นางสาวสุวรรณ (อังกฤษ: Suvarna of Siam) เป็นภาพยนตร์ใบ้ แนวรักใคร่ ขนาดสามสิบห้ามิลลิเมตร ความยาวแปดม้วน เขียนบทและกำกับโดย เฮนรี แม็กเร (Henry MacRae) เป็นเรื่องแรกที่ถ่ายทำในประเทศสยาม (ต่อมาคือ ประเทศไทย) โดยฮอลลีวูด ที่ใช้นักแสดงชาวสยามทั้งหมด เริ่มถ่ายทำเมื่อต้นเดือนมีนาคมและสร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน ในปี พ.ศ. 2466 ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ในจังหวัดนครศรีธรรมราช[1] และได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาด้วย ใช้ชื่อว่า "Kingdom of Heaven" เข้ามาฉายในประเทศไทยได้เพียง 3 วัน ฟิล์มต้นฉบับก็สูญหาย[2] ส่งผลให้ในปัจจุบันไม่เหลือสิ่งใดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากวัสดุประชาสัมพันธ์และของชำร่วยเล็ก ๆ น้อย ซึ่งรักษาไว้ที่ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)[3]

นางสาวสุวรรณ
เสงี่ยม นาวีเสถียร ผู้แสดงเป็นนางสาวสุวรรณ
กำกับเฮนรี แม็กเร
รอเบิร์ต เคอร์ (ผู้ช่วยกำกับ)
เขียนบทเฮนรี แม็กเร
อำนวยการสร้างเฮนรี แม็กเร
นักแสดงนำเสงี่ยม นาวีเสถียร
ขุนรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฏ)
หลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฏ)
กำกับภาพดาล คลอว์ซัน
ผู้จัดจำหน่ายยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์
วันฉาย23 มิถุนายน พ.ศ. 2466 (100 ปี)
ภาษาภาพยนตร์ใบ้
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

เบื้องหลัง

แก้

นายเฮนรี่ แอ แมคแร ผู้สร้างในสังกัดบริษัทยูนิเวอร์แซล แรกเริ่มไม่ได้มีแผนจะถ่ายทำหนัง แต่ได้ยินข้อมูลว่าสยามเป็นเมืองป่าเถื่อน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มีแต่ป่าดงพรไพร จึงถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี พอไม่ได้เป็นอย่างที่คิด กลับเป็นประเทศที่เจริญพอสมควร มีโรงภาพยนตร์ชุกชุม และมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม นายแมคแรเลยคิดจะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาว[4]

เรื่องย่อ

แก้

ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ "กล้าหาญ" มีรูปร่างหน้าตางดงาม เป็นข้าราชการในหอพระสมุดประจำพระนคร และพักอาศัยอยู่กับบิดาและมารดาซึ่งเขาเรียก "พ่อเย็น" กับ "แม่มะลิ" ตามลำดับ

วันหนึ่ง กล้าหาญและบิดาแจวเรือออกจากคลองบางหลวง ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ถึงหน้าวัดราชาธิวาส ก็เห็นสตรีผู้หนึ่งตกน้ำ เธอชื่อ "สุวรรณ" เป็นบุตรของ "คุณวณิช" กล้าหาญจึงกระโดดลงไปช่วยเอาขึ้นมาได้ นับแต่ได้เห็นหน้าเธอ กล้าหาญก็หลงรักเธอ ขณะเดียวกันเขาก็มีคู่แข่ง คือ "กรองแก้ว" ซึ่งหวังแต่งงานกับสุวรรณเช่นกัน

สุวรรณต้องเผชิญโชคดีและคราวเคราะห์ต่าง ๆ รวมถึงการขัดขวางของบิดา จนที่สุดก็พบคู่ชีวิต

นักแสดง

แก้

ผู้สร้าง

แก้
  • เฮนรี แม็กเร (Henry MacRae) - ผู้กำกับ
  • รอเบิร์ต เคอร์ (Robert Kerr) - (ผู้ช่วยผู้กำกับ), ใน ค.ศ. 1928 เขากลับมาที่ประเทศสยาม เพื่อกำกับภาพยนตร์ของเขาเอง ชื่อ "เดอะไวต์โรส" ("The White Rose") และออกฉายในกรุงเทพฯ ราวเดือนกันยายน ปีนั้น
  • ดาล คลอว์ซัน (Dal Clawson) - ช่างภาพ

งานสร้าง

แก้
 
เสงี่ยม นาวีเสถียร และ ขุมรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฎ) ในเรื่อง นางสาวสุวรรณ

ปี พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีกลุ่มนักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกันจากบริษัทยูนิเวอร์ซัล เฮนรี แมกเร เดินทางมาขอพระบรมราชานุญาตถ่ายภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ ซึ่งเป็นนิยายรักของชาวสยามและใช้คนไทยแสดงตลอดเรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวให้กรมรถไฟหลวงให้ความร่วมมือในการถ่ายทำ โดยมีผู้แสดงสำคัญในหนังเรื่องนี้ได้แก่ นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร นางรำในกรมมหรสพหลวง แสดงเป็น นางสาวสุวรรณ, ขุมรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฎ) ตัวโขนพระรามของกรมศิลปากร แสดงเป็น นายกล้าหาญ ตัวพระเอก และ หลวงภรตกรรรมโกศล (มงคล สุมนนัฎ) สมุหบาญชี แสดงเป็น นายกองแก้ว ซึ่งเป็นตัวโกง

สถานที่ถ่ายทำนอกจากในกรุงเทพฯแล้ว ยังเดินทางไปที่หัวหิน เพื่ออวดสถานที่ตากอากาศของกรุงสยามและที่เชียงใหม่อีกแห่ง เพื่อแสดงภาพการทำป่าไม้ แต่ในระหว่างถ่ายทำ มีข่าวว่าเฮนรี แมกเรไปถ่ายฉากประหารชีวิตด้วยการตัดคอที่ เชียงใหม่ เนื่องจากตามเนื้อเรื่อง พระเอกถูกใส่ร้ายจนเกือบโดนประหารชีวิต แต่นางเอกมาช่วยทัน[5] เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปจึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจพิจารณาก่อนฉาย[5] และให้ตัดฉากประหารชีวิตออก ภาพยนตร์เรื่องนี้ นำไปสู่กลไกการควบคุมการสร้างภาพยนตร์ในเวลาต่อมา[5]

เมื่อฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร รอบปฐมทัศน์ บริษัทสยามภาพยนตร์ ได้ขออนุญาตจากกรมรถไฟ เพื่อขอเก็บเงินบำรุงสภากาชาดไทย[5]

ชื่อเดิมและชื่ออื่น

แก้
  • Suwanna of Siam - (สุวรรณสยาม)
  • Miss Suwanna of Siam - (นางสาวสุวรรณสยาม)
  • Suvarna of Siam
  • Kingdom of Heaven
  • The Gold of Siam - (ทองแห่งสยาม)
  • สุวรรณสยาม

การออกฉาย

แก้

"นางสาวสุวรรณ" เป็นภาพยนตร์ใบ้ ขนาดแปดหลอด (eight-reel) ออกฉายครั้งแรกในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1923 ที่โรงภาพยนตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช วันรุ่งขึ้น เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนาการ, หอภาพยนตร์ฮ่องกง และโรงภาพยนตร์วิกตอเรีย หนังสือพิมพ์ "บางกอกเดลีเมล์" ฉบับวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1923 รายงานข่าวว่า[1]

"คืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้ชมต่างพากันไปทัศนาภาพยนตร์ "นางสาวสยาม" และช่วยเหลือสภากาชาดไทยโดยบังเอิญไปในคราวเดียวกัน เนื่องด้วยคณะผู้จัดสร้างมีความกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ในอันที่จะบริจาครายได้ทั้งหมดให้แก่สถาบันอันประเสริฐแห่งนี้ กรมหลวงนครราชสีมาก็เสด็จเข้าชมที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ซึ่งมีการจัดฉายอย่างดีเลิศ แน่นอนว่าความสนใจอันมหาศาลย่อมพุ่งตรงไปที่ภาพยนตร์ท้องถิ่นเรื่อง "นางสาวสยาม" ซึ่งคุณเฮนรี แม็กเร, คุณรอเบิร์ต เคอร์ และคุณดาล คลอว์ซัน ได้ดำเนินงานสร้างขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ภาพยนตร์นี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษประหนึ่งเป็นสิ่งมโหฬารสิ่งแรกที่ทำกันในประเทศนี้ และภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อขายฉากหลังอันประกอบด้วยภูมิประเทศนานัปการ กล่าวคือ ขายทัศนียภาพของประเทศ โดยเอาเรื่องราวของสุวรรณมานำเสนอผ่านฉากเหล่านี้ทั้งหมด อย่างที่ชอบทำกันในอุปรากร ส่วนเนื้อเรื่องนั้น ก็มีลักษณะเด่นอันจำเป็น ๆ พร้อมสรรพ คือ เรื่องประโลมโลก, ความรัก, ความชัง, ความแค้น, ผู้บริสุทธิ์ที่เคราะห์ร้าย, การกล่าวหาเท็จ, การฆ่าฟัน ฯลฯ ฯลฯ แล้วไปปิดท้ายอย่างเหมาะเจาะและงดงามด้วยฉากที่ผู้พลัดพรากจากกันนานได้กลับสู่เหย้าเดิมแล้วคู่รักก็เดินจูงมือกันไปสู่อนาคตอันสดใส ทั้งหมดนี้เดินทางผ่านฉากอันเป็นชีวิตจริง ตั้งแต่ภาพกรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรประทับนั่ง "รับการเฝ้าตามธรรมเนียม" ไปจนถึงฉาก "ช้างหัตถี", ฉากสนามกอล์ฟที่หัวหิน, พิธีแรกนาขวัญ, เพลิงไหม้พระนคร และแห่ล้อมด้วยหมู่พระที่นั่งและวัดวาอาราม กลายเป็นการโฆษณาชั้นเลิศให้การรถไฟสยามและความเจริญอื่น ๆ ของสยามไปโดยบังเอิญ ภาพยนตร์นี้น่าชมเสียจริง นับตั้งแต่เพียงเรื่องจุดยืนทางทัศนียภาพ และสิ่งอื่น ๆ ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องในการผลิต ต้องยกกิตติคุณและความชอบให้สำหรับงานแสนดีนี้ เยี่ยมจริง คืนนี้ จะฉายภาพยนตร์เรื่องนี้อีกที่โรงภาพยนตร์พัฒนาการและโรงภาพยนตร์ฮ่องกง และแน่นอนว่า เราขอแนะนำให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ได้ไปดู จงไปดูกันเสีย"

สิ่งสืบเนื่อง

แก้

ภาพยนตร์เรื่อง โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง พูดถึงเรื่องการมาถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้[6]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Richardson, Thomas (1993) Suwanna Interactive, Cornell University. (Retrieved from Internet Archive 2008-04-24)
  2. ข้อเท็จจริงท้ายเรื่อง ระบุในภาพยนตร์ โหน่งเท่ง นักเลงภูเขาทอง
  3. Sukwong, Dome and Suwannapak, Sawasdi. A Century of Thai Cinema, Thames and Hudson, 2001. ISBN 0-500-97603-1
  4. "แปลกแต่จริง!หนังไทยเรื่องแรกสร้างโดยบริษัทยูนิเวอร์แซล!เข้าใจผิดจะมาถ่ายป่า เจอสิ่งดีกว่าเลยเขียนสคริปต์สด!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-24. สืบค้นเมื่อ 2017-02-25.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-19. สืบค้นเมื่อ 2011-02-16.
  6. ""โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง" ตลก"จริง" หรือตลก"ชิน"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-16. สืบค้นเมื่อ 2016-02-16.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้