วัดสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่)

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดสวนดอก (ไทยถิ่นเหนือ: ) หรือ วัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ[1] สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีพระราชรัชมุนี เป็นเจ้าอาวาส

วัดสวนดอก
พระเจดีย์วัดสวนดอก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสวนดอก
ที่ตั้งถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท
เจ้าอาวาสพระราชรัชมุนี (นิมิต สิขรสุวณฺโณ)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้

วัดสวนดอกตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร กินเนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ทิศเหนือยาว 183 เมตร ทิศใต้ยาว 193 เมตร ทิศตะวันออกยาว 176 เมตร และทิศตะวันตกยาว 176 เมตร

ประวัติ

แก้

วัดสวนดอกสร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเถระ) พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระสุมนเถระ" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

 
ภาพทางอากาศวัดสวนดอก
พ.ศ. 2429

ในสมัยราชวงศ์มังราย วัดสวนดอกเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป จนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้านครเชียงใหม่และพระประยูรญาติมาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

ปูชนียสถาน-วัตถุ

แก้

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา

แก้
 
พระเจดีย์วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะใหม่และหุ้มแผ่นทองจังโก

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลพญากือนา แต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระเจ้าเก้าตื้อ

แก้
 
พระเจ้าเก้าตื๊อภายในอุโบสถวัดสวนดอก

พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง ("ตื้อ" เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พญาแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร เพื่อเป็นพระองค์ประธานในวัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า "วัดเก้าตื้อ" แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัยในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระเจ้าค่าคิง

แก้

พระเจ้าค่าคิง (เท่าพระวรกาย) เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพญากือนา พ.ศ. 1916 หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพญากือนา หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสองเมตรครึ่ง เรียกชื่อตามภาษาถิ่นล้านนาว่า “พระเจ้าค่าคิง”

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

แก้
 
กู่บรรจุพระอัฐิพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยพระดำริในเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายเหนือในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ปัจจุบันได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

ธรรมาสน์เทศนา

แก้

ธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 และซุ้มประตูวัด จำนวน 3 ซุ้ม เป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ. 2474

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

แก้

วัดสวนดอก ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 6842 วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ [2]

ประเพณีประจำปีของวัดสวนดอก

แก้
  1. ประเพณีทำบุญสลากภัต ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือเดือน 11
  2. ประเพณีตั้งธรรมหลวง หรือฟังเทศน์มหาชาติ หลังออกพรรษาแล้วทุกปี
  3. ประเพณีทำบุญสรงน้ำพระบรมธาตุ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เหนือทุกปี

การจัดสร้างเมรุชั่วคราว

แก้

วัดสวนดอก เป็นสถานที่ตั้งของกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ จึงถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ในการจัดสร้างเมรุชั่วคราว สำหรับการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายฝ่ายเหนือหลายพระองค์ ได้แก่

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงวัดสวนดอก, เล่ม ๑๐๗, ตอน ๑๕๐ ง, ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓, หน้า ๖๘๔๒
  2. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
  3. หมายกำหนดการ ที่ ๒/๒๔๗๗ เรื่อง พระราชทานเพลิงพระศพ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ณ พระเมรุวัดสวนดอก นครเชียงใหม่ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ง วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๓฿฿ หน้า ๑๔๕
  4. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61. [ม.ป.ท.] : โรงพิม์ชวนพิมพ์, 2516. 260 หน้า. [พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ณ เมรุวัดสวนดอก จังหวัด เชียงใหม่ วันที่ 12 มกราคม พุทธศักราช 2516]
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (วันที่ ๑๓, ๑๕ - ๑๙ มกราคม ๒๕๓๕) เล่ม 109 ตอนที่ 14ง วันที่ 23 มกราคม 2535
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (วันอังคารที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๗) เล่ม 122 ตอนที่ 7ข วันที่ 31 สิงหาคม 2547
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘) เล่ม 133 ตอนที่ 16ข หน้า 343 วันที่ 15 มิถุนายน 2559

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

0°N 0°E / 0°N 0°E / 0; 0