พระราชวังบวรสถานมงคล

(เปลี่ยนทางจาก พระบวรราชวัง)

พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พระบวรราชวัง ตั้งอยู่ที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพระราชวังที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้สร้างขึ้น โดยเริ่มสร้างพร้อม ๆ กับพระบรมมหาราชวังใน พ.ศ. 2325 การก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ใช้พื้นที่ตั้งแต่ทิศเหนือของวัดสลัก (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) ขึ้นไปจรดคลองคูเมืองเดิม และได้ทำผาติกรรมที่ดินส่วนหนึ่งทางด้านเหนือของวัดสลัก เข้ามาเป็นเขตพระราชวังบวรสถานมงคลด้วย อาณาเขตของพระราชวังบวรสถานมงคลเดิมกว้างขวางมาก แต่ปัจจุบันได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง และถนน และเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พระราชวังบวรสถานมงคล
พระบวรราชวัง
ประเภทพระราชวัง
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
สร้างเมื่อพ.ศ. 2325
สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
การใช้งานดั้งเดิมสถานที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
สถานะยังมีอยู่
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ผู้ดูแลกรมศิลปากร
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนพระราชวังบวรสถานมงคล และกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
ขึ้นเมื่อ9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000015
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติ แก้

สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท แก้

 
พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)[1] ได้มีการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพมหานคร และโปรดเกล้าให้สร้างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นในคราวเดียวกัน[2]

พระราชวังบวรสถานมงคลนั้นเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของผู้ดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงมีความสำคัญมาก พระราชวังแห่งนี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จและมีการฉลองพระราชวังพร้อมกับการสมโภชพระนครและฉลองพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2328 พระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อแรกสร้างนั้นเป็นเครื่องไม้ทั้งสิ้น ในการสร้างพระบรมมหาราชวังในระยะแรกนั้นได้ถ่ายแบบมาจากพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่พระราชวังบวรสถานมงคลนั้นไม่มีหลักฐานว่าถ่ายแบบมาจากพระราชวังจันทรเกษมซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ในการสร้าง พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ซึ่งเป็นท้องพระโรงนั้น ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของสระน้ำ ได้ถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น จึงมีบางคนเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งทรงปืน[3] หรือ บ้างก็เรียกพระที่นั่งทรงธรรม เนื่องจากใช้เป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วย[2]

พระราชมณเฑียรภายในพระราชวังสถานมงคลนั้น สร้างเป็นพระวิมาน 3 หลังเรียงติดกัน ได้แก่

ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระวิมานนั้น สร้างเป็นพระราชมณเฑียรขวางตลอดแนวพระวิมานทั้ง 3 หลัง โดยด้านหน้าพระวิมานถัดจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศนั้น มุขหน้าเป็นท้องพระโรงหน้า เรียกว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ ส่วนมุขหลังเป็นท้องพระโรงหลัง โดยมี พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข และพระที่นั่งอุตราภิมุข ล้อมรอบพระราชมณเฑียรทั้ง 4 ด้าน โดยชื่อพระที่นั่งทั้ง 4 นั้น มีขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ[4]

 
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ หรือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมี พระพิมานดุสิตา ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา และเมื่อ พ.ศ. 2330 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่ได้อัญเชิญลงมาหลังจากเสด็จขึ้นไปยังนครเชียงใหม่

บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง พระองค์โปรดให้สร้าง "วัดหลวงชี" ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จำศีลของนางชีนามว่า นักนางแม้น ซึ่งเป็นมารดาของนักองค์อีธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระองค์[5][6]

พระองค์ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลด้วยความประณีต ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสวรรคต ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวรฯ ตามแบบอย่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง[7]

ครั้นเมื่อพระองค์ทรงพระประชวรใกล้สวรรคตนั้น พระองค์มีรับสั่งว่า พระราชมณเฑียรสถานได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมายเป็นของปราณีตบรรจง ประชวรมาช้านานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นให้รอบคอบ จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย ดังนั้น จึงโปรดฯ ให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนยไปโดยรอบพระราชมณเฑียร โดยการเสด็จในครั้งนี้มีบางคนกล่าวว่า พระองค์ทรงบ่นว่า "ของนี้อุตส่าห์ทำขึ้นด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อนี้ไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น" และเล่าอีกอย่างหนึ่งว่า พระองค์มีรับสั่งว่า "ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง ก็สร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอให้ผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข" ซึ่งมีปรากฏในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย[7]

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชวังบวรสถานมงคลก็ถูกปล่อยให้รกร้าง เนื่องจากกรมพระราชวังสถานมงคลพระองค์ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรนั้น ไม่ได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังแห่งนี้ แต่ยังคงประทับที่พระราชวังเดิม ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ แก้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)[1] พระองค์ทรงสมรสกับพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยของพระองค์นั้น ไม่ได้มีการสร้างสิ่งใดเพิ่มเติมภายในพระราชวังบวรสถานมงคล แต่มีการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมลง พระองค์ทรงให้รื้อพระพิมานดุสิตาลง โดยนำไม้ที่ได้จากการรื้อไปใช้ในการสร้างวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร รื้อกุฎิวัดหลวงชีซึ่งชำรุด ทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย นอกจากนี้ ภายในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระองค์ทรงย้ายปราสาทปรางค์ 5 ยอด ซึ่งเดิมสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ แต่ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานภายในพระบรมมหาราชวังแล้ว พระองค์จึงทรงให้ตั้งพระที่นั่งเศวตฉัตรแทน เพื่อเป็นที่เสด็จออกแขกเมืองและพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ แก้

 
พระที่นั่งอุตราภิมุข บริเวณหมู่พระวิมาน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ)[1] หลังจากนั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคลตลอดพระชนม์ชีพ โดยพระองค์ได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพระราชวังบวรสถานมงคลมากมาย

พระองค์ทรงซ่อมแซมพระราชมณเฑียรทั้ง 3 หลัง และต่อมุขบริเวณด้านหลังพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เรียกว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข และมุขด้านหน้า เรียกว่า พระที่นั่งพิมุขมณเฑียร พร้อมทั้งขนานนามพระที่นั่งที่ที่ล้อมรอบพระราชมณเฑียรทั้ง 4 มุมว่า พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข และพระที่นั่งอุตราภิมุข

พระองค์ยังให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อจากพระที่นั่งพิมุขมณเฑียรเพื่อใช้เป็นท้องพระโรง เรียกว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งสร้างเลียนแบบ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง และเปลี่ยนนามพระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์เป็นพระที่นั่งพรหมเมศธาดา เพื่อให้คล้องจองกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รวมทั้ง เปลี่ยนนามพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้สร้างพระที่นั่งเครื่องไม้ ขนานนามว่าพระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก ขึ้นบริเวณสระน้ำที่เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งพิมานดุสิตา ภายหลังหักพังเสียหมด และสร้างวัดพระแก้ววังหน้า ขึ้น โดยโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานที่พระอุโบสถของวัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดบวรสถานสุทธาวาส[8]

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 โดยไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกตลอดรัชกาล ทำให้พระราชวังสถานมงคลว่างลงอีกครั้ง

สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แก้

 
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ มีตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประดับอยู่บนอาคาร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลรับพระบวรราชโองการ พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 มีพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระราชวังบวรสถานมงคลว่า พระบวรราชวัง ขณะที่วังหลวงเรียกว่าพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าประทับในพระบวรราชวังซึ่งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ดังนั้น ในสมัยนี้จึงมีการปรับปรุง ซ่อมแซม พระบวรราชวังครั้งใหญ่เพื่อให้สมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีต้นแบบมาจากพระบรมมหาราชวังเป็นส่วนใหญ่

พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งคชกรรมประเวศเป็นองค์แรก บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งในการเกยช้าง พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้สร้างพระที่นั่งบริเวณมุมข้างใต้และเหนือของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย นามว่า พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งเอกอลงกฎ สร้างตามแบบพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระที่นั่งทั้ง 2 องค์มีที่เกยสำหรับทรงพระราชยาน รวมทั้ง ยังสร้างพระที่นั่งสนามจันทร์ และสร้างพลับพลาสูงตามแบบพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เหมือนอย่างพระราชวังหลวง และทรงย้ายตำหนักแดงจากพระราชวังเดิม มาปลูกไว้ที่พระบวรราชวังด้วย[9]

พระองค์โปรดให้สร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นตึกแบบฝรั่ง 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ และเสด็จเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างพระที่นั่งบริเวณหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนสำเร็จ พร้อมทั้งพระราชทานนามพระที่นั่งว่า พระที่นั่งบวรบริวัติ

เมื่อพระองค์จัดตั้งทหารวังหน้าขึ้น จึงมีการสร้างสถานที่สำหรับการทหารขึ้นภายในพระบวรราชวัง เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพาวุธ เป็นต้น รวมทั้ง ยังสร้างโรงช้างต้น และ ม้าต้น ตามแบบพระบรมมหาราชวังอีกด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น กลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิม

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกตลอดรัชกาล

สมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ แก้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการปรับปรุงพระบวรราชวังครั้งใหญ่ และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีการสร้างพระที่นั่งใหม่มากนัก พระองค์ทรงสร้าง พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส ต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนแล้วเสร็จและเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งองค์นี้

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 หลังจากนั้น ก็ไม่มีการสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดที่ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

จุดสิ้นสุดของพระราชวังบวรสถานมงคล แก้

หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้สถาปนาเจ้านายพระองค์ใดในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก แต่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. 2429 ทำให้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกยกเลิกไป ดังนั้น พระราชวังบวรสถานมงคลจึงไม่ได้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนับตั้งแต่นั้นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลงสนามวังหน้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพิธีท้องสนามหลวง และรื้อป้อมปราการต่าง ๆ ลง และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานไปไว้ที่ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ในปี พ.ศ. 2430 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปี พ.ศ. 2469[10] ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, โรงละครแห่งชาติ และท้องสนามหลวงตอนเหนือฟากตะวันตก

เขตพระราชฐาน แก้

เขตพระราชฐานชั้นนอก แก้

เขตพระราชฐานชั้นนอก ประกอบด้วยพื้นที่ภายในกำแพงพระราชวังส่วนตะวันออก และส่วนเหนือ ของพระราชวังบวรสถานมงคล รวมถึงวัดบวรสถานสุทธาวาส เดิมเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ศาลาลูกขุน โรงทหาร โรงช้าง โรงม้า รวมถึงสนามสำหรับฝึกทหาร ในสังกัดกรมพระราชวังบวรฯ ปัจจุบัน เขตพระราชฐานชั้นนอกข้างตะวันออกได้ถูกรื้อถอนออกทั้งหมดเพื่อขยายท้องสนามหลวง เหลือเพียงพื้นที่ข้างเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่โรงละครแห่งชาติ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เท่านั้น

วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า เป็นวัดในพระราชวัง ซึ่งไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา สถาปนาขึ้นโดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในรัชกาลที่ 3 โดยทรงอุทิศบริเวณสวนกระต่ายเดิม สร้างเป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข ในชั้นแรกทรงตั้งพระทัยจะสร้างหลังคาเป็นยอดปราสาท แต่ทรงถูกคัดค้านโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ากรมพระราชวังบวรไม่มีศักดิ์พอจะสร้างปราสาทได้ จึงระงับไป โดยรอบฐานพระอุโบสถ เคยมีเก๋ง และศาลาทรงจีนล้อมรอบ ซึ่งถูกรื้อลงในรัชกาลที่ 9 คงเหลือแต่พระอุโบสถซึ่งถูกถอนพัทธสีมาออกไปแล้ว ส่วนบริเวณโดยรอบวัด เคยมีกำแพงแก้วล้อมรอบพร้อมซุ้มทางเข้า แต่ถูกรื้อลงเมื่อคราวรื้อถอนพระราชวังบวรสถานมงคล

พระที่นั่งพลับพลาสูง เป็นพระที่นั่งโถง ตั้งอยู่บนกำแพงพระราชวังข้างตะวันออก ระหว่างประตูพิศาลสุนทร และ ประตูบวรยาตรา คล้ายกับพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพียงแต่ไม่มียอดปราสาทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสถาปนาพระราชอิสริยยศ เสมอพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ที่ 2 รื้อลงพร้อมกับการขยายสนามหลวง ในรัชกาลที่ 5

เขตพระราชฐานชั้นกลาง แก้

เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นบริเวณส่วนในของพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งอยู่บริเวณข้างเหนือ ถัดเข้ามาจากวัดบวรสถานสุทธาวาส เป็นบริเวณพระที่นั่ง ที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประกอบด้วยพระที่นั่งต่าง ๆ โดยในปัจจุบัน คือพื้นที่ส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ประกอบไปด้วย

หมู่พระวิมาน หรือพระราชมณเฑียร ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เพื่อเป็นที่ประทับ และออกว่าราชการ เดิมมีกำแพงแก้วและซุ้มประตูล้อมรอบ ด้านหน้ากำแพงแก้วมีพระที่นั่งมังคลาภิเศก และพระที่นั่งเอกอลงกฎ ตั้งอยู่ทั้งสองข้าง ภายหลังรื้อกำแพงแก้วและซุ้มประตูลงเมื่อสถาปนาเป็นพิพิธภัณฑสถาน

พระที่นั่งสนามจันทร์ เป็นพระที่นั่งโถงขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วหมู่พระวิมาน ข้างพระที่นั่งพรหมเมศธาดา สร้างขึ้นโดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เหมือนอย่างพระที่นั่งสนามจันทร์ในพระบรมมหาราชวัง แต่พระที่นั่งสนามจันทร์ของวังหน้า ใช้ไม้กระดานหลายแผ่นต่อกัน ไม่ใช่ขนาดใหญ่แผ่นเดียว และเครื่องลำยองก็เป็นอย่างฐานานุศักดิ์วังหน้า ภายหลังทรุดโทรมจวนจะพัง จึงรื้อลงก่อนสถาปนาพิพิธภัณฑสถาน

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตั้งอยู่หน้าหมู่พระวิมาน สร้างในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นที่ตั้งของพระพุทธสิหิงค์

พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ตั้งอยู่ถัดจากพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ สร้างในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เพื่อเป็นที่ประทับว่าราชการ และเป็นที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ตั้งอยู่บริเวณข้างเหนือของพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตึกอย่างฝรั่งสองชั้น เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายกับหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันอยู่หลังโรงราชรถ

พระที่นั่งบวรบริวัติ ตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นพระที่นั่งทรงเก๋งจีน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับอย่างจีน แต่ยังค้างอยู่จนเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสานต่อจนแล้วเสร็จ รื้อลงในรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นอาคารเก็บและจัดแสดงวัตถุโบราณ เหลือเพียงเก๋งนุกิจราชบริหารซึ่งเป็นเก๋งจีนขนาดเล็กเท่านั้น

พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส ตั้งอยู่ถัดจากพระที่นั่งบวรบริวัติไปทางตะวันตก เป็นหมู่พระที่นั่งทรงอย่างฝรั่ง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ รื้อลงเพื่อสร้างอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

เขตพระราชฐานชั้นใน แก้

เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ประทับและที่อยู่ของข้าราชการฝ่ายใน พระมเหสี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรส พระราชธิดา ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ภายหลังเมื่อไม่มีการสถาปนาพระมหาอุปราช มาครองพระราชวังบวรสถานมงคลอีก แต่พระสนม เจ้าจอม พระราชโอรส-ธิดา ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลยังคงประทับอยู่ จึงให้รักษาเฉพาะบริเวณพระตำหนักฝ่ายใน ไว้เป็นที่พำนักของเหล่าพระสนม ข้าราชการฝ่ายใน รวมถึงกำแพงพระราชวังฝั่งใต้ จนในรัชกาลที่ 6 พระสนม เจ้าจอม ในสังกัดพระราชวังบวรมีน้อยลง จึงโปรดให้ย้ายออกไปสมทบที่พระบรมมหาราชวัง แล้วจึงพระราชทานที่ตั้ง ให้เป็นของกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และกลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ในปัจจุบัน

พระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลกย์ หรือพระพิมานดุสิตา เป็นหอพระกลางสระน้ำ มีสะพานเชื่อมทั้ง 4 ด้าน สร้างขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โดยตั้งพระทัยจะสร้างเป็นปราสาท ให้เป็นเหมือน พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อมีเหตุการณ์บุกเข้าเพื่อลอบปลงพระชนม์ แล้วคนร้ายถูกสังหารได้ที่บริเวณนี้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิหนาท จึงมีพระดำริว่าจะเป็นนิมิตร้ายด้วยพระมหาอุปราช ไม่มีศักดิ์พอจะประทับในอาคารยอดปราสาท และพระราชวังบวรในกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่มีปราสาท จึงโปรดฯ ให้งดการสร้างปราสาท และอุทิศบริเวณดังกล่าวเป็นหอพระ และนำยอดปราสาทไปเป็นยอดมณฑปที่วัดมหาธาตุแทน ต่อมายอดมณฑปนี้ ถูกสามเณรเล่นดอกไม้ไฟ ต้องหลังคาพระมณฑปจนไหม้ไป กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงโปรดฯ ให้สร้างใหม่เป็นหลังคาทรงโรง อย่างที่ปรากฎในปัจจุบัน สำหรับที่ตั้งพระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลกย์และสระน้ำภายหลังถูกรื้อลง ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์

ฉนวนน้ำพระราชวังบวรสถานมงคล แก้

ในคราวสถาปนาสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงมีพระเกียรติเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้มีการสร้างสิ่งต่างๆ ในพระบวรราชวัง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ให้มีเสมอด้วยพระบรมมหาราชวัง ซึ่งทรงโปรดฯให้สร้างหมู่พระที่นั่งฉนวนน้ำพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า ท่าราชวรดิษฐ์ และประกอบไปด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ คือ พระที่นั่งชลังคพิมาน พระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิต พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย และ พระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ รวมถึง ป้อมพรหมอำนวยศิลป์ และ ป้อมอินทรอำนวยศร จึงทรงดำริให้มีหมู่พระที่นั่งตามอย่างที่ทรงสถาปนานั้น ที่พระบวรราชวังเช่นกัน โดยหมู่พระที่นั่งนี้มีพระที่นั่ง 4 องค์เช่นเดียวกัน ได้แก่ พระที่นั่งมหรรณพพิมาน พระที่นั่งชลสถานทิพยอาสน์ พระที่นั่งประพาสคงคา และ พระที่นั่งนทีทัศนาภิรมย์ ปัจจุบัน หมู่พระที่นั่งนี้ไม่ปรากฎแล้ว

สิ่งก่อสร้างที่ยังคงเหลือในปัจจุบัน แก้

 
แผนผังพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อ พ.ศ. 2430

พระราชมณเฑียร แก้

พระราชมณเฑียร หรือ หมู่พระวิมาน เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างเป็นหมู่พระที่นั่งประกอบกัน และมีการซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใช้เป็นสถานที่ที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แก้

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อทำการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ เป็นต้น หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2330 พระองค์เสด็จไปยังเชียงใหม่ และไดัอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมา พระองค์จึงทรงพระราชอุทิศพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" ปัจจุบัน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน แก้

พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกขุนนาง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล การสร้างพระที่นั่งองค์นี้ถ่ายแบบพระที่นั่งมาจากพระที่นั่งทรงปืนที่พระราชวังหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น จึงมีบางคนเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งทรงปืน" อย่างไรก็ตาม เมื่อพระราชมณเฑียรสร้างแล้วเสร็จ พระที่นั่งองค์นี้ก็ใช้เป็นเพียงสถานที่เสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งทรงธรรม" พระที่นั่งแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ตั้งพระบรมศพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทด้วย ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แก้

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นโดยมีลักษณะเป็นตึกฝรั่ง เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ ภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและพระบวรอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์จัดเป็นห้องพระบวรราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งคชกรรมประเวศ แก้

พระที่นั่งคชกรรมประเวศ เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นพระที่นั่งทรงปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นภายในพระบวรราชวัง ตั้งอยู่บริเวณหน้ามุขพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งมีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระที่นั่งที่สร้างโดยเครื่องไม้มีเกยสำหรับขึ้นทรงช้างด้วย เนื่องจากพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นจากเครื่องไม้ ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปจึงเกิดการผุกร่อนและชำรุดมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้ออก คงเหลือแต่ฐานปราสาทและที่เกยช้างที่ยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน

พระที่นั่งมังคลาภิเษกและพระที่นั่งเอกอลงกฎ แก้

พระที่นั่งมังคลาภิเษกและพระที่นั่งเอกอลงกฎ สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ให้ปรับปรุงและก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ภายในพระบวรราชวังเพื่อให้สมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งโถงคู่กันบนกำแพงแก้วหน้าท้องพระโรงบริเวณด้านเหนือ นามว่า "พระที่นั่งเอกอลงกฎ" และด้านใต้นามว่า "พระที่นั่งมังคลาภิเษก" ปัจจุบัน พระที่นั่งมังคลาภิเษกได้รื้อลงแล้วเนื่องจากชำรุดเสียหายมาก คงเหลือเพียงพระที่นั่งเอกอลงกฎเท่านั้น[2] อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระบุว่า ปัจจุบัน คงเหลือแต่พระที่นั่งมังคลาภิเษก ส่วนพระที่นั่งเอกอลงกฎนั้นได้รื้อลงแล้ว[11]

พระตำหนักแดง แก้

พระตำหนักแดง สร้างขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางพระองค์น้อยในพระองค์ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรื้อพระตำหนักฝ่ายในภายในเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อเปลี่ยนเป็นพระตำหนักตึกทั้งหมด ดังนั้น จึงโปรดให้รื้อพระตำหนักแดงไปปลูกที่พระราชวังเดิม เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โดยพระตำหนักแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกนั้นเป็นที่ประทับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา ปัจจุบัน พระตำหนักส่วนนี้ได้ถูกรื้อไปปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี ส่วนที่สองเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เก๋งนุกิจราชบริหาร แก้

เก๋งนุกิจราชบริหาร เป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีนภายในพระราชวังบวรสถานมงคลหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในปัจจุบัน สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างจีนทั้ง 3 ด้าน ปัจจุบัน เป็นสถานที่เก็บรักษาป้ายอวยพรขนาดใหญ่ซึ่งเข้าใจว่าเป็นของถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว[12]

ประตู และ ป้อม รอบกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคล แก้

เมื่อแรกสร้าง พระราชวังบวรสถานมงคล มีอาณาเขตกว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก โดยมีอาณาบริเวณตั้งแต่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์และท้องสนามหลวงในทิศใต้ จรดคลองคูเมืองเดิมในทิศเหนือ และตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันตก จรดถนนหน้าจักรวรรดิวังหน้าทิศจะวันออก บริเวณทิศใต้และทิศตะวันออก มีคูน้ำขนาดเล็กเป็นคูพระราชวัง กำแพงก่อด้วยอิฐถือปูน มีใบเสมาโดยรอบ มีประตู และป้อมปราการโดยรอบ เหมือนอย่างพระบรมมหาราชวัง โดยประตูและป้อมปราการทั้งหมดถูกรื้อลง เมื่อคราวสิ้นตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และการขยายท้องสนามหลวงในรัชกาลที่ 5

ประตู แก้

ประกอบด้วยประตูชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน โดยประตูชั้นนอกทำเป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่ มีหลังคา มีชื่อคล้องจองกัน ในฝั่งตะวันตก เอากำแพงพระนครเป็นกำแพงชั้นนอกเหมือนอย่างพระบรมมหาราชวัง มีประตูสกัดทิศเหนือและใต้

ประตูชั้นนอก แก้

1. ประตูพรหมทวาร เป็นประตูซุ้มสองชั้น ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ปลายถนนหน้าพระธาตุ ตรงกับประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวัง ใช้เป็นทางหลักในการเสด็จไปมา ระหว่างพระราชวังบวรสถานมงคล และพระบรมมหาราชวัง

2. ประตูพิศาลสุนทร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ใต้พระที่นั่งพลับพลาสูง คล้ายประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ของพระบรมมหาราชวัง

3. ประตูบวรยาตรา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เหนือพระที่นั่งพลับพลาสูง ริมป้อมเพชรบูรพา คล้ายประตูเทวาพิทักษ์ ของพระบรมมหาราชวัง

4. ประตูศักดาพิไชย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ระหว่างป้อมเพชรบูรพา กับป้อมมุกดาพิศาล

5. ประตูอำไพพิมล ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ระหว่างป้อมมุกดาพิศาล กับป้อมนิลวัตถา

6. ประตูมงคลสถิตย์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ริมป้อมเขื่อนขัณฑ์ เป็นประตูเข้าสู่วัดบวรสถานสุทธาวาส

7. ประตูพิจิตรเจษฎา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูบนกำแพงพระราชวัง ถัดเข้ามาจากกำแพงพระนคร ใช้เป็นประตูสำหรับเข้าออก สู่ท่าขุนนางวังหน้า คล้ายประตูรัตนพิศาล ในพระบรมมหาราชวัง

8. ประตูไอยราสนาน เป็นประตูสกัดทิศเหนือ ของถนนระหว่างกำแพงพระนครกับกำแพงพระราชวัง ตั้งอยู่ท้ายป้อมพระอาทิตย์ ถัดจากประตูท่าช้างวังหน้า คล้ายประตูสุนทรทิศา ของพระบรมมหาราชวัง

9. ประตูสารซับมัน เป็นประตูบนกำแพงพระนคร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูออกท่าขุนนางวังหน้า

10. ประตูอนันตโสภา เป็นประตูบนกำแพงพระนคร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นพระตูออกไปยังฉนวนน้ำวังหน้า ตรงกับประตูสุดายุรยาตรด้านใน คล้ายประตูเทวาภิรมย์ ของพระบรมมหาราชวัง

11. ประตูกันยาประพาส เป็นประตูบนกำแพงพระนคร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูฉนวนฝ่ายใน ออกไปใต้ฉนวนน้ำวังหน้า ตรงกับประตูวรนาฏจรลีด้านใน คล้ายประตูอุดมสุดารักษ์ ของพระบรมมหาราชวัง

12. ประตูสอาดชลธาร เป็นประตูบนกำแพงพระนคร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ใช้เป็นทางไขน้ำเข้าในพระราชวัง ตรงกับประตูนารีจรจรัณย์ด้านใน

13. ประตูตระการไพจิตร เป็นประตูสกัดทิศใต้ ของถนนระหว่างกำแพงพระนครกับกำแพงพระราชวัง ตั้งอยู่ท้ายป้อมพระจันทร์ คล้ายประตูพิทักษ์บวร ของพระบรมมหาราชวัง

14. ประตูไกรสรลีลาศ เป็นประตูออกไปยังวัดมหาธาตุฯ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็นประตูซุ้มสองชั้น ตรงกับประตูอุดมโภไคชั้นใน โดยเป็นเพียงประตูเดียวที่ชื่อไม่คล้องจองกับประตูชั้นนอกอื่น


ประตูชั้นกลาง แก้

1. ประตูมหาโภคราช ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นประตูสองชั้น ใช้เป็นทางเข้าหลักไปยังหมู่พระวิมาน คล้ายประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง

2. ประตูโอภาสพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เป็นประตูสองชั้น คล้ายประตูสุวรรณบริบาล ในพระบรมมหาราชวัง

3. ประตูอลงการโอฬาร์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เป็นประตูฉนวนออกวัดบวรสถานสุทธาวาส

4. ประตูสุดายุรยาตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูฉนวนใหม่ออกไปยังฉนวนน้ำวังหน้า ตรงกับประตูอนันตโสภาชั้นนอก

5. ประตูวรนาฏจรลี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูฉนวนชั้นในเดิม ตรงกับประตูกันยาประพาสชั้นนอก คล้ายประตูยาตรากษัตรีย์ ในพระบรมมหาราชวัง

6. ประตูบวรนารี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก อยู่ระหว่างประตูวรนาฏจรลี และประตูนารีจรจรัณย์

7. ประตูนารีจรจรัณย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูดินชั้นใน ตรงกับประตูสอาดชลธารชั้นนอก

8. ประตูสวรรยาภิรมย์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็นประตูสำหรับนำศพออก

9. ประตูอุดมโภไค ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ตรงกับประตูไกรสรลีลาศชั้นนอก

10. ประตูพิไชยยาตรา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก

ประตูชั้นใน แก้

1. ประตูพรหมพักตร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นประตูยอดปรางค์มีพรหมพักตร์ ตั้งอยู่ข้างใต้ ด้านหน้าของพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน

2. ประตูจักรมหิมา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ หลังพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน

3. ประตูย่ำสนธยายน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ตรงข้ามพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยฝั่งใต้ เป็นประตูย่ำค่ำ คล้ายประตูสนามราชกิจ ในพระบรมมหาราชวัง

4. ประตูสถลศิวาลัย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ตรงข้ามพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยฝั่งเหนือ ตรงกับพระที่นั่งสนามจันทร์ เปิดออกข้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

5. ประตูสถานมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก หลังพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

ป้อม แก้

ป้อมรอบกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคล มี 2 ลักษณะ คือป้อมที่อยู่มุมกำแพง มีลักษณะเป็นหอรบ 8 เหลี่ยม มีหลังคาทรงกระโจมมุงกระเบื้อง มีช่องยิงปืนใหญ่รอบทิศ และป้อมที่อยู่บนกำแพง มีลักษณะเป็นหอรบสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงคฤห์ มีช่องยิงปืนใหญ่ตามแนวกำแพง

ตรงมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ ฝั่งนอกกำแพงพระนคร มีป้อมพระอาทิตย์ และป้อมพระจันทร์ เป็นป้อมบนกำแพงพระนคร ท้ายป้อมถัดจากประตูสกัดเข้ามา จึงเป็นป้อม 8 เหลี่ยมมุมพระราชวัง

1. ป้อมเขื่อนขัณฑ์ เป็นป้อมบนกำแพงทิศเหนือ ข้างวัดบวรสถานสุทธาวาส ริมประตูมงคลสถิตย์

2. ป้อมนิลวัตถา เป็นป้อมบนกำแพงทิศเหนือ อยู่ระหว่างประตูมงคลสถิตย์ และประตูอำไพพิมล

3. ป้อมมุกดาพิศาล เป็นป้อมมุมกำแพงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

4. ป้อมเพชรบูรพา เป็นป้อมบนกำแพงทิศตะวันออก ริมประตูบวรยาตรา และพระที่นั่งพลับพลาสูง

5. ป้อมวิเชียรอาคเนย์ เป็นป้อมมุมกำแพงทิศตะวันออกเฉียงใต้ มุมท้องสนามหลวง

6. ป้อมเพชรไพฑูรย์ เป็นป้อมบนกำแพงทิศใต้ ตั้งอยู่กลางท้องสนามหลวง ระหว่างประตูพรหมทวาร และ ป้อมวิเชียรอาคเนย์ มีหอรบยาวกว่าป้อมอื่น

7. ป้อมเขื่อนเพชร เป็นป้อมบนกำแพงทิศใต้ ตั้งอยู่ระหว่างประตูไกรสรลีลาส และ ประตูพรหมทวาร

8. ป้อมมณีมรกต เป็นป้อมบนกำแพงทิศตะวันตก ตั้งอยู่ใต้ประตูกันยาประพาส

9. ป้อมทับทิมศรี เป็นป้อมบนกำแพงทิศตะวันตก ตั้งอยู่ใต้ประตูสารซับมัน

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน, กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท,ปีที่ ๕, ฉบับที่ ๕๔, พฤศจิกายน ๒๕๓๘
  2. 2.0 2.1 2.2 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525
  3. "ตำนานวังหน้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-09. สืบค้นเมื่อ 2007-09-15.
  4. สุนิสา มั่นคง, วังหน้า รัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน, 2543, ISBN 974-322-030-5
  5. "วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดในวัง สมัยรัตนโกสินทร์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-12. สืบค้นเมื่อ 2007-09-18.
  6. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เจ้านายไทย เก็บถาวร 2004-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นิตยสารสกุลไทย, ฉบับที่ 2607, ปีที่ 50, ประจำวันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2547
  7. 7.0 7.1 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 13, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท พระยาศรีสรราชภักดี ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 17 มีนาคม 2509, พระนคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร
  8. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, พระที่นั่งสุทธาศวรรย์ เก็บถาวร 2008-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2584, ปีที่ 50, 27 เมษายน 2547
  9. ตำหนักแดง เก็บถาวร 2008-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
  10. ราชกิจจานุเบกษา, คำกราบบังคมทูล ในการเปิดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร, เล่ม ๔๓, ตอน ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๓๐๓๘
  11. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : พระที่นั่งมังคลาภิเษก
  12. เก๋งนุกิจราชบริหาร จากเว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°45′29″N 100°29′29″E / 13.757930°N 100.491482°E / 13.757930; 100.491482