วันจักรี
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี
วันจักรี | |
---|---|
ชื่อทางการ | วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ |
ชื่ออื่น | วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
จัดขึ้นโดย | รัฐบาลไทย |
ประเภท | วันหยุดราชการ |
ความสำคัญ | ระลึกถึงการปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และการสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นปกครองประเทศไทย |
การเฉลิมฉลอง |
|
การถือปฏิบัติ |
|
วันที่ | 6 เมษายน |
ความถี่ | ทุกปี |
ครั้งแรก | พ.ศ. 2461 |
ริเริ่มโดย | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ส่วนเกี่ยวข้อง | วันฉัตรมงคล |
ประวัติ
แก้วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ
จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะพระราชทานโอกาสเตือนน้ำใจแก่ประชาชน ได้ระลึกถึงความเดิมว่า ราชอาณาจักรไทยได้กลับเป็นอิสรภาพขึ้นดังโบราณกาล ด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และดำรงความเป็นอิสรภาพต่อมาด้วยพระบรมราโชบายแห่งสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าที่ได้สืบสนองพระองค์ ประกอบด้วยพระปรีชาญาณต่าง ๆ อันควรแก่สมัย ราชอาณาจักรไทยจึงดำรงความเป็นอิสรภาพสืบมา
ด้วยเหตุนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทั้ง 5 รัชกาล ซึ่งเดิมประดิษฐาน ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ไปประดิษฐานยังปราสาทพระเทพบิดร แล้วให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในวันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบไป
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันนี้ว่า “วันจักรี” เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จกรีฑาทัพกลับพระนคร ทรงรับอัญเชิญเสด็จขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เนื่องในวันจักรี จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๖๒ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชบันทึกเหตุการณ์นี้ในบันทึกจดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ ความตอนหนึ่งว่า
“บ่ายวันนี้ได้เข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปที่ในปราสาทพระเทพบิดร ในเวลาที่เราไป ก็ยังมีข้าราชการและประชาชนอยู่มาก และได้ข่าวว่าตั้งแต่เช้ามีคนเข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปเป็นอันมาก...งานนี้นับว่าเป็นพระเกียรติยศงดงามดีมาก เพราะผู้คนไปอย่างแน่นหนา...เราได้ให้เรียกวันนี้ว่า วันจักรี”
นับแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์ทุกรัชกาลสืบมากระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน เข้าถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความเจริญมั่นคง เป็นมูลฐานแห่งความผาสุกร่มเย็นของราชอาณาจักรไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้
อ้างอิง
แก้- สำเนียง มณีกาญจน์ และ สมบัติ จำปาเงิน. หมายเหตุเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์สองร้อยปี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2536.