ทับทิมกรอบ เป็นขนมไทยที่สามารถรับประทานได้ทุกฤดูกาล นิยมมากที่สุดในฤดูร้อน รับประทานแล้วหอมหวานเย็นอร่อยชื่นใจคลายร้อนได้ดี ประกอบด้วยเม็ดทับทิมกรอบสีแดงและเม็ดทับทิมกรอบสีชมพู เมื่อเคี้ยวแล้วกรอบมันด้วยรสชาติของแห้ว มีน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำตาลทราย ลอยด้วยดอกมะลิ มีกะทิสดจากการคั้นมะพร้าว น้ำแข็งบดละเอียดหรือน้ำแข็งทุบให้เป็นเม็ดเล็ก ๆ[1][2] รวมทั้งมีการแต่งกลิ่นให้หอมจากน้ำเชื่อมลอยดอกไม้ หรือใช้กะทิอบควันเทียน ทำให้มีรสชาติอร่อย และมีกลิ่นหอมชื่นใจเพิ่มขึ้นอีกประการ[3]

ทับทิมกรอบ
ทับทิมกรอบในไอศกรีมกะทิ
ประเภทของหวาน
แหล่งกำเนิดไทย
อุณหภูมิเสิร์ฟเย็น
ส่วนผสมหลักแห้ว, กะทิ

ประวัติ

แก้

ทับทิมกรอบเป็นของหวานที่ไทยรับจากอาหารเวียดนาม ในเวียดนามตัวทับทิมกรอบจะทำจากแห้ว มันแกว เผือก และมะพร้าวทึนทึก จากนั้นใส่ตัวลอดช่อง วุ้นขูดเส้น สาคูเม็ดใหญ่ ลอยน้ำเชื่อม ใส่กะทิ และใส่น้ำแข็ง ใกล้เคียงกับของไทย ทางเวียดนามระบุว่าอาหารชนิดนี้เป็นอาหารที่รับอิทธิพลจากอาหารจีนอีกต่อหนึ่ง[3]

ในราชสำนักไทยมีการปรับปรุงทับทิมกรอบเป็น ทับทิมลอยแก้ว โดยพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา โดยมีเรื่องเล่าของบรรดาข้าหลวงในห้องเครื่อง เล่าลือถึงพระอัจฉริยภาพของกรมพระสุทธาสินีนาฏไว้ว่า เมื่อครั้งพระองค์ยังไม่เกศากันต์ มีนางข้าหลวงชื่อยายญวน เป็นหญิงชาวกุฎีจีน ทำทับทิมกรอบ แต่ว่าหวงสูตรมาก ไม่ยอมเปิดเผยให้ใคร ด้วยเหตุนี้กรมพระสุทธาสินีนาฏทรงลักลอบทอดพระเนตรยายญวนผ่านช่องประตู รวมทั้งเคยขอเป็นลูกมือยายญวนด้วย เพื่อจดจำว่าใส่อะไร และทำอย่างไรบ้าง แล้วนำมาบอกเล่าต่อ จากนั้นพระองค์ก็มาทดลองทำอย่างเด็กเล่นขายของ[3] และปรับปรุงสูตรให้เป็นแบบเฉพาะพระองค์ได้สำเร็จ[4][5] สอดคล้องกับ ศรุตานุสรณ์ ของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 ที่ระบุเนื้อหาไว้ใกล้เคียงกัน ความว่า [6]

"...พระวิมาดาเธอฯ เมื่อทรงพระเยาว์ ท่านเป็นเด็กเอาการเอางาน เมื่อพระชันษา 9 ขวบ สมัยญวนกฎีจีนทำขนมต่าง ๆ พวกเราตื่นเม็ดทับทิมลอยแก้ว ถ้างานใครมีเม็ดทับทิมลอยแก้วโถกลางสำรับหวานละก็เก๋กันนักทีเดียว ในปีวอก ร.ศ. 91 (พ.ศ. 2415) พระอัครชายาพระองค์กลาง พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน ประสูติพระธิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ พอพระชันษาครบเดือนก็ทำพิธีสมโภชเดือน มีการเลี้ยงอาหารเป็นงานใหญ่ออกหน้า ต้องทำอาหารที่วังเสด็จปู่แล้วหาบเข้าไปจัดในวังหลวง เจ้าพี่สาว ๆ ท่านมีประสงค์จะให้มีเม็ดทับทิมลอยแก้วเลี้ยงในงานนั้น จึงไปตามยายญวนมาทำที่วัง แกปิดวิชาไม่บอกใครเป็นแต่สั่งของที่จะทำแล้วแกก็เข้าห้องปิดประตูทำคนเดียว เจ้าพี่ ๆ ท่านอยากจะทรงทำเป็นจึงกระซิบสั่งพระวิมาดาเธอฯ ให้เข้าไปปรนนิบัติยายญวน แล้วจำวิธีทำเอาไว้ ยายญวนแกไม่นึกว่าเด็กอายุ 9 ขวบจะมาจดจำตำราทำเม็ดทับทิมของแก แกก็ดีใจที่มีเด็กลูกมือให้ช่วยแกใช้ช่วยหยิบโน่นหยิบนี่ พอยายญวนทำขนมเสร็จแล้วกลับบ้าน เจ้าพี่ ๆ ก็เรียกท่านมาซักว่าทำอย่างไรบ้าง พระวิมาดาเธอฯ ก็เล่าถูกหมดตั้งแต่ต้นจนจบ เจ้าพี่ก็ทำตามที่เจ้าน้องเล่าก็เป็นผลสำเร็จอย่างถูกถ้วนเหมือนของยายญวนไม่มีผิดเลย เจ้าพี่ ๆ เลยตื่นอี๋กันใหญ่..."

ขณะที่กัมพูชาก็มีการรับทับทิมกรอบจากไทยไปอีกทอดหนึ่ง เรียกว่า ทูทิมกรอบ หรือเรียกโดยย่อว่า ทูทิม นิยมรับประทานกับน้ำกะทิ ใส่วุ้นมะพร้าว และขนุน[7] และเวียดนามก็รับทับทิมกรอบของไทยกลับไปอีกครั้ง เรียกว่า เจ่ท้าย (เวียดนาม: Chè Thái)

อ้างอิง

แก้
  1. Singapore. Rough Guides. 2003. pp. 143–. ISBN 978-1-84353-075-6.
  2. "Tub Tim Krob". Amazingthaifood. Amazingthaifood. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-08. สืบค้นเมื่อ 2 September 2014.
  3. 3.0 3.1 3.2 สิทธิโชค ศรีโช (25 พฤษภาคม 2563). ""ทับทิมลอยแก้ว" ขนมไทยสูตรลับตำรับญวน". Goodlife Update. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ทับทิมกรอบ ขนมหวานชาววังเลิศรส อร่อยจนรู้จักไปทั่วโลก". patternpack. 18 สิงหาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "ทับทิมกรอบ". Foodspace. 1 มีนาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. สดับ ในรัชกาลที่ 5, เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์. "พระจรรยาของพระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ". ศรุตานุสรณ์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2526, หน้า 142-143
  7. "ทับทิมกรอบ". ข่าวสด. 25 เมษายน 2562. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)