หอไตร หมายถึงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นหอสูงสำหรับเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกหรือหนังสือธรรมทางพุทธศาสนา เรียกว่าหอพระไตร ก็มี หอพระธรรม ก็มี หากเป็นหอไตรที่สร้างในเขตพระราชฐานจะเรียกว่า หอพระมณเฑียรธรรม

หอไตรภายในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

หอไตรใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานที่จารึกคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าพระไตรปิฎก หรือจารึกความรู้เรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องตำรายาโบราณ วรรณคดีโบราณ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นของสูง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ และหาได้ยาก และนิยมสร้างไว้กลางสระน้ำในวัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มดปลวกและแมลงสาบขึ้นไปกัดแทะทำลายคัมภีร์เหล่านั้น ส่วนใหญ่นิยมสร้างเพื่อมุ่งบุญกุศลเป็นสำคัญ ด้วยถือคติว่าสร้างไว้เก็บรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ จึงนิยมสร้างอย่างวิจิตรงดงาม มีรูปทรงพิเศษแปลกตาด้วยฝีมือที่สุดยอดในยุคสมัยนั้น ๆ

ประวัติ แก้

มูลเหตุและหลักฐานการสร้างที่เก็บพระไตรปิฎก แก้

 
Pitakataik ในพุกาม

มูลเหตุการสร้างหอไตรมาจากการสังคายนาเพื่อรวบรวมพระธรรมวินัย โดยในครั้งแรก ๆ ยังไม่มีการเขียนเป็นตัวหนังสือเช่นในครั้งแรกสุดซึ่งทำกันครั้งแรกหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 7 วัน เมื่อมีการสังคายนาเป็นครั้งที่ 2 ที่กรุงเวสาลี แคว้นมคธ ก็ยังไม่ปรากฏจดลงเป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับการสังคายครั้งที่ 3 มีการจารึกพระธรรมภาษามคธลงบนศิลา การจารึกบนศิลาก็เพื่อให้คนอ่านจึงไม่จำเป็นต้องสร้างที่เก็บพระธรรม จนล่วงมา พ.ศ. 433 ซึ่งถือเป็นการสังคายครั้งที่ 2 ในลังกา มีการเขียนพุทธวจนะลงในใบลาน แต่ก็ยังไม่พบการเก็บรักษาพระไตรปิฏกให้คงทนถาวร[1]

การสร้างที่เก็บพระไตรปิฎกปรากฏครั้งแรกในอินเดียในการสังคายนาครั้งต่อมาซึ่งเป็นการสังคายนาในนิกายมหายาน พระเจ้ากนิษกะประสงค์ให้จารึกพระธรรมลงในแผ่นทองแดงแล้วบรรจุในหีบอย่างดี นำไปเก็บรักษาไว้ในปราสาท ได้สร้างที่เก็บคัมภีร์ไว้โดยเฉพาะ จึงอาจกล่าวได้ว่ามีการสร้างหอไตรขึ้นอย่างน้อยในสมัยพระเจ้ากนิษกะ แต่จะเรียกชื่ออย่างไรก็ไม่อาจทราบ อาจเป็นสถูปหรือเจดีย์ ในโบราณสถานของเขมรที่สร้างขึ้นเพื่อพระพุทธศาสนา มีการสร้างอาคารที่เรียกว่า หอสมุดหรือบรรณาถาร (Bibliothegue) เช่นที่พิมาย ในพม่าในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ. 1557–1620) มีการสร้างหอไตรที่เรียกว่า Pitakataik

สยาม แก้

ในประเทศไทยในสมัยสุโขทัย สถานที่ที่เหมาะสมในการเก็บพระไตรปิฎกคือพระราชมณเฑียรในพระราชวัง ส่วนที่วัดต่าง ๆ คงมีการสร้างอาคารเก็บไว้ทุกวัด แต่อาจสร้างด้วยวัสดุไม่คงทนจึงสูญหายไม่หลงเหลือถึงปัจจุบัน ในสมัยอยุธยามีธรรมเนียมการสร้างที่เก็บพระไตรปิฎกในพระราชวังเช่นเดียวกัน เรียกว่า หอพระมณเฑียรธรรม

การสร้างหอไตรปรากฏหลักฐานในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถเมื่อครั้งสร้างวัดวรเชษฐาราม ตามพงศาวดารระบุว่า

สร้างพระวรเชษฐารามรามมหาวิหารอันรจนาพระพุทธิปฏิมามหาเจดีย์ บรรจุพระสารีริกธาตุสำเร็จ กุฎีสถานปราการสมด้วยอรัญวาสี แล้วก็สร้างพระไตรปิฎกธรรมจบบริบูรณ์ทั้งพระบาลีอรรถกถาฏีกาคันถีวีวรณ์ทั้งปวง จึงแต่งหอพระสัทธรรมเสร็จ ก็นิมนต์พระสงฆ์อรัญวาสีผู้ทรงศีลาทิคุณอันวิเศษมาอยู่ครองพระวรเชษฐารามนั้นแล้ว ก็แต่งขุนหมื่นข้าหลวงไว้สำหรับอารามนั้น แล้วจำหน่ายพระราชทรัพย์ไว้ให้แต่งจตุปัจจัยไทยทาน ถวายแก่พระสงฆ์เป็นนิจกาล แล้วให้แต่งฉทานศาลา แล้วประสาทพระราชทรัพย์ให้แต่งโภชนาหารจังหันถวายแก่ภิกษุสงฆ์ เป็นนิตยภัตรรับมิได้ขาด

[2] ในสมัยรัตนโกสินทร์ยังคงสืบทอดการสร้างหอพระมณเฑียรธรรม การสร้างหอไตรก็สืบต่อจากโบราณ

ล้านนา แก้

ปรากฏร่องรอยการสร้างสถานที่เก็บคัมภีร์มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 สมัยหริภุญไชย เมื่อเข้าสู่สมัยราชวงศ์มังรายปกครองล้านนาจึงปรากฏหลักฐานการสร้างหอไตรครั้งแรกในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1984–2030) คือ หอไตรวัดสวนดอก พ.ศ. 2011 และหอไตรวัดเจ็ดยอด พ.ศ. 2020[3]

ลักษณะ แก้

หอไตรมีทั้งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ตั้งหรือที่เก็บพระไตรปิฎกสําหรับเคารพบูชาและหอไตรที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยเช่นเป็นที่สำหรับพระสงฆ์ได้นั่งอ่านหรือคัดลอกพระธรรมคำสอนเพิ่มขึ้นด้วย

หอไตรมักสร้างในเขตสังฆาวาสเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหอไตรประเภทที่สร้างขึ้นเพื่อนั่งศึกษาและคัดลอกพระไตรปิฎก แต่บางวัดก็สร้างในเขตพุทธาวาส ซึ่งอาจเป็นเพราะมีความมุ่งหมายเชิงสัญลักษณ์มากกว่าประโยชน์ใช้สอย โดยเฉพาะวัดในแถบล้านนา หรือสร้างในรอยต่อระหว่างเขตพุทธาวาสกับสังฆาวาส เช่น วัดพระสิงห์ วัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดเชียงมั่น เป็นต้น

ส่วนตำแหน่งผังของหอไตรไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว อาจวางไว้หน้าวัด ข้างเจดีย์ ข้างศาลาการเปรียญ ฯลฯ จำนวนการสร้างหอไตรอาจขึ้นอยู่กับจำนวนพระราชาคณะของวัดนั้นด้วย เช่นหากมีพระราชาคณะ 2 รูป ก็สร้างหอไตร 2 หอ เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดชัยชนะสงคราม

หอไตรมีการสร้างในหลายรูปแบบด้วยวัสดุต่าง ๆ ทั้งเครื่องไม้ เครื่องก่อ และแบบผสม หากเป็นหอไตรเครื่องไม้ มักจะสร้างไว้กลางสระน้ำเพื่อป้องกันแมลงต่าง ๆ เช่นมด ปลวง ขึ้นไปกัดกินพระธรรมซึ่งเป็นกระดาษหรือใบลานใบข่อย สะพานที่พาดจากฝั่งก็ทำแบบชักเก็บได้ ส่วนหอไตรชนิดเครื่องก่อสามารถสร้างบนบกได้ หอไตรแบบผสมเครื่องไม้เครื่องก่อจะทำเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นเครื่องก่อ ชั้นบนเป็นเครื่องไม้ การป้องกันแมลงทําได้ง่ายเช่นกันจึงสร้างไว้บนบก[4]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. บุบผา เจริญทรัพย์. "หอไตร" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. "วัดวรเชษฐาราม".
  3. ศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตรี, ธนิกานต์ วรธรรมานน์, สถาพร จันทร์เทศ,. "ไม่เห็นคุณค่าก็กลายเป็นถังขยะ: บทวิเคราะห์คุณค่าหอไตรล้านนา".{{cite web}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. "หอไตร" (PDF).