ก.ศ.ร. กุหลาบ (23 มีนาคม พ.ศ. 2377 - พ.ศ. 2464) มีนามเดิมว่า กุหลาบ ตฤษณานนท์ (หนังสือบางเล่มเขียนว่า ตรุษ ตฤษณานนท์)[1][2] เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์ ผู้นำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กุหลาบ ตฤษณานนท์
เกิด23 มีนาคม พ.ศ. 2377
เมืองพระนคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
เสียชีวิตพ.ศ. 2464 (87 ปี)
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
นามปากกาก.ศ.ร. กุหลาบ
อาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์
คู่สมรสหุ่น
เปรม
บุตร11 คน

ประวัติ แก้

กุหลาบเกิดในครอบครัวขุนนางเก่ามาแต่กรุงศรีอยุธยา[3] เป็นบุตรชายของเส็ง ลูกจีนที่เกิดในไทย กับมารดาชื่อตรุษ เป็นหญิงเชื้อสายลาวเวียงจันทน์[4] เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2377 ณ เมืองพระนคร ที่โรงนาข้างวัดประดู่ มีพี่น้อง 13 คน กุหลาบเป็นคนสุดท้อง เมื่ออายุได้สี่ขวบ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขอไปเป็นบุตรบุญธรรม และเติบโตในวังหลวง เมื่อโตขึ้นจึงออกมาอยู่นอกวังในฐานะมหาดเล็กวังนอก บรรพชาเป็นสามเณร โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า เกศโร ซึ่งต่อมาได้นำชื่อนี้มาเป็นชื่อหน้าของตนตามแบบตะวันตกว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ[4][5]

นายฝรั่งได้พานายกุหลาบเดินทางไปติดต่อค้าขายในประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ ปีนัง สุมาตรา มะนิลา ปัตตาเวีย มาเก๊า ฮ่องกง กัลกัตตา และเคยเดินทางไปประเทศอังกฤษ ด้วยครั้งนั้น[5]

กุหลาบมีโอกาสได้เดินทางไปกับขุนนางไทยอีกครั้งในฐานะพนักงานบัญชี ไปประเทศจีนและญี่ปุ่น หยุดพักที่ไซ่ง่อน เพื่อจัดหาซื้อของสำหรับงานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ไปยังเมืองพระนคร[5]

เนื่องจากนายกุหลาบได้ใช้ชีวิตอยู่ในวังมานาน จึงได้รับอนุญาตจากกรมหลวงบดินทร แล้วมีโอกาสได้อ่านหนังสือตำราภาษาไทยจำนวนมาก และได้แอบคัดลอกหนังสือเหล่านั้น ทั้งพงศาวดาร และชีวประวัติบุคคลสำคัญ ออกมาพิมพ์เผยแพร่ให้กับบุคคลภายนอก โดยพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและถ้อยคำของหนังสือใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ บ้างก็ว่ากุหลาบได้แต่งเนื้อเรื่องขึ้นมาเองอย่างไม่เหมาะสม[6]

กุหลาบเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามออบเซิร์ฟเวอร์ และได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ "สยามประเภท" ในปี พ.ศ. 2440 เขียนบทความวิพากษ์สังคม เสียดสีชนชั้นสูงที่ทำตัวฟุ้งเฟ้อ อีกทั้งยังมีแนวคิดแบบพวกหัวก้าวหน้า ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก จึงเป็นที่เพ่งเล็งจากทางการ แต่โชคดีที่ไม่ได้ถูกลั่นแกล้งจนต้องติดคุกเหมือน เทียนวรรณ แต่กลับถูกส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลอาการทางจิตแทน[7][4]

ช่วงปั้นปลายชีวิต ก.ศ.ร. กุหลาบ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ. 2464 สิริอายุรวมได้ 87 ปี[3]

ชีวิตครอบครัว แก้

บิดาของเขาชื่อ เส็ง มีเชื้อสายจีน ส่วนมารดาชื่อตรุษ มีเชื้อสายลาวทางฟากเวียงจันทน์ ขณะตัวอักษรย่อนำหน้าชื่อ ‘ก.ศ.ร.’ มาจากฉายา ‘เกศโร’ ตอนเขาบวชพระ ทางด้านชีวิตครอบครัว ตอนอายุ 25 ปี กุหลาบได้สมรสกับหุ่น ธิดาของพระพี่เลี้ยงคง ทั้งสองร่วมเรียงเคียงหมอนจนมีบุตรธิดาด้วยกัน 9 คน เป็นผู้หญิง 8 คน และมีลูกชายคนเดียวซึ่งก็คือ ชาย หรือ ก.ห.ชาย

หลังจากหุ่นตาย กุหลาบสมรสใหม่กับเปรม มีบุตรธิดาด้วยกันอีก 2 คน[4][5]

แนวคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมือง แก้

จากการที่นายกุหลาบได้ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่อง (หรือแต่งเนื้อเรื่องขึ้นมาเองอย่างไม่เหมาะสม) และเสียดสีชนชั้นสูง จึงทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 5 ไม่พอพระทัย และใช้คำว่า "กุ" ซึ่งเป็นพยางค์ขึ้นต้นของชื่อนายกุหลาบ มาเป็นศัพท์สแลง ที่แปลว่าโกหก หรือสร้างเรื่อง[6] แล้วเป็นบุคคลทรงคุณวุฒิแนวคิดต่อรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ สมัยเด็กนักเรียนจนจบระดับมัธยมศึกษา[8]

ผลงาน แก้

รายชื่อบทความ ปาฐกถา และหนังสือต่างๆ ที่เป็นผลงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เช่น[9]

  • ปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ
  • นิตยสาร สยามประเภท (เริ่มออกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ร.ศ. 116 ตรงกับ พ.ศ. 2440)[10]
  • มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม
  • ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง
  • อภินิหารบรรพบุรุษ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ[11]
  • บาญชีหนังสือไทยต่างๆ ๑๕๐ เรื่อง ตั้งในกานนาเขนแนลเอกซฮิบิเช่อน ณ ท้องสนามหลวงในการเฉลิมพระนคร ตั้งแต่สร้างกรุงเทพมหานครบรรจบครบร้อยปี ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔
  • เรื่องขุดคลองต่างๆ
  • เฉลิมพระเกียรติกรุงสยาม
  • อานามสยามยุทธ์[12]
  • นิตยสาร ดับทุกข์มีสุข
  • พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ในหนังสือ อภินิหารบรรพบุรุษ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ)
  • ระยะทางราชทูตไทยไปกรุงปักกิ่ง[13]
  • นิราศยี่สาร[14]
  • ปาฐกถาเรื่อง การครองจีวรของพระธรรมยุติและพระมหานิกาย ณ วิทยาทานสฐาน
  • วิเคราะห์ เรื่อง คนไทยตัดผมแต่งตัวอย่างไร
  • อธิบดี
  • บำรุงปัญญาประชาชน
  • หนังสือพิมพ์ สยามออบเซอร์เวอร์ (ออกระหว่าง พ.ศ. 2442-2475)
  • ปฐมบรรพบุรุศย์-ดิกชันนาเรพระนามเจ้าต่างกรม ๓๖๔ พระองค์เรียงตามอักษร ก.-ฮ.
  • ธรรมวิทยานุศาสน์ ตำราบวชพระ-เณร

อ้างอิง แก้

  1. มาลี บุญศิริพันธ์. เสรีภาพหนังสือพิมพ์ไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548. 333 หน้า. หน้า 26. ISBN 978-974-5719-58-3
  2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วารสารธรรมศาสตร์. 17-18, (2533): ไม่ปรากฎเลขหน้า.
  3. 3.0 3.1 นามานุกรมวรรณคดีไทย
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ย้อนตำนาน ‘นักกุเรื่อง’ และเรื่องอ่านเล่นสะท้อนความเป็น ‘คนตลก’ ของบุตรชาย ก.ศ.ร. กุหลาบ Posted On 8 November 2018
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ แห่งกรุงสยาม
  6. 6.0 6.1 กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์
  7. “รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม” พระราชนิพนธ์ร.6 ล้อเลียน ก.ศ.ร.กุหลาบ-เทียนวรรณ? ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2564
  8. ปรีดีเคยเจอเขาทั้งสอง ! ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ สถาบันปรีดี สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563
  9. บุญพิสิฐ ศรีหงส์. นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 376 หน้า. ISBN 978-974-0215-66-0
  10. กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (พฤศจิกายน, 2563). ศิลปวัฒนธรรม: 18.
  11. นิธิ เอียวศรีวงศ์. "เชิงอรรถ บทที่ ๒", การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. 632 หน้า. หน้า 188. ISBN 978-974-3230-56-1
  12. บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ. "ภัยฝรั่ง" สมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. 190 หน้า. หน้า 9. ISBN 978-974-0200-04-8
  13. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี เล่มที่ 7-9. พระนคร : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี, 2516.
  14. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, ศิรประภา ดารามาตร์ และคณะ. สังคมและวัฒนธรรมชุมชนคนยี่สาร. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร, 2545. 273 หน้า. หน้า 233. ISBN 978-974-9044-37-7

บรรณานุกรม แก้

  • สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย พ.ศ. ๑๗๖๒ - ๒๕๐๐. กรุงเทพ : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, พ.ศ. 2547. 801 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-92371-5-3
  • ธงชัย วินิจจะกูล, "กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ: ความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์," อ่าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2554), หน้า 12-28.
  • บุญพิสิฐ ศรีหงส์ (ค้นคว้า) กองบรรณาธิการ (เรียบเรียง), "แกะปมจินตภาพ ก.ศ.ร. กุหลาบ จากพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ," อ่าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2554), หน้า 29-31.
  • บุญพิสิฐ ศรีหงส์. นาย ก.ศ.ร.กุหลาบ แห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้