มันแกว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
วงศ์ย่อย: Faboideae
สกุล: Pachyrhizus
สปีชีส์: P.  erosus
ชื่อทวินาม
Pachyrhizus erosus
(L.) Urb.
ชื่อพ้อง
  • Dolichos erosus L. (1753)
  • Pachyrhizus angulatus Rich. ex DC. (1825)
  • P. bulbosus (L.) Kurz (1876)
มันแกว ดิบ
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์)
พลังงาน159 กิโลจูล (38 กิโลแคลอรี)
8.82 g
น้ำตาล1.8 g
ใยอาหาร4.9 g
0.09 g
0.72 g
วิตามิน
ไทอามีน (บี1)
(2%)
0.02 มก.
ไรโบเฟลวิน (บี2)
(2%)
0.029 มก.
ไนอาซิน (บี3)
(1%)
0.2 มก.
(3%)
0.135 มก.
วิตามินบี6
(3%)
0.042 มก.
โฟเลต (บี9)
(3%)
12 μg
คลอรีน
(3%)
13.6 มก.
วิตามินซี
(24%)
20.2 มก.
แร่ธาตุ
แคลเซียม
(1%)
12 มก.
เหล็ก
(5%)
0.6 มก.
แมกนีเซียม
(3%)
12 มก.
แมงกานีส
(3%)
0.06 มก.
ฟอสฟอรัส
(3%)
18 มก.
โพแทสเซียม
(3%)
150 มก.
โซเดียม
(0%)
4 มก.
สังกะสี
(2%)
0.16 มก.

ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่
แหล่งที่มา: USDA FoodData Central

มันแกว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pachyrhizus erosus; อังกฤษ: Mexican turnip หรือ jicama หรือ yam bean) เป็นพืชตระกูลถั่ว มีญาติใกล้ชิดคือถั่วเหลือง ลักษณะต้นมันแกวเป็นเถาเลื้อย หัวอวบใหญ่ขยายจากรากแก้ว โคนตันเนื้อแข็ง ใบประกอบด้วย 3 ใบย่อยขอบจักใหญ่ ดอกมีสีขาวหรือชมพูเป็นช่อ เมล็ดมีสีเหลือง สีน้ำตาล ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสแบน มันแกว 1 ต้นมีเพียงหัวเดียว ส่วนที่ใช้รับประทานคือส่วนของรากแก้ว ชาวเม็กซิโกชอบรับประทานมันแกวตั้งแต่สมัยอารยธรรมมายาและแอซเต็ก นิยมใช้เป็นอาหารว่าง ใส่น้ำมะนาว พริกผง และเกลือ

ประวัติ แก้

มันแกว (P. erosus) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก และแถบอเมริกากลาง[1] ทางใต้สุดที่คอสตาริกา[2] โดยพบหลักฐานการปลูกจากแหล่งโบราณคดีที่เปรูซึ่งมีอายุประมาณ 3,000ปี[3] และนำเข้าไปปลูกในประเทศแถบทวีปเอเชียโดยชาวสเปน[4] จากเส้นทางอะคาปุลโก-ฟิลิปปินส์ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ จีน อินโดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย อินเดีย และแอฟริกา ในประเทศไทยมันแถวมีอยู่ 2 ชนิดคือ พันธุ์หัวใหญ่ และพันธุ์หัวเล็ก อาจจะมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ภูมิภาคได้แก่ ภาคใต้เรียกว่า "หัวแปะกัวะ" ภาคเหนือเรียกว่า "มันละแวก" "มันลาว" ส่วนภาคอีสานเรียกว่า "มันเพา" นอกจากนี้ยังอาจเรียกด้วยชื่ออื่น ๆ เช่น "เครือเขาขน" "ถั้วบ้ง" และ "ถั่วกินหัว"

ชื่ออื่น แก้

มันแกว มีชื่อสามัญอื่นเรียกในภาษาต่าง ๆ ได้แก่

ชื่อภาษาอินโดนีเซีย: bengkuang (ชื่อในภาษาชวา bengkowang; ภาษาซุนดา bangkuang)[5]

ชื่อภาษามลายู: sengkuwang, bengkuwang, mengkuwang

ชื่อภาษาตากาล็อก: singkamas (ซิงกามาส)

ชื่อภาษาเวียดนาม: cây củ đậu (ภาคเหนือ), sắn nước (ภาคใต้).

ชื่อภาษาลาว: ມັນເພົາ (มันเพา)

ชื่อภาษาอีสาน (ประเทศไทย) : มันเพา

ชื่อภาษาเขมร: ប៉ិគក់ (เบะ-โกก)

ชื่อภาษาพม่า: ပဲစိမ်းစားပင် (pell hcaim hcarr pain)

ชื่อภาษาจีน: 凉薯 (เหลียงสู) แปลตามตัวว่า มันเย็น, 豆薯 (จีนภาคเหนือ หูหนาน - โต้วสู ถั่วกินหัว หรือ ถั่วหัวมัน), 番葛 (หมิ่นหนาน - ฟานเก๋อ), 沙葛 (กว่างตุ้ง - ซากอต), 芒光 (แต้จิ๋ว - หมังกวง เรียกทับศัพท์ตามภาษามลายู)

อนุกรมวิธานและการกระจายพันธุ์ แก้

มันแกว (Pachyrhizus erosus) เป็นพืช 1 ในอย่างน้อย 4-5 ชนิดของสกุลมันแกว[6] (Pachyrhizus) คือ

  • มันแกว หรือ มันแกวเม็กซิโก (Pachyrhizus erosus) — พืชพื้นเมืองอเมริกากลาง เป็นชนิดพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทย ซึ่งสันนิษฐานว่าผ่านทางฟิลิปปินส์โดยชาวสเปน และนำเข้ามายังจีนใต้และอินโดจีน และสู่ประเทศไทย
  • มันแกวแอมะซอน (Amazonnian yam bean) หรือ jiquima, หรือ jacatupe (Pachyrhizus tuberosus) — มีความหลากหลายของสายพันธุ์ถึง 11 ชนิดย่อยตามแหล่งเพาะปลูกในเขตร้อนในเขตที่ราบลุ่มต้นน้ำแอมะซอนในเปรูและเอกวาดอร์ แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ Jíquima (เอกวาดอร์ชายฝั่งทะเล), Ashipa (กระจายทั่วไปในที่ลุ่มน้ำแอมะซอนตะวันตก), Chuin (ตลอดเส้นทางแม่น้ำเปรู), Yushpe (ปลูกเฉพาะในท้องถิ่นของเปรู)[7] อาจพบในบางส่วนของบราซิล, โคลัมเบีย และเวเนซุเอลา
  • มันแกวแอนดีส หรือ ahipa หรือ ajipa (Pachyrhizus ahipa) — พบในภูมิภาคที่ราบสูงโบลิเวียทางตะวันตกของอเมริกาใต้ ในเขตเทือกเขาแอนดีสของโบลิเวีย, เปรู และเอกวาดอร์ เป็นพันธุ์ที่คล้ายกับมันแกว (Pachyrhizus erosus) มากที่สุด
  • และอีก 2 พันธุ์ที่เป็นพืชป่า คือ Pachyrhizus ferrugineus (Piper) Sørensen และ Pachyrhizus panamensis Clausen (Sørensen 1988)[7]

มันแกวแอฟริกา (African yam bean, Sphenostylis stenocarpa) — มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก และเพาะปลูกในแอฟริกาตอนใต้และตะวันออก เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีหัว ถูกเรียกว่ามันแกว (ถั่วกินหัว) จากลักษณะรากที่มีหัว แต่ไม่นับเป็นสกุลมันแกว เนื่องจากแตกออกหลายหัวคล้ายมันเทศ หัวยาวและเนื้อในสีขาว (ต่างจากมันเทศ)[8] บางครั้งหัวบิดงอพับหรือมีผิวย่น ผิวสีน้ำตาลคล้ำ มีใบขนนก 3 ใบย่อยแต่ขอบใบเรียบ มีฝักเมล็ดยาวกว่าคล้ายถั่วฝักยาว[9] เมล็ดกลมแป้น[10] มีมากกว่า 4 สีขี้นไปตามสายพันธุ์ย่อย[11]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

มันแกว (P. erosus) เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีเถาเลื้อยพัน รากเป็นระบบรากแก้ว ซึ่งสะสมอาหารแล้วขยายตัวออกเป็นหัวใต้ดิน ทรงกลมแป้น อวบน้ำ เปลือกหัวบาง ผิวเรียบ[12] หัวเดี่ยว มีรูปร่างไม่แน่นอน[13] อาจมีพูนูนรอบ ๆ [14][15] เถาของมันแกว สามารถสูงได้ถึง 4-5 เมตร และอาจยาวได้ 20 ม. หากได้รับการค้ำหรือการยึดเกาะที่เหมาะสม รากมีความยาวได้ถึง 2 ม. และรากรวมหัวหนักได้ถึง 20 กก. (ขนาดหัว 10-15 ซม.)[6] หนักที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้คือ 23 กก. พบในปี 2010 ที่ฟิลิปปินส์[ต้องการอ้างอิง] (ซึ่งเรียกว่า ซิงกามาส)

ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ขอบใบจักใหญ่ ดอกช่อกระจะ ออกเดี่ยวๆ ที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน สีขาว หรือชมพู รูปทรงดอกถั่วทั่วไป ยาว 1.5-2 ซม.[15] ผลเป็นฝัก รูปขอบขนาน แบน มีขนเล็กน้อย ฝักอ่อนจะมีสีเขียว และสีเขียวแก่ สีน้ำตาล จนถึงสีดำเมื่อแก่ ยาวประมาณ 7-13 ซม. กว้าง 1.2-1.5 ซม.[15] ฝักเมล็ดมี 4-9 เมล็ด มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยม กว้าง-ยาวประมาณ 6-9 มม. สีเหลืองหรือออกแดง เป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เมล็ดแก่มีพิษ[12][15]

การเพาะพันธุ์ แก้

พื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกมันแกว มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 23-28 องศาเซลเซียส และมีฝนเฉลี่ย 400-1200 มิลลิเมตรต่อปี[16] มันแกวเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเหนียวปนทราย ดินร่วนปนทราย ดินทราย[17] ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,700 ม.

ปัจจุบันพบมีการปลูกเกือบทั่วประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี ชลบุรี สมุทรสาคร รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองคาย นครพนม ส่วนภาคอื่นมีปลูกน้อย[17] มันแกวเป็นพืชใช้น้ำน้อย ในประเทศไทยชาวอีสานนิยมปลูกเป็นพืชเสริมรายได้หลังหมดฤดูทำนา ในช่วงฤดูแล้งเดือนพฤศจิกายน ใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน[12] ปลูกโดยการหยอดเมล็ดเหมือนการปลูกถั่วทั่วไป[14]

การปลูกในทวีปอเมริกา มันแกวอ่อนไหวต่อความเย็นจัด และต้องใช้เวลาปลูกในเชิงพาณิชย์อย่างน้อย 5 - 9 เดือนโดยไม่มีน้ำค้างแข็ง เพื่อการเก็บเกี่ยวหัวขนาดใหญ่ ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีฤดูปลูกสั้น (พื้นที่ที่มีฤดูหนาวนานกว่า 3 เดือน) เว้นแต่จะเพาะเลี้ยงในเรือนกระจก การปลูกในพื้นที่เขตร้อนสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และในพื้นที่กึ่งเขตร้อนควรหว่านเมล็ดพันธุ์เมื่อดินอุ่นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ

การผลิตเชิงพาณิชย์ แก้

ในประเทศเม็กซิโก มีพื้นที่ปลูกมันแกวประมาณ 65,000 ไร่ 2.3-6.9 ตันต่อไร่ (15-45 ตันต่อเฮกตาร์)[18]

ในประเทศไทย บางพื้นที่สามารถปลูกมันแกวได้ 3 รุ่นต่อปี รุ่นแรกปลูกช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะได้ผลผลิตเฉลี่ย ไร่ละ 10 ตัน รุ่นที่ 2 ปลูกช่วงปลายฤดูฝนระหว่างเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม จะได้ผลผลิต 5-6 ตัน ต่อไร่ และรุ่นที่ 3 ปลูกช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะได้ผลผลิตเฉลี่ย ไร่ละ 4-5 ตัน ต่อไร่ มันแกวจะใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน[12][19][20] และในปี 2556 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันแกวในทุกภาค ทั้งหมด 8,708 ไร่ ผลผลิต 16,876 ตัน[20]

การปลูกโดยทั่วไป หัวมันแกวมีน้ำหนักประมาณ 0.5-2.5 กก. ต่อหัว[6]

การใช้ประโยชน์ แก้

ในการปรุงอาหาร แก้

ส่วนหัวของมันแกว (รากแก้ว) เป็นส่วนที่ใช้รับประทาน ลักษณะภายนอกมีสีน้ำตาลอ่อนภายในมีสีขาว เมื่อเคี้ยว รู้สึกกรอบคล้ายผลสาลี่สด อีกทั้งยังมีรสคล้ายแป้งแต่ออกหวาน โดยทั่วไปจะรับประทานสด หรือจิ้มกับพริกเกลือ แล้วยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวานอีกด้วย เช่น แกงส้ม แกงป่า ผัดเปรี้ยวหวาน ผัดไข่ เป็นส่วนผสมของไส้ซาลาเปา และทับทิมกรอบ (ใช้แทนแห้ว)

ในการกำจัดแมลง แก้

แต่ในทางกลับกัน มันแกวสามารถใช้เป็นยากำจัดศัตรูพืช โดยใช้ส่วนของเมล็ด ฝักแก่ ลำต้น และราก แต่ส่วนเมล็ดจะมีสารพิษมากที่สุด ทำให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงดีที่สุด นอกจากนั้นถ้ามนุษย์รับประทานเมล็ดเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณมาก สารพิษโรติโนน (rotenone) จะรบกวนระบบหายใจ อาจชัก และอาจเสียชีวิตได้

คุณค่าทางอาหาร แก้

คุณค่าทางอาหารของมันแกวนั้นประกอบด้วยน้ำ 90.5% โปรตีน 0.9% คาร์โบไฮเดรต 7.6% โดยรสหวานนั้นมาจากโอลิโกฟลุคโตส (oligofructose หรือ fructo-oligosaccharides) ซึ่งเป็นอินูลิน ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถเผาผลาญได้ ดังนั้นมันแกวจึงอาจเหมาะสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ควบคุมน้ำหนัก และเป็นแหล่งวิตามินซีที่ดี

ควรเก็บมันแกวในที่แห้ง อุณหภูมิระหว่าง 12 - 16 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้จะทำให้ส่วนรากช้ำได้ ถ้าเก็บรักษาถูกวิธีสามารถอยู่ได้นานถึง 1-2 เดือน

สารสำคัญในมันแกว แก้

เมล็ด เมื่อผ่าออกจะมีเนื้อภายในสีเหลือง สารสำคัญประกอบด้วยสารพิษในกลุ่มไอโซฟลาโวนอยด์ (isoflavonoid) ได้แก่ erosin, pachyrrhizone, pachyrrhizin, โรติโนน (rotenone) และสารเคมีอื่นๆ ได้แก่ 12-(A)- hydroxypachyrrhizone, 12-(A)-hydroxy lineonone, 12-(A)-hydroxymundu- serone, dolineone, erosone, dehydropachyrrhizone, erosenone, neodehydrorotenone, ซาโพนิน (saponins A และ B) เป็นพิษทำให้ปลาตายได้[15][21]

ระเบียงภาพ แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  • Mr. Pug, ผลไม้ไทยอร่อยได้ทุกฤดู, นิตยสารแม่บ้าน ปีที่ 31 ฉบับที่ 450, พฤศจิกายน 2549, หน้า 31
  1. Sanderson, Helen (2005). Prance, Ghillean; Nesbitt, Mark (บ.ก.). The Cultural History of Plants. Routledge. p. 67. ISBN 0415927463.
  2. "Pachyrhizus erosus (PROSEA) - PlantUse English". uses.plantnet-project.org.
  3. Sanderson, Helen (2005). Prance, Ghillean; Nesbitt, Mark (บ.ก.). The Cultural History of Plants. Routledge. p. 67. ISBN 0415927463.
  4. Sanderson, Helen (2005). Prance, Ghillean; Nesbitt, Mark (บ.ก.). The Cultural History of Plants. Routledge. p. 67. ISBN 0415927463.
  5. Cornelis Gijsbert Gerrit Jan van Steenis Steenis, CGGJ van. 1981. Flora, untuk sekolah di Indonesia. PT Pradnya Paramita, Jakarta. Hal. 238
  6. 6.0 6.1 6.2 "Yam Bean Market Guide". Tridge.
  7. 7.0 7.1 "Plant Genetic Resources Newsletter - Review of the Pachyrhizus tuberosus (Lam.) Spreng. cultivar groups in Peru". www.bioversityinternational.org.
  8. "(PDF) African Yam Bean (Sphenostylis Stenocarpa) tubers for nutritional security 1, 2 *Ojuederie OB and". ResearchGate (ภาษาอังกฤษ).
  9. Is the African Yam Bean Nigeria’s answer to help reduce its devastating food insecurity? Cordis EU Research Results. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2564.
  10. "Sphenostylis stenocarpa African Yam Bean PFAF Plant Database". pfaf.org.
  11. "The prospects of African yam bean: past and future importance". Heliyon (ภาษาอังกฤษ). 6 (11): e05458. 2020-11-01. doi:10.1016/j.heliyon.2020.e05458. ISSN 2405-8440.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 มันแกวกุดรัง ปลูกง่าย กำไรงาม ลงทุนหลักพัน โกยกำไรทะลุหมื่น. เทคโนโลยีชาวบ้าน. 12 เมษายน 2563.
  13. "มันแกว - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ". www.saranukromthai.or.th.
  14. 14.0 14.1 JOM (2016-12-19). "มันแกว". Thai Food.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 puechkaset (2014-12-20). "มันแกว และการปลูกมันแกว | พืชเกษตร.คอม".
  16. Zanklan, A. Séraphin; Becker, Heiko C.; Sørensen, Marten; Pawelzik, Elke; Grüneberg, Wolfgang J. (2018-03-01). "Genetic diversity in cultivated yam bean (Pachyrhizus spp.) evaluated through multivariate analysis of morphological and agronomic traits". Genetic Resources and Crop Evolution (ภาษาอังกฤษ). 65 (3): 811–843. doi:10.1007/s10722-017-0582-5. ISSN 1573-5109.
  17. 17.0 17.1 สาวบางแค22 (2563-04-12). "มันแกวกุดรัง ปลูกง่าย กำไรงาม ลงทุนหลักพัน โกยกำไรทะลุหมื่น". เทคโนโลยีชาวบ้าน.
  18. K. Gupta et al. SALAD CROPS | Root, Bulb, and Tuber Crops. 2003.
  19. "เกษตรกรกหันมาปลูก "มันแกว" ปลูกง่าย สร้างรายได้แบบสบายๆ เฉลี่ยสูงถึงไร่ละเกือบ 5 หมื่นบาท..!?? (ชมคลิป)". ทีนิวส์. 2018-02-18.
  20. 20.0 20.1 จันทร์สุดา คำปัน, พรชุลีย์ นิลวิเศษ, บำเพ็ญ เขียวหวาน. สภาพการผลิตและความต้องการการส่งเสริมการผลิตมันแกวของเกษตรกร ในอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2556.
  21. "พืชมีพิษ". www.rspg.or.th.