เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
เจ้าพระยาโกษาธิบดี นามเดิม ปาน (พ.ศ. 2176 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2242) เป็นขุนนางในอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นเอกอัครราชทูตคนสำคัญที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229[2]
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) | |
---|---|
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ครั้งเป็นออกพระวิสุทธสุนทร ราชทูต ภาพวาดฝีมือชาวฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2227 | |
คณะราชทูตอาณาจักรอยุธยาไปยังประเทศฝรั่งเศส | |
ดำรงตำแหน่ง มิถุนายน พ.ศ. 2229 – มีนาคม พ.ศ. 2230 | |
แต่งตั้งโดย | พระยาวิไชเยนทร์ |
กษัตริย์ | สมเด็จพระนารายณ์มหาราช |
ก่อนหน้า | ขุนพิชัยวาลิต ขุนพิจิตรไมตรี |
ถัดไป | ออกขุนชำนาญใจจง ออกขุนวิเศษภูบาล ออกหมื่นพิพิธราชา |
เจ้าพระยาโกษาธิบดี | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2231 – 2242 | |
กษัตริย์ | สมเด็จพระเพทราชา |
ก่อนหน้า | ออกญาวัง |
ถัดไป | ออกญามหาอำมาตย์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ปาน พ.ศ. 2176 [1] กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
เสียชีวิต | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2242 (66 ปี)[1] กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
เชื้อชาติ | ชาวไทยเชื้อสายมอญ[1] |
ศาสนา | เถรวาท |
บุตร | 4 คน; รวมถึง เจ้าพระยาวรวงษาธิราช |
บุพการี |
|
ญาติ | เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) (พี่ชาย) |
ปานเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมชั้นเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับสามีเชื้อสายพระยาเกียรดิ์ พระยาราม เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[1] นอกจากนี้เขายังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[3]
ประวัติ
แก้ปานเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1] และเป็นน้องชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่าง พ.ศ. 2200–2226 [4] ปานมีบุตร 4 คน[5][6][7] คือ
- บุตรี (ไม่ปรากฏนาม)
- บุตรชาย มีนามว่า ขุนทอง มีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) เสนาดีกรมคลัง ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8
- บุตรชาย (ไม่ปรากฏนาม)
- บุตรชาย (ไม่ปรากฏนาม)
ปานได้บรรดาศักดิ์ ออกพระวิสุทธสุนทร และได้รับแต่งตั้งเป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยดังกล่าว ฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักของพระนารายณ์มาก จุดประสงค์ของฝรั่งเศสคือเผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามให้พระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสตชน รวมทั้งพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยาด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด[8]
คณะทูตไปฝรั่งเศสดังกล่าว ประกอบด้วย ปาน เป็นราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต, และออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า 40 คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 ณ พระราชวังแวร์ซาย[9] และเดินทางกลับเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2230[10]
ปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกสิ่งที่พบเห็นในการเดินทาง[11] ในการเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คณะทูตอยุธยาได้รับการยกย่องชื่นชมจากชาวฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายตะวันออกแต่งทูตไปยังฝรั่งเศส[11] พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงรับรองคณะทูตอย่างสมเกียรติยศ โปรดให้ทำเหรียญที่ระลึกและเขียนรูปเหตุการณ์เอาไว้[11]
พระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กล่าวถึงปานว่า
ราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่า เป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถี่ถ้วนดีมาก หากเรามิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นการอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไร แต่ละคำ ๆ ก็ดูน่าปลื้มใจ และน่าเชื่อถือทุกคำ
— พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงพระนารายณ์มหาราช ประมาณ พ.ศ. 2230[12]
ความสำเร็จจากการทูตดังกล่าว ทำให้ปานได้ฉายาว่า ราชทูตลิ้นทอง หรือนักการทูตลิ้นทอง[13]
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231
แก้หลังกลับกรุงศรีอยุธยา ปานถูกกดดันให้เข้ากลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสของพระเพทราชาซึ่งประกอบด้วยขุนนางที่ไม่พอใจฝรั่งเศสที่มีอำนาจมากในกรุงศรีอยุธยา การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาส่งผลให้สมเด็จพระนารายณ์พ้นจากราชบัลลังก์และขับไล่ทหารฝรั่งเศสซึ่งปานได้รับการส่งให้ไปเจรจาด้วย จากนั้น ปานจึงได้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง[14][15]
เองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน พบกับปานใน ค.ศ. 1690 และเขียนบรรยายไว้ว่า ปานมีภาพของราชวงศ์ฝรั่งเศสกับแผนที่ยุโรปแขวนอยู่ในห้องโถงบ้าน[16]
เขาเป็นคนน่ามองและมีวิสัยทัศน์ดียิ่งกว่าคนใด ๆ ที่ข้าพเจ้าเคยพบในหมู่มนุษย์ชนชาติผิวคล้ำนี้... เขายังเข้าใจรวดเร็ว และมีอากัปกิริยากระตือรือร้น ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้รับการตั้งให้เป็นทูตไปฝรั่งเศสเมื่อไม่กี่ปีก่อน และเขามักสร้างความบันเทิงให้แก่เราด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเทศดังกล่าว การปกครองประเทศนั้น ค่ายคูประตูหอรบ และสิ่งอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน และที่โถงบ้านเขาซึ่งเราพบกันเป็นการส่วนตัวนั้นมีรูปราชวงศ์ฝรั่งเศสกับแผนที่ยุโรปแขวนอยู่ ส่วนเครื่องเรือนอื่น ๆ หามีอันใดนอกจากฝุ่นและหยากไย่
— เองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ (1727/1987:38).[17]
ใน ค.ศ. 1699 กี ตาชาร์ บาทหลวงคณะเยสุอิต เข้าพบปานและพระเพทราชา แต่การพบกันเป็นแต่ทางพิธีการ ไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ใด ๆ[18]
การเสียชีวิต
แก้เมื่อสิ้นสมเด็จพระนารายณ์ใน พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ต่อ ปานได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี ว่าการพระคลัง[19]
ใน พ.ศ. 2239 ปานถูกลงอาญาอยู่บ่อยครั้ง เนื่องด้วยเป็นที่นิยมในหมู่ราษฎร มีครั้งหนึ่งพระเพทราชากริ้วมาก ใช้พระแสงตัดปลายจมูกของปาน[20] บางแหล่งว่า ที่ถูกตัดจมูก เพราะเขาถูกกล่าวหาว่า จงรักภักดีต่อฝรั่งเศสและสมเด็จพระนารายณ์ [21]
ใน พ.ศ. 2242 เขาถูกลงพระราชอาญา ภรรยา อนุภรรยา รวมทั้งบุตรสาวและบุตรชาย ถูกคุมขัง ทรัพย์สมบัติก็ถูกริบหมด[20]
บางแหล่งว่า เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายใน พ.ศ. 2243[21] บางคนว่า เขาใช้มีดแทงตัวตาย บางคนว่า เขาถูกโบยด้วยเชือกจนตาย[20]
ต้นตระกูลราชวงศ์จักรี
แก้มีคำกล่าวกันว่า โกษาปานเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์จักรี[22] เพราะมีสถานะเป็นบิดาของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) พระปัยกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งภายหลังเข้ารับราชการกับพระเจ้าเสือ และยังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช [3][23]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง บุพเพสันนิวาส และ พรหมลิขิตออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "พระยาวิสูตรสุนทร" หรือ "เจ้าพระยาโกษาธิบดี" นำแสดงโดยชาติชาย งามสรรพ์
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 มานพ ถนอมศรี 2533 หน้า 13-14
- ↑ มานิจ ชุมสาย 2531, หน้า 100
- ↑ 3.0 3.1 Smithies 2002, p. 100
- ↑ เปิดประวัติวีรบุรุษคนสำคัญ! 'โกษาเหล็ก' แม่ทัพผู้ช่ำชองด้านการศึกษา ใช้จิตวิทยารบชนะพม่า ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2561
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. สมเด็จพระชนกาธิบดี พระปฐมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2564. 360 หน้า. หน้า 45. ISBN 978-616-4418-16-5
- ↑ แสงเทียน ศรัทธาไทย. มหาอุทรโอบอุ้มมหาราช. กรุงเทพฯ : ร่มฟ้าสยาม, 2548. 192 หน้า. หน้า 128. ISBN 974-169-015-0
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. เล่าเรื่องเมืองสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี : เอ็ม.บี.เอ, 2536. 192 หน้า. หน้า 139. ISBN 974-897-582-7
- ↑ เปิดวาร์ป!!! “โกษาปาน” ในบุพเพสันนิวาส กับภาพวาดฝีมือชาวฝรั่งเศส ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2561
- ↑ มานพ ถนอมศรี 2533 หน้า 24-26
- ↑ มานิจ ชุมสาย 2531, หน้า 143
- ↑ 11.0 11.1 11.2 'โกษาปาน'นักการทูตผู้สุขุม รูปงาม ไทยโพสต์ สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2561
- ↑ มานพ ถนอมศรี 2533, หน้า 11
- ↑ Royal Institute of Thailand (2011). "พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 3 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" (PDF). Bangkok: Royal Institute of Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2014-07-18. สืบค้นเมื่อ 15 July 2014.
- ↑ Smithies 2002, p. 35
- ↑ Smithies 1999, p. 2
- ↑ Suarez, p. 30
- ↑ Quoted in Smithies 2002, p. 180
- ↑ Smithies 2002, p. 185
- ↑ เปิดประวัติสุดเศร้า! ฝรั่งเศสบันทึกชะตากรรมโกษาปาน โดนตัดจมูก-เฆี่ยน จนฆ่าตัวตาย! ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2561
- ↑ 20.0 20.1 20.2 มานพ ถนอมศรี 2533, หน้า 38
- ↑ 21.0 21.1 มานิจ ชุมสาย 2531, หน้า 203
- ↑ Smithies 2002, p.180
- ↑ มานพ ถนอมศรี 2533, หน้า 40-42
บรรณานุกรม
แก้- Smithies, Michael (1999), A Siamese embassy lost in Africa 1686, Silkworm Books, Bangkok, ISBN 974-7100-95-9
- Smithies, Michael (2002), Three military accounts of the 1688 "Revolution" in Siam, Itineria Asiatica, Orchid Press, Bangkok, ISBN 974-524-005-2
- มานพ ถนอมศรี (1990). เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (PDF). กรุงเทพมหานคร: ต้นอ้อ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2021-02-24. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
- มานิจ ชุมสาย (1988). สมเด็จพระนารายณ์และโกษา (PDF). ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงศึกษาธิการ. ISBN 9741006071. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2021-02-25. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
- กรมศิลปากร (2529). สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (pdf). กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร.[ลิงก์เสีย]