จารึกพ่อขุนรามคำแหง
จารึกหลักที่ 1[1] หรือ จารึกพ่อขุนรามคำแหง[1] เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะผนวชอยู่เป็นผู้ทรงค้นพบเมื่อวันกาบสี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จ.ศ. 1214 ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1834 หรือ พ.ศ. 2376[2] ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด[1] มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
จารึกหลักที่ 1 * | |
---|---|
ความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก | |
จารึกพ่อขุนรามคำแหง | |
ที่เก็บรักษา | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประเทศ | ไทย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
อ้างอิง | [1] |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2546 |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
เนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่หนึ่ง บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า "กู" เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า "กู" แต่ใช้ว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่สาม ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย[1]
จารึกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. 2546[3] โดยยูเนสโกบรรยายว่า "[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ"[3]
มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของบางส่วนหรือทั้งหมดของศิลาจารึกดังกล่าว[4] พิริยะ ไกรฤกษ์ นักวิชาการที่สถาบันไทยคดีศึกษา ออกความเห็นว่า การใช้สระในศิลาจารึกนี้แนะว่าผู้สร้างได้รับอิทธิพลมาจากระบบพยัญชนะยุโรป เขาสรุปว่าศิลาจารึกนี้ถูกบางคนแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 4 หรือไม่นานก่อนหน้านั้น[5] นักวิชาการเห็นต่างกันในประเด็นว่าด้วยความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้ ผู้ประพันธ์บางคนอ้างว่ารอยจารึกนั้นเป็นการแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งหมด บ้างอ้างว่า 17 บรรทัดแรกนั้นเป็นจริง บ้างอ้างว่ารอยจารึกนั้นพระยาลือไทยทรงแต่งขึ้น นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ยังยึดถือความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้[6] รอยจารึกดังกล่าวและภาพลักษณ์ของสังคมสุโขทัยในจินตนาการยังเป็นหัวใจของชาตินิยมไทย และไมเคิล ไรท์ นักวิชาการชาวอังกฤษ เสนอแนะว่าศิลาจารึกดังกล่าวอาจถูกปลอมขึ้น ทำให้เขาถูกขู่ด้วยการเนรเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย[7]
ส่วนจิราภรณ์ อรัณยะนาค เขียนบทความแสดงทัศนะว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักที่ 3 หลักที่ 45 และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 จารึกพ่อขุนรามคำแหง เก็บถาวร 2015-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้น 10 เมษายน 2557.
- ↑ "17 มกราคม วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช". มหาวิทยาลัยรามคำแหง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-16. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2555.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 3.0 3.1 The King Ram Khamhaeng Inscription. UNESCO
- ↑ Centuries-old stone set in controversy, The Nation, Sep 8, 2003
- ↑ The Ramkhamhaeng Controversy: Selected Papers. Edited by James F. Chamberlain. The Siam Society, 1991
- ↑ Intellectual Might and National Myth: A Forensic Investigation of the Ram Khamhaeng Controversy in Thai Society, by Mukhom Wongthes. Matichon Publishing, Ltd. 2003.
- ↑ Seditious Histories: Contesting Thai and Southeast Asian Pasts, by Craig J. Reynolds. University of Washington Press, 2006, p. vii
- ↑ จารึกพ่อขุนรามคำแหง "ไม่ปลอม" : จากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์