เมืองเชียงแสน เป็นเมืองโบราณของอาณาจักรล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 19[1]: 12  เป็นเมืองสำคัญอยู่ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

เมืองเชียงแสน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเวียง, อำเภอเชียงแสน, จังหวัดเชียงราย, ประเทศไทย
ประเภทโบราณสถาน
ความเป็นมา
ผู้สร้างพญาแสนพู
วัสดุอิฐ
สร้างพ.ศ. 1871 (พงศาวดารโยนก)
พุทธศตวรรษที่ 19 (ประวัติศาสตร์)
ละทิ้งพ.ศ. 2347
สมัยล้านนา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2500
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร

เมืองเชียงแสนมีกำแพงเมืองและคูน้ำล้อมรอบห่างราว 5 กิโลเมตรริมฝั่งทางตะวันตกของแม่น้ำโขง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า อาณาเขตของเมืองมีโบราณสถานกว่า 112 แห่ง และค้นพบโบราณวัตถุราวพุทธศตวรรษที่ 19–25 ซึ่งส่วนมากเป็นโบราณสถานทางศาสนาพุทธแบบศิลปะล้านนา[2]

เมืองเชียงแสนสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1871 โดยพญาแสนพู ทรงสถาปนาเมืองเชียงแสนเพื่อป้องกันศึกทางเหนือ และควบคุมเมืองล้านนาตอนบน แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปวัตถุ เมืองเชียงแสนสร้างขึ้นพุทธศตวรรษที่ 19 และถูกทิ้งร้างไปในช่วงสงครามในปี พ.ศ. 2347

ลักษณะทางกายภาพ

แก้

ผังเมืองและคูน้ำ

แก้
 
กำแพงเมืองและป้อมของเมือง

เมืองเชียงแสนประกอบด้วยกำแพงเมืองสองชั้นและคูน้ำ ปัจจุบันปรากฏแนวกำแพงเมือง 3 ด้าน คือ กำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ตะวันตก และใต้ ส่วนด้านทิศตะวันออกไม่ปรากฏแนวกำแพง สันนิษฐานว่าพังทลายทั้งหมดจากการกัดเซาะของแม่น้ำโขงในราวปี พ.ศ. 2513 มีผู้พบร่องรอยของป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณริมแม่น้ำโขง

ปัจจุบันกำแพงเมืองเชียงแสนมีลักษณะเป็นกำแพงอิฐก่อครอบแกนดินไว้ภายใน[] มีความสูงตั้งแต่ส่วนฐานจนจรดระดับพื้นเชิงเทินประมาณ 4–5 เมตร ฐานเสมาคงสภาพบางส่วน เหนือขึ้นไปเป็นตำแหน่งใบเสมาซึ่งปรักหักพังหมดสภาพ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก ปัจจุบันปรากฏหลักฐานแนวกำแพงเพียงชั้นเดียว ส่วนแนวกำแพงเมืองด้านทิศใต้บางส่วนยังคงพบร่องรอยของกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งมีลักษณะเป็นคันดินสูงประมาณ 2.5–3 เมตร บริเวณแนวกำแพงปรากฏหลักฐานประตูเมืองจำนวน 5 ประตู และป้อมจำนวน 6 ป้อม

ลักษณะผนังกำแพงด้านในเมืองปรากฏเป็นการก่ออิฐเป็นแบบขั้นบันได 7–9 ขั้น รับกับพื้นเชิงเทินบนกำแพง ลักษณะเชิงเทินก่อขึ้นด้วยอิฐเป็นแท่นทึบตัน มีความสูง 0.7–1 เมตร กว้าง 5.3 เมตร และมีความยาวไปตลอดแนวคันดิน เชิงเทินเป็นส่วนที่ถูกใช้งานทางทหาร เช่น ยืนเวรยามประจำการในการสู้รบข้าศึกที่อยู่นอกเมือง บนเชิงเทินปรากฏแท่นอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วางตัวทแยงหันด้านแหลมเข้าหากัน ต่อเนื่องไปตามความยาวกำแพงเมือง

คูเมืองเชียงแสนมีความกว้างประมาณ 11–18 เมตร ลึกประมาณ 4 เมตร ด้านทิศตะวันตกของเมืองมีร่องน้ำโบราณไหลเชื่อมต่อระหว่างคูเมืองกับแม่คำและหนองบัวซึ่งเป็นทางน้ำโบราณ ร่องส่งน้ำนี้มีความกว้าง 1.5–3 เมตร ในสมัยที่พม่าครองเมืองเชียงแสน ได้ปรากฏหลักฐานว่ามีการขุดร่องส่งน้ำเพื่อชักน้ำจากแหล่งต่างเข้ามาในคูเมือง

กำแพงเมือง

แก้

กำแพงเมืองด้านทิศเหนือ แนวกำแพงคงสภาพยาวประมาณ 950 เมตร บริเวณแนวด้านตะวันออกของกำแพงถูกรื้อออกบางส่วนเพื่อก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1290 และกำแพงช่วงก่อนถึงแม่น้ำโขงเล็กน้อยมีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่ามีการพังทลาย โดยการกัดเซาะของแม่น้ำโขง ผลจากการดำเนินงานของกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2543–2544 พบว่าแนวกำแพงที่เห็นในปัจจุบันนี้เป็นแนวกำแพงที่เกิดจากการก่อสร้างกำแพงเมืองเชียงแสนครั้งที่ 2 กล่าวคือ จากการขุดแต่งในครั้งนั้นพบผนังกำแพงด้านคูเมืองเป็นผนังตั้งตรง

กำแพงเมืองด้านทิศเหนือมีป้อมประตูเมืองทั้งหมด 1 ประตู ได้แก่ ประตูยางเทิง[] และมีป้อมทั้งหมด 2 ป้อม ได้แก่ ป้อมยางเทิง, และป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก กำแพงยาวประมาณ 2.55 กิโลเมตร ผลการดำเนินงานทางโบราณคดีของกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2543–2544 พบร่องรอยการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์แนวกำแพงบริเวณนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกมีประตูทั้งหมด 3 ประตู ได้แก่ ประตูหนองมูด, ประตูเชียงแสน[], และประตูทัพม่าน[]และป้อมทั้งหมด 3 ป้อม ได้แก่ ป้อมหนองมูด, ป้อมเชียงแสน, และป้อมทัพม่าน

กำแพงเมืองด้านทิศใต้ กำแพงยาวประมาณ 850 เมตร มีแนวกำแพง 2 ชั้น คือ กำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก

กำแพงชั้นในมีลักษณะเป็นกำแพงก่ออิฐ ส่วนกำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงดิน ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายจนหมดสภาพ แนวกำแพงด้านนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงมีลักษณะค่อนข้างเตี้ยเมื่อเทียบกับกำแพงด้านทิศเหนือและตะวันตก จึงนับเป็นจุดด้อยด้านยุทธศาสตร์ ทำให้ทัพของล้านนาภายใต้การนำของพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ ระดมเข้าโจมตีแนวกำแพงด้านนี้ในสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างล้านนาและพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2346

บริเวณแนวด้านตะวันออกของกำแพงด้านนี้ถูกรื้อออกเพื่อก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1290 และสถานที่ราชการ กำแพงเมืองด้านทิศใต้นี้มีประตูทั้งหมด 1 ประตู ได้แก่ ประตูดินขอ และป้อมทั้งหมด 2 ป้อม ได้แก่ ป้อมดินขอ, และป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้

โบราณวัตถุ

แก้

โบราณวัตถุส่วนมากเป็นกิจกรรมทางศาสนาพุทธ ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะล้านนาอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16–23 แสดงถึงสมรรถนะการหล่อโลหะของช่างในสมัยโบราณ เช่น พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ จะใช้วิธีหล่อแยกส่วน แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน ก่อนทำการตกแต่งด้วยกรรมวิธีลงรักปิดทองจารึกที่มีเนื้อหากล่าวถึงการอุทิศถวายที่ดิน คน เงิน ทอง ให้วัดเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และใช้แรงงาน เพื่อเป็นพุทธบูชาและสืบพระพุทธศาสนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21–22 จารึกอักษรล้านนา

หลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดแต่งเท่าที่พบในเมืองเชียงแสน ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาของศิลปะหริภุญชัยตอนปลาย, ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน, สมัยราชวงศ์หมิง, ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาศิลปะหริภุญชัย[3]: 24  จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้สันนิษฐานว่าเมืองเชียงแสนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19

ชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นจากแหล่งโบราณคดีวัดป่าสัก สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 19-22 เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเมืองเชียงแสนได้รับอิทธิพลรูปแบบทางศิลปกรรมจากอาณาจักรพุกาม อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรหริภุญไชย หรือจีน[3]

ศิลาจารึกค้นพบในเมืองเชียงแสนอยู่ในสมัยล้านนารุ่งเรืองและพม่ายึดครองราวพุทธศตรวรรษที่ 21–23 ได้แก่

จารึกที่เกี่ยวข้องและค้นพบภายในเมืองเชียงแสน
จารึก อักษร ภาษา สถานที่ค้นพบ ประเภท รายละเอียด หมายเหตุ
จารึกวัดพันตองแต้ม ธรรมล้านนาและฝักขาม บาลีและคำเมือง สันนิษฐานว่าวัดพวกพันตอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หินทราย ระบุปี พ.ศ. 2031 เนื้อหากล่าวถึง พันตองแต้ม สร้างวัดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงแสน ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2030 พันญากิตติ โอรสของพันตองแต้มและแม่เจ้าคำร้อยถวายวัดแด่พระเจ้าแผ่นดินและพระราชมารดา ต่อมา ทั้งสองพระองค์ถวายนา ภาษี คน เบี้ย พร้อมไม้สักไว้สร้างวิหารและหอไตร[4]: 302–305 
จารึกวัดปราสาท ฝักขาม คำเมือง วัดปราสาท อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หินทราย เนื้อหากล่าวถึง เมื่อปี พ.ศ. 2039 เจ้าหมื่นเชียงแสนคำล้านถวายวัดปราสาทแด่พระเจ้าแผ่นดินและพระราชมารดา ต่อมา ทั้งสองพระองค์ทรงส่งตราหลาบคำ อุทิศนา และแก่วัด[] พร้อมระบุว่าพระมหาสังฆราชาญาณวิลาศ วัดพระหลวงกลางเวียง พระมหาสามี วัดพระบวช พระมหาโสมรังสี วัดพระยืน รู้ถึงบุญกุศลแห่งทานนี้ด้วย[5]
จารึกวัดผ้าขาวป้าน ฝักขาม คำเมือง วัดผ้าขาวป้าน อำเอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หินทราย เนื้อหากล่าวถึง เมื่อปี พ.ศ. 2159 พญาหลวงเมืองเชียงแสน และนางพญาหลวง พร้อมด้วยพระสงฆ์ 3 คณะ ร่วมกันสร้างวิหารและพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และนิมนต์สมเด็จราชโมลีจิตตสารมังคละเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. 2160 สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระสาวก พร้อมถวายคน 52 คนและสวนหมาก[5]
จารึกฐานพระพุทธรูปวัดพระเจ้าล้านทอง ธรรมล้านนา คำเมือง วัดพระเจ้าล้านทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เนื้อหากล่าวถึง เมื่อปี พ.ศ. 2269 พระยาหลวงเจ้ามังคละสะแพก เจ้าเมืองเชียงแสนและบุษบาสิริวธนเทพาราชกัญญาเจ้า มีศรัทธาหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งไว้ที่วัดศรีสองเมือง สร้างขึ้นที่สุสานหลวงเจ้าราชบุตรยอดงำเมือง[5]
จารึกฐานพระฤๅษีวัชมฤค ธรรมล้านนาและฝักขาม บาลีและคำเมือง บริเวณภูเขาข้างยอดดอยตุง หรือวัดพระธาตุดอยตุงน้อยหรือบริเวณใกล้เคียง อำเภอแม่สาย สำริดสีเชียว เนื้อหากล่าวถึง เมื่อปี พ.ศ. 2147 (สมเด็จ)บรมบพิตรพระเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน พร้อมด้วยพระมหาสมเด็จราชครู วัดพระหลวงเป็นประธาน และพระสังฆโมลี ร่วมกันสร้างรูปหล่อพระฤๅษี และมีข้อความตำนานวัดพระธาตุดอยตุง และคำไหว้พระธาตุดอยตุง และคำอธิบายที่ฐานรูปหล่อ[5]

โบราณสถาน

แก้

กรมศิลปากรค้นพบโบราณสถานทั้งในเมืองและนอกเมืองรวมกัน 112 แห่ง โบราณสถานมีการขุดแต่งทางโบราณคดีในเมืองเชียงแสนทั้งหมด 34 แห่ง และโบราณสถานนอกเมืองเชียงแสนทั้งหมด 11 แห่ง หลักฐานทางโบราณคดีอย่าง ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ระบุว่า พระเจ้าตลุนหรือสุทโธธรรมราชาครองเมืองได้กล่าวถึงวัดทั้งภายในและภายนอกเมืองทั้งหมด 141 วัด ภายในรัศมี 500 วาของตัวเมืองเชียงแสน[3]: 15–16 

วัดเจดีย์หลวง

แก้
ที่ตั้งวัดเจดีย์หลวง
 
 
พญาแสนพู ทรงสร้างวัดราวปี พ.ศ. 1836
 
วัดเจดีย์หลวง ในปี พ.ศ. 2477

วัดเจดีย์หลวง เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองเชียงแสน แผนผังเจดีย์หลวงเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ฐานกว้างด้านละ 9.50 เมตร สูงประมาณ 35.50 เมตร ตามประวัติกล่าวว่า สร้างโดยพญาแสนพู ซึ่งพญาแสนพูเป็นพระราชนัดดาของพญามังรายเสด็จมาจากเมืองเงินยางมาสร้างเมืองเชียงรายและยึดเมืองหริภุญชัยราวปี พ.ศ. 1836[6]

วัดเจดีย์หลวงปรากฏใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่าเดิมชื่อวัดพระหลวง พญาแสนพูได้สร้างเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เดิมที่สร้างขึ้นโดยพญาศิริอโศกธรรมราช หลังจากนั้นอีก 3 ปี ทรงเล็งเห็นว่าวัดพระหลวงเป็นวัดเค้าเมือง[] เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุก่อน พระองค์จึงมีศรัทธาให้สร้างวิหารหลวง กว้าง 8 วา ยาว 17 วา และเจดีย์สูง 29 วา ตรงกับปี พ.ศ. 1833[7]: 148–149  ซึ่งศักราชอาจคลาดเคลื่อน เนื่องจากในปี พ.ศ. 1833 พญาแสนพูยังไม่ได้มาครองเมืองเชียงแสน[1]: 119 

ทั้งนี้หลักฐานที่ปรากฏเกี่ยวกับอายุของเจดีย์หลวงคือในพงศาวดารโยนก กล่าวว่าพระเจ้าแสนภูทรงสร้างเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสนภายหลังทรงครองเมืองเชียงแสนได้ 3 ปี โดยเจดีย์มีขนาดกว้าง 28 เมตร สูง 58 เมตร ต่อมาเจดีย์องค์นี้คงได้รับการซ่อมแซมสมัยพระเมืองแก้วที่โปรดให้ช่างขุดเจดีย์องค์เดิมแล้วก่อพระเจดีย์ขึ้นใหม่ ตรงกับในปี พ.ศ. 2058[6][1]: 119 

โดยจากรูปแบบและวิวัฒนาการของเจดีย์หลวงจัดเป็นเจดีย์ที่มีวิวัฒนาการในช่วงหลังแล้ว[8] ควรจัดอยู่ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 โดยเจดีย์หลวง เป็นเจดีย์ที่จัดรูปแบบอยู่ในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยม กล่าวคือ มีฐานเขียงยกสูง 1 ฐานรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีส่วนของบัวคว่ำสองฐานซ้อนกันอยู่ ท้องไม้ยืดสูง การประดับบัวลูกแก้วอกไก่ก็ไม่ชัดเจน อาจเกิดจากการซ่อมในรุ่นหลัง ส่วนนี้แต่เดิมน่าจะเป็นลูกแก้วอกไก่สองเส้น ส่วนที่เป็นบัวหงายและหน้ากระดานของบัวหงายก็ไม่ชัดเจน ส่วนฐานเขียงขึ้นไปจนถึงส่วนรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัว 3 ฐานประดับท้องไม้ด้วยลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น อยู่ในผังแปดเหลี่ยม และตั้งแต่ส่วนนี้ขึ้นไปจนถึงปล้องไฉนจะมีรูปแบบเหมือนกับเจดีย์ในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยมนี้ทั้งหมด[1]: 120  กล่าวคือ ต่อจากชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายมีลูกแก้วอกไก่ขึ้นไปคือองค์ระฆังในผังกลม และบัลลังก์ในผังแปดเหลี่ยมก่อนจะถึงปล้องไฉนและปลียอด

ทั้งนี้ ผลการขุดแต่งบูรณะเจดีย์หลวงในปี พ.ศ. 2500–2501 พบว่าภายหลังการขุดลอกชั้นดินทับถมที่ฐานแปดเหลี่ยมพบฐานเขียงด้านล่างก่อติดกับฐานของเจดีย์มุม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าฐานส่วนนี้ของเดิมน่าจะเป็นฐานบัว 2 ชั้นซ้อนกันที่นิยมราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21[9]: 37  ตรงกับหลักฐานที่ว่าเจดีย์หลวงได้รับการซ่อมแซมสมัยพระเมืองแก้วข้างต้น

วัดพระบวช

แก้
ที่ตั้งวัดพระบวช
 
 
เจดีย์และวิหารของวัดพระบวช

วัดพระบวช เป็นวัดที่ประกอบด้วยเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทางทิศเหนือของวิหาร ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดมุงเมือง สันนิษฐานมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19

วัดพระบวชปรากฏใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 มีบันทึกเกี่ยวกับวัดพระบวชว่าสร้างโดยพญากือนา เมื่อปี พ.ศ. 1889 รายละเอียดดังนี้ "....ส่วนว่าพระยาผายูตนพ่อนั้น ท่านก็ลงไปกินเมืองเชียงใหม่ ในศักราช 708 ตัวปีเมิงไค้ เดือน 6 เพ็ญ วันพุธ มหามูลศรัทธาพระราชเจ้ากือนาสร้างเจดีย์และวิหารพระพุทธรูปพระบวช กลางเวียงไชยบุรีเชียงแสนที่นั่นแล้ว ก็ฉลองทำบุญให้ทานบริบูรณ์ในวันนั้นแล"[7]

วิหารขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 20 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น

เจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร ลักษณะก่ออิฐถือปูน ฐานเป็นฐานเขียง 3 ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชั้นล่างสุดกว้างด้านละ 8 เมตร รองรับชุดฐานบัว 2 ฐานซ้อนกันในผังยกเก็จแบบล้านนา เหนือขึ้นไปเป็นส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัว 3 ฐาน ประดับลูกแก้วอกไก่ฐานละ 2 เส้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลมขนาดเล็ก บัลลังก์สี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม้สิบสอง ก้านฉัตร บัวฝาละมรรองรับปล้องไฉนและปลียอดตามลำดับ

จากการบูรณะของกรมศิลปากรพบว่า เจดีย์องค์นี้ได้ก่อหุ้มเจดีย์อีกองค์หนึ่งไว้ภายใน เจดีย์องค์ในเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด มีเรือนธาตุตั้งอยู่ค่อนข้างต่ำ รองรับไว้ด้วยฐานเขียงเตี้ย มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน พระพุทธรูปปูนปั้นภายในซุ้มองค์หนึ่งที่พบเป็นพระพุทธรูปแสดงท่าทางยืนคล้ายปางลีลา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้กะเทาะบางส่วนของเจดีย์องค์นอกออกเพื่อให้เห็นพระพุทธรูปปูนปั้นของเจดีย์องค์ใน

จากรูปแบบศิลปกรรมสันนิษฐานว่า เจดีย์องค์ในน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 ส่วนเจดีย์องค์นอกสร้างหุ้มเจดีย์องค์เดิมราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 21

วัดมุงเมือง

แก้
ที่ตั้งวัดมุงเมือง
 
 
เจดีย์ของวัดมุงเมือง

วัดมุงเมือง เป็นวัดที่ประกอบด้วยเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมซ้อนกันสี่ชั้น วิหารทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและประตูโขง สันนิษฐานว่าได้สร้างภายหลังวัดป่าสักราวพุทธศตวรรษที่ 20 วัดมุงเมืองตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระบวช สันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจเป็นวัดเดียวกัน

เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกสูงซ้อนกัน 3 ฐาน กว้างด้านละ 7 เมตร รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่และส่วนเรือนธาตุที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมยกเก็จ มีซุ้มจรนำสี่ด้านประดับลายปูนปั้นพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก[10] ส่วนล่างเป็นฐานบัวคว่ำ ส่วนบนเป็นบัวหงายที่ผนังมีการประดับบัวคว่ำและบัวหงายเส้นเล็ก ส่วนล่างและบนประดับลูกแก้วอกไก่แทรกระหว่างบัว ส่วนยอดเป็นฐานแปดเหลี่ยม 1 ฐาน ที่มุมฐานทั้ง 4 มุมประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากฐานแปดเหลี่ยมเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆังทรงกลมขนาดเล็กสูง และบัลลังก์

วิหารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 20 เมตร หันหน้าทิศตะวันออก ด้านหน้าเป็นห้องเปิดโล่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังก่อทึบ ประกอบด้วยฐานชุกชีหรือแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ด้านทิศใต้มีบันไดเชื่อมต่อกับทางเดินไปยังอุโบสถและวิหารเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารและเจดีย์

อุโบสถ มีขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก หรือหันหน้าไปชนกับวิหารเล็ก ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใกล้เคียงกับอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ประตูโขงอยู่บริเวณกำแพงแก้วด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันออกก่อด้วยอิฐถือปูน

วัดมหาธาตุ

แก้
ที่ตั้งวัดมหาธาตุ
 
 
คันธกุฎีและวิหารของวัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ เป็นวัดประกอบด้วยวิหารและมณฑป[3] ไม่ปรากฏประวัติหลักฐานการก่อสร้าง สันนิษฐานสร้างราวพุทธศตรวรรษที่ 20

จากการศึกษาไม่พบประวัติการสร้างแต่เดิมชาวบ้านเรียกวัดมหาธาตุนี้ว่า "วัดพระรอด" ในปี พ.ศ. 2509 ที่เมืองเชียงแสนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ คันธกุฎีวัดมหาธาตุได้รับความเสียหายอย่างมาก ปรากฏว่าเหลือมุมคันธกุฎีด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นคงเหลือสภาพสมบูรณ์ กรมศิลปากรจึงได้บูรณะใหม่ โดยยึดเอาแนวดังกล่าวเป็นต้นแบบ

วิหารมีลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นส่วนฐานก่ออิฐของอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร หันด้านหน้าที่เป็นด้านกว้างไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นที่ด้านหน้า ส่วนด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกเชื่อมต่อทางเข้ามณฑป

มณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายมณฑปมูลคันธกุฎี ที่ประทับส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ขนาดกว้างด้านละ 4.5 เมตร สูง 8.4 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น แต่ปัจจุบันชำรุดแตกหัก

โบราณสถานที่พบคันธกุฎีในบริเวณเมืองเชียงแสน เช่น วัดพระธาตุปูเข้าหรือพระธาตุภูข้าว และวัดป่าแดงหลวง เป็นต้น ที่เมืองสุโขทัยมณฑปลักษณะนี้นี้อยู่หลังวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

วัดอาทิต้นแก้ว

แก้
ที่ตั้งวัดอาทิต้นแก้ว
 
 
เจดีย์ทรงระฆังองค์นอกครองทับเจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์ใน
 
วิหารและพระพุทธรูปหินทรายในวัดอาทิต้นแก้ว

วัดอาทิต้นแก้ว ตั้งอยู่ทางตอนเหนือภายในเมืองเชียงแสน สันนิษฐานว่าสร้างโดยพระเมืองแก้ว เจ้าเมืองเชียงใหม่ สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 20

ตามหลักฐานทางเอกสาร วัดอาทิต้นแก้วสร้างโดยพระเมืองแก้ว เจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้งเสด็จยังเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2049 (หรือ พ.ศ. 2058) ซึ่งตรงกับสมัยของหมื่นมณีครองเมืองเชียงแสน และในปี พ.ศ.2058 เป็นวัดที่พระเมืองแก้วใช้เป็นที่ประชุมภิกษุสงฆ์ 3 ฝ่าย เพื่อลดความขัดแย้งและประนีประนอมระหว่างสงฆ์แต่ละสำนัก และเป็นองค์ประธานในการบวชกุลบุตรเชียงแสนในสำนักสงฆ์เหล่านั้นสามารถทำพิธีกรรมร่วมกันได้

ตาม พงศาวดารโยนก กล่าวว่า วัดอาทิต้นแก้วสร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อจุลศักราช 877 (พ.ศ. 2058) “....เริ่มลงมือขุดรากในวันศุกร์ เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุนถึง ณ วันศุกร์ เดือน 5 แรม 1 ค่ำ ก่อฐานเจดีย์กว้าง 15 วา สูง 1 เส้น 5 วา แล้วให้ผูกเรือขนานในแม่น้ำของ ชุมนุมพระสงฆ์ 108 รูป มีพระราชาคณะวัดโพธารามเมืองเชียงใหม่เป็นประธานกระทำสังฆกรรม แล้วบวชภิกษุอื่นอีกต่อไป รวมเป็นภิกษุบวชใหม่ 1010 รูป แล้วเสด็จจากเมืองเชียงแสนมาประทับเมืองเชียงราย....”

วัดอาทิต้นแก้วปรากฏใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ว่า "...ศักราชได้ 876 ตัวปีกาบเสด (พ.ศ.2057) ท่าน [พระเมืองแก้ว] สร้างวัดหลังหนึ่งในเวียงเชียงแสนที่นั้น วิหารกว้าง 7 วา สูง 9 วา สร้างเจดีย์กว้าง 4 วา สูง 12 วา บรรจุธาตุย่อย 868 พระองค์ สร้างธรรมปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์สำเร็จแล้วบริบูรณ์ จึงใส่ชื่อวัดอาทิตย์แก้วนั้นแล"[7]

วิหารตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือทางทิศตะวันออกของเจดีย์ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูน ผนังสูง หลังคาเครื่องไม้ มุงกระเบื้องดินเผา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง วิหารหลังนี้สร้างทับวิหารหลังเดิม มีบันไดตัวเหงาอยู่ทางทิศใต้ เชื่อมต่อกับทางเดินไปอุโบสถขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์

เจดีย์วัดอาทิต้นแก้วเป็นเจดีย์ก่ออิฐ พบว่ามีการก่อซ้อนกันสององค์ โดยองค์นอกสร้างทับองค์ในไว้ กรมศิลปากรได้นำชิ้นส่วนเจดีย์องค์นอกออกบางส่วน เพื่อแสดงให้เห็นเจดีย์องค์ใน การก่อครอบเจดีย์วัดอาทิต้นแก้วนั้น เชื่อว่ากระทำขึ้นเพื่อเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับที่ก่อครอบเจดีย์วัดพระบวช หรืออาจมีผลมาจากการขัดแย้งระหว่างนิกายทางศาสนา คือ นิกายฝ่ายสวนดอกกับนิกายฝ่ายป่าแดงหลวง

สำหรับรูปแบบเจดีย์องค์นอกเป็นทรงระฆังแบบล้านนาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัวสูง 3 ฐาน ประดับลูกแก้ว 2 รองรับองค์ระฆังอยู่ในฐาน 8 เหลี่ยม คล้ายเจดีย์วัดแสนเมืองมา วัดพระธาตุสองพี่น้อง และวัดพระยืน ซึ่งเป็นรุปแบบที่นิยมสร้างและพบมากที่สุดในเมืองเชียงแสนช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21

ส่วนรูปแบบเจดีย์องค์ใน เป็นเจดีย์ยอดดอกบัวตูม ที่มีฐานสูงคล้ายกับเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย แต่มีการปรับแบบไม่ให้มีเรือนธาตุ จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์องค์ในนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะสุทัยในระยะแรก โดยที่ล้านนาได้รับอิทธิพลสุโขทัยอย่างมากในสมัยพระเจ้ากือนา ที่ให้อัญเชิญพระสุมนเถรจากสุโบทัยขึ้นมาทำสังฆกรรมพระภิกษุล้านนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 1913) จึงคาดว่าเจดีย์องค์ในคงสร้างในสมัยพระเจ้ากือนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20

โบราณวัตถุที่ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2538 ส่วนใหญ่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21–22 ร่วมสมัยกับเจดีย์องค์นอก เช่น พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยรับอิทธิพลสุโขทัย เศียรพระพุทธรูปสำริด และเศียรพระพุทธรูปหินทราย เป็นต้น

หมายเหตุ

แก้
  1. แกนดินอาจเกิดขึ้นจากการขุดเอาดินมาจากคูเมือง แล้วพูนขึ้นเป็นคันดินสูง
  2. หรือ ประตูนางเทิง
  3. หรือ ประตูป่าสัก
  4. หรือ ประตูท่าม่านหรือท่าม้า
  5. พื้นเมืองเชียงแสน ได้กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงแสนไว้ว่า ในครั้งนั้นเมืองเชียงแสนมีประตูเมืองทั้งสิ้น 11 ประตู
  6. เกิดจากการพังทลายจากการเปลี่ยนทิศทางเดินของแม่น้ำโขง เป็นเหตุให้กำแพงเมืองและประตูทางทิศตะวันออกพังทลายลงและซากเจดีย์และโบราณสถานริมตลิ่งของแม่น้ำโขงพบเห็นในฤดูแล้งอีกด้วย
  7. ผู้ศรัทธาในอารามของล้านนา
  8. วัดที่สร้างแห่งแรกของเมือง

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะเมืองเชียงแสน. 2551.
  2. กรมศิลปากร. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือ. 2525.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 เอกสิทธิ์ เรือนทอง. พัฒนาการของแผนผังโบราณสถานในเมืองเชียงแสนและเชียงแสนน้อย. 2556.
  4. กรมศิลปากร. จารึกล้านนา ภาค 2 เล่ม 1. 2551.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 กรมศิลปากร. จารึกล้านนา ภาค 1 เล่ม 1. 2534.
  6. 6.0 6.1 แสง มนวิทูร. ชินกาลมาลีปกรณ์. 2501.
  7. 7.0 7.1 7.2 กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61. 2516.
  8. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. 2547.
  9. จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา. พระเจดีย์เมืองเชียงแสน. 2539.
  10. อภิชิต ศิริชัย. หลงใหลเชียงแสน. 2565.