กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ สุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นสุสานหลวงที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิของเจ้าหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ครองนครเชียงใหม่มาประดิษฐานรวมกัน ณ บริเวณลาน วัดสวนดอก (พระอารามหลวง) โดยเกิดจากพระดำริเมื่อปี พ.ศ. 2452 พระราชชายาดารารัศมีทรงพิจารณาเห็นว่า (กู่) อนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครและพระญาติพระวงศ์ทั้งหลายตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางทิศตะวันตกนั้น (ตลาดวโรรสแถวตรอกข่วงเมรุ) ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงคิดที่จะหาที่ใหม่ซึ่งก็คือบริเวณวัดสวนดอกในปัจจุบันที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ภายหลังเมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายา สิ้นพระชนม์ ได้อัญเชิญแบ่งพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือแห่งนี้ (อีกส่วนหนึ่งแบ่งประดิษฐานไว้ในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร)

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

ปัจจุบันกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478[1]

การนำพระอัฐิและอัฐิของผู้ใดไปประดิษฐานในบริเวณกู่แห่งนี้ นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ดูแลรับผิดชอบ 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายสายตระกูล ณ เชียงใหม่ และฝ่ายวัดสวนดอก โดยความเห็นชอบของเจ้าอาวาส จะถือหลักปฏิบัติว่าต้องเป็นอัฐิบุคคลที่เป็นลูกหลานและเครือญาติของเจ้าหลวง[2]

ลำดับกู่

แก้

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ประกอบไปด้วยกู่จำนวนมาก ซึ่งภายในกู่จะบรรจุอัฐิเชื้อพระวงศ์ที่สำคัญ ดังนี้

  1. กู่พระเจ้ากาวิละ
  2. กู่พระยาธรรมลังกา
  3. กู่พระยาคำฟั่น
  4. กู่พระยาพุทธวงศ์
  5. กู่พระเจ้ามโหตรประเทศ
  6. กู่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
  7. กู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์
  8. กู่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
  9. กู่เจ้าแก้วนวรัฐ
  10. กู่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
  1. กู่แม่เจ้าอุษา
  2. กู่แม่เจ้าทิพย์เกษร
  3. กู่แม่เจ้ารินคำ
  4. กู่แม่เจ้าพิณทอง
  5. กู่แม่เจ้าจามรี
  6. กู่เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่)
  7. กู่เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่)
  8. กู่เจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่)
  9. กู่ท่านผู้หญิงฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี
  10. กู่เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่

อ้างอิง

แก้

ดูเพิ่ม

แก้