สไตเนอร์ วอร์มบลัด สีแซมขาว เพศเมีย อายุ 11 ปี ความสูง 170 เซนติเมตร จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นม้ากีฬาประเภทกระโดดข้ามเครื่องกีดขวางที่มีความสามารถ ผ่านการฝึกขั้นสูง ตอบสนองต่อการบังคับควบคุมได้ดี โดยเคยเข้าร่วมการแข่งขันในรายการต่างๆ และได้รับรางวัลมากมาย ในการแข่งขันประเภทกระโดดข้ามเครื่องกีดขวางในสหภาพยุโรป นำขบวน ตามด้วยขบวนกองทหารม้าจำนวน 77 ม้า ประกอบด้วยกำลังพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม2.รอ) และกำลังพลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล[19]

สำหรับบรรยากาศบริเวณโดยรอบท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด มีประชาชนจำนวนมาก ทยอยเดินทางมาชมการซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยประชาชนหลั่งไหลมาเฝ้าชมอย่างต่อเนื่องจนเต็มพื้นที่ ด้านหน้าศาลฎีกา ยาวไปจนถึงบริเวณด้านหน้าศาลหลักเมือง[18]

ริ้วขบวนที่ 1 แก้

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระยานมาศสามลำคานออกจากพระบรมมหาราชวัง โดยมี พลตรี ธวัชชัย พัดทอง เจ้ากรมการขนส่งทหารบก พันเอก พูลลาภ ยะตินันท์ รองเจ้ากรมการขนส่งทหารบก พันเอก อภิชาติ ปัตตะนุ รองเจ้ากรมการขนส่งทหารบก พันเอก ประกาศ เพยาว์น้อย รองผู้บัญชาการโรงเรียนขนส่งทหารบก ทำพิธีขอขมาและอัญเชิญพระยานมาศสามลำคาน

ต่อมา พันเอก สุภัทร์ ภูถี่ถ้วน เสนาธิการกรมการขนส่งทหารบก เป็นผู้กํากับพระยานมาศสามลำคาน[20]เคลื่อนออกไปตามถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชย แบ่งตอนดังนี้ ตอนของผู้เชิญเสลี่ยงกลีบพระนำ สองสายในเป็นคู่เคียงพระนำ โดย นาย กฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ นาย มนัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา

ตอนของผู้อำนวยการพระราชพิธีริ้วขบวนพระบรมราชอิสสริยยศ

ริ้วแยกเป็นสองสายด้านขวา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระ โรจนพจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ด้านซ้าย พลเอก ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พัชราภรณ์ อินทรียงค์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คู่เคียง อินทร์ พรหม นาลิวัน ม้าพระที่นั่งตาม 4 ม้า พระยานมาศสามลำคานประดิษฐานพระบรมโกศ ขนาบด้วย ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ แห่อัญเชิญพระบรมโกศตามราชประเพณี เพื่อไปยังพระมหาพิชัยราชรถที่จอดรอหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ตอนของผู้คุมพระยานมาศสามลำคานนำโดย นาย อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และ นาย ประทีป เพ็งตะโก รองอธิบดีกรมศิลปากร ทำหน้าที่เป็นผู้คุมพระยานมาศสามลำคาน

ตอนของมหาดเล็กพระราชพิธีเชิญเครื่องพระบรมราชอิสสริยยศ ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม อัญเชิญเครื่องทองน้อย พลอากาศตรี สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เชิญพระแสงด้ามนาค พลอากาศตรี ธวัชชัย ศรีแก้ว เชิญพระแสงฝักทองเกลี้ยง พลอากาศตรี จักรพงษ์ หอมไกรลาศ เชิญพระสุพรรณศรีทองคําลงยาบัวแฉก พลอากาศตรี ศิริพัฒน์ สุขเจริญ เชิญพระสุพรรณราชทองคําเฟือง พลตํารวจโท วีระชัย กรานคํายี เชิญกาพระสุธารสเย็นทองคําสลักลาย พันเอก เพทาย ซังเอียด เชิญพานชําระพระหัตถ์เครื่องพร้อม พันเอก สัญญา สาริบุตร เชิญพระสุวรรณภิงคารพร้อมพานรอง พลอากาศตรี สุรศักดิ์ กนิษฐานนท์ เชิญเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายหน้า) พันตรี วันนิวัติ คําวิลัย เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่ง ราชมิตราภรณ์ (ฝ่ายหน้า) พันตรี กวิน ปราสาทหินพิมาย เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่ายหน้า) พันเอก ปฏิเวธ ไม้สนธิ์ เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นที่ 1 เสนางคะบดี นาวาตรี กิติพงศ์ ชลังสุทธิ์ เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ(ฝ่ายหน้า) พันเอก บวงสรวง บุนนาค เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ ช้างเผือก (ฝ่ายหน้า) พันโท ไพบูลย์ ผจญแกล้ว เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ(ฝ่ายหน้า) พันเอก ธนวัฒน์ พัฒนทอง เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ฝ่ายหน้า) พันตรี ณัฐพงศ์ ครุฑจับนาค เชิญเหรียญราชอิสริยาภรณ์และเหรียญที่ระลึก พันโท กุลบุตร ปัจฉิม เชิญพระคทาจอมทัพภูมิพล[21]พลเอก จักรภพ ภูริเดช อัญเชิญพระลอง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงร่วมเดินขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 1 ตามพระบรมโกศ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา พลเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล พันโท สมชาย กาญจนมณี อัญเชิญพระบรมโกศ 4 สาย ประกอบด้วย นายตำรวจขี่ม้านำ 2 คู่ เจ้าพนักงานนำริ้ว ธง 3 ชาย คู่แห่นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ ตำรวจหลวงถือหอก มหาดเล็กหลวงคู่หน้า สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัวอ่านพระอภิธรรมนำ ตามด้วย

ผู้คุมฉัตรเครื่องสูงหักทองขวางหน้าพระยานมาศสามลำคานอัญเชิญพระบรมโกศ ได้แก่ พันเอก พิสิษฐ์ ผาสุข และ พันเอก ปรีชา เวหาธรนาวี ผู้คุมฉัตรเครื่องสูงทองแห่หน้าพระนำ ได้แก่ พันเอก มรกต เถาสุวรรณ และ พันโท ขจรพงศ์ เฉยชิด

ทั้งนี้ เมื่อขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ถึงยัง พระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ขบวนพระยานมาศสามลำคานจะเวียนซ้าย ริ้วขบวนที่ 1 จะเข้ารวมกับริ้วขบวนที่ 2 ซึ่งรออยู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปพักคอย ณ พลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เจ้าพนักงานเชิญพระบรมโกศเทียบท้ายเกรินบันไดนาค และเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรคันดาลอีกองค์หนึ่งติดตั้งที่ท้ายเกรินเพื่อกางกั้นพระบรมโกศ สมเด็จพระวันรัตลงจากพระเสลี่ยงกลีบบัวขึ้นราชรถน้อย จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพลับพลายก ทรงทอดผ้าไตร 20 ไตร ที่ท้ายเกรินบันไดนาคพระมหาพิชัยราชรถ พระสงฆ์สดับปกรณ์เที่ยวละ 5 รูป แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับยังพลับพลายก เจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งท้ายเกรินบันไดนาค ถวายบังคมแล้วประคองพระบรมโกศ อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ เจ้าหน้าที่ผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถถวายบังคมพร้อมกันกับเจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วเลื่อนเกรินอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นสู่บุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ขณะนั้น ขบวนพระบรมราชอิสริยยศกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ ถวายความเคารพ วงโยธวาทิตบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เจ้าพนักงานเลื่อนเกรินออกจากพระมหาพิชัยราชรถ สารถีพระมหาพิชัยราชรถเข้าประจำที่หน้าพระมณฑป พลฉุดชักราชรถถวายบังคมพระบรมโกศ เจ้าพนักงานคุมขบวนรัวกรับพวงให้สัญญาณครั้งที่หนึ่ง ริ้วขบวนกลับหลังหัน พลฉุดชักนำห่วงคล้องที่บ่า สัญญาณกรับครั้งที่สองพร้อมแตรเป่า เตรียมเคลื่อนริ้วขบวน สัญญาณกรับครั้งที่สามพร้อมแตรเป่า เคลื่อนริ้วขบวนที่ 2[22][23]

ริ้วขบวนที่ 2 แก้

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระบรมโกศ เคลื่อนไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน ผ่านพลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ผ่านกระทรวงกลาโหม เข้าสู่ถนนกลางท้องสนามหลวง และเคลื่อนเข้ามณฑลพระราชพิธี เมื่อเคลื่อนขบวนทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ถวายพระเกียรตินาทีละ 1 นัด จนกว่าพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแล้วจึงหยุดยิง ขบวนพระบรมราชอิสริยยศมีมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประโคมตลอดเวลา และหยุดประโคมเมื่อได้เปิดพระวิสูตรบนพระเมรุมาศแล้ว ขบวนพระบรมราชอิสริยยศตอนหน้าพระมหาพิชัยราชรถตรงไปตามถนนกลางท้องสนามหลวง เทียบราชรถพระนำที่มุมราชวัติต่อถนนพระจันทร์ส่งสมเด็จพระวันรัตลงจากราชรถพระนำ ไปพักที่ท้ายพระที่นั่งทรงธรรม แล้วราชรถพระนำเลยไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมด้วยฉัตรพระนำสมเด็จพระวันรัต คู่เคียง อินทร์ พรหม คู่แห่ นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ นำริ้ว ธง 3 ชาย มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เดินเข้าไปตั้งแถวในพระเมรุมาศตามแนวริมราชวัติด้านเหนือ ตะวันออก และด้านใต้ พร้อมด้วยฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง เมื่อพระมหาพิชัยราชรถจะถึงที่เทียบสะพานเกรินบันไดนาคหน้าพลับพลายกนอกราชวัติพระเมรุมาศ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารกองเกียรติยศแห่นำพระบรมโกศถวายความเคารพ เทียบพระมหาพิชัยราชรถที่ประตูราชวัติพระเมรุมาศ คู่เคียง อินทร์ พรหม และเครื่องสูงหักทองขวาง มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ นาลิวัน ประตูหลัง เดินชิดขวาเคียงข้างพระมหาพิชัยราชรถริมขอบสนามไปตั้งแถวในราชวัติรวมกับเครื่องสูงขบวนหน้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่พลับพลายกพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทอดพระเนตรการอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถไปประดิษฐานเหนือราชรถปืนใหญ่เพื่อเตรียมเวียนพระเมรุมาศ ขบวนทหารกองเกียรติยศกองหลังเลี้ยวเข้าถนนตัดเข้าพระเมรุมาศ แล้วเลี้ยวซ้ายไป ตั้งแถวตรงประตูราชวัติพระเมรุมาศด้านตะวันออก และด้านใต้ตามลำดับกองพัน เจ้าพนักงานเชิญเกรินบันไดนาคเทียบพระมหาพิชัยราชรถ และเทียบราชรถปืนใหญ่เรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายบังคมพร้อมกับผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ แล้วเจ้าพนักงานภูษามาลาจะได้เลื่อนอัญเชิญพระบรมโกศเคลื่อนลงทางเกรินบันไดนาคประดิษฐานเหนือราชรถปืนใหญ่ มีทหารปืนใหญ่ฉุดชักราชรถปืนใหญ่ อัญเชิญพระบรมโกศเข้าเวียนพระเมรุมาศ เจ้าพนักงานคุมขบวนรัวกรับพวงให้สัญญาณเคลื่อนริ้วขบวนที่ 3

โดยมี พลตรี ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นผู้บัญชาการริ้วขบวนที่สอง พลตรี เอนก กล่อมจิตร ผู้บัญชาการ ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก เป็นผู้กำกับพระมหาพิชัยราชรถ พันเอก อรรถพล สอยเหลือง เป็นผู้กำกับราชรถพระนำ

ขบวนทหารนำริ้วขบวนที่ 2 นำโดย พันเอก อนุสรณ์ สิทธิสกุลรัตน์ ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นผู้นำนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นาวาโท วรพล จารุมนตรี ผู้บังคับการ กรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ[24]เป็นผู้นำนักเรียนโรงเรียนนายเรือ นาวาอากาศเอก พุทธพงศ์ ผลชีวิน ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เป็นผู้นำนักเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช

ท้ายริ้วขบวนตามด้วยราชสกุล พล.ท.หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ร.อ.หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล[25] หม่อมเจ้านภดลเฉลิมศรี ยุคล[26]หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมราชวงศ์รังษิพันธ์ ยุคล หม่อมราชวงศ์เบญจาภา ไกรฤกษ์ หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล หม่อมราชวงศ์อุษณิษา สุขสวัสดิ์ หม่อมหลวงวันรัชดา วรวุฒิ ร้อยเอก หม่อมราชวงศ์จุลรังษี ยุคล หม่อมราชวงศ์จันทรลัดดา ยุคล หม่อมราชวงศ์สุทธิภาณี ยุคล หม่อมราชวงศ์ดำรงรักษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแพ่งพระโขนง[27]หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรชัย พลโท หม่อมหลวงกุลชาต ดิศกุล พันตำรวจเอก หม่อมหลวงพัฒนจักร จักรพันธุ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกะทู้[28][29]

ปิดท้ายริ้วขบวนด้วยทหารจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กรักษาพระองค์ นำโดย พันโท ปกรณ์กิตติ์ คงประดิษฐธร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และ พันโท เพื่อชาติ อุไรเลิศ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 11 กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กรักษาพระองค์

ริ้วขบวนที่ 3 แก้

ริ้วขบวนที่ 3 เชิญราชรถปืนใหญ่ทรงพระบรมโกศเวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฎ (ทางซ้าย) 3 รอบ ริ้วขบวนนำโดยเสลี่ยงกลีบบัวเชิญพระสวดพระอภิธรรม ราชรถปืนใหญ่ ตามด้วยขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ พระประยูรญาติ ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ และสมาชิกราชสกุล อาทิ หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 10 หม่อมราชวงศ์อุษณิษา สุขสวัสดิ์ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล หม่อมหลวงวันชัย นวรัตน เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตดำเนินรายการวิทยุและวิทยุโทรทัศน์ ระหว่างเคลื่อนริ้วขบวน ทหารปืนใหญ่ยิงสลุดถวายนาทีละ 1 นัด เมื่อเคลื่อนขบวนครบ 3 รอบแล้ว เสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งทรงธรรม เจ้าพนักงานเทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศด้านเหนือ เจ้าพนักงานเลื่อนพระบรมโกศสู่เกริน อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน ครั้นถึงที่แล้ว ปิดพระฉาก ปิดพระวิสูตร หยุดประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เปลื้องพระบรมโกศประกอบพระโกศจันทน์ แวดล้อมด้วยฉัตรดอกไม้สด 4 มุม แล้วเปิดพระฉาก เปิดพระวิสูตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระเมรุมาศทางบันไดด้านตะวันตก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ กราบถวายบังคมพระบรมศพ แล้วเสด็จลงทางเดิม ขึ้นพระที่นั่งทรงธรรมไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ ริ้วขบวนที่ 3

พันเอก ณัฐวุฒิ จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้กำกับราชรถปืนใหญ่ พันเอก จิรโรจน์ ธูปเทียนรัตน์ ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ผู้กำกับการริ้วขบวนที่ 3 พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 บุตรชาย พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผู้บัญชาการกองผสม ผู้คุมคนฉุดชักราชรถปืนใหญ่ด้านหน้า คือ พันตรี เตชธร ขวัญยืน และ พันตรี วิชัย สายชล ผู้คุมคนฉุดชักราชรถปืนใหญ่ด้านหลัง คือ ร้อยเอก พีรณัฐ ศรีทะวงศ์ และ ร้อยเอก วรัฏฐา อริยา[30]ราชสกุลร่วมเดินริ้วขบวนอาทิ พลอากาศตรีหญิง สุรีย์พร บุญจง[31]ผศ.ดร.หม่อมหลวง วิฏราธร จิรประวัติ นายกสมาคมนิสิตเก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านผู้หญิงรวิจิตร สุวรรณบุบผา นางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนีนาถ

ริ้วขบวนที่ 4 แก้

ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง โดยออกจากพระเมรุมาศทางประตูด้านทิศเหนือ ใช้เส้นทางจากถนนกลางท้องสนามหลวง ออกถนนราชดำเนินใน เลี้ยวขวาเข้าถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ริ้วขบวนเริ่มด้วยโดยขบวนม้านำ 2 ม้า ตามด้วยพนักงานเชิญเครื่องสูงแผ่ลวด คณะรัฐมนตรีนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อมาเป็นพระที่นั่งราเชนทรยาน โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานภูษามาลา ประคองพระบรมอัฐิ และ ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานภูษามาลาประคองพระบรมราชสรีรางคาร บนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ตามลำดับ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี เกียรติศักดิ์ บุญสุวรรณ เจ้าพนักงานภูษามาลาส่งมอบพระบรมอัฐิ แก่พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานภูษามาลารอรับพระบรมอัฐิ ตำรวจหลวง 8 นาย เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ ธงชัยพระครุฑพ่าห์ นำเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นในลำดับต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระดำเนินตาม และปิดท้ายริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ ด้วยขบวนของสมาชิกในราชสกุล

เมื่อริ้วขบวนถึงพระบรมมหาราชวัง ริ้วขบวนจะแยกเป็นสองสาย คือ สายพระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระบรมอัฐิ ตรงไปเข้าประตูพิมานไชยศรี พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เลี้ยวขวาที่ถนนอมรวิถี และไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท และสายพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยทรงพระบรมราชสรีรางคาร แยกออกไปเลี้ยวถนนหน้าศาลาสหทัยสมาคม เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยที่เกยประตูหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยไปประดิษฐานพักไว้ในพระศรีรัตนเจดีย์[32]

ริ้วขบวนที่ 5 แก้

ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน ออกจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท เคลื่อนไปตามถนนอมรวิถี มีนายทหารราชองครักษ์เชิญธงมหาราชนำ ตามด้วยพระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระโกศพระบรมอัฐิ โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานภูษามาลาประคองพระโกศพระบรมอัฐิ และตำรวจหลวง 8 นาย เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ ธงชัยพระครุฑพ่าห์ นำเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นในลำดับต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี่ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระดำเนินตาม และปิดท้ายริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศด้วยขบวนของสมาชิกในราชสกุล อาทิ พล.ต.หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล ท่านหญิงศรีสว่างวงศ์ บุญจิตราดุลย์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล[33]และเทียบพระที่นั่งราเชนทรยานที่อัฒจันทร์ตะวันออกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท[34]

โปรดเกล้าให้ พันโท สมชาย กาญจนมณี พลเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล นาย ประชุม เอี่ยมสะอาด ศาสตราจารย์ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บุตร พลตำรวจเอก ณรงค์ มหานนท์ นาย ไตรวุฒิ ชำนาญศิลป์ เข้าเฝ้า เพื่อนำพระบรมอัฐิ ไปประทับตามตำหนักต่างๆ อาทิ ตำหนักทิพย์วิมาน

ริ้วขบวนที่ 6 แก้

ริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารออกจากพระบรมมหาราชวัง โดยขบวนกองทหารม้ารักษาพระองค์ มี พันโทหญิง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงม้านำขบวนทหารม้านำ 45 ม้า ตามด้วยรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร มีกองเกียรติยศทหารม้ารักษาพระองค์ขบวนหลังตามอีก 33 ม้า ขบวนเคลื่อนไปตามถนนหน้าพระลาน เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสนามไชย เลี้ยวซ้ายไปยังถนนกัลยาณไมตรี ข้ามสะพานช้างโรงสี เลี้ยวขวาไปที่ถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชบพิธ ขบวนหน้าทหารม้ารักษาพระองค์แห่นำรถยนต์พระที่นั่งอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารเทียบที่ประตูวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่ออัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ

และหลังจากเสร็จพระราชพิธีที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารแล้ว ขบวนกองทหารม้าขบวนเดิม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารออกจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยรถยนต์พระที่นั่ง เลี้ยวขวาที่ถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายเพื่อข้ามสะพานช้างโรงสี เคลื่อนไปตามถนนกัลยาณไมตรี เลี้ยวขวาเข้าถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา เคลื่อนไปตามถนนราชดำเนินกลาง วนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ และเทียบขบวนที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เพื่ออัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ[35]โดยมี พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายที่ประทับ เป็นผู้อัญเชิญพระผอบ

อ้างอิง แก้

  • "หมายกำหนดการ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  • การถ่ายทอดสด พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
  1. "ข้อมูลเกี่ยวกับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". kingrama9.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-19. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ซ้อมขบวนอิสริยยศเสมือนจริง". ไทยโพสต์. 23 กันยายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-24. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ""พระองค์หญิง"ผู้บังคับกองทหารม้า ทรงร่วมซ้อมริ้วขบวน". นิวทีวี. 14 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "พระองค์หญิงสิริวัณณวรีฯ ทรงม้าซ้อมนำขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". คมชัดลึก. 15 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "เปิดฝึกกำลังพลฉุดชักราชรถ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ". กรุงเทพธุรกิจ. 15 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "กรมสรรพาวุธฯซ้อมครั้งสุดท้ายฉุดชักราชรถ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". ไทยรัฐ. 31 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "ทบ.1 ซ้อมพลฉุดชักราชรถ พระราชพิธีถวายพระเพลิง ร.9". สนุก.คอม. 7 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "ซ้อมขบวนอิสริยยศเสมือนจริง". ไทยโพสต์. 23 กันยายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-24. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "ฝึกซ้อมพลฉุดราชรถ 3,000 คนในขบวน "พระบรมราชอิสริยยศ"". ไทยพีบีเอส. 28 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "ซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯครั้งแรก". ทีเอ็นเอ็น24. 7 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "ซ้อมย่อยริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ริ้วขบวนสุดท้ายในพระราชพิธีฯ". ข่าวสด. 8 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. ""พระองค์หญิง"ผู้บังคับกองทหารม้า ทรงร่วมซ้อมริ้วขบวน". นิวทีวี. 14 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "สมเด็จพระเทพฯร่วมซ้อมขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ". ทีเอ็นเอ็น24. 15 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "พระองค์หญิงสิริวัณณวรีฯ ทรงม้าซ้อมนำขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". คมชัดลึก. 15 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. ""พระองค์โสม" ทรงร่วมซ้อมในริ้วขบวนฯ พร้อมด้วยคุณพลอยไพลิน-คุณใหม่". ประชาชาติธุรกิจ. 21 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. ""สมเด็จพระเทพ"ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". ไบรท์ทีวี. 21 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  17. "ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯเสมือนจริง". 21 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. 18.0 18.1 "'สมเด็จพระเทพฯ'ทรงร่วมซ้อมขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 4 ปชช.เฝ้าชมเนืองแน่น". ข่าวสด. 22 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. "พระองค์หญิงสิริวัณวรีฯ ทรงซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". คมชัดลึก. 22 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. Page 93 - จดหมายเหตุงานพระบรมศพ
  21. จดหมายเหตุพระบรมศพ
  22. "ยาตราริ้วขบวนที่ 1 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' เสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมโกศ". ไทยรัฐ. 26 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. "ในหลวง ร.10-พระเทพฯ เสด็จฯ ยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระบรมโกศสู่พระเมรุมาศ". มติชน. 26 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. โรงเรียนนายเรือฝึกซ้อมการเดินเปลี่ยนสูง
  25. ร.อ.หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล "ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แทนคนไทย"
  26. ประมวลการซ้อมริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ
  27. "ศาลจังหวัดพระโขนง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-24. สืบค้นเมื่อ 2022-05-31.
  28. ตั้ง ผกก.หม่อม รักษาราชการ สภ.ป่าตอง แทน ผกก.ถูกพิษส่วยเล่นงาน
  29. ราชสกุล ‘ราชวงศ์จักรี’ ร่วมส่งเสด็จ ร.9
  30. จดหมายเหตุงานพระบรมศพ
  31. ราชสกุล ริ้วขบวนที่ 3 ตอน 2
  32. "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระวงศานุวงศ์ อัญเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิ สู่พระบรมมหาราชวัง". คมชัดลึก. 27 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  33. ‘ร.10-พระเทพฯ’ ทรงร่วมริ้วขบวนอัญเชิญ ‘พระบรมศพ’ โปรดเกล้าฯ ‘ร.อ.จิทัศ’ เชิญเครื่องทองน้อย
  34. "ในหลวงเสด็จฯริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่5 เชิญพระบรมอัฐิประดิษฐานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท". ประชาชาติธุรกิจ. 29 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  35. "ประมวลภาพ ริ้วขบวนพระบรมอิสริยยศที่ 6 บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร". ประชาชาติธุรกิจ. 29 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้