วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

พระอารามหลวงประจำพระราชวังดุสิต
(เปลี่ยนทางจาก วัดเบญจมบพิตร)

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้น พระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร มุมมองจากทิศตะวันออก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเบญจมบพิตร
ที่ตั้ง69 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธชินราช (จำลอง)
พระพุทธรูปสำคัญพระหริภุญชัยบรมโพธิสัตว์ พระฝาง
เจ้าอาวาสพระธรรมวชิราธิบดี (ฉ่ำ ปุญฺญชโย)
ความพิเศษเป็นวัดประจำพระราชวังดุสิต
เวลาทำการทุกวัน 8.30-17.30
จุดสนใจพระอุโบสถ และ พิพิธภัณฑ์ฯวัดเบญจฯ
กิจกรรมบวชสามเณรภาคฤดูร้อน (เม.ย.) บวชชาวเขา (ก.ค.) ตานก๋วยสลาก (ต.ค.)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎรวัดแหลม หลังจากปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์แล้ว พระองค์เจ้าพนมวัน พร้อมพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 4 พระองค์ คือ

มีพระประสงค์ที่จะร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแหลม พร้อมทั้งทรงสร้างพระเจดีย์เรียงรายไว้หน้าวัด 5 องค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร หมายความว่า วัดของเจ้านาย 5 พระองค์[2]

ในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนเพื่อสร้างที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ โดยพระราชทานนามว่า "สวนดุสิต"[3] (พระราชวังดุสิต ในปัจจุบัน) ซึ่งบริเวณที่ดินที่ทรงซื้อนั้นมีวัดโบราณ 2 แห่ง คือ วัดดุสิตซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยถูกใช้เป็นที่สร้างพลับพลา และวัดร้างอีกแห่งซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินของวัดสำหรับตัดเป็นถนน พระองค์จึงทรงกระทำผาติกรรม สร้างวัดแห่งใหม่เพื่อเป็นการทดแทนตามประเพณี โดยทรงเลือกวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริว่า การสร้างวัดใหม่หลายวัดยากต่อการบำรุงรักษา ถ้ารวมเงินสร้างวัดเดียวให้เป็นวัดใหญ่ และทำโดยฝีมือประณีตจะดีกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่น ๆ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง ติดกับโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังวัด ในการนี้มีพระบรมราชโองการประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่ดินให้เป็นเขตวิสุงคามสีมาของวัด พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในพระบรมราชจักรีวงศ์[4] ต่อมา พระองค์ได้ถวายที่ดินซึ่งพระองค์ขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร และโปรดฯ ให้เรียกนามรวมกันว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม[5]

เมื่อมีการจัดระเบียบพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2458 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] ดังนั้น ชื่อวัดจึงมีสร้อยนามต่อท้ายด้วย "ราชวรวิหาร" ดังเช่นในปัจจุบัน

สิ่งก่อสร้างสำคัญ

แก้

พระอุโบสถ

แก้
 
พระอุโบสถ
 
พระพุทธชินราช (จำลอง) ภายในพระอุโบสถ

เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา ๔ ชั้น ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลังด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้นภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา โดยมีพระพุทธชินราช (จำลอง) ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

ศาลาสี่สมเด็จ

แก้

ศาลาสี่สมเด็จ เป็นศาลาจตุรมุขพื้นศิลา หลังคาประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมกับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนีอีก 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช โดยพระองค์พระราชทานนามศาลาแห่งนี้ว่า ศาลาสี่สมเด็จ ไว้เป็นที่พักผ่อนสำหรับพระสงฆ์และสามเณร[5] ปัจจุบัน ศาลาสี่สมเด็จใช้เป็นหอกลอง

บริเวณหน้าบันทั้ง 4 ด้านของศาลาสี่สมเด็จได้จำหลักลายไทยเป็นตราประจำพระองค์ของแต่ละพระองค์ไว้ ได้แก่ ตราพระเกี้ยว พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราจันทรมณฑล ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ ตราจักร ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และ ตราสุริโยทัย ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จากเว็บไซต์วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

พระที่นั่งทรงธรรม

แก้

เป็นตึก ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูนตลอด พื้นชั้นล่างและบันไดปูหินอ่อน ชั้นบนปูไม้ หลังคา ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ช่อฟ้าใบระกาลงรักปิดทองทึบ หน้าบันทั้ง ๔ ด้าน จำหลักภาพต่าง ๆ ปิดทองประดับกระจก ภายในผนังเสมอกรอบหน้าต่าง ประกบแผ่นหินอ่อนสีขาว เสาเขียนลายรดน้ำเทพนม ตั้งธรรมาสน์กลางห้อง ด้านใต้กั้นพระฉากดีบุกฉลุลายไทยเทพนมและกุมภัณฑ์ เพื่อเป็นที่ประทับของฝ่ายใน พระที่นั่งทรงธรรมนี้ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" ทรงสร้างอุทิศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. 2445 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ใช้เป็นที่ประทับแรมเวลาทรงธรรมรักษาอุโบสถศีล ต่อมาได้เคยใช้เป็นที่ประชุมสังฆมนตรี, ที่ศึกษาพระปริยัติธรรม จัดงานประจำปีของวัด ตั้งพระศพและศพบุคคลสำคัญของชาติ ในเวลาตั้งพระศพศาลาแห่งนี้มีศักดิ์เป็นรองจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เช่น

ปัจจุบันคงใช้ในกิจกรรมของวัด และตั้งพระศพหรือศพบุคคลสำคัญ[6]

 
หอระฆังบวรวงศ์

หอระฆังบวรวงศ์

แก้

หอระฆังบวรวงศ์ เป็นหอระฆังทรงไทยประกอบหินอ่อน สร้างขึ้นโดยพระบรมวงศานุวงศ์ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และข้าราชการ ระฆังภายในหอนั้นนำมาจากวัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคล หน้าบันของหอระฆังจำหลักลายไทยประกอบภาพตราประจำตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยหน้าบันทิศตะวันตกเป็นภาพ "พระลักษณ์ทรงหนุมาน" ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งองค์เดิม ส่วนหน้าบันทิศตะวันออก เป็นภาพ "พระนารายณ์ทรงปืน" ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งองค์ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ จากเว็บไซต์วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเปิดและฉลองหอระฆังเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2445 พร้อมทั้งพระราชทานามว่า หอระฆังบวรวงศ์[7]

สถานที่อื่น ๆ

แก้

พระที่นั่งผนวช

แก้
 
พระที่นั่งทรงผนวช

เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้รื้อมาจากพระพุทธรัตนสถาน เป็นหมู่กุฏิประกอบด้วย "พระที่นั่งทรงผนวช" อยู่ด้านทิศเหนือ "พระกุฏิ" อยู่ด้านทิศใต้ กับกุฏิ ๒ ห้อง ๒ หลัง อยู่ด้านตะวันออกและตะวันตก มีหอเสวยกลาง มีลานหินอ่อนโดยรอบมีช่อฟ้า ใบระกา ลำยอง ลงรักปิดทองทึบหลังด้านทิศใต้คือ "พระกุฏิ" หน้าบันจำหลักลายประกอบ "พัดยศ" ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความหมายว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระองค์ทรงผนวชส่วนหลังทิศเหนือคือ '"พระที่นั่งทรงผนวช"' เป็นตรีมุข ประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำตรา "เครื่องราชอิสริยาภรณ์" ที่ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่เป็น 5 สาย 5 ชั้น ด้านในเขียนภาพเทวดาถือดอกไม้เหนือคนแคระหน้าบันทั้ง ๓ ด้านจำหลักลายไทยประกอบตรา "พระเกี้ยว" ซึ่งเป็นตราประจำของพระองค์ ลงรักปิดทองประดับกระจก หมายถึงพระที่นั่งองค์นี้ เป็นที่ประทับเมื่อคราวพระองค์ทรงผนวชภายในพระที่นั่งทรงผนวช มีพระแท่นบรรทม พระบรมรูปเมื่อทรงผนวช พระบรมรูปสลักหินอ่อน พระพุทธรูป พระเสลี่ยงน้อย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเพื่อเป็นธรรมาสน์แสดงธรรมและแสดงพระปาติโมกข์ครั้งแรกในวัดเบญจมบพิตร เครื่องลายครามต่าง ๆ

ศาลาบัณณรศภาค

แก้

เป็นศาลาจตุรมุข สร้างด้วยทุนทรัพย์ของพระมเหสี เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดาและพระญาติในรัชกาลที่ 5 รวม 15 พระองค์ ปัจจุบัน ใช้เป็นที่ตั้งศพบุคคลสำคัญ เช่น

พระวิหารสมเด็จ

แก้

เป็นตึกจตุรมุข 2 ชั้น แต่มุขด้านใต้เชื่อมต่อกับมุขกุฏิสมเด็จ มุขด้านตะวันออกและตะวันตกขยายยาวเป็นชั้นเดียว บันไดพื้นชั้นล่างปูหินอ่อน ชั้นบนปูไม้ความงามของพระวิหารนี้อยู่ที่ประตูหน้าต่างที่เขียนลายไทยรดน้ำทั้งชั้นล่างและชั้นบน หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่าง ปั้นลายก้านขดประกอบตราพระนามาภิไธยย่อ'"ส.ผ."'(เสาวภาผ่องศรี) ลงรักปิดทองประดับกระจกข้างบันไดขึ้นด้านหน้าหล่อราชสีห์ประดับ 2 ตัว

ศาลาอุรุพงศ์

แก้

เป็นศาลาทรงไทย จตุรมุข หลังเล็ก ๆ ก่ออิฐถือปูน พื้นคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ตั้งอยู่สนามหญ้าหลังพระอุโบสถ ด้านทิศเหนือต้นพระศรีมหาโพธิ์ สันนิษฐานว่าหลังเดิมสร้างแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ พ.ศ. 2453 เป็นศาลาเครื่องไม้ทั้งหมด ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ในปี พ.ศ. 2459 ถูกพายุพัดหักลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมขึ้นใหม่ แต่คงเป็นศาลาเครื่องไม้เช่นเดิมต่อมาเจ้าจอมมารดาเลื่อน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บริจาคทรัพย์เปลี่ยนศาลาจากเดิมให้เป็นจตุรมุข ผูกเหล็กหล่อคอนกรีตทั้งหลังศาลาหลังนี้เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชพระราชโอรสในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเลื่อน

ศาลาธรรมชินราชปัญจบพิธ

แก้

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๔ ชั้น มีดาดฟ้าเป็นชั้นที่๕สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเจริญพระชนมมายุครบ ๒๕ ชันษา เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๘ สร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ ศาลาธรรมชินราชปัญจบพิธ เป็นศาลาอเนกประสงค์ ที่รวมหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ของวัด

โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร

แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรขึ้นด้วยทุนทรัพย์ซึ่งเป็นสมบัติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรสิริประสาธน์ และเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เกสร ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ ร.ศ. 121 โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเพื่อ "สอนศิษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์" ปัจจุบัน ทางการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร" เปิดสอนเฉพาะนักเรียนชาย

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร

แก้

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อจัดแสดงพระพุทธรูปทั้งในและนอกประเทศ

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้
ลำดับที่ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1   สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) พ.ศ. 2443 พ.ศ. 2471
2   สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) พ.ศ. 2471 พ.ศ. 2505
3 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2537
4   พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2549
5   พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร) พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2557
6   พระธรรมวชิราธิบดี (ฉ่ำ ปุญฺญชโย) พ.ศ. 2557 ปัจจุบัน

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิงแก้

แก้
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๘๔
  2. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เก็บถาวร 2009-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2598, ปีที่ 50, ประจำวันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2547
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความเรื่องสวนดุสิต, เล่ม ๑๕, ตอน ๕๐, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๑, หน้า ๕๔๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระบรมราชูทิศที่แผ่นดินวิสุงคามสีมาวัดเบ็ญจมบพิตร, เล่ม ๑๖, ตอน ๕๐, ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒, หน้า ๖๙๔
  5. 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระบรมราชูทิศถวายที่สงฆกับปิยภูมิ์เขตรพระอารามแลกุฎีสังฆเสนาศน์ วัดเบ็ญจมบพิตร, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๙, ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓, หน้า ๕๕๔
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-03-13.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, การเปิดหอระฆัง สะพานท่าน้ำ และสะพานข้ามคลองในวัดเบญจมบพิตร, เล่ม ๑๙, ตอน ๔๐, ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๕, หน้า ๗๕๙

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′58″N 100°30′51″E / 13.766095°N 100.514195°E / 13.766095; 100.514195