เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง

ผู้จัดการทีมฟุตบอลและอดีตนักฟุตบอลชาวไทย

ร้อยตำรวจโท เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (เกิด 11 สิงหาคม พ.ศ. 2516) ชื่อเล่น โก้ เป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ในตำแหน่งกองหน้า

เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง
เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ใน พ.ศ. 2560
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง
วันเกิด 11 สิงหาคม พ.ศ. 2516 (51 ปี)
สถานที่เกิด อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
ส่วนสูง 1.71 m (5 ft 7 12 in)
ตำแหน่ง กองหน้า
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
2534-2538 ธนาคารกรุงไทย 145 (121)
2538-2539 ราชประชา 27 (32)
2540-2541 เพื่อนตำรวจ 25 (27)
2541-2542 ปะลิส 21 (22)
2542-2543 ฮัดเดอส์ฟีลด์ทาวน์ 0 (0)
2543-2544 ราชประชา 26 (29)
2544-2545 สิงคโปร์อาร์มฟอร์ซ 20 (18)
2545-2549 ฮหว่างอัญซาลาย 75 (102)
ทีมชาติ
2535-2550 ไทย 134[1] (71)
จัดการทีม
2549 ฮหว่างอัญซาลาย
2551 จุฬาฯ-สินธนา
2551-2552 ชลบุรี
2553 ฮหว่างอัญซาลาย
2554-2555 บีบีซียู
2555 บางกอก
2556-2558 ไทย ยู-23
2557-2560 ไทย
2560 การท่าเรือ
2563-2566 ฮหว่างอัญซาลาย
2567 กงอันฮานอย

ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ชั้นยศ ร้อยตำรวจโท
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น

เกียรติศักดิ์เคยเป็นอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลทีมชาติไทย เขามีชื่อเล่นที่สื่อมวลชนสายกีฬาตั้งให้ว่า ซิโก้ ตามชื่อของนักฟุตบอลชาวบราซิลที่มีชื่อเสียงอันมีที่มาจากชื่อเล่น (โก้) ของเขาเอง

ประวัติ

ซิโก้เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2516 ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี[2] เป็นบุตรคนสุดท้องจากทั้งหมดสามคน ของสุริยา (บิดา) และริสม (มารดา)[3][4] มีพี่สาวสองคน แต่ภายหลังราวปี พ.ศ. 2525 เขาตามบิดามารดาย้ายกลับไปภูมิลำเนาเดิมที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น[5]จึงถือว่าเขาเป็นชาวจังหวัดขอนแก่นอย่างเต็มตัว

ซิโก้เริ่มศึกษาที่โรงเรียนบ้านหนองแดง อำเภอกุมภวาปี จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นจึงย้ายมาศึกษาต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนน้ำพองศึกษา อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงย้ายเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร ในระดับอนุปริญญา สาขาการบัญชี ที่โรงเรียนพาณิชยการกรุงเทพ และจบการศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และจบการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการกีฬา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม[6]

ชีวิตส่วนตัว ซิโก้สมรสกับอัสราภา (สกุลเดิม: วุฒิเวทย์)[7] เมื่อปี พ.ศ. 2545 มีบุตรสาวทั้งหมด 3 คน คือ อธิชา, มุกตาภา และกฤตยา[8][9]

ผู้เล่น

ซิโก้เริ่มแข่งขันฟุตบอลระดับประเทศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยติดทีมชาติไทยชุดเยาวชน ไปแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย และต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ก็ขึ้นไปติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรก ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 24 และตามด้วยการแข่งขันฟุตบอลเมอร์ไลออนคัพ ที่ประเทศสิงคโปร์ เขายิงประตูแรกได้ ขณะเล่นร่วมกับ ทีมชาติไทยชุดบี เมื่อวันที่ 9 กันยายน ซึ่งทำให้ชนะทีมชาติโปแลนด์ 1 ประตูต่อ 0 และประตูสุดท้าย ในทีมชาติไทยชุดใหญ่ โดยเป็นประตูที่ 100 ของเขากับทีมชาติไทย (หากนับเฉพาะนัดที่พบกับทีมชาติ จะอยู่ที่ 85 ประตู) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ขณะแข่งขันคิงส์คัพครั้งที่ 37 ซึ่งชนะสิงคโปร์ 2 ประตูต่อ 0

นอกจากนี้ ซิโก้ยังอยู่ในทีมชาติไทย ชุดที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอล ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 17, 18 และ 19 และชุดที่เป็นอันดับ 4 การแข่งขันฟุตบอล ในกีฬาเอเชียนเกมส์สองสมัยติดต่อกันคือ ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2541 ซึ่งซิโก้ยิงประตูขึ้นนำทีมชาติเกาหลีใต้ ก่อนที่ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล จะทำประตูโกลเดนโกลให้ทีมชาติไทยผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้าย และครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2545 และสามารถทำแฮตทริก ขณะเล่นให้ทีมชาติไทยมาแล้ว 4 ครั้งคือ ฟุตบอลชายซีเกมส์ครั้งที่ 20 นัดทีมชาติไทยชนะฟิลิปปินส์ 9 ประตูต่อ 0 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2542, นัดกระชับมิตร ทีมชาติไทยชนะทีมชาติคูเวต 5 ประตูต่อ 4 เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2544, ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ทีมชาติไทยชนะปากีสถาน 6 ประตูต่อ 0 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 และ ไทเกอร์คัพ 2002 รอบแบ่งกลุ่มนัดแรก (กลุ่มบี) ทีมชาติไทยชนะทีมชาติลาว 5 ประตูต่อ 0 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2545

อนึ่ง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) บันทึกว่าซิโก้เป็นผู้ทำประตูสูงสุด ให้แก่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ที่ 71 ประตู จากการลงเล่น 134 นัด ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่รับรองโดยฟีฟ่า[10] โดยนัดสุดท้ายที่ซิโก้ลงเล่นกับทีมชาติไทยชุดใหญ่คือนัดกระชับมิตรที่พบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550 โดยเสมอกันที่ 1-1 ทั้งนี้ เมื่อซิโก้สามารถยิงประตูได้ จะแสดงความดีใจด้วยการกระโดดตีลังกา กระทั่งสื่อมวลชนสายกีฬา ตั้งฉายาให้ว่าเป็น จอมตีลังกา

ซิโก้มีชื่อติดอันดับที่ 10 ของนักเตะที่ยิงประตูสูงสุดในนามทีมชาติ โดยในระหว่างปี 2535–2550 ซิโก้ติดทีมชาติ 131 นัด ยิง 70 ประตู ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยโดย "เดอะ มิเรอร์" สื่อชั้นนำของประเทศอังกฤษ[11]

ผู้ฝึกสอน

เมื่อปี พ.ศ. 2545 ขณะยังเป็นผู้เล่น ซิโก้ได้ริเริ่มก่อตั้งโครงการ ซิโก้ทิปส์ สัญจร เพื่อเปิดทำการฝึกสอนฟุตบอล แก่เยาวชนทั่วประเทศ ควบคู่กับผลิตรายการ ฝึกสอนทักษะฟุตบอลทางโทรทัศน์ โดยใช้ชื่อเดียวกันว่า ซิโก้ทิปส์ จนถึงปีถัดมา (พ.ศ. 2546) ต่อมาเขาผ่านการอบรม ผู้ฝึกสอนระดับบี (B Licence) ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 และเริ่มเป็นผู้ฝึกสอนครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยรับตำแหน่งผู้จัดการทีม สโมสรฟุตบอลฮหว่างอัญซาลาย (ฮอง อันห์ ยาลาย) ซึ่งร่วมแข่งขันอยู่กับวี-ลีกของเวียดนาม ขณะที่เขายังเป็นผู้เล่นให้กับสโมสรแห่งนี้ด้วย

เมื่อซิโก้ประกาศยุติอาชีพนักฟุตบอล ในปลายปี พ.ศ. 2550 เขาผลิตวิดีโอซีดีและหนังสือ ซึ่งถอดความจากรายการซิโก้ทิปส์ โดยในปีเดียวกัน ยังเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันฝึกสอนฟุตบอลของกรุงเทพมหานคร และรับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ของจุฬาฯ-สินธนา ซึ่งเพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาร่วมแข่งขันไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก 2551 ซึ่งสโมสรดังกล่าวจบฤดูกาลในอันดับที่ 8 จากนั้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ซิโก้ย้ายไปเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ให้กับสโมสรฟุตบอลชลบุรีในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก 2552 ซึ่งจบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับที่ 2 ของลีก และสามารถเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายของรายการเอเอฟซีคัพ ทว่าเมื่อจบฤดูกาลนั้น เขาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถนำสโมสรชนะเลิศในลีก

หลังจากนั้น ซิโก้ก็ได้กลับไปรับหน้าที่ผู้จัดการทีม ให้กับสโมสรฮหว่างอัญซาลาย อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยอยู่ในอันดับที่ 7 ของวี-ลีก เมื่อจบฤดูกาลดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 เขากลับมาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ให้กับสโมสรฟุตบอลบีบีซียู ซึ่งร่วมแข่งขันอยู่ในไทยลีกดิวิชั่น 1 ซึ่งจบฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 3 สโมสรจึงสามารถเลื่อนชั้น ขึ้นไปแข่งขันในไทยพรีเมียร์ลีก ทว่าในไทยพรีเมียร์ลีก 2555 บีบีซียูชนะเพียงนัดเดียว จากสิบนัดแรกของฤดูกาล เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 ซิโก้จึงประกาศลาออก แล้วเข้ารับงานหัวหน้าผู้ฝึกสอน ให้กับสโมสรฟุตบอลบางกอก เอฟซีในไทยลีกดิวิชั่น 1 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในอันดับท้ายๆ ของตารางคะแนน แต่เขาสามารถพาทีมจบฤดูกาลในอันดับที่ 10 ของลีก สโมสรจึงรอดพ้นจากการตกชั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่งตั้งให้ซิโก้เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ก่อนที่จะนำทีมชาติไทยชุดดังกล่าวลงแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรกับทีมชาติจีน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน[12] โดยทีมชาติไทยสามารถเอาชนะทีมชาติจีน ด้วยการทำประตูมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 5 ต่อ 1 โดยในปลายปีเดียวกัน ซิโก้คุมทีมชาติไทยชุดเดียวกันคว้าเหรียญทองในการแข่งขันฟุตบอลชายกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 ที่กรุงเนปยีดอของประเทศพม่า โดยในการชิงชนะเลิศ ทีมชาติไทยชนะอินโดนีเซีย 1 ประตูต่อ 0[13]

ส่วนการแข่งขันฟุตบอลชาย ในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2557 ที่นครอินช็อนของเกาหลีใต้ ซิโก้ใช้ผู้เล่นชุดเดิม ชนะ 5 นัดแรก เสียเพียง 3 ประตู แต่อยู่ใน 2 นัดสุดท้าย ซึ่งแพ้ทั้งหมด จึงได้อันดับ 4 ของการแข่งขันดังกล่าว[14] และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ซิโก้ก็คุมทีมชาติไทยชุดใหญ่เป็นครั้งแรก โดยนักเตะแกนหลักมาจากชุดเดิม เข้าแข่งขัน เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014 และคว้าแชมป์ได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 4 ของทีมชาติไทย ทั้งเป็นการกลับมาชนะเลิศรายการนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยนัดชิงชนะเลิศ สามารถเอาชนะทีมชาติมาเลเซีย ด้วยประตูรวมสองนัด 4 ประตูต่อ 3[15]

ในปี พ.ศ. 2558 ซิโก้พาทีมชาติไทยชุดเดิมคว้ารางวัลรองชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 43 โดยนัดสุดท้ายเสมอเกาหลีใต้ 0 ประตูต่อ 0[16] โดยหลังจบเกมซิโก้ก็ออกมาขอโทษแฟนบอลไทยที่ไม่สามารถคว้าแชมป์คิงส์คัพได้ โดยบอกว่าลูกทีมสู้อย่างเต็มที่ถึงที่สุดแล้ว[17] ต่อมาซิโก้ก็เรียกตัวนักฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีชุดใหม่ เข้าแข่งขันฟุตบอลเอเชียเยาวชนอายุไม่เกิน 23 ปี 2016 รอบคัดเลือก และผ่านเข้ารอบสุดท้ายในฐานะอันดับ 2 ที่ดีที่สุด ก่อนจะมอบหมายให้ โชคทวี พรหมรัตน์ อดีตนักฟุตบอล เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยชุดนี้เป็นการชั่วคราว[18] ซิโก้จีงไม่ได้คุมทีมชุด U-23 ที่ลงแข่งขันซีเกมส์ 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ โดยนัดสุดท้ายไทยชนะพม่า 3 ประตูต่อ 0[19] ก่อนหน้านี้โชคทวีเคยคุมทีมชุด U-23 มาแล้วในการแข่งขันแมตช์ความทรงจำอำลา "โค้ชแต๊ก อรรถพล ปุษปาคม" โดยแข่งกับชุดใหญ่ของซิโก้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ซึ่งชุดใหญ่ชนะชุด U-23 4 ประตูต่อ 3[20] ส่วนในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ซิโก้แต่งตั้ง ธีราทร บุญมาทัน จาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นกัปตันทีมชุดใหญ่[21] โดยทีมอยู่ในกลุ่ม F ซึ่งปัจจุบันยังเป็นจ่าฝูงของกลุ่ม มีคะแนนนำอิรักอยู่ 5 คะแนน ชนะ 4 เสมอ 1 ยังไม่แพ้แม้แต่นัดเดียว และในปลายปีเดียวกัน ซิโก้กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยชุด U-23 แทนที่ โชคทวี พรหมรัตน์ ตามเดิม และปลายปีเดียวกัน ซิโก้ก็ได้แต่งตั้ง ชนาธิป สรงกระสินธ์ จากบีอีซี-เทโรศาสน เป็นกัปตันทีมชาติไทยชุด U-23[22]

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2559 ซิโก้ได้คุมทีมชุด U-23 ลงแข่งขันนัดกระชับมิตรกับเยเมน ที่โดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม โดยไทยชนะไป 1 ประตูต่อ 0 จากลูกจุดโทษของ ปกรณ์ เปรมภักดิ์[23] และคุมทีมชุดเดียวกันแข่งขันฟุตบอลเอเชียเยาวชนอายุไม่เกิน 23 ปี 2016 รอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่ม B แต่ทำได้เพียงแค่เสมอกับซาอุดิอาระเบีย 1-1 โดยลูกยิงของไทยมาจาก ภิญโญ อินพินิจ[24][25], แพ้ญี่ปุ่น 0-4[26] และเสมอกับเกาหลีเหนือ 2-2 โดยลูกยิงของไทยมาจาก นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ตกรอบแบ่งกลุ่มตามกฎมินิลีก โดยเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่ม[27][28]

และในวันที่ 24 มีนาคม ปีเดียวกัน ซิโก้ได้คุมทีมชุดใหญ่ และพาทีมเสมออิรัก 2-2 ทำให้สามารถผ่านเข้าสู่รอบที่ 3 ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชียได้สำเร็จด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม[29]

และซิโก้ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับทีมชาติไทยอีกครั้ง ในวันที่ 3 – 5 มิถุนายน ปีเดียวกัน ด้วยการพาทีมชุดเดิมคว้ารางวัลชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 44 จากการชนะในการดวลจุดโทษกับซีเรียด้วยสกอร์รวม 9-8 หลังจากใน 90 นาทีเสมอกัน 2-2[30] และชนะจอร์แดน 2-0 นับเป็นการคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังจากครั้งล่าสุดคว้าแชมป์ในครั้งที่ 38 เมื่อปี พ.ศ. 2550 และในปลายปีนั้น ซิโก้สามารถพาทีมชาติไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุดเดิมคว้าแชมป์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2016 ได้ นับเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนแรกที่สามารถพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์รายการนี้ได้ 2 สมัยติดกัน

แต่ในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบที่ 3 ประกฏว่าซิโก้ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่มาก แข่งไป 7 นัด เสมอเพียงนัดเดียวกับออสเตรเลีย แต่นอกจากนั้นแพ้รวด จนกระทั่งวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 ซิโก้จึงประกาศผ่านอินสตาแกรมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย[31]

งานอื่น ๆ

  • 2543 - ร่วมดำเนินโครงการ ฟุตบอลเพื่อน้อง เพื่อบริจาคอุปกรณ์กีฬา และสื่อการเรียนการสอน แก่นักเรียนในชนบท
  • 2544 - เขียนหนังสือ ล้านกำลังใจให้ใครคนหนึ่ง
  • 2546 - ก่อตั้ง "บริษัท สปอร์ตฮีโร่ จำกัด" ร่วมกับอัสราภา ภรรยา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อประกอบกิจการ จัดการแข่งขันกีฬาทุกชนิด รวมทั้งประกอบกิจการผลิต จำหน่าย นายหน้าและตัวแทนสื่อโฆษณาทุกชนิด
  • 2547 - จัดแข่งขันฟุตบอลนักเรียน อายุไม่เกิน 18 ปี ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สปอนเซอร์ ซิโก้ ยูธ ทัวร์นาเมนต์ (เป็นประจำทุกปี) เพื่อค้นหานักฟุตบอลเยาวชน ที่มีความสามารถโดดเด่นให้แก่วงการฟุตบอล
  • 2549 - เขียนหนังสือ เสนาเมือง ชีวิตตีลังกา (ฉบับภาษาไทย) และ KIATISUK (ฉบับภาษาเวียดนาม)

เกียรติประวัติ

นักฟุตบอล

ทีมชาติไทย

  • 2536 ชนะเลิศ ซีเกมส์ครั้งที่ 17 ประเทศสิงคโปร์
  • 2537 ชนะเลิศ คิงส์คัพ ครั้งที่ 25
  • 2537 ชนะเลิศ อินดิเพนเดนต์คัพ ครั้งที่ 7 ประเทศอินโดนีเซีย
  • 2538 ชนะเลิศ ซีเกมส์ครั้งที่ 18 ประเทศไทย
  • 2539 ชนะเลิศ ไทเกอร์คัพครั้งที่ 1 ประเทศสิงคโปร์
  • 2540 ชนะเลิศ ซีเกมส์ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย
  • 2541 อันดับที่ 4 เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ประเทศไทย
  • 2542 ชนะเลิศ ซีเกมส์ครั้งที่ 20 ประเทศบรูไน
  • 2543 ชนะเลิศ คิงส์คัพ ครั้งที่ 31
  • 2543 ชนะเลิศ ไทเกอร์คัพครั้งที่ 3 ประเทศไทย
  • 2544 รอบ 10 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย
  • 2545 อันดับที่ 4 เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ประเทศเกาหลีใต้
  • 2545 ชนะเลิศ ไทเกอร์คัพครั้งที่ 4 ประเทศสิงคโปร์/อินโดนีเซีย

สโมสร

  • 2532 ชนะเลิศ ถ้วย ก (ธนาคารกรุงไทย)
  • 2536 ชนะเลิศ ถ้วย ข (ธนาคารกรุงไทย)
  • 2541 ชนะเลิศ กีฬากองทัพไทย (ตำรวจ)
  • 2542 รองชนะเลิศ มาเลเซียซูเปอร์ลีก (ปะลิส)
  • 2543 รองชนะเลิศ ดิวิชั่น 1 อังกฤษ (ฮัดเดอส์ฟีลด์ทาวน์)
  • 2545 ชนะเลิศ เอส.ลีก (สิงคโปร์ อาร์มฟอร์ซ)
  • 2546 ชนะเลิศ วี-ลีก (ฮหว่างอัญซาลาย)
  • 2546 ชนะเลิศ เวียดนามซูเปอร์คัพ (ฮหว่างอัญซาลาย)
  • 2547 ชนะเลิศ วี-ลีก (ฮหว่างอัญซาลาย)
  • 2547 ชนะเลิศ เวียดนามซูเปอร์คัพ (ฮหว่างอัญซาลาย)

หัวหน้าผู้ฝึกสอน

ทีมชาติไทย

ทีมชาติไทย U-23

สโมสร

ชลบุรี
ฮหว่างอัญซาลาย

เกียรติประวัติส่วนบุคคลอื่น ๆ

  • 2530 รางวัลดาวซัลโว ฟุตบอลเขตการศึกษาแห่งประเทศไทย
  • 2542 รางวัลดาวซัลโว ซีเกมส์ครั้งที่ 20 ประเทศบรูไน
  • 2543 เกียรติประวัติ ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมไทย “คนต้นแบบ” โดยสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
  • 2543 รางวัลนักฟุตบอลทรงคุณค่า ไทเกอร์คัพครั้งที่ 3 ประเทศไทย
  • 2543 รางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม อีเอสพีเอ็น
  • 2543 รางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยม อีเอสพีเอ็น
  • 2544 รางวัลดาราเอเชีย
  • 2544 รางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยม คมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 1
  • 2544 รางวัลนักฟุตบอลดีเด่น ซันโย
  • 2546 รางวัลนักกีฬาต่างชาติยอดเยี่ยม ประเทศเวียดนาม
  • 2547 รางวัลนักกีฬาต่างชาติยอดเยี่ยม ประเทศเวียดนาม
  • 2548 เข็มเกียรติยศ ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ฟุตบอลเวียดนาม จากรัฐมนตรีกีฬาประเทศเวียดนาม
  • 2547-ปัจจุบัน ผู้ให้การสนับสนุนกิจการ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
  • 2550 โล่ประกาศเกียรติคุณ ชมรมเชียร์ไทย
  • 2551 รางวัลสุดยอดคนต้นแบบ เมืองขอนแก่น
  • 2557 รางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยม สยามกีฬาอวอร์ดส์ ครั้งที่ 8[32][33]
  • 2557 รางวัลผู้ฝึกสอนนักกีฬาสมัครเล่นดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ[34]
  • 2557 รางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยม สยามโกลเดนอวอร์ดส์
  • 2558 ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาพลศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง[35]
  • 2558 รางวัลผู้ฝึกสอนนักกีฬาสมัครเล่นดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ
  • 2558 บุคคลแห่งปี สำนักข่าวเนชั่น[36]
  • 2558 เอ็มไทยท็อปทอล์กอะเบาต์ 2015 สาขาบุคคลชายที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด[37]
  • 2559 Fever Awards 2016 รางวัลนักกีฬาฟีเวอร์ปี 2016

การทำประตูในทีมชาติชุดใหญ่

# วันที่ สนาม คู่แข่ง คะแนน ผลการแข่งขัน รายการแข่งขัน
1. 11 เมษายน 2536 โตเกียว ญี่ปุ่น   ศรีลังกา 1-0 ชนะ ฟุตบอลโลก 1994 รอบคัดเลือก
2. 5 พฤษภาคม 2536 ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   บังกลาเทศ 4-1 ชนะ ฟุตบอลโลก 1994 รอบคัดเลือก
3. 7 มิถุนายน 2536 สิงคโปร์   พม่า 2-0 ชนะ ซีเกมส์ 1993
4. 13 มิถุนายน 2536 สิงคโปร์   ลาว 4-1 ชนะ ซีเกมส์ 1993
5. 20 มิถุนายน 2536 สิงคโปร์   พม่า 4-3 ชนะ ซีเกมส์ 1993
6. 9 ตุลาคม 2537 ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น   มาเลเซีย 1-1 เสมอ เอเชียนเกมส์ 1994
7. 12 ธันวาคม 2538 เชียงใหม่ ไทย   กัมพูชา 9-0 ชนะ ซีเกมส์ 1995
8. 12 ธันวาคม 2538 เชียงใหม่ ไทย   กัมพูชา 9-0 ชนะ ซีเกมส์ 1995
9. 16 กุมภาพันธ์ 2539 กรุงเทพ ไทย   ฟินแลนด์ 5-2 ชนะ คิงส์คัพ 1996
10. 27 มิถุนายน 2539 กรุงเทพ ไทย   มัลดีฟส์ 8-0 ชนะ เอเชียนคัพ 1996 รอบคัดเลือก
11. 27 มิถุนายน 2539 กรุงเทพ ไทย   มัลดีฟส์ 8-0 ชนะ เอเชียนคัพ 1996 รอบคัดเลือก
12. 29 มิถุนายน 2539 กรุงเทพ ไทย   พม่า 5-1 ชนะ เอเชียนคัพ 1996 รอบคัดเลือก
13. 7 กรกฎาคม 2539 สิงคโปร์   พม่า 7-1 ชนะ เอเชียนคัพ 1996 รอบคัดเลือก
14. 7 กรกฎาคม 2539 สิงคโปร์   พม่า 7-1 ชนะ เอเชียนคัพ 1996 รอบคัดเลือก
15. 9 กรกฎาคม 2539 สิงคโปร์   สิงคโปร์ 2-2 เสมอ เอเชียนคัพ 1996 รอบคัดเลือก
16. 2 กันยายน 2539 สิงคโปร์   ฟิลิปปินส์ 5-0 ชนะ ไทเกอร์คัพ 1996
17. 6 กันยายน 2539 สิงคโปร์   บรูไน 6-0 ชนะ ไทเกอร์คัพ 1996
18. 13 กันยายน 2539 สิงคโปร์   เวียดนาม 4-2 ชนะ ไทเกอร์คัพ 1996
19. 15 กันยายน 2539 สิงคโปร์   มาเลเซีย 1-0 ชนะ ไทเกอร์คัพ 1996
20. 8 ธันวาคม 2539 ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   อิหร่าน 1-3 แพ้ เอเชียนคัพ 1996
21. 15 มีนาคม 2540 กรุงเทพ ไทย   ญี่ปุ่น 3-1 ชนะ กระชับมิตร
22. 15 มีนาคม 2540 กรุงเทพ ไทย   ญี่ปุ่น 3-1 ชนะ กระชับมิตร
23. 7 ตุลาคม 2540 จาการ์ตา อินโดนีเซีย   บรูไน 6-0 ชนะ ซีเกมส์ 1997
24. 7 ตุลาคม 2540 จาการ์ตา อินโดนีเซีย   บรูไน 6-0 ชนะ ซีเกมส์ 1997
25. 12 ตุลาคม 2540 จาการ์ตา อินโดนีเซีย   กัมพูชา 4-0 ชนะ ซีเกมส์ 1997
26. 16 ตุลาคม 2540 จาการ์ตา อินโดนีเซีย   เวียดนาม 2-1 ชนะ ซีเกมส์ 1997
27. 16 ตุลาคม 2540 จาการ์ตา อินโดนีเซีย   เวียดนาม 2-1 ชนะ ซีเกมส์ 1997
28. 22 มีนาคม 2541 กรุงเทพ ไทย   คาซัคสถาน 1-0 ชนะ กระชับมิตร
29. 21 ตุลาคม 2541 กรุงเทพ ไทย   เติร์กเมนิสถาน 3-3 เสมอ กระชับมิตร
30. 2 ธันวาคม 2541 กรุงเทพ ไทย   ฮ่องกง 5-0 ชนะ เอเชียนเกมส์ 1998
31. 2 ธันวาคม 2541 กรุงเทพ ไทย   ฮ่องกง 5-0 ชนะ เอเชียนเกมส์ 1998
32. 14 ธันวาคม 2541 กรุงเทพ ไทย   เกาหลีใต้ 2-1 ชนะ เอเชียนเกมส์ 1998
33. 16 มิถุนายน 2542 กรุงเทพ ไทย   นิวซีแลนด์ 2-2 เสมอ กระชับมิตร
34. 16 มิถุนายน 2542 กรุงเทพ ไทย   นิวซีแลนด์ 2-2 เสมอ กระชับมิตร
35. 30 กรกฎาคม 2542 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน   ฟิลิปปินส์ 9-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
36. 30 กรกฎาคม 2542 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน   ฟิลิปปินส์ 9-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
37. 30 กรกฎาคม 2542 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน   ฟิลิปปินส์ 9-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
38. 30 กรกฎาคม 2542 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน   ฟิลิปปินส์ 9-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
39. 1 สิงหาคม 2542 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน   ลาว 4-1 ชนะ ซีเกมส์ 1999
40. 8 สิงหาคม 2542 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน   พม่า 7-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
41. 8 สิงหาคม 2542 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน   พม่า 7-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
42. 6 พฤศจิกายน 2543 เชียงใหม่ ไทย   พม่า 3-1 ชนะ ไทเกอร์คัพ 2000
43. 10 พฤศจิกายน 2543 เชียงใหม่ ไทย   อินโดนีเซีย 4-1 ชนะ ไทเกอร์คัพ 2000
44. 12 พฤศจิกายน 2543 เชียงใหม่ ไทย   ฟิลิปปินส์ 2-0 ชนะ ไทเกอร์คัพ 2000
45. 16 พฤศจิกายน 2543 เชียงใหม่ ไทย   มาเลเซีย 2-0 ชนะ ไทเกอร์คัพ 2000
46. 23 มกราคม 2544 กรุงเทพ ไทย   คูเวต 5-4 ชนะ กระชับมิตร
47. 23 มกราคม 2544 กรุงเทพ ไทย   คูเวต 5-4 ชนะ กระชับมิตร
48. 23 มกราคม 2544 กรุงเทพ ไทย   คูเวต 5-4 ชนะ กระชับมิตร
49. 17 กุมภาพันธ์ 2544 กรุงเทพ ไทย   กาตาร์ 2-0 ชนะ คิงส์คัพ 2001
50. 17 กุมภาพันธ์ 2544 กรุงเทพ ไทย   กาตาร์ 2-0 ชนะ คิงส์คัพ 2001
51. 13 พฤษภาคม 2544 เบรุต เลบานอน   ศรีลังกา 4-2 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
52. 13 มกราคม 2544 เบรุต เลบานอน   ศรีลังกา 4-2 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
53. 17 พฤษภาคม 2544 เบรุต เลบานอน   เลบานอน 2-1 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
54. 26 พฤษภาคม 2544 กรุงเทพ ไทย   ศรีลังกา 3-0 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
55. 26 พฤษภาคม 2544 กรุงเทพ ไทย   ศรีลังกา 3-0 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
56. 28 พฤษภาคม 2544 กรุงเทพ ไทย   ปากีสถาน 6-0 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
57. 28 พฤษภาคม 2544 กรุงเทพ ไทย   ปากีสถาน 6-0 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
58. 28 พฤษภาคม 2544 กรุงเทพ ไทย   ปากีสถาน 6-0 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
59. 28 พฤษภาคม 2544 กรุงเทพ ไทย   ปากีสถาน 6-0 ชนะ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
60. 13 สิงหาคม 2544 สิงคโปร์   สิงคโปร์ 5-0 ชนะ กระชับมิตร
61. 13 สิงหาคม 2544 สิงคโปร์   สิงคโปร์ 5-0 ชนะ กระชับมิตร
62. 6 กันยายน 2544 มานามา บาห์เรน   บาห์เรน 1-1 เสมอ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
63. 18 ธันวาคม 2545 สิงคโปร์   ลาว 5-1 ชนะ ไทเกอร์คัพ 2002
64. 18 ธันวาคม 2545 สิงคโปร์   ลาว 5-1 ชนะ ไทเกอร์คัพ 2002
65. 18 ธันวาคม 2545 สิงคโปร์   ลาว 5-1 ชนะ ไทเกอร์คัพ 2002
66. 31 มีนาคม 2547 ซานา เยเมน   เยเมน 3-0 ชนะ ฟุตบอลโลก 2006 รอบคัดเลือก
67. 9 มิถุนายน 2547 กรุงเทพ ไทย   เกาหลีเหนือ 1-4 แพ้ ฟุตบอลโลก 2006 รอบคัดเลือก
68. 26 ธันวาคม 2549 กรุงเทพ ไทย   สิงคโปร์ 2-0 ชนะ คิงส์คัพ 2006
69. 26 ธันวาคม 2549 กรุงเทพ ไทย   สิงคโปร์ 2-0 ชนะ คิงส์คัพ 2006

*** ฟีฟ่ารับรองที่ 70 ประตู

วิดีโอเกม

เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ปรากฏตัวเกมส์แรกเป็นตัวละครนักฟุตบอลในเกม FIFA 98 road to worldcup ของบริษัท EA ในฐานะตัวสำรองของทีมชาติไทยในเกมส์ สวมเสื้อหมายเลข 13 และเกมส์ของค่าย KONAMI "เวิร์ลด์ ซอคเกอร์ จิคเคียว วินนิ่ง อีเลฟเว่น 2000: U-23 เมดัล เฮโนะ โชเซ็น" (World Soccer Jikkyou Winning Eleven 2000: U-23 Medal Heno Chousen) ในฐานะผู้เล่นทีมชาติไทยชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี โดยมีชื่อในเกมว่า "เซนามูรัน" (セナムラン)

อ้างอิง

  1. "Kiatisuk Senamuang - Century of International Appearances". Rsssf.com. 6 January 2016. สืบค้นเมื่อ 27 May 2016.
  2. "ย้อนรอยเส้นทาง ซิโก้ จากสุดยอดหัวหอกสู่ฮีโร่กุนซือ". ไทยรัฐออนไลน์. 21 ธันวาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "พ่อซิโก้ลั่น เลิกสูบบุหรี่ หลังลูกพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์ 'ซูซูกิ คัพ'". ไทยรัฐออนไลน์. 20 ธันวาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. ""พ่อซิโก้" ลุ้นลูกชายพาทีมไทยคว้าแชมป์ซูซูกิคัพ ลั่นเลิกสูบบุหรี่ทันทีหากนำแชมป์กลับเมืองไทย". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 20 ธันวาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. "ครอบครัว "เสนาเมือง" เตรียมห้องนอนรอรับ "ซิโก้"". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 22 ธันวาคม 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-29. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ""ซิโก้" รับพระราชทานปริญญาบัตร ป.โท ตั้งเป้าต่อ ดร". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 13 สิงหาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  7. ""ซิโก้" หัวหน้าโค้ชทีมชาติชุดซีเกมส์ เพิ่งถอยโฟล์กตู้ให้ลูกสาว". มติชนออนไลน์. 2 มีนาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ""หนูรักพ่อค่ะ" ครอบครัวเข้าใจซิโก้เหนื่อยเพื่อชาติ". สยามสปอร์ต. 21 ธันวาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์ (6 พฤษภาคม 2557). "ไม่ใช่เพราะรัก แต่เพราะรู้ใจ 'ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง'". HUG magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-11. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. Kiatisuk Senamuang – Century of International Appearances
  11. สื่อผู้ดีแบโผดาวยิงสูงสุดโลก"ซิโก้"ติดท็อป10[ลิงก์เสีย]
  12. 'บิ๊กเน' เจิม 'เจ้ากอล์ฟ' ว่าที่ยอดดาวยิงทีมชาติไทย - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
  13. แชมป์ที่รอคอย!แข้งไทยคว้าทองเชือดอิเหนา1-0 จาก สยามกีฬารายวัน
  14. ที่4อินชอนเกมส์ กู้ศรัทธาบอลไทย จาก ไทยรัฐ
  15. 12 ปีที่รอคอย! 'ช้างศึก' ชนะ 'มาเลย์' สกอร์รวม 4-3 ซิวแชมป์ซูซูกิ คัพ จาก ไทยรัฐ
  16. เจาะไม่เข้า!แข้งไทยเจ๊าโสมขาว0-0ชวดแชมป์คิงส์คัพ จาก สยามกีฬารายวัน
  17. 'ซิโก้' ขอโทษแฟนบอลชวดแชมป์คิงส์คัพ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก วอยซ์ทีวี
  18. 'ซิโก้'สละโค้ชไม่คุมซีเกมส์ ให้ 'โชคทวี'แทน จาก กรุงเทพธุรกิจ
  19. สุดท้ายไทยแชมป์!ช้างศึกยู16ขวิดพม่า3-0ครองเจ้าอาเซียน จาก สยามกีฬารายวัน
  20. ช้างศึกชุดใหญ่เก๋ากว่า! พลิกอัดแข้งซีเกมส์ สุดมัน 4-3 จาก ไทยรัฐ
  21. “ซิโก้” ตั้ง “อุ้ม-ธีราทร” เป็นกัปตันทีมช้างศึกลงอุ่นสิงคโปร์-แคเมอรูน จาก สนุก.คอม
  22. ซิโก้ตั้ง”เมสซี่เจ”กัปตันลุยปรีโอลิมปิกที่กาตาร์
  23. ปกรณ์ซัดโทษ! ไทยยู 23 อุ่นเชือดเยเมน 1-0 จาก สยามกีฬารายวัน
  24. สู้ได้! ช้างศึกเปิดหัวไล่เจ๊าซาอุ1-1 AFC U-23
  25. 'ภิญโญ' ซัดกู้ชีพ! 'ช้างศึก' เจ๊า 'ซาอุฯ' 1-1 ศึกยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย จาก ไทยรัฐ
  26. ดีที่สุดแล้ว! 'ช้างศึก' พ่าย 'ซามูไร' 0-4 ศึกยู-23 แชมเปียนชิพ จาก ไทยรัฐ
  27. เต็มที่แล้ว! ช้างศึกเจ๊าโสมแดง 2-2 ร่วงแบ่งกลุ่มยู 23 เอเชีย จาก โพสต์ทูเดย์
  28. ไม่เพียงพอ! ช้างศึกฮึดเจ๊าโสมแดง2-2 ร่วง AFC U-23
  29. 'ช้างศึก' ทำได้! บุกเจ๊า 'อิรัก' 2-2 ผงาดแชมป์กลุ่มเอฟคัดบอลโลก จากไทยรัฐ
  30. ไทย ชนะจุดโทษซีเรีย เข้าชิงคิงส์คัพ จากไทยรัฐ
  31. ด่วน! "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ประกาศลาออกจากกุนซือทีมชาติไทยแล้ว จากสนุกดอตคอม
  32. "จิระพงศ์-รัชนกซิวนักกีฬายอดเยี่ยมสยามกีฬาฯ - Sport - Manager Online". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-03-06.
  33. "'จิระพงศ์-รัชนก' ซิวนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยม - ข่าวไทยรัฐออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-07. สืบค้นเมื่อ 2014-03-06.
  34. ข่าวสด. ปีที่ 24 ฉบับที่ 8,795. วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557. ISSN 1686-8218. หน้า 11
  35. ""ซิโก้-เกียรติศักดิ์" รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ม.รามฯ : manager.co.th". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-26. สืบค้นเมื่อ 2015-03-03.
  36. ‘ซิโก้’บุคคลแห่งปี : - กรุงเทพธุรกิจ
  37. เอ็มไทยท็อปทอล์กอะเบาต์ 2015 สรุปผลรางวัล เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน tlcthai.com

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ถัดไป
เหงียน วัน ด่าน
เซือง มิญ นิญ
  ผู้ฝึกสอนทีมฮหว่างอัญซาลาย
(พ.ศ. 2564 – 2566)
  -
จเด็จ มีลาภ    
ผู้ฝึกสอนทีมการท่าเรือ
(พ.ศ. 2560)
  จเด็จ มีลาภ
โชคทวี พรหมรัตน์    
ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี
(พ.ศ. 2559)
  วรวุฒิ ศรีมะฆะ
วินฟรีด เชเฟอร์    
ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย
(พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2560)
  มิลอวัน ราเยวัตส์
อาเลชังดรี ปอลกิง    
ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี
(พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2558)
  โชคทวี พรหมรัตน์
ทองสุข สัมปหังสิต    
ผู้ฝึกสอนทีมบางกอก
(พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2556)
  รอยเตอร์ โมไรร่า
ธงชัย สุขโกกี    
ผู้ฝึกสอนทีมบีบีซียู
(พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2555)
  วรชัย สุรินทร์ศิริรัฐ
ดุสิต เฉลิมแสน   ผู้ฝึกสอนทีมฮหว่างอัญซาลาย
(พ.ศ. 2553)
  ดุสิต เฉลิมแสน
จเด็จ มีลาภ    
ผู้ฝึกสอนทีมชลบุรี
(พ.ศ. 2552)
  จเด็จ มีลาภ
ไม่มี    
ผู้ฝึกสอนทีมจุฬาฯ-สินธนา
(พ.ศ. 2551)
  ธงชัย สุขโกกี
อาจหาญ ทรงงามทรัพย์   ผู้ฝึกสอนทีมฮหว่างอัญซาลาย
(พ.ศ. 2549)
  ชัชชัย พหลแพทย์