เวียงกุมกาม
เวียงกุมกาม (ไทยถิ่นเหนือ: เวียงกุ๋มก๋าม) เป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา ที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1829 โดยโปรดให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้าน ไขน้ำแม่ปิงให้ขังไว้ ในคูเมืองโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเวียงกุมกามและใกล้เคียง เป็นเวียง (เมือง) ทดลองที่สร้างขึ้น ก่อนที่จะมาเป็นเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีระยะห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร
ประวัติ
แก้การสถาปนา
แก้หลังจากที่พญามังรายได้ปกครองและพำนักอยู่ในนครหริภุญชัย (ลำพูน) อยู่ 2 ปี พระองค์ทรงศึกษาสิ่งหลาย ๆ อย่าง และมีพระราชดำริที่จะลองสร้างเมืองขึ้น เมืองนั้นก็คือ เวียงกุมกาม แต่พระองค์ก็ทรงสร้างไม่สำเร็จ เพราะเวียงนั้นมีน้ำท่วมอยู่ทุกปี จนพญามังรายจึงทรงต้องไปปรึกษาพระสหาย คือพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา หลังจากทรงปรึกษากันแล้วจึงทรงตัดสินใจไปหาที่สร้างเมืองใหม่ ในที่สุดจึงได้พื้นที่นครพิงค์เชียงใหม่เป็นเมืองใหม่ และ เป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาต่อมา จึงสรุปได้ว่าเวียงกุมกามนั้น เป็นเมืองที่ทดลองสร้าง[ต้องการอ้างอิง]
การล่มสลาย
แก้เวียงกุมกามล่มสลายลงเพราะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยช่วงเวลานี้อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2101 - 2317 ซึ่งตรงกับสมัยพม่าปกครองล้านนา พม่าปกครองล้านนาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงเวียงกุมกามทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้เป็นเรื่องร้ายแรงมากและสมควรที่จะบันทึกไว้ แต่ก็ไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ใดเลย ผลของการเกิดน้ำท่วมนี้ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมลงอยู่ใต้ตะกอนดินจนยากที่จะฟื้นฟูกลับมา สภาพวัดต่าง ๆ และโบราณสถานที่สำคัญเหลือเพียงซากวิหารและเจดีย์ร้างที่จมอยู่ดินในระดับความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 1.50 -2.00 เมตร โดยวัดที่จมดินลึกที่สุดคือวัดอีค่าง รองลงมาคือ วัดปู่เปี้ย และวัดกู่ป่าด้อม
การขุดค้นพบ
แก้ใน พ.ศ. 2527 เรื่องราวของเวียงกุมกามก็เริ่มเป็นที่สนใจของนักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ทำให้หน่วยศิลปากรที่ 4 ขุดแต่งบูรณะวัดร้าง (ขุดแต่งวิหารกานโถม ณ วัดช้างค้ำ) และบริเวณโดยรอบเวียงกุมกามอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2545 ปัจจุบันเวียงกุมกามก็ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เพราะเห็นว่าเวียงกุมกามมีความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งความรู้การศึกษาในแบบของเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมและ ศิลปกรรมตลอดจนวัฒนธรรมล้านนาต่าง ๆ โดยศูนย์กลางของการนำเที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเวียงกุมกามอยู่ที่วัดช้างค้ำ
ที่ตั้ง และ ลักษณะ
แก้เวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง ดังนั้นในสมัยโบราณตัวเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันตกหรือฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่ แต่เชื่อกันว่าเนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำดั่งเช่นปัจจุบัน
ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำดังกล่าวคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำครั้งนั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่จนเวียงกุมกามล่มสลาย และวัดวาอารามจมอยู่ใต้ดินทราย จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อีกหนึ่งสมมติฐานที่เวียงกุมกามถูกทิ้งร้างนั้นอาจเป็นได้ว่าเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าทำให้ผู้คนหลบหนีออกจากเมืองไปก็เป็นได้
ปัจจุบันเวียงกุมกามอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณ ก.ม. 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ด้านขวามือ ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง
สภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์ของเวียงกุมกามตั้งอยู่บริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน มีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายสำคัญ โดยมีต้นน้ำอยู่ที่ดอยถ้วย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณแอ่งที่ราบแห่งนี้ซึ่งเป็นที่ราบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนบน เป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีอาณาบริเวณครอบคลุมเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนรวม 13 อำเภอ (โดย 10 อำเภออยู่ในจังหวัดเชียงใหม่คือ แม่แตง แม่ริม สันทราย ดอยสะเก็ด สันกำแพง เมือง สารภี หางดง สันป่าตอง และจอมทอง และอีก 3 อำเภออยู่ในจังหวัดลำพูนคือ เมือง (ลำพูน) ป่าซาง และบ้านโฮ่ง) โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 940,000 ไร่
สถานที่สำคัญ
แก้จากการสำรวจพบว่ามีอยู่มากกว่า 40 แห่ง ทั้งที่เป็น ซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์โบราณสถานที่สำคัญ ได้ แก่วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดช้างค้ำและซากเจดีย์วัดกุมกาม วัดน้อย วัดปู่เปี้ย วัดธาตุขาว วัดอีค่างซึ่งรูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมนี้ มีทั้งแบบรุ่นเก่าและสมัยเชียงใหม่ รุ่งเรืองปะปนกันไป โดยเฉพาะที่วัดธาตุขาวนั้น มีเรื่องเล่าของว่าพระมเหสีของพญามังรายได้มาบวชชีและสิ้นพระชนม์ที่นี่ด้วย สาเหตุก็คือพญามังรายได้มีพระมเหสีพระองค์ใหม่ เมื่อครั้งยกทัพไปตีพม่า พม่ายอมสวามิภักดิ์และถวายพระนางพายโคมาเป็นมเหสี แต่สิ่งนี้ทำให้พระนางทรงเสียพระทัยมาก เนื่องจากพระนาง และพญามังรายได้เคยสาบานกันในขณะที่พำนักอยู่ในเมืองเชียงแสนว่าจะมีมเหสีเพียงแค่พระองค์เดียว พระนางจึงเสียพระทัยมาก จึงตัดสินใจไปบวชชี และ ยังมีเรื่องอีกว่า สาเหตุที่พญามังรายสวรรคตอสนีบาตในระหว่างที่เสด็จไปตลาดนั้น ก็เพราะสาเหตุนี้
โบราณสถาน
แก้หลังจากที่หน่วยกรมศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ได้ไปทำการขุดค้นหาซากเมืองและโบราณสถานเพิ่มเติม ก็ได้ค้นพบเจอวัดต่าง ๆ ที่จมอยู่ใต้พื้นดินเป็นจำนวนหลายวัดอีกดังต่อไปนี้
- วัดกานโถม (ช้างค้ำ) พญามังรายได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1833 ประกอบด้วยฐานเจดีย์ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 18 เมตร มีซุ้มคูหาสี่ทิศ มีการใช้พระพุทธรูปซ้อนเป็น 2 ชั้น (ชั้นล่าง-มีพระพุทธรูปนั่ง 4 องค์ ชั้นบน-มีพระพุทธรูปยืน 2 องค์) วิหารและเจดีย์ทรงมณฑปบนฐานลานประทักษิณเตี้ย บริเวณฐานวิหารพบพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชยฝังไว้โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อีก 1 องค์ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดระฆัง ในบริเวณวัดกานโถมยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญเมล็ดจากเมืองลังกามาไว้ด้วย
- วัดปู่เปี้ย ถือเป็นวัดที่มีความงดงามแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม รูปแบบผังการสร้างวัด และ รูปแบบเจดีย์ประธานมณฑปมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารสร้างยกพื้นสูง เจดีย์ อุโบสถ ศาลผีเสื้อ และแท่นบูชา พร้อมทั้งมีลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ที่สวยงามมาก
- วัดเจดีย์เหลี่ยม (วัดกู่คำ) แต่เดิมวัดนี้ชื่อวัดกู่คำ กู่ หมายถึง พระเจดีย์ คำ หมายถึง ทองคำ พญามังรายโปรดให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 โบราณวัตถุที่สำคัญของวัดคือ องค์พระเจดีย์ประธานรูปทรงมณฑปปลด 5 ชั้น วัดนี้มีความโดดเด่นคือ เป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง และมีรูปแบบเจดีย์ที่แสดงถึงอิทธิพลรูปแบบของรัฐหริภุญไชย โดยที่พญามังรายโปรดให้เอามาก่อสร้างไว้ในเวียงกุมกามระยะแรก ๆ
- วัดอีก้าง (วัดอีค่าง) ที่เรียกว่าวัดอีค่างหรืออีก้างนั้นเพราะเดิมบริเวณวัดเป็นป่ารกร้างและมีฝูงลิงฝูงค่างใช้ซากวัดแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งค่างในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “อีก้าง” โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน วิหารมีขนาดใหญ่ 20 × 13.50 เมตร เจดีย์เป็นแบบองค์ระฆังทรงกลม
- วัดพระธาตุขาว (วัดธาตุขาว) ที่เรียกกันว่าวัดธาตุขาวเนื่องมาจากแต่เดิมนั้นตัวเจดีย์ยังคงปรากฏผิวฉาบปูนสีขาวนั่นเอง โบราณสถานประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป โดยมีการก่อสร้างขึ้นมา 2 ระยะคือ ระยะแรกก่อสร้างเพียงเจดีย์ วิหาร อุโบสถ แต่ต่อมาเกิดการชำรุดจึงต่อเติมฐานเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น ระยะที่สองมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
- วัดพระเจ้าองค์ดำ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกาม โดยอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนมีการขุดแต่งนั้นเป็นสวนลำไย มีพื้นที่เป็นเนินดิน 2 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า เนินพญามังราย และเนินพระเจ้าดำ และสันนิษฐานว่าที่เรียกวัดพระเจ้าองค์ดำนี้ เพราะวัดแห่งนี้เคยมีพระพุทธรูปสีดำประดิษฐานอยู่ โบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นวิหารหลายหลัง มีซุ้มประตูโขงและแนวกำแพง ถัดจากซุ้มโขงเข้ามามีวิหารและเจดีย์
- วัดพญามังราย ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระเจ้าองค์ดำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวัดพญามังรายนี้เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่เห็นว่าตั้งอยู่ใกล้วัดพระเจ้าองค์ดำมากที่สุดจนดูเหมือนเป็นวัดเดียวกัน เอกลักษณ์ของวัดนี้อยู่ที่การสร้างพระวิหารที่ไม่มีทางขึ้นลงหลักไว้ที่ด้านหน้า แต่สร้างไว้ที่ด้านซ้าย (กรณีที่หันหน้าไปทางหน้าวัด) ในส่วนพระเจดีย์พบร่องรอยการตกแต่งปูนปั้นลายช่องกระจกสอดไส้
- วัดหัวหนอง ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านเหนือ ภายในประกอบด้วยซุ้มโขงประตูใหญ่ อุโบสถ มณฑป วิหารและเจดีย์ มีลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มประตูวัดเป็นรูปกิเลน สิงห์ หงส์ที่มีความงดงาม
- วัดกุมกาม ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านทิศเหนือของวัดกานโถม สิ่งก่อสร้างภายในวัดประกอบด้วยวิหารพร้อมห้องมูลคันธกุฏี และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม
- วัดน้อย (วัดธาตุน้อย) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดกานโถม ก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินสองแห่ง มีชาวบ้านเข้ามาปลูกบ้านอาศัยบนโบราณสถานแห่งนี้ และยังพบร่องรอยกสารขุดหาทรัพย์สินด้วย โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ วิหารตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง 1 แห่ง พื้นวิหารปูอิฐ ด้านหลังวิหารเป็นซุ้มประดิษฐานพระประธานปูนปั้น เจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 13.35 × 13.35 เมตร สูง 1.64 เมตร ต่อขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6.20 × 6.20 เมตร ลักษณะเจดีย์มีฐานใหญ่แต่องค์เจดีย์เล็ก
- วัดไม้ซ้ง ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงใต้ภายในเวียงกุมกาม บริเวณรอบวัดเป็นทุ่งนา สถาพก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่าไม้ซ้งอยู่ (เป็นที่มาของชื่อวัด) โบราณสถาน ประกอบด้วยวิหารเจดีย์แปดเหลี่ยม และฐานซุ้มประตูโขงพร้อมกำแพง
- วัดกู่ขาว ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพรอบ ๆ วัดก่อนการขุดแต่งพบเจดีย์มีความสูงประมาณ 5 เมตร และรอบ ๆ องค์เจดีย์เป็นเนินดิน หลังจากขุดลอกดินที่ทับถมอยู่ได้พบโบราณสถาน 3 แห่งคือ กำแพงแก้วและซุ้มประตูอยู่หลังเจดีย์, เจดีย์ประธานเป็นศิลปะล้านนา เรือนธาตุมีลักษณะสูงก่อทึบตันทั้ง 4 ด้าน (ไม่ทำซุ้มพระ) ส่วนยอดเจดีย์เป็นฐานบัวแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆัง และวิหารที่มีมุมฐานบัวลูกแก้ว ฐานชุกชีเดิม และลายกลีบบัว
- วัดกู่ป่าด้อม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกเวียงกุมกาม ชื่อของวัดนี้ได้ตั้งชื่อตามเจ้าของที่ดิน โบราณสถานของวัดมีขนาดใหญ่ประกอบด้วย วิหารฐานใหญ่ มีบันไดทางขึ้นวิหาร มีราวบันไดด้านปลายเป็นรูปตัวเหงา ส่วนเจดีย์เหลือเพียงฐานเท่านั้น มีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบโบราณสถาน กำแพงแก้วด้านหน้าทางเข้าวิหารมีซุ้มโขง วัดแห่งนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22
- วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกนอกเวียงกุมกาม โบราณสถานประกอบด้วยวิหารซึ่งเหลือเพียงฐาน และเจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
- วัดกู่อ้ายหลาน เป็นวัดขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเวียงกุมกาม ชื่อวัดเรียกตามเจ้าของที่ที่ชื่ออ้ายหลาน โบราณาสถานประกอบด้วยวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แท่นบูชา กำแพงแก้ว และซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก
- วัดกู่อ้ายสี เป็นวัดขนาดเล็ก โบราณสถานประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน และแท่นบูชา
- วัดกู่มะเกลือ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านทิศตะวันออก เรียกชื่อวัดตามชื่อต้นไม้ที่ขึ้นบนโบราณสถาน หลังจากทำการขุดลอกดินออกแล้ว พบเจดีย์และวิหารตั้งอยู่บนฐานเดียวกันและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
- วัดกู่ลิดไม้ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านใต้ วัดนี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรีกกันเนื่องจากมีต้นเพกา (ต้นลิดไม้) ขึ้นอยู่บนเนินวัด โบราณสถานประกอบด้วยวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ด้านหลังวิหารเหลือเพียงฐาน และเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม มีซุ้มประตูโขงและกำแพงแก้ว
- วัดกู่จ๊อกป๊อก ตั้งอยู่นอกกำแพงเวียงกุมกามทางทิศตะวันออกฉียงใต้ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน
- วัดหนานช้าง ตั้งตามชื่อเจ้าของที่ดิน ด้านหน้าของวัดอยู่ใกล้แม่น้ำปิง ซุ้มโขงมีลายปูนปั้นประดับเล็กน้อย ถัดจากซุ้มโขงลงไปมีทางเดินและมีวิหาร ซึ่งที่ฐานพระประธานมีลายปูนปั้น ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ฐานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสองชั้น เรือนธาตุได้พังเสียหายไปแล้ว เยื้องกับเจดีย์เป็นมณฑป ถัดไปเป็นอุโบสถ
- วัดเสาหิน ตั้งอยู่เขตท้องที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวของวัดนี้ในอดีต
- วัดหนองผึ้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นวัดในสมัยเวียงกุมกาม-เชียงใหม่ หรือบางทีอาจจะมีสภาพเป็นวัดดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณวัตถุประเภทพิมพ์แบบลำพูน สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดนี้คือ วิหารพระนอน เป็นองค์พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ขนาดยาว 38 ศอก (39 เมตร)
- วัดศรีบุญเรือง ตั้งอยู่เขตตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาใหม่ในสมัยหลัง ปัจจุบันวัดนี้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่
- วัดข่อยสามต้น อยู่ในบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเขตเวียงกุมกาม ชื่อวัดนี้ตั้งตามจุดสังเกตที่เป็นต้นข่อยจำนวน 3 ต้น ที่ขึ้นเจริญเติบโตในพื้นที่บริเวณวัด และไม่ปรากฏความเป็นมาในเอกสารและตัวแทนทางประวัติศาสตร์
- วัดพันเลา อยู่ในท้องที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดร้างขื่อดั้งเดิมที่ชุมชนเรียกสืบทอดต่อกันมา คาดว่ามาจากชื่อวัดที่มีคำนำหน้าว่า “พัน” นำหน้านั้น น่าจะหมายถึง ยศทางทหาร หรือขุนนาง ที่เดิมวัดนี้อาจเป็นวัดอุปถัมภ์ของนายทหารหรือขุนนางชื่อ “เลา” ตั้งอยู่ริมถนนท่าวังตาลซึ่งอยู่นอกเวียงกุมกามทางด้านทิศเหนือ สภาพโบราณสถานมีการก่ออิฐกระจายหลายแห่ง พบชิ้นส่วนของพระพุทธรูป และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร และยังคงคาดว่ามีอีกหลายวัดที่จมอยู่ใต้พื้นดิน และบ้านเรือนของชาวบ้านที่กำลังรอการบูรณะขึ้นมา
อ้างอิง
แก้- ท่องเที่ยวทั่วเชียงใหม่ เก็บถาวร 2007-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เวียงกุมกาม
- เวียงกุมกาม เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สรัสวดี อ๋องสกุล, เวียงกุมกาม : การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา, WITHIN DESIGN CO., LTD, 2548
- นพคุณ ตันติกุล, เวียงกุมกาม ,Lanna computer , 2547
- จักรกริช พิสูจน์, เวียงกุมกาม ,Jakkrit Publishing , 2548
- ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ, สถาปัตยกรรมในพื้นที่ประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม : กรณีศึกษา วัดกานโถม, 2545, งานวิจัย
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ เวียงกุมกาม
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
18°45′08″N 99°00′18″E / 18.75222°N 99.004884°E
ก่อนหน้า | เวียงกุมกาม | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เวียงฝาง | เมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 1824–1839) |
เวียงเชียงใหม่ |