วัดทุ่งศรีเมือง
วัดทุ่งศรีเมือง เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งโดยพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสัมฆปาโมกข์ (สุ้ย) ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดทุ่งศรีเมือง | |
---|---|
หอไตรกลางน้ำวัดทุ่งศรีเมือง | |
ที่ตั้ง | เลขที่ 95 ซ ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 34000 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระวิโรจน์รัตโนบล(จันทร์ จันทสโร ป.ธ.๓) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้ในสมัยปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) ซึ่งเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีโดยกำเนิด ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานี (หรือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน)[1] โดยพระอริยวงศาจารย์ฯ ได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) และเห็นว่าพื้นที่ป่าชายดงอู่ผึ้ง (พื้นที่ทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน) มีความเงียบสงบ จึงได้ริเริ่มที่จะสร้างวัดทุ่งศรีเมืองขึ้น และได้มีการสร้างหอพระพุทธขึ้นมาเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองที่ได้จำลองแบบมาจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร[2] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัดทุ่งศรีเมืองเป็นที่ลุ่ม เมื่อถึงฤดูฝนมักเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ในช่วงแรกของการสร้างนั้น จำเป็นต้องมีการถมดินเพื่อยกระดับความสูงของพื้นที่ขึ้น จึงได้มีการขุดดินบริเวณโดยรอบขึ้นมาใช้จนเกิดเป็นหนองน้ำ 3 แห่ง คือ หนองหมากแซว, หนองดินจี่ (ปัจจุบันถูกถมไปแล้วทั้ง 2 แห่ง)[2] และหนองน้ำทางทิศเหนือของวัดในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาได้มีการสร้างหอพระไตรปิฎกขึ้นที่กลางหนองน้ำดังกล่าว เพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา[3] นอกจากนี้ ดินที่จากการขุดนี้ส่วนหนึ่งถูกนำมาทำเป็นอิฐก้อนเพื่อสร้างหอพระพุทธบาทข้างต้น[2] โดยการก่อสร้างวัดทุ่งศรีเมืองในช่วงแรกนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของพระอริยวงศาจารย์ฯ, พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนตฺโร), ครูช่างคำหมา แสงงาม ศิลปินแหงชาติ ปีพ.ศ. 2529 และช่างโพธิ์ ส่งศรี[4][5][6] ส่วนปีที่เริ่มสร้างนั้นยังไม่อาจสรุปได้ เนื่องจากเอกสารต่างๆให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน โดยอาจเป็นปี พ.ศ. 2356 หรือ พ.ศ. 2365 อย่างใดอย่างหนึ่ง[7]
เดิมทีพื้นที่ของวัดทุ่งศีเมืองในปัจจุบันนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของวัดมณีวนาราม หลังจากสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2385 จึงได้แยกพื้นที่ออกมาก่อตั้งเป็น วัดทุ่งศรีเมือง หรือ วัดทุ่งชายเมือง โดยขณะนั้นมีพระจำพรรษาอยู่เพียง 2 รูป คือ พระอริยวงศาจารย์ฯ และญาคูช่าง ซึ่งเป็นพระเถระจากเวียงจันทน์ที่ได้มาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดมณีมนารามในขณะนั้น[7]
พื้นที่ภายใน
แก้เขตพุทธาวาส
แก้เขตพุทธาวาสประกอบไปด้วยศาสนสถานสำคัญ ได้แก่ หอพระพุทธบาท หอพระไตรปิฎก และวิหารศรีเมือง
หอพระพุทธบาท
แก้หอพระพุทธบาทสร้างขึ้นในสมัยพระอริยวงศาจารย์ฯ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ประมาณปี พ.ศ. 2330 (บ้างอ้างว่าสร้างราว พ.ศ. 2395) โดยมีญาคูช่างเป็นช่างในการดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองที่จำลองมาจากวัดวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร[2] และใช้เป็น "สิม" หรือพระอุโบสถของวัดด้วย[8] โดยอาคารจะมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ล้านช้าง และอยุธยาตอนปลาย มีขนาด 3 ห้อง ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก จากการสำรวจของกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง กองโบราณคดี กรมศิลปากร สันนิษฐานว่าในอดีตมีใบเสมาปรากฏอยู่ที่ฐานอุโบสถ แต่พบใบเสมเพียงชิ้นเดียวแนบติดอยู่กับฐานหอพระพุทธบาทบริเวณมุมอุโบสถด้านตะวันออกเฉียงใต้ เป็นใบเสมปูนปั้นเรียบ ไม่มีลวดลาย อย่างไรก็ตาม ใบเสมาชิ้นดังกล่าวได้ผุพังไปแล้วในปัจจุบัน[9] ระเบียงด้านหน้าและราวบันไดเป็นรูปพญานาคขี่จระเข้ เป็นทวารบาลอยู่หน้าหอพระพุทธบาท ลักษณะเป็นศิลปะแบบท้องถิ่นอีสาน ส่วนฐานของบันไดเป็นฐานปากกระเภาผสมฐานสิงห์ และมีฐานเขียงรองรับอีกชั้น[10] โครงหลังคาของหอพระพุทธบาทเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ เป็นหลังคาแบบชั้นลด 2 ชั้น ชั้นละ 3 ตับมีลักษณะแบบอีสานผสมกับรัตนโกสินทร์ ส่วนหน้าบันหรือหน้าจั่ว ด้านหน้าและด้านหลังจำหลักไม้ปิดทองประดับกระจกเป็นรูปพระอินทร์ประทับในบุษบกบนช้างเอราวัณ ประดับด้วยลายก้านขด มีเสาบัวกลีบขนุน 4 ต้น แกะสลักลวดลายดอกกาละกับ นอกจากนี้ยังมีคันทวยรูปเทพพนมรองรับไขราทั้งสิ้น 10 ตัว มีเสาพาไลคู่ด้านหน้ารองรับหลังคา[11]
เมื่อครั้นสมัยพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้เกิดรอยแตกร้าวขนาดใหญ่บริเวณฝาผนังด้านทิศตะวันตกของหอพระพุทธบาท คาดว่าอาจมีสาเหตุมาจากแรงสั่นสะเทือนจากการจุดพลุดอกไม้ไฟในงานพิธีต่างๆในบริเวณสนามทุ่งศรีเมือง จึงได้มีการซ่อมแซมรอยร้าวดังกล่าว พร้อมกับก่อสร้างเพิ่มเติมให้ผนังของหอพระพุทธบาททั้งหมดมีความหนามากกว่าเดิมประมาณ 1 เมตร และได้ทำการเปลี่ยนจากการมุงหลังคาด้วยไม้เกล็ดเป็นสังกะสีแทน ลายรดน้ำที่ปรากฏบนบานหน้าต่างของหอพระพุทธบาทก็ถูกวาดขึ้นเวลาเดียวกันกับการซ่อมแซมในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้างกำแพงรอบหอพระพุทธบาทเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั้น (กำแพงชั้นนอกในปัจจุบัน)[12]
ในปี พ.ศ. 2503 สมัยพระวิโรจน์รัตโนบล (พิมพ์ นารโท) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้เห็นว่าหอพระพุทธบาทชำรุดทรุดโทรมมาก เนื่องจากสังกะสีและเครื่องไม้ต่างๆบนหลังคาชำรุดผุพัง จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่อีกครั้ง จึงได้รื้อหลังคาเดิมออกและเปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้องกระเบื้องเคลือบ เปลี่ยนช่อฟ้าระกาจากแต่เดิมเป็นไม้แกะสลักมาเป็นซีเมนต์ ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2547 สำนักงานศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ได้มีบูรณะหอพระพุทธบาทครั้งใหญ่ ได้แก่ การซ่อมหลังคาและโครงสร้างทั้งหมด การสเริมความั่นคงของผนังเสริมโครงสร้างเสาระเบียงหลังคามุข เสริมฐานราก ซ่อมพื้น บันได ราวบันได มีการปิดทองประดับกระจกตามขอบเดิม ปิดทองหัวบัวเสา และมีการเปลี่ยนช่อฟ้า รวยระกา หางหงส์ มาใช้เป็นไม้สลักตามเดิม รวมไปถึงการซ่อมประตู หน้าต่าง ปูกระเบื้องภายใน และซ่อมเสาไม้ค้ำยันขื่อที่ผุด้วยการตัดต่อส่วนโคนของเสา และอีก 1 ปีต่อมา สำนักงานศิลปากรฯ ได้มีการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์หอพระพุทธบาทอีกครั้ง อาทิ ซ่อมกำแพงแก้ว รื้อซุ้มประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกแล้วสร้างขึ้นใหม่ตามแบบของเดิมที่เป็นเสาหัวเม็ด รวมไปถึงการปรับพื้นและที่บรรจุอัฐิของกำแพงข้างต้น[12]
หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอนที่ 59 ง. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2538[13][a]
ภายในหอพระพุทธบาท มีโบราณวัตถุที่สำคัญ 5 อย่าง คือ
- พระเจ้าใหญ่องค์เงิน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก 89 เซนติเมตร สูง 1.45 เมตร หล่อด้วยเงินฮาง (เงินโบราณของอีสาน)[14] กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นศิลปะแบบพื้นถิ่นอีสานหรือศิลปะล้านช้าง แต่เดิมปิดทองทับทั้งองค์ จึงทำให้เข้าใจกันมาโดยตลอดว่าเป็นพระปูนปั้น ทราบกันภายหลังว่าองค์พระเป็นเนื้อเงิน เนื่องจากต้องมีการปิดทองใหม่ในปี พ.ศ. 2547[15]
- รอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ได้จำลองแบบมาจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร[2] มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 65 เซนติเมตร ยาว 1.65 เมตร การจัดสัญลักษณ์มงคลอยู่ในแผนผังจักรวาลมิติ ยกเว้นในส่วนของมหาพรหมโลกทั้ง 16 ชั้น ลายมงคลไม่ครบทั้ง 108 ประการ และปรากฏลวดลายที่มิได้อยู่ในมงคล 108 อาทิ นกหัสดีลิงค์ สุกร ค้างคาว[14]
- ภาพจิตรกรรมฝาผนัง บนฝาผนังทั้ง 4 ด้านของหอพระพุทธบาท กล่าวถึงพุทธประวัติตอนต่างๆ ภาพชาดก รวมไปถึงสภาพสังคม วิถีชีวิตท้องถิ่น ความเป็นอยู่ การละเล่น พิธีกรรม การดำเนินชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น รวมไปถึงการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ อาทิ จีน ชาวตะวันตก อินเดีย และญวณ[16][17]
- บานประตู หอพระพุทธบาทมีประตูเข้าเพียงด้านเดียว ซุ้มประตูทรงมณฑปมี 2 บาน ทำจากไม้เนื้อแข็งทั้งแผ่น แกะสลักลายเถาวัลย์หรือลายก้นขดพรรณพฤกษาออกช่อดอกกาละกับ ตลอดแนวก้านขดประกอบด้วยใบกระหนก และแทรกด้วยรูปสัตว์ต่างๆ ไว้ตามช่องของลาย บานประตูลงรักปิดทองล่องกระจกสีเขียว[18]
- หน้าต่าง หอพระพุทธบาทมีหน้าต่างทั้งหมด 6 ช่อง โดยอยู่ผนังทิศเหนือและใต้อย่างละ 3 ช่อง เป็นซุ้มหน้าต่างทรงบันแถลง ส่วนยอดซุ้มทำเป็นซุ้มซ้อนกัน 2 ชั้น เสาซุ้มยกเป็น 2 ระดับบานหน้าต่างปิดทองลายฉลุบนพื้นสีดำเล่าเรื่อง ทศชาติชาดก พระชาติละ 1 บาน เวียนจากซ้ายไปขวาจนครบ 10 บาท ส่วนอีก 2 บานเขียนลายเครือเถาออกช่อเทพพนม การปิดทองลายฉลุดังกล่าวทำขึ้นโดยนายช่างอุทัยทอง จันทกรณ์[19][20]
ด้านหลังของหอพระพุทธบาทมีเจดีย์อิงครึ่งองค์ ใช้บรรจุอัฐิของเสด็จเจ้าอุปราชคำพันธ์ เจ้าองค์ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งถูกทายาทนำมาบรรจุไว้เมื่อปี พ.ศ. 2517[21][b] ปัจจุบัน หลังการบูรณะหอพระพุทธบาทได้นำอัฐิดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ที่อื่นแทน[22] นอกจากนี้ บริเวณนอกกำแพงของหอพระพุทธบาทมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง บรรจุอัฐิของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) ผู้ก่อตั้งวัดทุ่งศรีเมือง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยพระครูวิจิตรธรรมภาณี (กิ่ง มหปฺผโล) เจ้าอาวาสวัดมณีวนารามในขณะนั้น[22] ส่วนบริเวณด้านหลังของหอพระพุทธบาทนั้นเป็นประตูวัดทิศตะวันออก หรือซุ้มประตูโขง ชื่อ ซุ้มประตูหาญชนะ ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ .2502 โดย ช่างคำเหมา ศิษย์ของพระครูวิโรจน์ฯ ส่วนซุ้มประตูทางทิศเหนือฝั่งวิหารศรีเมืองถูกสร้างขึ้นแบบศิลปะเขมรโบราณ สร้างโดยตระกูลเวียงสมศรี ซึ่งเป็นตระกูลช่างใหญ่ของเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 8 ปี (พ.ศ. 2525-2533) และซุ้มประตูทางทิศใต้เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2537 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี[23]
หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง
แก้หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง หรือหอพระไตรปิฎก ถูกสร้างขึ้นในช่วงราวปี พ.ศ. 2384 -2385[12][24] บางแหล่งอ้างว่าอาจสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2360 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระเจ้าพรหมราชวงศา (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 3[24] โดยมีพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย คำหลัก) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีและพำนักอยู่ ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) ในขณะนั้น และญาคูช่าง เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง[24][25] เพื่อใช้เก็บรักษาพระไตรปิฎกซึ่งทำจากใบลาน ไม่ให้ถูกทำลายโดยมด ปลวกและแมลงต่างๆ โดยถูกสร้างขึ้นจากไม้ทั้งหลัง ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เพื่อให้ความชื้นจากสระน้ำช่วยไม้ให้ใบลานเปราะแตกหักง่ายจากความร้อน จึงช่วยยืดอายุการใช้งานคัมภีร์ใบลานเหล่านั้นได้นานมากขึ้น[24] โดยมีผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีสะพานไม้ทอดสู่ฝั่ง ตัวอาคารเป็นเรือนไม้เครื่องสับขนาดสี่ห้อง กว้าง 8.2 เมตร ยาว 9.85 เมตร สูงจากระดับพื้นน้ำถึงยอดหลังคาประมาณ 10 เมตร แปลนรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตกแต่งด้วยฝาไม้กระดาน บานหน้าต่างและประตูเขียนลายน้ำรูปเทวดา (ทวารบาล) โครงสร้างอาคารทั้งหมดถูกยึดต่อกันด้วยการเข้าเดือย ลักษณะพิเศษของหอพระไตรปิฎกแห่งนี้คือ ถูกสร้างขึ้นด้วยการผสมผสานระหว่างศิลปะจาก 3 สกุลช่าง คือ ไทย พม่า และลาว กล่าวคือ ช่อฟ้า ใบระกาถูกสร้างขึ้นตามแบบศิลปะไทยภาคกลาง หลังคาเป็นชั้นลด มีไขราปีก และไขราจั่ว ส่วนอิทธิพลศิลปกรรมแบบพม่านั้นถูกส่งผ่านมาทางศิลปะลาวล้านช้าง ปรากฏที่ชั้นหลังคาทรงจั่วซ้อนกัน[c] หน้าบันแกะสลักลวดลายเป็นพันธุ์ไม้ มีรูปลิงและนกแทรกอยู่ทางด้านตะวันออก ระหว่างชั้นลดของหน้าบันสลักลายไทย ได้แก่ ลายกระจังรวน และลายประจำยามก้ามปู คันทวยด้านซ้ายและขวาของประตูทางเข้าถูกสลักเป็นรูปเทพพนม ส่วนคันทวยอื่นๆรอบอาคารถูกสลักเป็นรูปพญานาค บริเวณกรอบล่างของฝาปะกนมีลวดลายสลักโดยรอบ ซึ่งเป็นลวดลายที่เกี่ยวกับชาดก สัตว์หิมพานต์ และปริศนาธรรมพื้นบ้านอีสาน เช่น หาบช้างซาแมว ส่วนภายในหอไตรส่วนกลางซึ่งเป็นห้องเก็บพระไตรปิฎก มีการสร้างยกฐานสูงขึ้นอีกหนึ่งชั้น มีบันไดขึ้นทางทิศตะวันออก ผนังห้องด้านนอกตกแต่งลวดลายไทยลงรักปิดทอง[26]
ตามบันทึก หอไตรวัดทุ่งศรีเมืองได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งแรกในสมัยครั้นพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนตฺโร) เป็นเจ้าอาวาส โดยมีการเปลี่ยนหลังคากระเบื้องไม้เกล็ดเป็นสังกะสี และถูกเปลี่ยนอีกครั้งเป็นหลังคากระเบื้องในปี พ.ศ. 2523 - 2524 ดำเนินการโดยกรมศิลปากร ในครั้งนี้ได้มีการเสริมความแข็งแรงของเสาตอนล่างเหนือระดับผิวน้ำลงไปถึงพื้นสระด้วยซีเมนต์ จากนั้นในปี พ.ศ. 2545 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการซ่อมแซมหอไตรทั้งหมด รวมไปถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าของหอไตร[26]
ด้วยเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ประกอบกับการบำรุงรักษาบูรณะซ่อมแซมที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้ ทำให้ได้หอไตรแห่งนี้เป็นหนึ่งในศาสนสถานที่ได้รับรางวัลสำหรับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชนูปถัมภ์เมื่อปี พ.ศ. 2527[27] และยังถือเป็น 1 ใน 3 สิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นทางด้านศิลปะมากที่สุดของเมืองอุบลราชธานี ซึ่งประกอบไปด้วย พระบทม์วัดกลาง พระบางวัดใต้ และหอไตรวัดทุ่ง ยิ่งไปกว่านั้น กรมศิลปากรยังได้มีประกาศขึ้นทะเบียนหอไตรวัดทุ่งศรีเมืองให้เป็นหนึ่งในรายชื่อโบราณสถานของชาติ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 104 วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2524[28]
วิหารศรีเมือง
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เขตสังฆาวาส
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ทำเนียบเจ้าอาวาส
แก้ทำเนียบรายนามเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง นับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
ทำเนียบรายนามเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง | |||
ลำดับที่ | รายนาม | วาระการครองตำแหน่ง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
1. | พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) | พ.ศ. 2356 หรือ 2365 – 2395 | ขณะนั้นครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม หลังสร้างวัดทุ่งศรีเมืองเสร็จ โดยพฤตินัยแล้วจึงถือกันว่าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองร่วมด้วย |
2. | พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร)[29] | พ.ศ. 2424 (เป็นอย่างน้อย) – 2485 | อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี |
3. | พระครูสีตาภินันท์ (สีดา อินทฺปญฺโญ)[30] | พ.ศ. 2485 – 2501 | |
4. | พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท)[31] | พ.ศ. 2502 – 2548 | อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี |
5. | พระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ)[32] | พ.ศ. 2548 – 2557 | อดีตเจ้าคณะอำเภออำเภอเขื่องใน |
6. | พระวิโรจน์รัตนโนบล (จันทร์ จนฺทสโร)ป.ธ.3[33] | พ.ศ. 2557 – ปัจจุบัน | ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี |
-
พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลคณาภิบาลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย)
-
พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด หรือ บุญรอด นนฺตโร)
-
พระครูสีตาภินันท์ (สีดา อินทฺปญฺโญ)
-
พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท)
หมายเหตุ
แก้- ↑ ในขณะนั้น กรมศิลปากร อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
- ↑ ขัดแย้งกับข้อมูลที่ปรากฏบนแผ่นหินอ่อนจารึกหน้าอัฐิ จำนวน 5 บรรทัด จารึกว่า "...เจ้าอุปราชคำพันธ์ ณ จำปาศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ประสูติ พ.ศ. 2383 ถึงแก่พิราลัย พ.ศ. 2454 บรรจุ 20 พฤษภาคม 2507..."[22]
- ↑ การศึกษาในภายหลังมิได้มีความเห็นว่าเป็นคิลปะแบบพม่า แต่มองว่าการซ้อนชั้นหลังคาของหอไตร หรือ การเทิบซ้อน เป็นลักษณะเอกลักษณ์สร้างสรรค์ของงานช่างแบบล้านช้างเอง ซึ่งเปรียบเทียบได้กับหอไตรวัดกลาง เมืองสาละวัน ประเทศลาว ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันมาก อีกทั้งยังมีสิมที่คล้ายหอพระพุทธบาทอีกด้วย ปัจจุบันทั้งหอไตรและสิมดังกล่าวได้ถูกทำลายไปจากภัยสงคราม คงเหลือไว้เพียงภาพถ่ายไว้ศึกษาเปรียบเทียบเท่านั้น
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ พระราชรัตนโนบล (1992). ประวัติอุบลราชธานี ประวัติวัดทุ่งศรีเมือง. อุบลราชธานี: วิทยาออฟเซ็ตการพิมพ์. p. 19.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 นิล พันธุ์เพ็ง (1934). ประวัติศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี. p. 132-133.
- ↑ สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 3.
- ↑ สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 8.
- ↑ พระมหาเจษฎา ปญฺญาธโร และคณะ (1970). ประวัติเมืองอุบลราชธานีและประวัติทุ่งศรีเมือง. กรุงเทพมหานคร: กรุงสยามการพิมพ์.
- ↑ พระสำลี ทิฏฐธมฺโม และคณะ (2003). วัดทุ่งศรีเมือง (2 ed.). อุบลราชธานี: วิทยาออฟเซตการพิมพ์.
- ↑ 7.0 7.1 สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 4.
- ↑ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี, บ.ก. (2002). รายการบูรณะและพัฒนาสิม (โบสถ์) โบราณ หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง. อุบลราชธานี: สุรศักดิ์ก่อสร้าง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด.
- ↑ ยุทธนาวรากร แสงอร่าม 2008, p. 9-10.
- ↑ สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 10.
- ↑ สุรชัย ศรีใส 2012, p. 1.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 22.
- ↑ "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน" (PDF). กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. 1995. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 July 2021. สืบค้นเมื่อ 24 July 2021.
- ↑ 14.0 14.1 ยุทธนาวรากร แสงอร่าม 2008, p. 11.
- ↑ ไกด์อุบล (2010). "ไขข้อพิศวงพระเจ้าใหญ่องค์เงิน วัดทุ่งศรีเมือง". Guideubon.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 April 2016. สืบค้นเมื่อ 12 October 2020.
- ↑ สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 14.
- ↑ สุรชัย ศรีใส 2012, p. 19.
- ↑ ยุทธนาวรากร แสงอร่าม 2008, p. 12.
- ↑ สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 17-18.
- ↑ ยุทธนาวรากร แสงอร่าม 2008, p. 13.
- ↑ เอกพรไพศาล, ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2004, p. 15.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 20.
- ↑ สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 21.
- ↑ 24.0 24.1 24.2 24.3 ศุภชัย ศรีใส & อำนวย วงพงศธร 2011, p. 4.
- ↑ สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 23.
- ↑ 26.0 26.1 สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 23-25.
- ↑ ศุภชัย ศรีใส & อำนวย วงพงศธร 2011, p. 2.
- ↑ "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน" (PDF). กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. 1981. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 July 2021. สืบค้นเมื่อ 25 July 2021.
- ↑ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารศาลาว่าการมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย ศ.6/7 (ธ-น). "วัดธาตุพนม เมืองอุบลราชธานี". (27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449)
- ↑ เจษฎา ปญฺญาธโร, พระมหา; และคณะ 1970, p. 66-68.
- ↑ อนุสรณ์ที่ระลึกในวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์งานออกเมรุ พระราชทานเพลิงศพ พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท ป.ธ.6) ณ เมรุลอยพิเศษนกหัสดีลิงค์ วัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 17–19 มิถุยายน พ.ศ. 2558. อุบลราชธานี: วิทยาออฟเซทการพิมพ์. 2005.
- ↑ คณะศิษยานุศิษย์ (2014). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญฺโญ, บุญเอื้อ) ป.ธ.6, พธ.บ. ณ เมรุสถานพิเศษนกหัสดีลิงค์ วัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557. อุบลราชธานี: ศิริธรรมออฟเซท.
- ↑ สมศรี ชัยวณิชยา & ปกรณ์ ปุกหุต 2005, p. 68.
- บรรณานุกรม
- สมศรี ชัยวณิชยา; ปกรณ์ ปุกหุต (2020). วัดทุ่งศรีเมือง: สิริพัฒนาภรณนุสรณ์ (1st ed.). อุบลราชธานี: ยงสวัสดิ์อินเตอร์กรุ๊ป. p. 80. ISBN 978-974-523-357-7.
- ยุทธนาวรากร แสงอร่าม (2008). "พื้นถิ่นอีสานในงานจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี". วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร: 286.
- สุรชัย ศรีใส (2012). จิตรกรรมฝาผนัง หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง. อุบลราชธานี: วิทยาการพิมพ์. p. 112. ISBN 978-616-305-376-3.
- สุรชัย ศรีใส; อำนวย วรพงศธร (2011). หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง (PDF) (1st ed.). อุบลราชธานี: ยงสวัสดิ์อินเตอร์กรุ๊ป. p. 138. ISBN 978-974-523-266-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-24. สืบค้นเมื่อ 2021-07-24.
- เอกพรไพศาล, ห้างหุ้นส่วนจำกัด (2004). รายงานการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์อุโบสถ (หอพระพุทธบาท) วัดทุ่งศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: รายงานเสนอ สำนักงานศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี.
- เจษฎา ปญฺญาธโร, พระมหา; และคณะ (1970). ประวัติเมืองอุบลราชธานีและประวัติวัดทุ่งศรีเมือง. กรุงเทพมหานคร: กรุงสยามการพิมพ์.