การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231 หรือ การปฏิวัติสยามครั้งที่หนึ่ง เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของราชอาณาจักรอยุธยา ให้พ้นอิทธิพลการปกครองของชาวยุโรป เมื่อพระเพทราชา หนึ่งในขุนนางฝ่ายทหารที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้วางพระราชหฤทัย ถือโอกาสในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกำลังประชวรหนัก จับพระปีย์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์สืบราชสมบัติสำเร็จโทษ พร้อมกับประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกจากนี้เมื่อพระเพทราชาได้ทรงกระทำการปราบดาภิเษกแล้ว พระองค์ยังได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาพระองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขึ้นเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงพยายามขับไล่กองทหารฝรั่งเศสออกจากสยาม ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญนั้นคือ การล้อมบางกอก กองทัพสยามจำนวนหลายหมื่นคนใช้เวลาสี่เดือนในการล้อมป้อมปราการของฝรั่งเศสภายในเมือง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติของพระองค์ ผลลัพธ์จากการปฏิวัติครั้งนั้นทำให้สยามตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรรดาชาติตะวันตกเกือบสิ้นเชิง กว่าจะมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นอีกครั้งก็ต้องรอถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
กองทหารสยามปิดล้อมป้อมวิชเยนทร์ซึ่งทหารฝรั่งเศสยึดไว้เป็นที่มั่น ระหว่างการปฏิวัติภายใต้การนำของพระเพทราชาในปี พ.ศ. 2231 | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
พระเพทราชาและกลุ่มขุนนางชาวสยาม | |||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ กรมหลวงโยธาเทพ |
เจ้าพระยาวิชเยนทร์ เชอวาเลียร์ เดอ โบเรการ์ด (เชลย) |
นโยบายการต่างประเทศของสมเด็จพระนารายณ์
แก้รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นช่วงที่มีการต้อนรับคณะทูตต่างประเทศและส่งคณะทูตไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีประเทศสำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และวาติกัน นอกจากนี้ยังมีการสานความสัมพันธ์ทางการทูตต่อเปอร์เซีย อินเดีย และจีน ตลอดจนบรรดาอาณาจักรรอบข้างอีกด้วย สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่ อิทธิพลของชาวต่างชาติภายในราชสำนักสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวขึ้นสู่อำนาจของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) นักผจญภัยชาวกรีกผู้ดำรงตำแหน่งว่าที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยปัจจุบัน
สมเด็จพระนารายณ์ทรงพยายามเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรฝรั่งเศสมากเป็นพิเศษ เพื่อถ่วงดุลอำนาจของชาวโปรตุเกสและชาวฮอลันดาที่มีต่อราชอาณาจักรของพระองค์ และทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี[2] ทั้งนี้ ปรากฏหลักฐานว่าทั้งสองฝ่ายมีการส่งคณะทูตแลกเปลี่ยนกันหลายครั้ง[3][4]
กระแสชาตินิยมที่เพิ่มขึ้น
แก้ฝรั่งเศสพยายามจะชักจูงให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและสถาปนากำลังรบของตนขึ้นในสยาม เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ป้อมปราการซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทหารฝรั่งเศสจึงได้มีการก่อสร้างขึ้นที่เมืองมะริดและบางกอก เพื่อยืนยันสนธิสัญญาทางการค้าในปี พ.ศ. 2228 เพื่อถ่วงดุลอำนาจของดัตช์ (หรือฮอลันดา) ในภูมิภาคนี้ และเพื่อต่อต้านการปล้นสะดมจากกลุ่มโจรสลัด[5] การยกพลขึ้นบกของฝรั่งเศสเช่นนี้ได้นำไปสู่ความเคลื่อนไหวในเชิงชาตินิยมอย่างรุนแรงในสยาม เมื่อถึงปี พ.ศ. 2231 ความรู้สึกต่อต้านต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่มุ่งไปที่ฝรั่งเศสและเจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ทะยานขึ้นถึงขีดสุด บรรดาขุนนางชาวสยามต่างชิงชังต่ออิทธิพลในการบริหารราชการแผ่นดินของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ โดยรวมไปถึงมารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา ภรรยาผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น และวิถีชีวิตแบบชาวยุโรปอีกด้วย ในขณะที่พระสงฆ์ในศาสนาพุทธต่างก็พากันอึดอัดใจกับนักบวชคณะเยซูอิตของฝรั่งเศสที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในที่สุดบรรดาข้าราชบริพารจึงได้รวมตัวกันเป็นขั้วอำนาจฝ่ายต่อต้านชาวต่างชาติ ส่วนชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาตั้งรกรากยังกรุงศรีอยุธยาก่อนชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นับถือลัทธิโปรเตสแตนท์ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษ รวมถึงชาวมุสลิมเปอร์เซีย ต่างก็ไม่พอใจต่อการปรากฏตัวของฝรั่งเศสเช่นกัน โดยต่างก็เห็นว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาทอร์เดสซิลลาส อิทธิพลของฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงเป็นการเพิ่มการแข่งขัน แต่ยังเป็นการย้ำเตือนอย่างไม่พึงปรารถนาต่อการเสื่อมอิทธิพลของชาวโปรตุเกสอีกด้วย
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนักในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2231 บรรดาผู้สมรู้ร่วมคิดจึงฉวยโอกาสยึดอำนาจจากพระองค์เสีย ในเดือนเมษายน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านแผนการดังกล่าว นายพลเดฟาร์ฌได้นำกำลังทหาร 80 นาย พร้อมด้วยนายทหารอีก 10 นาย ออกจากบางกอก เดินไปยังพระราชวังเมืองลพบุรี[6] อย่างไรก็ตามเขาได้ยับยั้งกำลังพลทั้งหมดอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และได้ตัดสินใจล้มเลิกแผนการและถอนตัวกลับไปยังบางกอก ด้วยเกรงว่าจะถูกซุ่มโจมตีจากกลุ่มกบฏชาวสยามและได้รับข่าวลือเท็จต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากนายเวเรต์ (Monsieur Véret) ผู้อำนวยการบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส อันรวมไปถึงข่าวลือที่ว่าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตแล้ว[7]
วิกฤติการณ์การสืบราชสมบัติ
แก้ในวันที่ 10 พฤษภาคม สมเด็จพระนารายณ์ซึ่งมีพระอาการประชวรเพียบหนักและใกล้เสด็จสวรรคต ทรงตระหนักถึงปัญหาการสืบราชสมบัติที่ใกล้จะเกิดขึ้น จึงทรงเรียกบุคคลผู้ใกล้ชิดในพระองค์ ซึ่งได้แก่ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีชาวกรีก, พระเพทราชา พี่น้องร่วมพระนมและจางวางกรมพระคชบาล, และพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม ให้เข้าเฝ้าฯ เฉพาะเบื้องพระพักตร์ ทรงมีพระราชดำริที่จะยกให้กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ และให้บุคคลทั้งสามทำหน้าที่ว่าราชการแทนจนกว่าพระราชธิดาจะทรงตัดสินพระทัยว่าจะทรงเลือกอภิเษกสมรสกับพระปีย์หรือพระเพทราชาเป็นพระราชสวามี[8]
การตัดสินพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ทำให้พระเพทราชาต้องเร่งตัดสินใจลงมือโดยเร็ว จากการที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรเพียบหนัก พระเพทราชาจึงได้ดำเนินการทำรัฐประหารตามที่ได้วางแผนไว้มานาน โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาข้าราชบริพารและพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติสยามในปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์ทรงถูกกักบริเวณควบคุมพระองค์เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 และในวันที่ 5 มิถุนายน ฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ก็ได้ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏและถูกสำเร็จโทษด้วยการตัดศีรษะในภายหลัง พระปีย์ถูกฆ่า พระญาติวงศ์หลายพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ถูกลอบสังหาร พระอนุชาทั้งสองพระองค์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ในราชสมบัติโดยชอบธรรมต่างถูกปลงพระชนม์ในวันที่ 9 กรกฎาคม[9][10] สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตระหว่างทรงถูกกักบริเวณเมื่อวันที่ 10-11 กรกฎาคม โดยที่การสวรรคตของพระองค์อาจถูกเร่งให้เร็วขึ้นด้วยการวางยาพิษ พระเพทราชาได้ทรงกระทำการปราบดาภิเษกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม[11] ออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ราชทูตผู้เดินทางไปยังฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2229 และเป็นฝ่ายสนับสนุนพระเพทราชา ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกำกับกรมพระคลังและกรมท่า ดูแลด้านการค้าและการต่างประเทศ[12]
สุดท้ายแล้ว กรมหลวงโยธาเทพได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเพทราชา และทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี
การขับไล่กองทหารฝรั่งเศส
แก้การโจมตีขนาดใหญ่เกิดขึ้นที่ป้อมปราการฝรั่งเศสสองแห่งในสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2231 ฝรั่งเศสภายใต้การดูแลของ ดู บูร์ยองส์ (du Bruant) และ เชอวาเลียร์ เดอ โบเรการ์ด (Chevalier de Beauregard) ต้องละทิ้งกองทหารที่เมืองมะริด[11] ดู บูร์ยองส์ หนีรอดจากกองไฟและมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากโดยการยึดเรือรบสยามที่เมืองมะริด เขาและทหารติดอยู่บนเกาะร้างเป็นเวลาสี่เดือนก่อนที่จะถูกจับโดยเรือรบอังกฤษในที่สุดพวกเขาก็กลับมาที่พอนดิเชอร์รีโดยทางเรือสินค้า
ในการล้อมบางกอกเพทราชาได้ล้อมป้อมปราการฝรั่งเศสในบางกอก ด้วยกำลังพล 40,000 นายและปืนใหญ่กว่าร้อยกระบอก เป็นระยะเวลาสี่เดือน เห็นได้ชัดว่ากองทหารสยามได้รับการสนับสนุนจากชาวดัตช์ในการต่อสู้กับฝรั่งเศส[14] เมื่อวันที่ 9 กันยายน เรือรบฝรั่งเศสออริเฟลม บรรทุกทหาร 200 นาย และได้รับคำสั่งจาก ดู ลิ'พรีสลิลต์ (de l'Estrilles) มาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ไม่สามารถเทียบท่าที่ป้อมปราการบางกอก เนื่องจากเป็นทางเข้าแม่น้ำถูกชาวสยามปิดกั้น[15]
มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา ชาวสยามเชื้อสายญี่ปุ่น-โปรตุเกส ภริยาของฟอลคอน[16] ซึ่งได้รับคำสัญญาว่าจะให้ความคุ้มครองโดยเป็นเคานท์เตสแห่งฝรั่งเศส ลี้ภัยไปพร้อมกับกองทหารฝรั่งเศสในบางกอก แต่เดฟาร์ฌ ส่งเธอกลับคืนสู่สยามโดยได้รับแรงกดดันจากเพทราชาในวันที่ 18 ตุลาคม[17] แม้จะมีคำสัญญาเกี่ยวกับความปลอดภัยของเธอ แต่เธอก็ถูกประณามให้เป็นทาสตลอดไปในครัวของเพทราชา[18] ในที่สุด เดฟาร์ฌ ก็ได้เจรจาเพื่อกลับไปพร้อมกับคนของเขาที่พอนดิเชอร์รีในวันที่ 13 พฤศจิกายน บนเรือออริเฟลมและเรือสยามสองลำ ได้แก่สยามและหลุยส์ ลาโนจัดหาโดยเพทราชา[11][19]
กองทหารฝรั่งเศสบางส่วนยังคงอยู่ในพอนดิเชอร์รีเพื่อสนับสนุนการมีอยู่ของฝรั่งเศสที่นั่น แต่ส่วนใหญ่ออกเดินทางไปฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2232 บนกองทัพเรือฝรั่งเศสนอร์มันและบริษัทฝรั่งเศสโคลส์ โดยมีวิศวกร โวแลน เดอ วีคาร์นอินส์ (Vollant des Verquains) และ เยซูอิต เลอ บลอง (Jesuit Le Blanc) อยู่ในบนเรือรบ เรือทั้งสองลำถูกจับโดยชาวดัตช์ที่เดอะเคป เนื่องจากสงครามแห่งเอาก์สบวร์กลีก (Augsburg League) ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากหนึ่งเดือนควบคุมนักโทษถูกส่งไปยังเซลันด์ ซึ่งพวกเขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำมิดเดิลบืร์ค ในที่สุดพวกเขาก็สามารถกลับไปฝรั่งเศสผ่านการแลกเปลี่ยนนักโทษทั่วไป[20]
เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2232 นาย เดฟาร์ฌ ชาวฝรั่งเศสซึ่งยังคงอยู่ในพอนดิเชอร์รีได้นำคณะสำรวจเพื่อยึดเกาะภูเก็ตเพื่อพยายามฟื้นฟูการควบคุมของฝรั่งเศสในสยาม[21][22] การยึดครองเกาะนี้ไม่มีผลประโยชน์เลย และ เดฟาร์ฌ กลับไปที่พอนดิเชอร์รีในเดือนมกราคม พ.ศ. 2233[23] ระลึกถึงฝรั่งเศสเขาทิ้งทหาร 108 นาย ในพอนดิเชอร์รีเพื่อหนุนการป้องกัน และทิ้งไว้กับกองทหารที่เหลืออยู่บนเรือรบออริเฟลม และ บริษัทจัดส่ง ลอนเร (Lonré) และ เซนต์-นิโคลัส (Saint-Nicholas) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2233[24] เดฟาร์ฌ เสียชีวิตระหว่างทางกลับไปโดยพยายามไปถึงมาร์ตินีก และ เรือรบออริเฟลมไม่นานหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2234 โดยกองทหารฝรั่งเศสที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่นอกชายฝั่งปัตตานี[25]
กบฏที่ก่อตัวเป็นสยามซึ่งนำโดยธรรมเถียรได้ก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2333 เพื่อต่อต้านการปกครองของเพทราชา แต่ถูกปราบปรามโดยเหล่าขุนนางตามหัวเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ก็ปฏิเสธที่จะยอมรับการปกครองของเพทราชาและยืนหยัดในการกบฏจนถึง พ.ศ. 2234 รัชสมัยของเพทราชาครองราชย์ไปจนถึงปี พ.ศ. 2346 เมื่อสิ้นพระชนม์และสืบราชบัลลังก์โดยบุตรชายคนโตหลวงสรศักดิ์ ขึ้นครองราชย์สมบัติต่อมา
วิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌอง โวล็องต์ เดอ แวร์ควนส์ (Jean Vollant des Verquains) ผู้ร่วมสมัยที่เข้าร่วมงานเขียนถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2234 กล่าวว่า "การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. 2231 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคของเราไม่ว่าจะเป็นโดยพิจารณาจากมุมมองของการเมืองหรือศาสนา”[26]
ผลกระทบที่ตามมา
แก้ฝรั่งเศสไม่สามารถกลับเข้ามาหรือจัดการโต้ตอบสยามได้แต่อย่างใด เนื่องจากขณะนั้นฝรั่งเศสติดพันกับเหตุขัดแย้งครั้งใหญ่ในทวีปยุโรป อันได้แก่สงครามสหพันธ์ออกสบูร์ก (ระหว่างปี ค.ศ. 1688-1697) และต่อเนื่องไปยังสงครามสืบราชสมบัติสเปน (ระหว่างปี ค.ศ. 1701 – 1713/14)[22]
ทางฝ่ายสยามนั้น สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงดำเนินการขับไล่ชาวฝรั่งเศสส่วนมากออกไปจากพระราชอาณาจักร แต่สำหรับคณะมิชชันนารีนั้น หลังจากได้มีการลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ คณะมิชชันนารีก็ได้รับอนุญาตให้ดำเนินศาสนกิจของตนในกรุงศรีอยุธยาต่อไปแม้ว่าจะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับบางประการ บาทหลวงหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) บาทหลวงแห่งอยุธยา ได้พ้นพระราชอาญาจำคุกเมื่อ พ.ศ. 2234 ชาวฝรั่งเศสส่วนจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในฐานะของข้าราชการในพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา เช่น เรอเน ชาร์บองโน (René Charbonneau) อดีตเจ้าเมืองภูเก็ต ก็ยังคงได้รับอนุญาตให้อยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไป[22]
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสยามก็ไม่ได้ตัดขาดการติดต่อกับชาวต่างชาติไปเสียสิ้นเชิง ในวันที่ 14 พฤศจิกายน หลังจากฝรั่งเศสถอนตัวออกไปจากกรุงสยามได้ไม่นาน ก็ได้มีการทบทวนสนธิสัญญาและข้อตกลงทางพันธไมตรีระหว่างสยามกับบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ มีเนื้อหารับรองให้ชาวฮอลันดามีสิทธิผูกขาดการส่งออกหนังกวางแต่เพียงฝ่ายเดียวดังเช่นที่เคยมีข้อตกลงกันมาก่อนในอดีต และอนุญาตให้ชาวฮอลันดาสามารถทำการค้าที่ท่าเรือต่าง ๆ ของสยามได้โดยอิสระ นอกจากนี้ยังให้สิทธิในการผูกขาดการส่งออกแร่ดีบุกจากเมืองนครศรีธรรมราชอีกด้วย (เดิมได้รับพระบรมราชานุมัติจากสมเด็จพระนารายณ์มาก่อนแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2217)[27] นอกจากนี้ยังคงมีการส่งหัวหน้าสถานีการค้าของฮอลันดา (Opperhoofden) มาประจำการที่กรุงศรีอยุธยาเช่นกัน เช่น ปีเตอร์ ฟาน เดน ฮูร์น (Pieter van den Hoorn, ระหว่างปี 1688–1691) และโทมัส ฟาน ซัน (Thomas van Son, ระหว่างปี 1692–1697) เป็นต้น[28] แม้กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชาติตะวันตกก็ยังคงมีอยู่เพียงประปราย และจะไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์จนกว่าจะถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25[29]
นอกเหนือจากการติดต่อกับชาติตะวันตกแล้ว การค้าขายกับบรรดาชาติในทวีปเอเชียด้วยกันก็ยังคงเฟื่องฟูอยู่ต่อไปจากการที่สยามยังคงเกี่ยวข้องในการค้าขายระหว่างจีน-สยาม-ญี่ปุ่น ในรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา ปรากฏบันทึกว่ามีเรือสำเภาจีนเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา 50 ลำ และในระยะเดียวกันนั้นก็มีเรือสำเภาถึง 30 ลำ เดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองท่านางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น[30]
ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสยามกับบรรดาชาติตะวันตกได้ฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งด้วยการสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์กับสหราชอาณาจักร (ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "สนธิสัญญาเบอร์นี") ในปี พ.ศ. 2369 เริ่มมีการแลกเปลี่ยนทางการทูตกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2376[31] ส่วนฝรั่งเศสนั้นกว่าจะกลับมาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการก็ต้องรอจนถึงปี พ.ศ. 2399 เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงส่งคณะทูตภายใต้การนำของชาร์ล เดอ มองติญี (Charles de Montigny) มาเจริญพระราชไมตรียังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการลงนามสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2399 เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า รับรองเสรีภาพทางศาสนา และอนุญาตให้เรือรบฝรั่งเศสเข้ามาจอดที่กรุงเทพมหานครได้ ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2404 สยามจึงได้ส่งคณะทูตซึ่งนำโดยพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) จางวางกรมพระคลังสินค้า โดยสารไปกับเรือรบฝรั่งเศส เพื่อไปเจริญพระราชไมตรียังประเทศฝรั่งเศสเป็นการตอบแทน[32]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ De la Touche, in Smithies 2002, p. 66–71
- ↑ Wills, p. 87
- ↑ "Thai Ministry of Foreign Affairs". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-10-15. สืบค้นเมื่อ 2018-04-01.
- ↑ Mission Made Impossible: The Second French Embassy to Siam, 1687, by Michael Smithies, Claude Céberet, Guy Tachard, Simon de La Loubère (2002) Silkworm Books, Thailand ISBN 974-7551-61-6 , p. 182
- ↑ Wills, p. 89
- ↑ Vollant des Verquains, in Smithies 2002, p.110
- ↑ Desfarges, in Smithies 2002, p.18
- ↑ Cruysse, Dirk van der. Siam and the West. p. 444.
- ↑ Wills, p. 92
- ↑ Desfarges, in Smithies 2002, p.46
- ↑ 11.0 11.1 11.2 Smithies 2002, p.184
- ↑ Desfarges, in Smithies 2002, p.35
- ↑ Smithies 2002, p.80
- ↑ De la Touche, in Smithies 2002, p.76
- ↑ Desfarges, in Smithies 2002, p.49
- ↑ Vollant des Verquains, in Smithies 2002, p.100
- ↑ Smithies 2002, p.11/p.184
- ↑ Smithies 2002, p.51, note 101
- ↑ De la Touche, in Smithies 2002, p.73
- ↑ Smithies 2002, p.19
- ↑ A History of South-east Asia p. 350, by Daniel George Edward Hall (1964) St. Martin's Press
- ↑ 22.0 22.1 22.2 Dhivarat na Pombejra in Reid, p.267
- ↑ Smithies 2002, p.185
- ↑ Smithies 2002, p.179
- ↑ Smithies 2002, p.16/p.185
- ↑ Jean Vollant des Verquains, History of the revolution in Siam in the year 1688, in Smithies 2002, p. 98
- ↑ Dhivarat na Pombejra in Reid, p.265
- ↑ Dhiravat na Pombejra, in Reid p.265-266
- ↑ Background Note: Thailand, US Department of State: Bureau of East Asian and Pacific Affairs, March 2008
- ↑ Dhiravat na Pombejra in Reid, p.266
- ↑ US Department of State
- ↑ "Thai Ministry of Foreign Affairs". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-12-28. สืบค้นเมื่อ 2019-01-03.
- บรรณานุกรม
- Hall, Daniel George Edward (1964) A History of South-east Asia St. Martin's Press
- Reid, Anthony (Editor), Southeast Asia in the Early Modern Era, Cornell University Press, 1993, ISBN 0-8014-8093-0
- Smithies, Michael (1999), A Siamese embassy lost in Africa 1686, Silkworm Books, Bangkok, ISBN 974-7100-95-9
- Smithies, Michael (2002), Three military accounts of the 1688 "Revolution" in Siam, Itineria Asiatica, Orchid Press, Bangkok, ISBN 974-524-005-2
- Stearn, Duncan. Chronology of South-East Asian History: 1400-1996. Dee Why: Mitraphab Centre, 1997. p49.
- John E. Wills, Jr. (2002). 1688: A Global History. W. W. Norton & Company. ISBN 978-0-393-32278-1.