มังรายศาสตร์ หรือ วินิจฉัยมังราย หมายถึง คำพิพากษาของพญามังราย เป็นหนังสือกฎหมายที่ได้รวบรวมเรียบเรียงมาจากหนังสือธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นคัมภีร์กฎหมายเก่าแก่ของอินเดีย[1] ถือเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรล้านนา[2]

เนื้อหาต่าง ๆ มีที่มาจากจารีตประเพณีของสังคม เช่น ความเชื่อ ค่านิยม เนื้อหาในเล่มถูกคัดลอกจากข้อความเดิมต่อ ๆ กันมา บางตอนมีข้อความเพิ่มเติมเข้าไปในสมัยหลัง เนื้อหากล่าวถึงประวัติศาสตร์อันเกี่ยวข้องกับพญามังราย จุดประสงค์การเขียนมีการบัญญัติกฎหมายแบ่งเป็น 27 หมวดหมู่ ได้แก่ หนีศึก คนตายกลางสนามรบ รบศึกกรณีได้หัวและกรณีไม่ได้หัวข้าศึกมา เสนาอมาตย์ตาย ให้ไพร่มีเวรผลัดเปลี่ยนกัน ไพร่กู้เงินขุน ไพร่สร้างไร่นา ไพร่ที่ขุนไม่ควรรับไปเป็นข้า ข้าขอรับมรดก ข้าพระยาไปอยู่กินกับไพร่ ลักษณะนายที่ดีและนายที่เลว ความผิดร้ายแรงซึ่งยอมให้ฆ่าผู้กระทำผิดได้ โทษประหารชีวิต โทษหนักสามสถาน การพิจารณาความให้ดูเหตุ 4 ประการ ตัดสินความไม่ถูกต้องอันควรเพิกถอนเสีย 8 ประการ อายุความยี่สิบปี สาเหตุวิวาทกัน 16 ประการ ลักษณะหมั้น ลักษณะหย่า การแบ่งสินสมรส ลักษณะมรดก ลักษณะหนี้ ลักษณะวิวาท (ด่ากันตีกัน) ลักษณะใส่ความกัน ลักษณะลักทรัพย์และลักพา ลักษณะซ่อน อำ และลัก

ฉบับเก่าแก่ที่สุด คือ ฉบับลานนาสีโหภิกขุ จากวัดเสาไห้ จังหวัดสระบุรี (คัดลอก พ.ศ. 2343) ฉบับที่สอง เป็นของคุณไกรศรี นิมมานเหมินท์ ซึ่งคัดจากต้นฉบับของกงสุลฝรั่งเศส ประจำเชียงใหม่ (คัดลอก พ.ศ. 2482)[3] ฉบับที่สาม จากวัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับที่สี่ เก็บรักษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[4] อีกฉบับเก่าแก่คือ จารบนใบลาน จาร จ.ศ. 1203 (พ.ศ. 2384) สภาพเสียหายบางส่วน เก็บรักษาที่หอไตร วัดแม่คือ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนฉบับรองที่มีผู้ปริวรรตและทำการศึกษาแล้ว ได้แก่ ฉบับวัดไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับวัดหมื่นกอง จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับวัดกิตติวงศ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และฉบับนอตอง[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "มังรายศาสตร์".
  2. 2.0 2.1 ซัปนะ ปิ่นเงิน. "การปริวรรต และวิเคราะห์เนื้อหา กฎหมายฝังรายศาสตร์ ฉบับวัดแม่คือ" (PDF). สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  3. ประเสริฐ ณ นคร. "มังรายศาสตร์" (PDF).
  4. "มังรายศาสตร์". หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่.