พญามังราย[1] (ไทยถิ่นเหนือ: ᨻᩕ᩠ᨿᩣᨾᩢ᩠ᨦᩁᩣ᩠ᨿ; พ.ศ. 1782–1854[1]) เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว เสด็จขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 1802[1] พระองค์ทรงสร้างเมืองหลายแห่ง เป็นต้นว่า เมืองเชียงราย (ในจังหวัดเชียงรายปัจจุบัน), เวียงกุมกาม, และเมืองเชียงใหม่ (ในจังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน) ซึ่งภายหลังเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา จึงถือกันว่าพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาด้วย[1]

พญามังราย
พระบรมราชานุสาวรีย์ที่ห้าแยกพ่อขุน จังหวัดเชียงราย ฝีมือปั้นของปกรณ์ เล็กสน
กษัตริย์แห่งล้านนา องค์ที่ 1
ครองราชย์พ.ศ. 1805–1854 (49 ปี)
ก่อนหน้าตนเองในฐานะพญาหิรัญนครเงินยางเชียงลาว
ถัดไปพญาไชยสงคราม
พญาหิรัญนครเงินยางเชียงลาว
ครองราชย์พ.ศ. 1802–1805 (3 ปี)
ก่อนหน้าลาวเมง
ถัดไปตนเองในฐานะกษัตริย์แห่งล้านนา
พระราชสมภพพ.ศ. 1782
หิรัญนครเงินยางเชียงลาว
สวรรคตพ.ศ. 1854 (72 พรรษา)
เชียงใหม่, อาณาจักรล้านนา
พระราชบุตร
ราชวงศ์มังราย
พระราชบิดาลาวเมง
พระราชมารดานางเทพคำข่าย

พระนาม

แก้

"มังราย" เป็นพระนามที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นทุกชนิด ทั้งจารึก ใบลาน พงศาวดาร บทกฎหมาย บทกวี และอื่น ๆ[2][3][4] ซึ่งรวมถึงจารึกวัดพระยืน (พ.ศ. 1912) จารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร (พ.ศ. 1954) ตำนานมูลศาสนา (พ.ศ. 1965) ชินกาลมาลีปกรณ์ (พ.ศ. 2059) โคลงนิราศหริภุญไชย (พ.ศ. 2060) จารึกวัดเชียงมั่น (พ.ศ. 2124) และมังรายศาสตร์ (ไม่ปรากฏศักราช)[2][5] โดยจารึกวัดพระยืน จารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร ตำนานมูลศาสนา จารึกวัดเชียงมั่น และมังรายศาสตร์ ระบุคำนำพระนามว่า "พญา" (เขียนแบบเก่าว่า "พรญา" หรือ "พรยา")[2][5]

ราชวงศ์ปกรณ์ (พ.ศ. 2461) บันทึกตำนานเกี่ยวกับพระนาม "มังราย" ว่า ฤๅษีชื่อปัทมังกรเป็นผู้ตั้งถวาย โดยเอาชื่อของฤๅษีเอง พระนามของพระบิดา (ลาวเมง) และพระนามของพระมารดา (เทพคำข่าย) ผสมกันเป็น "มังราย"[6]

มีแต่พงศาวดารโยนก ที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงสยาม และเอกสารสมัยหลังซึ่งอ้างอิงพงศาวดารโยก ที่ออกพระนามว่า "เม็งราย"[2][3][7] โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่พระยาประชากิจกรจักร์แก้พระนาม "มังราย" เป็น "เม็งราย" แต่อย่างใด[7] ปัจจุบันมีสถานที่หลายแห่งใช้ชื่อว่า "เม็งราย" เช่น ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม และค่ายเม็งรายมหาราช ในจังหวัดเชียงราย ตลอดจนวัดพระเจ้าเม็งราย ในจังหวัดเชียงใหม่

ส่วนการเปลี่ยนคำนำพระนาม "พญา" เป็น "พ่อขุน" นั้น เป็นผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากร[7] ปรากฏครั้งแรกในบทขับร้องชื่อ "เพลงดนตรีประวัติศาสตร์" (พ.ศ. 2481) ของหลวงวิจิตรฯ ที่มีเนื้อเพลงว่า "พ่อขุนเมงราย"[8] ทั้งนี้ คำว่า "พ่อขุน" เป็นคำนำพระนามพระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัยสมัยหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏการใช้งานในทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคล้านนา[4][5]

เพ็ญสุภา สุขคตะ นักโบราณคดี ตั้งข้อสังเกตว่า การประดิษฐ์พระนามของพญามังรายขึ้นใหม่ เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2442–2443 ซึ่งอังกฤษเข้ายึดครองดินแดนพม่าได้แล้ว และพยายามอ้างสิทธิ์รวมดินแดนล้านนา ซึ่งในเวลานั้นเป็นของสยาม เข้ากับอาณานิคมพม่า โดยอ้างว่า พญามังราย "ทรงมีเชื้อสายเป็นชาวพม่า เหตุเพราะที่มีพระนามว่า 'มังราย' ฉะนี้แล้วอาณาจักรล้านนาย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพม่าโดยไม่มีข้อแม้" ชนชั้นนำสยามในเวลานั้นจึงน่าจะประดิษฐ์พระนามขึ้นใหม่ให้ใช้โดยแพร่หลายแทน[5]

ต้นพระชนม์

แก้

พญามังรายเป็นพระราชโอรสของลาวเมง พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 24 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว กับนางเทพคำข่าย พระราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชาย พระมหากษัตริย์แห่งเมืองเชียงรุ่งสิบสองพันนา[1]

การขึ้นเป็นกษัตริย์

แก้

เมื่อพระราชบิดาสวรรคตใน พ.ศ. 1802 พญามังรายทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาวต่อ และมีพระราชประสงค์จะทรงรวบรวมหัวเมืองอิสระต่าง ๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยทรงเริ่มจากทางเหนือก่อน แล้วขยายไปฝ่ายใต้[1]

การสร้างเชียงราย

แก้
 
ซากโบราณสถานวัดกานโถม ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบัน

หลังจากทรงขึ้นครองราชย์ ณ หิรัญนครเงินยางเชียงลาวได้ราว 3 ปี พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นศูนย์อำนาจใหม่ใน พ.ศ. 1805[1] และทรงสร้างเมืองฝางเมื่อ พ.ศ. 1816, ทรงสร้างเมืองชะแวทางตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูนเมื่อ พ.ศ. 1826, และทรงสร้างเวียงกุมกามเมื่อ พ.ศ. 1829[1] เมื่อสร้างเมืองใหม่แต่ละครั้ง พญามังรายจะประทับอยู่ที่เมืองนั้น ๆ เสมอ ซึ่งตามความเห็นของประเสริฐ ณ นคร แล้ว "คงมีพระประสงค์ที่จะสร้างชุมชนขึ้นใหม่ เพื่อรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มาตั้งเป็นเมืองใหม่ขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ทรงแสวงหาชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นเมืองหลวงถาวรของพระองค์ต่อไป"[9]

นอกจากนี้ ยังทรงตีได้เมืองมอบ, เมืองไร, และเมืองเชียงคำ จึงมีหัวเมืองหลายแห่งมาขออ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้น เช่น เมืองร้าง ต่อมาจึงเสด็จไปเอาเมืองเชียงของได้ใน พ.ศ. 1812 และเมืองเซริงใน พ.ศ. 1818[9]

ระหว่างประทับที่เวียงกุมกาม พญามังรายทรงให้ช่างก่อเจดีย์กู่คำ ณ วัดเจดีย์เหลี่ยม[10] พญามังรายยังโปรดให้นายช่างชื่อ กานโถม สร้างวัดแห่งหนึ่งที่มีพระพุทธปฏิมากร 5 พระองค์สูงใหญ่เท่าพระวรกายของพระองค์ ตลอดจนมหาวิหารและเจดีย์อื่นอีกเป็นอันมาก[11] นายช่างกานโถมปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้เขาไปครองเมืองรอย (ต่อมาสถาปนาเป็นเมืองเชียงแสน)[11] และพระราชทานนามวัดนั้นว่า วัดกานโถม[11]

การตีหริภุญไชย

แก้

พญามังรายมีพระราชประสงค์จะได้เมืองหริภุญไชย (ในจังหวัดลำพูนปัจจุบัน) เพราะเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นศูนย์การค้าระหว่างประเทศ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีทางน้ำติดต่อถึงเมืองละโว้และเมืองอโยธยาด้วย[9] ทรงวางแผนให้ข้าหลวงคนหนึ่งชื่อ อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชย[9] ขณะนั้น พญาญี่บาครองเมืองหริภุญไชย[9] อ้ายฟ้าทำให้ชาวหริภุญไชยไม่พอใจพญาญี่บา โดยเกณฑ์ไปขุดเหมืองในฤดูร้อนเพื่อถ่ายแม่น้ำปิงมาสู่แม่น้ำกวงเป็นระยะทาง 36 กิโลเมตร[9] ปัจจุบัน เหมืองดังกล่าวยังมีอยู่และยังใช้การได้[9] นอกจากนี้ อ้ายฟ้ายังให้ตัดไม้ซุงลากผ่านที่นาของชาวบ้านในฤดูทำนา ทำให้ข้าวเสียหาย โดยอ้ายฟ้าแจ้งว่า พญาญี่บาจะทรงสร้างพระราชวังใหม่[9] อ้ายฟ้าบ่อนทำลายเมืองหริภุญไชยอยู่นานเกือบ 7 ปี[9] เป็นเหตุให้ชาวหริภุญไชยเอาใจออกหากพญาญี่บา เมื่อพญามังรายทรงนำกองทัพมาล้อม จึงทรงได้เมืองไปโดยง่ายใน พ.ศ. 1824[9] แต่ชินกาลมาลีปกรณ์ว่าเป็น พ.ศ. 1835[9]

การสร้างเชียงใหม่

แก้

เมื่อพญามังรายทรงได้เมืองหริภุญไชยแล้ว ขุนคราม พระราชบุตรพระองค์ที่ 2 ของพญามังราย ก็ตีนครเขลางค์ (ในจังหวัดลำปางปัจจุบัน) ได้ใน พ.ศ. 1839[12] ในปีนั้นเอง พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น พระราชทานนามว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"[1]

อาณาเขตของพญามังรายนั้น ปรากฏว่า ทางเหนือถึงเชียงรุ่งและเชียงตุง ทางตะวันออกถึงแม่น้ำโขง แต่ไม่รวมเมืองพะเยา, เมืองน่าน, และเมืองแพร่ ทางใต้ถึงนครเขลางค์ และทางตะวันตกถึงอาณาจักรพุกาม (พม่าและมอญ)[13]

การตีพุกาม

แก้

พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ว่า ใน พ.ศ. 1833 อาณาจักรพุกามขอเป็นเมืองขึ้นของพระองค์ พญามังรายจึงเสด็จไปเยือนพุกาม และเมื่อนิวัติ ก็ทรงนำช่างฆ้อง ช่างหล่อ ช่างเหล็ก และช่างฝีมืออื่น ๆ กลับมาด้วย แล้วก็โปรดให้ช่างทองไปประจำที่เมืองเชียงตุง[12] แต่เรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์[12] และประเสริฐ ณ นคร เห็นว่า ถ้าเกิดขึ้นจริง ควรเป็น พ.ศ. 1843 มากกว่า พ.ศ. 1833 เพราะมอญอยู่ในอาณัติของพ่อขุนรามคำแหงกรุงสุโขทัยซึ่งสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1841 มอญจะแยกตัวไปขึ้นเมืองใหม่ได้ก็ควรหลัง พ.ศ. 1841[12]

นอกจากนี้ บันทึกของจีนและไทลื้อระบุว่า พญามังรายทรงเคยยกรี้พลไปตีเมืองเชียงรุ่งและอาณาจักรพุกามบางส่วนใน พ.ศ. 1840 และสิบสองพันนาใน พ.ศ. 1844 ทั้งกล่าวว่า จีนเคยยกลงมาตีอาณาจักรล้านนาแต่พ่ายแพ้กลับไปด้วย[14]

 
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่ศาลาว่าการจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหง, พญางำเมือง, และพญามังราย ตามลำดับ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แก้

ความสัมพันธ์กับพะเยาและสุโขทัย

แก้

พญามังรายทรงมีสัมพันธไมตรีกับพญางำเมือง พระมหากษัตริย์แห่งเมืองพะเยา (ในจังหวัดพะเยาปัจจุบัน) และพ่อขุนรามคำแหง พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ทั้ง 3 พระองค์เป็นศิษย์สำนักเดียวกันที่เมืองละโว้[15] และเป็นพระสหายร่วมสาบานกันด้วย[15]

อนึ่ง เมื่อพญามังรายจะทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่นั้น ทรงปรึกษากับพระสหายทั้ง 2 พ่อขุนรามคำแหงทรงแนะนำว่า ควรลดขนาดเมืองลงครึ่งหนึ่งจากเดิมที่วางผังให้ยาวด้านละ 2,000 วา เพราะเมื่อเกิดศึกสงครามในอนาคต ผู้คนที่ไม่มากพอจะไม่อาจรักษาบ้านเมืองที่กว้างใหญ่เกินไปได้ ซึ่งพญามังรายทรงเห็นชอบด้วย[15]

พระราชไมตรีระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ ทำให้แต่ละพระองค์ทรงสามารถขยายดินแดนไปได้อย่างไม่ต้องทรงพะวงหน้าพะวงหลัง[15]

ความสัมพันธ์กับเชียงตุง

แก้

เอกสารจากรัฐฉานชื่อ พับหนังสือพืนเมืองและจารีตราชประเพณีเขมรัฐตุงคบุรี ซึ่งพระยากางหลวงเขียนขึ้นใน จ.ศ. 1205 (พ.ศ. 2386) เป็นภาษาไทเขิน ระบุถึงบทบาทของพญามังรายต่อเมืองเชียงตุงว่า ใน จ.ศ. 591 (พ.ศ. 1772) พญามังรายทรงไล่ล่ากวางทองตัวหนึ่งมาจนถึงเมืองเชียงตุงซึ่งมีพวกลวะอยู่อาศัย ในปีถัดมาจึงทรงส่งขุนคงกับขุนลังมาตีเมืองแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าใน จ.ศ. 605 (พ.ศ. 1786) พญามังรายทรงสามารถส่งขุนนางชื่อมังคุ่มมาปกครองเมืองเชียงตุงได้ มังคุ่มปกครองได้ 4 ปีก็ถึงแก่กรรม จึงทรงให้มังเคียนขึ้นปกครองแทนใน จ.ศ. 609 (พ.ศ. 1790) มังเคียนปกครองได้ 6 ปีก็ถึงแก่กรรม จากนั้นใน จ.ศ. 615 (พ.ศ. 1796) พญามังรายทรงให้ราชโอรสนามว่าเจ้าน้ำท่วมมาปกครองเมืองเชียงตุง เจ้าน้ำท่วมปกครองได้ 11 ปีก็ถึงแก่กรรม เมืองเชียงตุงมีผู้ขึ้นปกครองแทนต่อ ๆ มาจนใน จ.ศ. 704 (พ.ศ. 1885) เจ้าใสน่านขึ้นปกครอง ผ่านไป 18 ปี เจ้าใสน่านก็ถึงแก่กรรม และเมืองเชียงตุงก็ร้างไปยาวนาน เพราะ "เมืองถูกเสนียดจัญไร"[16]

เอกสารอื่นจากเมืองเชียงตุงระบุศักราชและเนื้อหาที่ต่างออกไปว่า ปีที่พญามังรายทรงไล่ล่ากวางทอง คือ จ.ศ. 791 และเมื่อขุนคงกับขุนลังที่ทรงส่งมาตีเมืองทำการไม่สำเร็จแล้ว พญามังรายทรงให้มังคุมกับมังเคียน ชาวลัวะที่อาศัยอยู่กับพระองค์ มาตีเมืองเชียงตุง สองคนนี้ทำการสำเร็จ จึงทรงให้ทั้งสองปกครองเมืองเชียงตุง มังคุมปกครองได้ 17 ปีก็ถึงแก่กรรม มังคุมปกครองต่ออีก 7 ปีก็ถึงแก่กรรม จากนั้นพญามังรายทรงให้ราชโอรสนามว่าเจ้าน้ำท่วมมาปกครองต่อ เมืองเชียงตุงจึงกลายเป็น "ลูกช้างหางเมือง" (เมืองลูกหลวง) ของอาณาจักรล้านนา[17]

กฎหมาย

แก้

มังรายศาสตร์ (บ้างเรียก วินิจฉัยมังราย) เป็นเอกสารที่ประมวลคำวินิจฉัยทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ ซึ่งรวมถึงพญามังราย[15] ในรัชกาลพญามังราย มังรายศาสตร์มีเพียง 22 มาตรา ว่าด้วยการหนีศึก, ความชอบในสงคราม, หน้าที่ของไพร่ในการเข้าเวรทำงานหลวง 10 วัน กลับบ้านไปกสิกรรม 10 วัน สลับกันไป, และเรื่องที่ดิน[15] ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมจนยาวขึ้นอีก 10 เท่า[15]

มังรายศาสตร์ฉบับเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลือในปัจจุบันมีเพียงฉบับเดียว คือ ฉบับที่พบ ณ วัดเสาไห้ คัดลอกเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2342 และต่อมา ราชบัณฑิตยสถานแปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2514[15]

พระราชวงศ์

แก้

พญามังรายมีพระราชบุตรเท่าใดไม่ปรากฏชัด แต่ปรากฏว่า พระราชบุตรพระองค์แรกมีพระนามว่า ขุนเครื่อง ทรงให้ไปครองเมืองเชียงราย แต่ภายหลังคิดขบถ จึงทรงให้คนไปลอบสังหาร[11]

พระราชบุตรพระองค์ที่ 2 คือ ขุนคราม มีผลงานเป็นการตีนครเขลางค์ได้สำเร็จ[11] จึงได้เฉลิมพระนามเป็น พญาไชยสงคราม ภายหลังได้สืบราชสมบัติต่อจากพญามังรายเป็นรัชกาลที่ 2 แห่งอาณาจักรล้านนา

พระราชบุตรพระองค์ที่ 3 คือ ขุนเครือ โปรดให้กินเมืองพร้าว แต่ต่อมาถูกพระองค์เนรเทศไปเมืองกองใต้ ชาวไทใหญ่จึงสร้างเมืองใหม่ให้ขุนเครือปกครองแทน[11]

สวรรคต

แก้
 
กู่พญามังราย วัดดอยงำเมือง เชื่อกันว่า เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ

พญามังรายสวรรคตเพราะทรงถูกฟ้าผ่ากลางเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1854 รวมพระชนม์ 72 พรรษา[11] พญาไชยสงคราม พระราชบุตรพระองค์ที่ 2 เสวยราชย์สืบต่อมา

พ้นรัชกาลพญามังรายแล้ว ราชวงศ์มังรายครอบครองอาณาจักรล้านนาเป็นเอกราชอยู่ระยะหนึ่ง โดยเคยขยายอาณาบริเวณมาครอบคลุมเมืองพะเยา, น่าน, ตาก, แพร่, สวรรคโลก, และสุโขทัยด้วย กระทั่ง พ.ศ. 2101 ถูกพม่าตีแตก แล้วก็กลายเป็นเมืองขึ้นพม่าบ้าง เป็นอิสระบ้าง และเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาบ้าง สลับกันไปดังนี้เป็นเวลากว่า 200 ปี จนยอมเป็นเมืองขึ้นกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกกลืนเข้าเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน[11]

ในวัฒนธรรมประชานิยม

แก้
 
สัญลักษณ์ "ชอบ" ของเฟซบุ๊ก

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2012 มีผู้ตัดต่อภาพอนุสาวรีย์พญามังราย โดยนำสัญลักษณ์ "ชอบ" หรือ "ไลก์" (like) ของเฟซบุ๊กไปติดกับพระหัตถ์ แล้วลงเผยแพร่ทางเพจ "ไลค์ดะ" ในเฟซบุ๊ก โดยเรียกภาพนั้นว่า "พ่อขุนเม็งไลค์"[18] มีบุคคลจำนวนหนึ่งไม่พอใจและพากันเข้าไปต่อว่า[18] ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2012 มงคล สิทธิหล่อ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย แถลงว่า จะดำเนินคดีแก่เจ้าของเพจไลค์ดะ และในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2012 ชาวเชียงรายบางกลุ่มเดินขบวนแสดงความไม่พอใจต่อเพจไลก์ดะที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พญามังรายในอำเภอเมืองเชียงราย ส่วนเพจไลค์ดะได้ปิดตัวลงก่อนหน้านั้นแล้ว[19]

อนึ่ง ในช่วงการประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (2nd Asia–Pacific Water Summit) หรือการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่แต่งกายเป็นพญามังรายด้วย "ชุดกษัตริย์ล้านนาโบราณ เปลือยท่อนบน โชว์พุงหลาม นุ่งผ้านุ่ง มีทับทรวงและมงกุฎ กำลังชี้นิ้วขึ้นฟ้าไปท้ารบเทวดาบนฟ้า"[20]

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม

แก้

ราชตระกูล

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 ประเสริฐ ณ นคร (2006, p. 267)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ชมรมฮักตั๋วเมืองฯ (2021)
  3. 3.0 3.1 ประเสริฐ ณ นคร (2006, p. 276) "พญาเม็งราย...พระนามที่ถูกต้องว่า พญามังราย ทั้งนี้ ปรากฏตามหลักฐานในศิลาจารึก ตำนาน และเอกสารดั้งเดิมทุกชนิด ยกเว้นพงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร์เรียบเรียงขึ้น และเอกสารที่อ้างอิงพงศาวดารโยนกในชั้นหลัง ซึ่งใช้พระนาม เม็งราย"
  4. 4.0 4.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2021)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ (2021)
  6. ทิว วิชัยขัทคะ (n.d., p. ไม่มีเลขหน้า (แผ่นที่ 13))
  7. 7.0 7.1 7.2 ประสาร ธาราพรรค์ (n.d., pp. 2–3)
  8. ทิว วิชัยขัทคะ (n.d., pp. 2–3)
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 ประเสริฐ ณ นคร (2006, p. 268)
  10. ประเสริฐ ณ นคร (2006, pp. 269–270)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 ประเสริฐ ณ นคร (2006, p. 270)
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 ประเสริฐ ณ นคร (2006, p. 277)
  13. ประเสริฐ ณ นคร (2006, p. 278)
  14. ประเสริฐ ณ นคร (2006, pp. 277–278)
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 15.6 15.7 ประเสริฐ ณ นคร (2006, p. 269)
  16. ทวี สว่างปัญญางกูร (1990, p. 33)
  17. วิบูลย์ ลี้สุวรรณ (2016, p. 77)
  18. 18.0 18.1 ประชาไท (2012)
  19. ผู้จัดการออนไลน์ (2012)
  20. บัณรส บัวคลี่ (2013)

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้