กบฏ ร.ศ. 130

ความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศสยาม

กบฏ ร.ศ. 130 เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสาธารณรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สาเหตุเกิดจากนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจต่อการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการบริหารราชการของพระมงกุฎเกล้า

กบฏ ร.ศ. 130

คณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130
วันที่1 เมษายน พ.ศ. 2455
(112 ปี 217 วัน)
สถานที่
ผล

การปฏิวัติล้มเหลว

  • ร้อยเอก ยุทธ คงอยู่ ยอมรับสารภาพโดยเปิดเผยแผนและชื่อทั้งหมดก่อนการก่อกบฏ
  • ในกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิด มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตสามคน จำคุกตลอดชีวิต 20 คน, จำคุก 20 ปี 32 คน, จำคุก 15 ปี 6 คน และอีก 30 คนจำคุก 12 ปี
  • ผู้สมรู้ร่วมคิดส่วนใหญ่ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือลดหย่อนโทษ
คู่สงคราม
ราชสำนักสยาม ฝ่ายกบฏ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
  • ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์
  • ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์
  • ร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ
  • ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
  • ร้อยตรี ปลั่ง บูรณโชติ
  • ร้อยตรี หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร
  • ร้อยตรี เขียน อุทัยกุล

เบื้องหลัง

แก้

กองทัพเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินมากที่สุดตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รายจ่ายด้านการป้องกันประเทศพุ่งสูงขึ้นจากการขยายขนาดกองทัพและการจัดระเบียบราชการ คิดเป็นร้อยละ 24.3 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาประเทศด้านเกษตรกรรม การศึกษา และการพาณิชย์ คิดเป็นเพียงร้อยละ 3.2, 2.6 และ 0.1 ตามลำดับ[1] อีกทั้งขุนนางสมัยนั้นยังมีอคติต่อการรับเงินทุนและให้สัมปทานกับต่างประเทศ ทำให้เงินทุนในสยามมีน้อย

สภาวะข้างต้นทำให้ "สมาคมอานาคิช" (Anarchist) มองว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นเหตุ[2] ความที่พระมงกุฎเกล้าทรงโปรดการเล่นโขนเล่นละคร และมีความใกล้ชิดกับเหล่ามหาดเล็ก ทำให้มหาดเล็กเป็นหน่วยราชการที่เติบโตรวดเร็วกว่าข้าราชการหน่วยอื่น แต่ละปีมีมหาดเล็กได้เลื่อนบรรดาศักดิ์มากกว่านายทหาร ข่าวการพระราชทานเงินถุงวันเกิดจำนวน 100 ชั่งให้แก่เจ้าพระยารามราฆพ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากทหารว่า "พระเจ้าแผ่นดินรักคนใช้มากดีไหม...ให้เงินทีตั้ง 100 ชั่ง หมายความว่ากระไร... พระเจ้าแผ่นดินเอาแต่เล่นโขน เอาเงินมาสร้างบ้านซื้อรถให้มหาดเล็ก...ทำไมพระราชาองค์นี้จึงโปรดมหาดเล็ก แต่ผู้หญิงไม่ชอบเลย"[3]

พระมงกุฎเกล้าทรงทราบดีว่าพระองค์ขาดความนิยมในหมู่ข้าราชการ จึงทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นในปี พ.ศ. 2454 เพื่อขยายเครือข่ายราชสำนักเข้าไปสู่ระบบราชการ เป็นการใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อให้กษัตริย์สามารถเชื่อมต่อกับข้าราชการโดยตรง[4] โดยอ้างว่าเป็นกำลังหนุนให้กองทัพ แต่เสือป่ากลับกลายเป็นสถาบันที่เบียดเบียนทั้งบทบาทและงบประมาณกองทัพ[4] การซ้อมรบระหว่างกองเสือป่ากับกองทัพก็หาได้เป็นการฝึกความชำนาญการรบอย่างจริงจัง เป็นไปเพื่อสร้างความสำราญให้แก่พระมงกุฎเกล้าที่ทรงคุมกองเสือป่าหลวงและชนะอยู่เสมอ แถมในช่วงแรก อาวุธของกองเสือป่าก็ถึงกับต้องยืมจากกองทัพบก ต่อมาจึงใช้เงินพระคลังข้างที่จัดซื้อ[5] การเพิ่มขึ้นของเสือป่าได้แทรกแซงระบบราชการ มีการเรียกข้าราชการที่เป็นสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบทำให้ขาดจากงานราชการปกติ หรือการใช้งบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนเสือป่า

เอกสารที่เขียนโดยร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ "บันทึกเรื่องความเสื่อมทรามและความเจริญของประเทศ" ได้ระบุไว้ว่า:

คนสอพลอนั้นมีอยู่ 2 จำพวก จำพวกหนึ่งทำการให้กษัตริย์โดยตรง ดังเช่นข้าทาสแลพวกบริวารของกษัตริย์เป็นต้น อีกจำพวกหนึ่งนั้นถึงแม้ว่าจะมีหน้าที่ตั้งแต่งให้ทำงานสำหรับรัฐบาลก็จริง แต่เอาเวลาไปใช้ในทางสอพลอเสียหมด ส่วนการที่ออฟฟิซนั้น ถึงแม้ว่าจะบกพร่องแลเสียหายอย่างไรก็ไม่ต้องคิด ขอแต่ให้ได้ใกล้ชิดกลิ้งเกลือกอยู่กับฝ่าบาทก็แล้วกัน ความดีความชอบจะไปข้างไหนเสีย ประเดี๋ยวได้ลาภประเดี๋ยวได้ยศ ฝ่ายพวกที่มัวหลงทำการอยู่ยังออฟฟิซก็ต้องอดโซไปตามกัน บางคนก็ติเตียนว่าคนเหล่านี้โง่ ไม่รู้จักหาความดีความชอบใส่ตัว มัวนั่งมุดหัวอยู่แต่ที่ออฟฟิซ[6]

ข้อความข้างต้นสะท้อนความคับแค้นที่มีต่อเหล่าข้าราชสำนักเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเขียนวิจารณ์ความชั่วร้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ว่า:

กษัตริย์จะกระทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง กษัตริย์จะกดขี่แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้ความทุกข์ยากด้วยประการหน่งประการใดทุกอย่าง ราษฎรที่ไม่มีความผิดกษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฆ่าฟันแลจองจาได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติแลท่ดินของราษฎรนั้นกษัตริย์จะเบียดเบียนเอามาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้น เช่นอย่างไล่ที่ทำวังเป็นต้น เงินประโยชน์สำหรับแผ่นดินที่เก็บได้มานั้น กษัตริย์จะรวบรวมเอามาบำรุงความศุขแลความรื่นเริงในส่วนตัวส่วนพระญาติวงษ์หรือกอบโกยให้ข้าทาสบ่าว แลเอามาบำเรอพวกประจบประแจงสอพลอมากน้อยเท่าใดก็ได้โดยไม่มีขีดขั้น เพราะฉน้นเงินที่ใช้ในการบำรุงบ้านเมืองจึงไม่มีเหลือ[6]

เหตุเฆี่ยนตีที่ระบุในเอกสารดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่เมื่อทหารชั้นนายดาบคนหนึ่งสังกัดกรมทหารราบที่ 2 แต่งนอกเครื่องแบบออกไปเที่ยวแถวสะพานมัฆวานฯ แล้วเกิดผิดใจกับมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมฯเกี่ยวกับแม่ค้าขายหมาก ถูกมหาดเล็กตีศีรษะ จึงวิ่งไปรายงาน ร้อยเอกโสม ผู้บังคับกองร้อย ขณะเดียวกันมหาดเล็กคนนั้นก็ยังตามไปร้องท้าอยู่หน้ากรม ร้อยเอกโสมกับนายดาบผู้ถูกตีและยังมีนายร้อยตรีอีกคนจึงออกไปหักกิ่งต้นก้ามปูหน้ากรมไล่ตีมหาดเล็กผู้มาร้องท้า ขณะที่กำลังชุลมุนอยู่นั้นพลทหารอีกสองคนมาเห็นเข้าจึงเข้าสมทบด้วย มหาดเล็กสู้ไม่ได้จึงวิ่งหนีเข้าวังปารุสไปทูลฟ้องสมเด็จพระบรมฯ จึงทรงรับสั่งให้ผู้บังคับการกรมสอบสวน ร้อยเอกโสมก็รับสารภาพ พระองค์จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูนพระบรมชนกให้ทรงเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้น แต่พระบรมชนกไม่ทรงเห็นชอบ ทั้งเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์ เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะการเฆี่ยนหลังเป็นจารีตนครบาลที่เลิกใช้ไปแล้ว ควรใช้กฎหมายอาญาที่ประกาศใช้อยู่ แต่สมเด็จพระบรมฯไม่ยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงจำพระทัยต้องอนุมัติให้เฆี่ยนตามที่ทูลขอ ปรากฏว่าคนถูกเฆี่ยนหลังเลือดอาบ ร้อยเอกโสมถึงกับสลบคาขื่อ เรื่องนี้สร้างความกระเทือนไปทั้งหน่วยทหารในพระนคร นักเรียนนายร้อยทหารบกหยุดเรียนเพื่อประท้วง กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ต้องพยายามปลอบโยนและไกล่เกลี่ยเรื่องจึงสงบลงได้ แต่ในใจนั้นเป็นความขมขื่นของทหารหลายคน

อย่างไรก็ตาม “หนังสือยุทธโกษ” ซึ่งเป็นนิตยสารของทหาร และ “ประกาศถอดยศนายทหารที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ปรากฏว่าข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม หลักฐานทั้งสองฉบับนี้ต่างระบุตรงกันว่าทหารเป็นฝ่ายทำร้ายมหาดเล็ก ไม่ใช่มหาดเล็กทำร้ายทหารตามที่คณะกบฏ ร.ศ. 130 อ้าง เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับพระราชบันทึกประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ที่ได้ทรงบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการที่มหาดเล็กถูกทหารรุมทำร้ายในขณะนั้นเอาไว้ด้วยและการที่ในหลวง ร.5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ พลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ สั่งลงโทษโบยนายทหารคนละ 30 ทีนั้น จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ 6) เลย เพราะการโบยนายทหารนั้น เป็นการลงโทษในความผิดฐานออกนอกกรมกองในเวลาวิกาล แล้วไปวิวาทกับบุคคลพลเรือน ซึ่งเป็นเรื่องผิดวินัยอย่างร้ายแรง และในสมัยนั้นก็ยังคงกำหนดโทษโบยอยู่

เหตุการณ์

แก้

คณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 (หากนับแบบเก่าจะเป็น 2454) ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ [7]

  • ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ เป็นหัวหน้า
  • ร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ สังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
  • ร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์
  • ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์
  • ร้อยตรีปลั่ง บูรณโชติ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์
  • ร้อยตรีหม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร สังกัดโรงเรียนนายสิบ
  • ร้อยตรีเขียน อุทัยกุล สังกัดโรงเรียนนายสิบ

และมีการประชุมอีกหลายครั้ง ที่สุดคณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน อันเป็นวันขึ้นปีใหม่สู่ พ.ศ. 2455 และเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ผู้ที่จับสลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร้อยเอกหลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่) เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งพระองค์พิโรธมาก ถึงกับจับคณะผู้ก่อการโยนใส่ห้องขังและกระชากอินทรธนูที่ติดอยู่บนเครื่องแบบที่บ่าด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง

ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษที่สร้างขึ้นใหม่ ถูกศาลทหารพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 คน จำคุกตลอดชีพ 20 คน และจำคุกนานลดหลั่นกันตามความผิด โทษที่น้อยคือจำคุกมีกำหนด 12 ปี ในข้อหาว่าจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองของพระราชอาณาจักรและทำการกบฏประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ความผิดของพวกเขาเหล่านี้มี "ข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้" ดังนั้น ผู้ที่มีชื่อถูกประหารชีวิต 3 คน จึงได้รับการลดโทษลงมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต และผู้ที่มี่ชื่อถูกจำคุกตลอดชีวิต 20 คนให้ลดโทษลงมาเหลือจำคุก 20 ปี อีก 68 คนซึ่งมีโทษจำคุกต่างกันนั้น ให้รอการลงอาญาไว้

คณะผู้ก่อการทั้งหมด 23 คนได้รับพระราชทานอภัยโทษในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, “การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-68)”, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517
  2. "เหตุการณ์ ร.ศ. 130 - ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า". wiki.kpi.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-21. สืบค้นเมื่อ 2021-09-29.
  3. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ.130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2542
  4. 4.0 4.1 ธรรมธวัช ธีระศิลป์, “การศึกษาเพื่อสร้างกองทัพสมัยใหม่กับอดุมการณ์ทางการเมืองของนายทหาร พ.ศ. 2430-2475”, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562
  5. เทพ บุญตานนท์, "การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6" กรุงเทพฯ: มติชน, 2559
  6. 6.0 6.1 ร.อ. ขุน ทวยหาญพิทักษ์, "ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ," ฟ้าเดียวกัน, 2554
  7. ณัฐนันท์ สอนพรินทร์. เจาะลึก สมาคมลับ กับการปฏิวัติโลก. กรุงเทพ : อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์, พ.ศ. 2550. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-7489-88-0

หนังสืออ่านเพิ่ม

แก้
  • แถมสุข นุ่มนนท์. ยังเติร์กรุ่นแรก กบฎ ร.ศ. 130. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, 2522.
  • วาสนา วงศ์สุรวัฒน์. จากปฏิวัติซินไห่ ถึง กบฏ ร.ศ. 130 อะไรคือปฏิวัติ? อะไรคือกบฏ? อะไรคือสำเร็จ? อะไรคือล้มเหลว? ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และทิพย์พาพร ตันติสุนทร (บก.), จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2556.
  • เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์. ปฏิวัติ ร.ศ. 130. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.
  • อัจฉราพร กมุทพิสมัย. กบฏ ร.ศ.130: กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่. กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2542.