กรมหลวงโยธาเทพ ภายหลังออกพระนามว่า สมเด็จพระรูปเจ้า มีพระนามเดิมว่า พระสุดาเทวี (คำให้การชาวกรุงเก่า)[1] หรือ เจ้าฟ้าสุดาวดี (พ.ศ. 2199—2278) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งประสูติแต่พระมเหสีฝ่ายขวา พระองค์มีบทบาทด้านการค้าค่อนข้างสูงในรัชสมัยของพระราชบิดา และได้รับพระราชทานให้ดำรงพระอิสริยยศเป็น "กรมหลวงโยธาเทพ" และคงมีพระอำนาจสูงมาก โดยจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวว่าพระองค์ "...ทรงพระเกียรติยศและเสด็จประทับ ณ พระมนทิราลัยเยี่ยงพระอัครมเหสี..."[2] และบางครั้งชาวตะวันตกก็เรียกแทนพระองค์ว่าเป็น "ราชินี"[3]

กรมหลวงโยธาเทพ
เจ้าฟ้าต่างกรม
ภาพพิมพ์กรมหลวงโยธาเทพ คริสต์ศตวรรษที่ 17 จากหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส
ประสูติพ.ศ. 2199
สวรรคตพ.ศ. 2278 (ประมาณ 79 ปี)
วัดพุทไธสวรรย์ อาณาจักรอยุธยา
พระสวามีสมเด็จพระเพทราชา
พระบุตรตรัสน้อย
ราชวงศ์ปราสาททอง (ประสูติ)
บ้านพลูหลวง (อภิเษกสมรส)
พระบิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระมารดาพระกษัตรีย์
ศาสนาเถรวาท

พระองค์มีบทบาทอย่างสูงเนื่องจากทรงมีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับแพทย์หลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อดาเนียล บรูชบูรด์ ผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่าวางยาลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์[3] แต่ท้ายที่สุดพระองค์ก็ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยนัก[4] ด้วยการเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระเพทราชา แต่หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พระองค์และกรมหลวงโยธาทิพได้ถวายบังคมออกจากพระบรมมหาราชวังมาประทับและดำรงพระชนม์อย่างสงบด้วยการผนวชเป็นรูปชี แต่นั้นเป็นต้นมาชาววังได้ออกพระนามว่า "สมเด็จพระรูปเจ้า"[5] และดำรงพระชนม์เรื่อยมาจนกระทั่งสวรรคตในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2278

พระประวัติ

แก้

คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า กรมหลวงโยธาเทพมีพระนามเดิมว่าพระสุดาเทวี เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ประสูติแต่พระกษัตรีย์พระมเหสีฝ่ายขวา[1] (บางแห่งออกพระนามว่า เจ้าฟ้าสุริยงรัศมี)[6] หรือพระอัครมเหสี[7] เรื่องราวเบื้องต้นของพระองค์ปรากฏใน คู่มือทูตตอบ เขียนขึ้นโดยราชบัณฑิตไม่ปรากฏนามในสมัยกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2224 โดยในเนื้อความได้กล่าวถึงพระราชโอรส-ธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเนื้อความระบุว่า ขณะนั้นพระราชธิดามีพระชนมายุได้ 25 พรรษา[8] จึงสันนิษฐานว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 2199 ส่วนเอกสารของบาทหลวงเดอชัวซีระบุว่า ใน พ.ศ. 2228 เจ้าฟ้าสุดาวดีมีพระชนมายุ 27 พรรษา[9] ซึ่งปีประสูติจะตรงกับ พ.ศ. 2201

พระองค์เป็นพระราชธิดาที่โปรดปรานของพระราชบิดา หากมีผู้ใดเสกสมรสด้วยกับเจ้าฟ้าพระองค์นี้ก็ย่อมได้รับสิทธิธรรมเหนือราชบัลลังก์มากขึ้นด้วย[10] และด้วยความที่เป็นพระราชธิดาที่ทรงโปรดปราน สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดีจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าฟ้าต่างกรม เป็นพระองค์แรก ๆ พร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ พระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์[11]ที่ได้รับการจัดตั้งจากเหล่าขุนนางข้าราชการเช่นกัน ซึ่งกรมหลวงโยธาทิพเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์ โดยในเรื่องราวดังกล่าวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือตำนานวังหน้าเกี่ยวกับที่มาของเจ้าต่างกรม ความว่า

แต่เดิมมาขัตติยยศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเจ้านายนั้น เป็นตำแหน่งเฉพาะพระองค์ เช่นเป็นพระราเมศวร พระบรมราชา พระอินทราชา พระอาทิตยวงศ์ ส่วนพระองค์หญิงก็มีพระนามปรากฏเป็น พระสุริโยทัย พระวิสุทรกษัตรีย์ เป็นต้น ครั้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าน้องยาเธอ จึงไม่ได้สถาปนาขัตติยยศพระองค์หนึ่งพระองค์ใด พระราชโอรสก็ไม่มี (มีจดหมายเหตุฝรั่งกล่าวว่า เมื่อพระอัครมเหสีทิวงคต สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะให้ข้าราชการในพระมเหสีคงอยู่แก่เจ้าฟ้าพระราชธิดา) จึงโปรดให้รวบรวมข้าราชการจัดตั้งขึ้นเป็นกรมกรมหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาเทพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสุดาวดีราชธิดา และให้จัดตั้งอีกกรมหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณอย่างเดียวกัน เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้นจึงปรากฏพระนามตามกรมว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพพระองค์ ๑ เป็นปฐมเหตุที่จะมีเจ้านายต่างกรมสืบมาจนทุกวันนี้[11]

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

แก้
 
สมเด็จพระนารายณ์ตามจินตนาการของชาวฝรั่งเศส

สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีน้ำพระทัยและจรรยามารยาทละมุนละไมเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนในราชสำนักและราษฎรทั่วไป สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงรักพระอนุชาองค์นี้ประดุจพระโอรส จึงมีพระราชดำริที่จะสถาปนาให้เป็นองค์รัชทายาท และยกสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ให้เป็นพระชายา จนถึงขั้นมีการเตรียมการจัดงานอภิเษกสมรส อีกทั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพเองก็มีพระปรารถนาอย่างลึกซึ้ง แต่ความหวังก็พังพินาศลงในกาลต่อมา[12] เนื่องจากเจ้าฟ้าน้อยทรงลอบเป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ ภายหลังท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถูกลงโทษด้วยการโยนให้เสือกิน[13] ส่วนเจ้าฟ้าน้อยได้รับโทษโบย จนเป็นอัมพาตที่พระชิวหา บ้างก็ว่าทรงแสร้งเป็นใบ้[14]

ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชประสงค์ให้กรมหลวงโยธาเทพ อภิเษกสมรสกับพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม แต่กรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงยินยอมพร้อมพระทัยด้วย และพระองค์ทรงยึดมั่นในพระราชดำริเดิมที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าน้อย และทรงขัดขืนพระราชประสงค์ของพระบิดา[15] โดยปรากฏในบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน ความว่า

ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงนั้น ครั้นทรงได้รับแจ้งพระราชดำริ ก็ทรงไม่ยินยอมพร้อมพระทัยด้วย ชะรอยจะทรงมีความหยิ่งในราชสมภพ ดังที่เธอทรงแสดงอยู่ให้ประจักษ์ จึงไม่อาจลดพระองค์ลงมาอภิเษกกับบุคคลในชั้นไพร่ได้ หรือชะรอยจะเป็นดังที่คนทั้งหลายเข้าใจกันอยู่ กล่าวคือเธอมีน้ำพระทัยโน้มน้าวและผูกพันในทางอภิเษกสมรสมาแต่ก่อนกับพระปิตุลา [สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย] อยู่แล้ว ...เธอก็ยังทรงยึดมั่นในพระราชดำริดั้งเดิมของในหลวงที่จะอภิเษกเธอให้แก่เจ้าชายองค์นั้นอยู่เสมอ แต่เรื่องได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ดังที่กระผมได้ยินเขาพูดกันมา ว่าแม้ในหลวงหรือ มร.ก็องสตังซ์ [เจ้าพระยาวิชาเยนทร์] ก็มิได้ล่วงรู้ระแคะระคายเลย ในหลวงทรงขัดพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระราชธิดาทรงขัดขืนพระราชประสงค์อย่างหนักแน่น ไม่ทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพระปีย์...[16]

ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ กรมหลวงโยธาเทพมิเคยปรากฏพระองค์ให้ชาวยุโรปคนใดพบเห็นเลย จึงเชื่อว่าในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ด้วยเช่นกันกับพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ด้วยเหตุผลทางการเมือง[17] ในช่วงปลายรัชกาลของพระบรมชนกนาถ กรมหลวงโยธาเทพมีพระราชดำรัสสั่งให้ขับไล่คริสต์ศาสนิกชนออกจากราชอาณาจักร ชาวคริสต์จึงถูกจับใส่ตรวน ซึ่งรวมไปถึงสมเด็จพระสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส เว้นแต่บาทหลวงคณะเยสุอิตที่ได้รับเสรีภาพและได้รับอนุญาตให้เข้าพบและปลอบโยนผู้จองจำ[18] แต่หลังการลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้าน้อย กรมหลวงโยธาเทพโทมนัสนัก เพราะทรงสงวนพระองค์สำหรับอภิเษกสมรส กรมหลวงโยธาเทพทรงรู้สึกผิดหวังที่ต่อต้านฝรั่งเศส โดยนายพลเดฟาร์ฌระบุว่า "...ท้ายที่สุดก็ทรงเลือกที่จำดำรงพระชนม์อยู่ในฐานะพระมเหสีมากกว่าจะสิ้นพระชนม์อย่างไร้ความสุข พระราชพิธีอภิเษกสมรส [กับสมเด็จพระเพทราชา] ไม่ได้จัดขึ้นก่อนที่พวกเรา [นายพลเดฟาร์ฌ] จะเดินทางออกไป"[19]

หลังการผลัดแผ่นดินและปลายพระชนม์ชีพ

แก้
 
วัดเตว็ด

หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชาได้ครองราชย์สืบมา และได้ทรงอภิเษกกรมหลวงโยธาเทพขึ้นเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายเพื่อสิทธิธรรมแห่งราชบัลลังก์ ซึ่งกรมหลวงโยธาเทพเองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน และตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยต่อพระเพทราชานัก[4] นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชาได้สั่งให้ปลงพระชนม์พระอนุชาสองพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การที่ได้กรมหลวงโยธาเทพที่ทรงเป็นสมเด็จพระมเหสีฝ่ายซ้าย จึงทำให้พระเพทราชามีสิทธิธรรมในราชบัลลังก์สมบูรณ์มากขึ้น เมื่อครบถ้วนทศมาสกรมหลวงโยธาเทพก็ได้ให้พระประสูติกาลพระราชโอรสพระนามว่าตรัสน้อย โดยพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าตรงกับเวลารุ่ง เดือน 10 ปีมะเส็ง[20] จ.ศ. 1051 แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่าเป็นปีมะโรง จ.ศ. 1050 (พ.ศ. 2231)[21]

แต่เดิมพระองค์ประทับอยู่ในพระตำหนักคูหาสวรรค์หรือพระตำหนักตึกภายในพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ พระราชวังหลวงอยุธยา หลังจากสมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคต พระองค์และเจ้าฟ้าตรัสน้อยทรงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่าประทับดังกล่าวปัจจุบันคือวัดเตว็ด เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลไปจากวัดพุทไธศวรรย์[22] ส่วนพระตำหนักคูหาสวรรค์ได้กลายเป็นที่ประทับของพระมเหสีองค์อื่น ๆ ของราชวงศ์บ้านพลูหลวงต่อไป[23] พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสงบสุข จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2278 สิริพระชนมายุได้ 79 พรรษา ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[24]ขณะที่ผนวชเป็นรูปชี โดยจดหมายเหตุเรื่องสมเด็จพระบรมศพ ระบุว่า[5]

"วัน จุลศักราช ๑๐๙๗ ปีเถาะสัพศก เพลาย่ำฆ้องค่ำแล้ว ๓ บาท สมเด็จพระรูปเจ้าเสด็จนิพพาน ณ วัดพุทไธสวรรย์ฯ [สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ] เสด็จลงไป ณ พระศพ จึงทรงฯ สั่งว่าให้เชิญสมเด็จพระบรมศพขึ้นไปไว้ ณ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทนั้นแล..."

การนี้สมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุขนาดน้อย ขื่อ 5 วา 2 ศอก แล้วเชิญพระศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่ไปยังพระเมรุ ถวายพระเพลิงหน้าพระศพ พระสงฆ์ 10,000 รูป สดับปกรณ์ 3 วัน[25]

พระราชกรณียกิจและพระจริยวัตร

แก้
 
สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ โดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส

พระราชกรณียกิจในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ กรมหลวงโยธาเทพทรงรับผิดชอบกิจการในพระราชวังแทนพระราชมารดาที่เสด็จสวรรคต ทรงดูแลเรื่องต่าง ๆ นางสนมกำนัลขันที จนชาววังเรียกว่า "เจ้าวัง" เมื่อทรงกรมแล้วได้รับพระเกียรติยศอย่างสูงสุดคือ ได้รับพระราชทานหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ส่วยสาอากรขนอนตลาดเลกสมในสังกัด มีพระคลังสินค้า เรือกำปั่น และเงินทุน[26] นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์อีกจำนวนมาก เรื่องราวของพระองค์ได้ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ทำการบันทึกไว้ความว่า "...เจ้าฟ้าหญิงองค์ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่าดำรงอิสริยยศเยี่ยงพระมเหสีนั้น กำลังทรงมีเรื่องหมางพระทัยอยู่กับพระราชบิดา ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงกว้านการค้ากับต่างประเทศไว้เสียหมด"[27] ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงมีเหตุหมางพระทัยกับพระราชบิดาที่เป็นอุปสรรคทางการค้าของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีเรื่องบาดหมางกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เนื่องจากเขาได้เกณฑ์แรงงานสองพันคนจากที่ดินในอาณัติของพระองค์ เพื่อนำไปปฏิบัติการในเมืองเขมรช่วงปี ค.ศ. 1684 จึงเป็นเหตุให้ทรงกริ้วหนัก[28] และพระองค์ก็ทรง "ไม่สบายพระทัยนักที่พวกฝรั่งเศสเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพระราชอาณาจักรเช่นนี้"[29] ทั้งนี้ทรงตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ดังปรากฏความว่า "คุณพ่อบาทหลวงตอบพวกเราว่า หากทำตามที่เราเรียกร้องก็หมายหัว ม.ก็องสต็องซ์ไว้ได้เลย ทั่วทั้งอาณาจักรจะลุกขึ้น ตั้งกันเป็นหมู่เป็นพวก นับร้อยนับพัน จะเป็นโอกาสให้ศัตรูของเขา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ราชินี [พระราชธิดา — กรมหลวงโยธาเทพ] ซึ่งทรงเย่อหยิ่งและผยองในศักดิ์ศรีอย่างยิ่ง"[3]

 
มาดามลาโดแฟ็ง พระสุณิสาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่ส่งของกำนัลมาพระราชทานแต่กลับถูกกรมหลวงโยธาเทพปฏิเสธ

ด้วยเหตุดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ. 1687 มาดามลาโดแฟ็ง พระชายาในเจ้าชายหลุยส์ เลอกร็องโดแฟ็ง พระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งทูตพิเศษนำของกำนัลมาพระราชทานให้ แต่พระองค์กลับปฏิเสธ โดยทรงอ้างว่าพระองค์ทรงมีฐานะ "ยากจน" เกินกว่าจะประทานของมีค่าที่จะเทียบกันได้เป็นการตอบแทน[30] ซึ่งในจดหมายเวเรต์ถึงมาร์กีส์เดอแซนเญอเลก็ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า "พระราชธิดาในองค์กษัตริย์สยามแสดงอาการโกรธแค้นพวกเรา เนื่องจากนางเกลียดชังเมอสิเยอร์ก็องสต็องซ์ซึ่งเคยลบหลู่ดูหมิ่นนางอยู่หลายครั้งหลายหน เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง จนกระทั่งนางไม่ประสงค์จะรับของกำนัลของมาดามลาโดฟีนที่ส่งมาถวาย นี่แสดงให้เห็นความเกลียดชังของนางที่มีต่อเรา"[31]

นอกจากนี้บาทหลวงตาชาร์ดก็ได้บันทึกเรื่องราวด้วยลายมือเขียนด้วยเช่นกัน แต่ก็แต่งเติมไปบ้าง ความว่า "ครั้งเมื่อมีผู้ไปเร่งรัดทาง (พระราชธิดา)...ให้เข้าไปยังราชสำนัก เพื่อจะได้คัดเลือกของหายากให้เป็นของกำนัลแด่พระชายาของพระโอรส เพราะจะเป็นการผิดวิสัยอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตอบแทนน้ำใจของมาดามลาโดแฟ็ง พระนางตรัสตอบว่า ไม่ได้ทรงร่ำรวยพอที่จะส่งของกำนัลที่มีค่าเสมอกับของที่ส่งมาให้ และทรงแน่พระทัยว่า องค์พระบิดาจะได้ทรงกระทำทุกอย่างที่ทรงเห็นควรเหมาะกับพระนาง"[29]

กล่าวกันว่าพระนางทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวฮอลันดาโดยผ่านแพทย์หลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อดาเนียล บรูชบูรด์ (Daniel Brochebourde) ซึ่งนับถือนิกายโปรเตสแตนต์และตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14[32] และเป็นผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้วางยาพิษลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามคำสั่งของฮอลันดาและพระเพทราชา[3]

สถานที่อันเนื่องด้วยพระนาม

แก้

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 94
  2. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, หน้า 303
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 205
  4. 4.0 4.1 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 231
  5. 5.0 5.1 ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ. "อันเนื่องมาแต่ "เรื่องจดหมายการพระศพสมเด็จพระรูป วัดพุทไธสวรรย์ กรุงเก่า"". งานพระเมรุ: ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2560, หน้า 107
  6. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกแก้ว เมียขวัญ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 5
  7. ไพร่ขุนนางเจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา, หน้า 161
  8. ไมเคิล ไรท์ (กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิประวัติศาสตร์สยาม: เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม 26:4, หน้า 93.
  9. ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (เขียน), สมศรี เอี่ยมธรรม (แปล). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522, หน้า 132
  10. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. หน้า 84
  11. 11.0 11.1 "สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่". จุลลดา ภักดีภูมินทร์. 14 พฤษภาคม 2545. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-08. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
  12. บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน, หน้า 94-96
  13. ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง เขียน, สมศรี เอี่ยมธรรม แปล. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุทธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522, หน้า 76-77
  14. บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน, หน้า 96-100
  15. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 113
  16. บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน, หน้า 101-102
  17. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 158
  18. พันตรีโบชอง (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 22-24
  19. นายพลเดฟาร์จ (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561, หน้า 40
  20. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 334
  21. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 268
  22. วัดเตว็ด ประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา
  23. กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 193
  24. "พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-08. สืบค้นเมื่อ 2008-12-02.
  25. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 360
  26. La Loubère. Du Royaume de Siam. p. 142
  27. สุภัตรา ภูมิประภาส (กันยายน 2552). "นางออสุต:เมียลับผู้ทรงอิทธิพลแห่งการค้าเมืองสยาม". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 94
  28. De Choisy. Journal du Voyage de Siam. p. 372
  29. 29.0 29.1 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 165
  30. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 157
  31. Lettre de Véret à Seignelay, datée de Pondichéry le 25 févier 1689, Algemeen Rijksarchief. VOC. 4025 I et 4026
  32. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 191
บรรณานุกรม
  • ลาลูแบร์, ซิมอน เดอจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548. 688 หน้า. ISBN 974-93533-2-3
  • แบส, เดอะ; แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 256 หน้า. ISBN 978-974-8075-25-9
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง : คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คำให้การขุนหลวงหาวัด. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 9786165080736
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • ภาสกร วงศ์ตาวัน. ไพร่ขุนนางเจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2553. ISBN 978-616-7071-18-3
  • สปอร์แตซ, มอร์กาน; กรรณิกา จรรย์แสง แปล. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. =267 หน้า. ISBN 978-974-02-0768-9

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้