ชาวมอญ

กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าตอนล่าง
(เปลี่ยนทางจาก ชาวไทยเชื้อสายมอญ)

มอญ (มอญ: မန်, ออกเสียง: [mo̤n], ฟังเสียง; พม่า: မွန်, ออกเสียง: [mʊ̀ɰ̃]) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพม่าตอนล่าง[2] บริเวณรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา[3] ภาคตะนาวศรี ภาคพะโค ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี และหลายพื้นที่ของประเทศไทย (ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง) โดยมีภาษาแม่เป็นภาษามอญ ซึ่งอยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกสาขามอญ และมีต้นตอร่วมกับภาษาญัฮกุร ซึ่งพูดโดยชาวญัฮกุรที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปหลายภาษาได้รับอิทธิพลจากภาษามอญ และภาษามอญก็ได้รับอิทธิพลจากภาษาเหล่านั้นด้วยเช่นกัน[4][5][6]

มอญ
မန်
เยาวชนมอญในเครื่องแต่งกายตามประเพณี
ประชากรทั้งหมด
ป. 1.7 ล้านคน
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 พม่าป. 1.1 ล้านคน[a][1]
 ไทย200,000[b]
 ลาว1,000[b]
ภาษา
ภาษามอญ, ภาษาพม่า, ภาษาไทย, ภาษาลาว
ศาสนา
พุทธนิกายเถรวาท, ศาสนาพื้นบ้านมอญ
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง

ชาวมอญเป็นหนึ่งในกลุ่มชนแรกที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป[7][8] อารยธรรมที่ชาวมอญเป็นผู้สถาปนาเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดทั้งในประเทศไทย ประเทศพม่า และประเทศลาว ชาวมอญถือเป็นผู้ส่งออกวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายใหญ่[9] ในอดีต เมืองหลายเมืองในประเทศพม่า ประเทศไทย และประเทศลาวในปัจจุบัน อย่างย่างกุ้ง กรุงเทพมหานคร ลำพูน ลำปาง และเวียงจันทน์ ได้รับการสถาปนาโดยชาวมอญหรือผู้นำเชื้อสายมอญ

ปัจจุบันชาวมอญเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุหลักในประเทศพม่าและชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย[10] โดยชาวมอญในพม่าเรียกเป็นชาวพม่าเชื้อสายมอญ แต่จะไม่ใช่ชาวพม่าที่มีเชื้อสายพม่า ส่วนชาวมอญในประเทศไทยมักเรียกเป็นชาวมอญรามัญหรือชาวไทยเชื้อสายมอญ[11][12] ภาษาย่อยของชาวมอญในประเทศไทยและประเทศพม่าสามารถเข้าใจกันได้[13]

ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

แก้

กลุ่มชนต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์เรียกชาวมอญด้วยชื่อหลายแบบ ในสมัยก่อนอาณานิคม ชาวพม่าเรียกชาวมอญว่า ตะเลง (တလိုင်း, Talaing) ซึ่งชาวบริติชในสมัยอาณานิคมนำมาใช้เรียกต่อ คำว่า "Peguan" สำหรับชาวยุโรปใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ในสมัยที่พะโคเป็นเมืองหลักในพม่าตอนล่าง[14][15]

คำว่า "ตะเลง" พบในศิลาจารึกที่สืบอายุได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11[16] แต่ปัจจุบันถือเป็นคำเหยียดและไม่ใช้งานอย่างแพร่หลายอีกต่อไป เว้นแต่ในบริบทศัพท์เฉพาะทางประวัติศาสตร์ เช่น แนวเพลงที่มีชื่อเดียวกันในมหาคีตา ชุดเพลงคลาสสิกของพม่า[17] ศัพทมูลวิทยาของตะเลงยังไม่ได้รับข้อสรุป โดยอาจมาจากคำว่ามอญ หรืออ้างอิงจาก เตลิงคะ หรือ กาลิงคะ แคว้นหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย[16][18]

คำว่า "มอญ" ซึ่งพ้องกับศัพท์ในภาษาพม่าที่แปลว่า 'มีสกุล'[19] น่าจะมาจากภาษามอญเก่าว่า "rmeñ" ผ่านภาษามอญสมัยกลางว่า "rman" (ရာမန်)[20][15] ชื่อเรียก "รามัญ" (rmeñ) ได้รับการบันทึกครั้งแรกในศิลาจารึกพระราชวังใหม่ของพระเจ้าจานซิต้าที่พม่าใน ค.ศ. 1102 โดยค้นพบต้นตอของศัพท์นี้มาจากศิลาจารึกภาษาเขมรเก่าในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 10 และภาษาชวาในคริสต์ศตวรรษที่ 11[20]: 44–58  คำว่ารามัญประเทศ (Rāmaññadesa) ศัพท์ทางภูมิศาสตร์ที่ปัจจุบันใช้เรียกใจกลางของชาวมอญในชายฝั่งพม่า ประดิษฐ์โดยพระเจ้าธรรมเจดีย์ใน ค.ศ. 1479[21][22][23]

ชาวมอญในพม่าได้รับการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยตามภูมิภาคต้นตอในพม่าตอนล่าง ได้แก่ Mon Nya (မန်ည; สัทอักษรสากล: [/mòn ɲaˀ)] จากพะสิม (ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี) ทางตะวันตก Mon Tang (မန်ဒိုင်; สัทอักษรสากล: [/mòn tàŋ/]) ในพะโคทางตอนกลาง และ Mon Teh (မန်ဒ; สัทอักษรสากล: [/mòn tɛ̀ˀ/]) ที่เมาะตะมะทางตะวันออกเฉียงใต้[24]

ประวัติ

แก้

ก่อนประวัติศาสตร์

แก้

ชาวมอญ ซึ่งสืบเชื้อสายจากชาวออสโตรเอเชียติกดั้งเดิม เชื่อกันว่าอพยพมาจากแยงซีเกียงในจีนตอนใต้ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสะโตง แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง 3,000 ถึง 2,000 ปีก่อน ค.ศ.[25][8][26][27]: 196  ภายหลังจึงตั้งถิ่นฐานไปไกลสุดถึงมาลายา[8][28] พร้อมกับนำเอาวิถีเกษตรกรรมริมแม่น้ำ รวมถึงการเพาะปลูกนาข้าว[29][30] การวิจัยทางภาษาศาสตร์สมัยใหม่โดย Sidwell (2021) เสนอแนะว่าสถานที่ของชนออสโตรเอเชียติกดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงในเวียดนามตอนเหนือเมื่อประมาณ 4,000-4,500 ปีก่อนปัจจุบัน[31]

สมัยประวัติศาสตร์

แก้
 
อาณาจักรหงสาวดี (สีชมพูอ่อน) ราว ค.ศ. 1400 (พ.ศ. 1943)

มอญเป็นชนชาติเก่าแก่ มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาตั้งอาณาจักรของตนทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีนและอินเดียเรียกว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ"

ในพุทธศตวรรษที่ 2 ศูนย์กลางของอาณาจักรมอญคืออาณาจักรสุธรรมวดีหรือสะเทิม จากพงศาวดารมอญกล่าวไว้ว่าอาณาจักรสะเทิมสร้างโดยพระราชโอรส 2 พระองค์ของพระเจ้าติสสะ แห่งแคว้นหนึ่งของอินเดีย ก่อนปี พ.ศ. 241 พระองค์นำพลพรรคลงเรือสำเภามาจอดที่อ่าวเมาะตะมะ และตั้งรากฐานซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของเมือง อาณาจักรสะเทิมรุ่งเรืองมากมีการค้าขายติดต่ออย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดียและลังกา รับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์และศาสนา โดยเฉพาะรับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทมา มอญมีบทบาทในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดียไปยังชนชาติอื่นอย่างเช่น ชาวพม่า ไทย และลาว เจริญสูงมีความรู้ดีทางด้านการเกษตร และมีความชำนาญในการชลประทาน โดยเป็นผู้ริเริ่มระบบชลประทานขึ้นในลุ่มน้ำอิรวดีทางตอนกลางของประเทศพม่า

พวกน่านเจ้าเข้ามาทางตอนเหนือของพม่าและทำสงครามกับพวกปยู อาณาจักรมอญที่สะเทิมขยายอำนาจขึ้นไปทางภาคกลางของลุ่มแม่น้ำอิรวดีระยะหนึ่ง แต่เมื่อชนชาติพม่ามีอำนาจเหนืออาณาจักรปยู และได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้เข้ารุกรานมอญ มอญจึงถอยลงมาดังเดิมและได้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1368 ที่ หงสาวดี

พระเจ้าอโนรธา กษัตริย์พม่าแห่งพุกาม ยกทัพมาตีอาณาจักรสุธรรมวดีและกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สมบัติ พระสงฆ์ พระไตรปิฎก กลับไปพุกามจำนวนมาก ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 1600–1830 หงสาวดีตกอยู่ใต้อำนาจพุกาม แต่กระนั้นพม่าก็รับวัฒนธรรมมอญมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษามอญได้แทนที่ภาษาบาลีและสันสกฤตในจารึกหลวง และพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้เป็นศาสนาที่นับถือสูงสุดในพุกาม มอญยังมีความใกล้ชิดกับลังกา ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาท และนิกายเถรวาทก็แพร่กระจายไปทั่วเอเชียอาคเนย์

พระเจ้าจานซิต้าทรงดำเนินนโยบายผูกมิตรกับราชตระกูลของพระเจ้ามนูหะ กษัตริย์มอญแห่งสะเทิม โดยยกพระราชธิดาให้กับเจ้าชายมอญ พระนัดดาที่ประสูติจากทั้งสองพระองค์นี้ ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ พระนามว่า พระเจ้าอลองสิธู ในยุคที่พระองค์ปกครองอาณาจักรพุกามได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นมากที่สุด นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้าจานซิต้ามีศิลาจารึกยกย่องไว้ว่า วัฒนธรรมมอญเหนือกว่าวัฒนธรรมพม่าอีกด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 1830 จักรวรรดิมองโกลยกทัพมาตีพุกาม ทำให้มอญได้รับเอกราชอีกครั้ง มะกะโทหรือพระเจ้าฟ้ารั่ว ราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงกอบกู้เอกราชมอญจากพม่า และสถาปนาอาณาจักรหงสาวดี พระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมาะตะมะ ต่อมาในสมัยพระยาอู่ ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี ราชบุตรของพระองค์คือพระเจ้าราชาธิราช ผู้ทำสงครามยาวนานกับกษัตริย์พม่าอังวะในสมัยพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา กับสมัยพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ขุนพลสำคัญของพระเจ้าราชาธิราช ก็คือ สมิงพระราม, สมิงนครอินทร์ และสมิงอายมนทะยา ในสมัยของพระเจ้าราชาธิราชนั้นหงสาวดีกลายเป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอลจากแม่น้ำอิรวดีขยายลงไปทางตะวันออกถึงแม่น้ำสาละวิน และเป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่โต มีเมืองท่าสำคัญหลายแห่งในหลายลุ่มน้ำ เช่น เมาะตะมะ สะโตง พะโค พะสิม อาณาจักรมอญยุคนี้เจริญสูงสุดในสมัยพระนางเชงสอบูและสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ หลังจากนั้นในสมัยพระเจ้าสการะวุตพีหงสาวดีก็เสียแก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ในปี พ.ศ. 2081

พ.ศ. 2283 สมิงทอพุทธกิตติ กู้เอกราชคืนมาจากพม่าได้สำเร็จ และสถาปนาอาณาจักรหงสาวดีใหม่ ทั้งได้ยกทัพไปตีเมืองอังวะ ในปี พ.ศ. 2290 พญาทะละได้ครองอำนาจแทนสมิงทอพุทธกิตติ ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางทำให้อาณาจักรตองอูของพม่าสลายตัวลง จนในปี พ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญาก็กู้อิสรภาพของพม่ากลับคืนมาได้ ทั้งยังได้โจมตีมอญ กษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญคือ พระเจ้าพญามองธิราชหรือพญาทะละ[32]

วัฒนธรรม

แก้

ภาษาและอักษรมอญ

แก้
 
จารึกเมียเซดี (ค.ศ. 1113) เป็นจารึกมอญในเมืองพุกามสมัยพระเจ้าจานซิต้า หนึ่งในจารึกที่เก่าแก่ที่สุดของพม่า

ภาษามอญ เป็นภาษาตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกที่มีการใช้มานานประมาณ 3,000–4,000 ปี เป็นภาษาในกลุ่มภาษามอญ–เขมร มีผู้ใช้ภาษานี้อยู่ราว 5,000,000 คน ส่วนอักษรมอญ พบหลักฐานในประเทศไทยที่จารึกวัดโพธิ์ร้าง อายุราวพุทธศตวรรษ 12 เป็นอักษรมอญโบราณที่เก่าแก่ที่สุด ในบรรดาจารึกภาษามอญที่ได้ค้นพบในแถบเอเชียอาคเนย์ เป็นจารึกที่เขียนด้วยตัวอักษรปัลลวะ ที่ยังไม่ได้ดัดแปลงให้เป็นอักษรมอญ พบว่ามีการประดิษฐ์อักษรมอญขึ้นเพื่อให้พอกับเสียงในภาษามอญ[33] และในจารึกเสาแปดเหลี่ยมที่ศาลสูงเมืองลพบุรี จารึกในพุทธศตวรรษที่ 14 ราว พ.ศ. 1314 เป็นตัวอักษรมอญโบราณหลังปัลลวะ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา[34]

หลักฐานจารึกในสมัยกลางประมาณ พ.ศ. 1600 เป็นต้นมา มีบันทึกทั้งภาษามอญและอักษรมอญ ซึ่งพม่าก็รับอักษรมอญมาใช้เขียนภาษาพม่าเป็นครั้งแรก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตัวอักษรได้คลี่คลายจากตัวอักษรปัลลวะ เป็นตัวอักษรสี่เหลี่ยมหรืออักษรมอญโบราณ และเปลี่ยนแปลงขนาดเล็กลงในระยะต่อมา จนในพุทธศตวรรษที่ 21 ก็ได้กลายเป็นอักษรมอญปัจจุบันที่มีลักษณะกลม สันนิษฐานว่าเกิดจากการจารหนังสือโดยใช้เหล็กจารลงบนใบลาน อักษรมอญลักษณะกลมนี้มีอายุ ประมาณ 400 ปีเศษ[35]

ภาษามอญจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic Languages) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในแถบอินโดจีนและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และเมื่อพิจารณาลักษณะทางไวยากรณ์ ภาษามอญจัดอยู่ในประเภทภาษาคำติดต่อ (Agglutinative) อยู่ในกลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงใต้ (South Eastern Flank Group) นักภาษาศาสตร์ที่ชื่อ วิลเฮล์ม ชมิดท์ (Willhelm Schmidt) ได้จัดให้อยู่ในตระกูลภาษาสายใต้ (Austric Southern family)

พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงภาษามอญไว้ว่า "ภาษามอญนั้นมีลักษณะเป็นภาษาคำโดด ซึ่งมีรูปภาษาคำติดต่อปน ลักษณะคำมอญจะมีลักษณะเป็นคำพยางค์เดียวหรือสองพยางค์ ส่วนคำหลายพยางค์เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาบาลีและสันสกฤต และคำที่เกิดจากการเติมหน่วยคำผสาน กล่าวคือ การออกเสียงของคำซึ่งไม่เน้นการออกเสียงในพยางค์แรก จะสร้างคำโดยการใช้การผสานคำ (affixation) กับคำพยางค์แรก เพื่อให้มีหน้าที่ทางไวยากรณ์ อีกทั้งการใช้หน่วยผสานกลางศัพท์ และการใช้สระต่าง ๆ กับพยางค์แรกในคำสองพยางค์ ก็จะเป็นการช่วยเน้นให้พยางค์แรกเด่นชัดขึ้นด้วย แต่พยางค์หลังเป็นส่วนที่มีความหมายเดิม"

สรุปคือภาษามอญเป็นภาษาที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ไม่มีการผันคำนาม คำกริยา ตามกฎบังคับทางไวยากรณ์ ประโยคประกอบด้วยคำที่ทำหน้าที่ประธาน กริยา และกรรม ส่วนขยายอยู่หลังคำที่ถูกขยาย[36]

ในปัจจุบันชาวมอญรุ่นหลังหันมาใช้ภาษาพม่ากันมาก มีจำนวนมากที่เลิกใช้ภาษามอญจนคิดว่าตนเป็นพม่า อีกทั้งไม่ทราบว่าตนมีเชื้อสายมอญ จากการสำรวจประชากรมอญในปี ค.ศ. 1931 พบว่ามีจำนวนแค่ 3 แสน 5 หมื่นคน ต่อมาในปี ค.ศ. 1939 ได้มีการก่อตั้งสมาคมชาวมอญและมีการสำรวจประชากรมอญอีกครั้ง พบว่ามีราว 6 แสนกว่าคน พอต้นสมัยสังคมนิยมสำรวจได้ว่ามีชาวมอญราว 1 ล้านกว่าคน ชาวมอญที่ยังพูดภาษามอญในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐมอญ แต่ในเขตเมืองก็จะพบแต่ชาวมอญที่พูดภาษาพม่าเป็นส่วนมาก[37]

ในประเทศไทยเอง ก็มีการใช้ภาษามอญในการสื่อสารตามชุมชนมอญในจังหวัดต่าง ๆ และแต่ละชุมชนก็มีสำเนียงเฉพาะที่แตกต่างกันไปตามที่อาศัย ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากชุมชนอื่นที่ไม่ใช่ชาวมอญซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยในบางชุมชนยังคงมีการสอนลูกหลานให้พูดภาษามอญกัน แต่บางชุมชนภาษามอญก็มีการใช้สื่อสารน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามในจังหวัดสมุทรสาคร ก็มีชาวมอญจากประเทศพม่า ที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวในจังหวัด ซึ่งได้นำภาษาพูดและภาษาเขียนกลับเข้ามาในชุมชนมอญแถบมหาชัยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีการใช้ภาษามอญรวมไปถึงป้ายข้อความภาษามอญให้พบเห็นโดยทั่วไป[38]

ศิลปะ

แก้

ศิลปวัฒนธรรมมอญนั้นกลายเป็นศิลปวัฒนธรรมของพม่าไปหมด เพราะศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่นั้นพม่าได้รับไปจากมอญ สถาปัตยกรรมประเภทเรือนยอด (กุฎาคาร) หรือหลังคาที่มียอดแหลมต่อขึ้นไป โดยเฉพาะเรือนยอดทรงมณฑป เป็นสถาปัตยกรรมมอญที่ไทยและพม่านำมาดัดแปลงใช้ต่อ

ศิลปดนตรีนั้นไทยได้รับอิทธิพลจากมอญมามาก เช่น ไทยเรารับวงปี่พาทย์มอญ และรับได้ดีทั้งรักษาไว้จนปัจจุบัน และให้เกียรติเรียกว่าวงปี่พาทย์มอญ นิยมบรรเลงในงานศพ ดนตรีไทยที่มีชื่อเพลงว่ามอญนั้น นับได้ 17 เพลง เช่น มอญดูดาว มอญชมจันทร์ มอญรำดาบ มอญอ้อยอิ่ง มอญร้องไห้ มอญนกขมิ้น ฯลฯ และยังมีแขกมอญ คือ ทำนองทั้งแขกทั้งมอญ เช่น แขกมอญบางขุนพรหม แขกมอญบางช้าง เป็นต้น เพลงทำนองของมอญมีความสง่าภาคภูมิ เป็นผู้มีวัฒนธรรมและค่อนข้างจะเย็นเศร้า แต่ที่สนุกสนานก็มีบ้าง เช่น กราวรำมอญ มอญแปลง ฯ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะที่เรียกว่าเปิงมางนั้น เป็นเครื่องดนตรีมอญ ซึ่งไทยเรานำมาทำคอกล้อมเป็นวงกลมหลายวงเรียกว่า เปิงมางคอก ตีแล้วฟังสนุกสนาน และเครื่องดนตรีเช่น ปี่มอญ ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ จะเข้ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากมอญ[39][40][41][42]

ประเพณีและศาสนา

แก้
 
ข้าวแช่

ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวมอญนั้น มีวัฒนธรรมเป็นแบบฉบับมายาวนาน บางอย่างมีอิทธิพลให้กับชนชาติใกล้เคียง เช่น ประเพณีสงกรานต์ ข้าวแช่ ฯลฯ บางอย่างก็ถือปฏิบัติกันแต่เฉพาะในหมู่ชนมอญเท่านั้น ชาวมอญมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็นับถือผีบรรพบุรุษกับผีอื่น ๆ ที่มีอิทธิฤทธิ์ รวมทั้งเทวดาองครักษ์[43]

ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ ของภาคกลางในจังหวัดสมุทรปราการโดยชาวพระประแดง (มอญปากลัด) ปกติมักจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายนหรือตรงกับช่วงวันสงกรานต์ ความเป็นมาหรือสาระสำคัญของประเพณีก็เพื่อเป็นการระลึก และเป็นการบูชา รวมไปถึงการเฉลิมฉลองให้กับครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงจากจากชั้นภพดาวดึงส์ เป็นการถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้คนต่างมักจะนำเสาหงส์และธงตะขาบมาใช้คู่กัน

นอกจากนี้ยังมีชาวมอญในไทยจำนวนหนึ่งที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม มีทั้งนิกายซุนนีและชีอะฮ์ อันเกิดจากการสมรสข้ามชาติพันธุ์ สามารถพบได้ในชุมชนมอญมุสลิมได้ในชุมชนเกาะเกร็ด[44] ปากลัด และทุ่งครุ[45] ชาวมอญที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เช่น ชุมชนเกาะเกร็ดจะยกเลิกประเพณีการละเล่นและเลิกถือวัฒนธรรมมอญดั้งเดิมบางประการ[44] ขณะที่ชุมชนมอญมุสลิมปากลัดและทุ่งครุจะมีการแต่งกายให้เยาวชนชายที่จะเข้าสุหนัตด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อสีสันฉูดฉาด สวมปะวะหล่ำกำไล และแต่งแต้มใบหน้าอย่างบวชลูกแก้วของชาวไทใหญ่ และพ่อนาคของชาวมอญ จนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชน[45]

การแต่งกาย

แก้
 
หญิงชาวมอญนิยมสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุง เกล้ามวยผม คล้องสไบ

ชายชาวมอญสวมเสื้อคอกลมผ่าอก แขนทรงกระบอก มีกระดุมผ้า หรือเชือกผูกเข้ากัน สมัยก่อนนิยมโพกศีรษะ ท่อนล่างสวมผ้านุ่ง เรียกว่า เกลิด และเวลาออกงานสำคัญนุ่งผ้าผืนยาวที่เรียกว่า เกลิดฮะเหลิ่น แปลว่า ผ้านุ่งยาว (ลอยชาย) มีสไบพาดไหล่สองข้างทิ้งชายไปข้างหลังหรือพาดบ่าด้วยผ้าขาวม้า หากเป็นงานบุญจะพาดด้านซ้ายมือ

หญิงชาวมอญสวมเสื้อตัวในคอกลมแขนกุดตัวสั้นแค่เอว เล็กพอดีตัว สีสันสดใส สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอก เป็นผ้าลูกไม้เนื้อบาง สีอ่อน มองเห็นเสื้อตัวใน หากยังสาวอยู่แขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ หากมีครอบครัวแล้วจะเป็นแขนสามส่วน มีการคล้องผ้าสไบ ถ้าเป็นงานบุญจะคล้องผ้าทางด้านซ้ายมือ แต่หากไปงานรื่นเริงก็ใช้คล้องคอแทน หรือพาดลงมาตรง ๆ บนไหล่ซ้าย ท่อนล่างสวม หนิ่น คล้ายผ้านุ่งของผู้ชาย แต่ลายของผู้หญิงจะละเอียดกว่าและวิธีการนุ่งต่างกัน หญิงมอญนิยมเกล้าผมมวยค่อนต่ำลงมาทางด้านหลัง มีเครื่องประดับกลัดไม่ให้ผมมวยหลุด เช่น โลหะรูปตัวยูคว่ำหรือโลหะรูปปีกกาตามแนวนอน และปักปิ่นปักผม[46]

อาหาร

แก้

ชาวมอญนิยมนำผักตามฤดูกาลและปลาในท้องถิ่นมาประกอบอาหารเป็นแกงส้มและแกงเลียง ส่วนในเทศกาลสงกรานต์ ชาวมอญนิยมทำ ข้าวแช่ หรือ เปิงด้าจก์ หรือ เปิงซงกราน ที่แปลว่า ข้าวสงกรานต์ เพื่อบูชาพระและเทวดา[47]

มอญในประเทศไทย

แก้

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

แก้

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11–13 คือเหรียญเงินเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 ม.ม. พบที่นครปฐมและอู่ทองนั้น พบว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “ศรีทวารวดีศวร” และมีรูปหม้อน้ำกลศอยู่อีกด้านหนึ่ง ทำให้เชื่อได้ว่า ชนชาติมอญโบราณได้ตั้งอาณาจักรทวารวดี (บางแห่งเรียกทวาราวดี) ขึ้นในภาคกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางที่เมืองนครปฐมโบราณ (ลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือ นครชัยศรี) กับเมืองอู่ทองและเมืองละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาได้ขยายอำนาจขึ้นไป ถึงหริภุญชัยหรือลำพูน มีหลักฐานเล่าไว้ว่า ราว พ.ศ. 1100 พระนางจามเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองลวปุระหรือละโว้ลพบุรี ได้อพยพผู้คนขึ้นไปตั้งเมืองหริภุญชัยที่ลำพูน

เมืองนครปฐมบริเวณพระปฐมเจดีย์ และใกล้เคียงมีการพบจารึกอักษรปัลลวะ บาลี สันสกฤต และอักษรมอญโบราณ บันทึกเรื่องการสร้างพระพุทธรูป เสาหงส์ วิหาร และแนวต้นมะพร้าวเป็นอาณาเขตพระอารามที่วัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์)[33] และพบจารึกอักษรมอญโบราณ สมัยหริภุญชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 17 จำนวน 7 หลัก ที่ลำพูน (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน)[48]

ต่อมาอาณาจักรขอมหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตใน พ.ศ. 1732 อำนาจขอมก็เริ่มเสื่อมลง พ่อขุนบางกลางหาว ที่สถาปนาเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัย เป็นอิสระจากการปกครองของขอม พ่อขุนรามคำแหง พระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ที่ได้ครองราชย์สืบต่อมา ทรงดัดแปลงอักษรขอมและอักษรมอญ มาประดิษฐ์เป็นลายสือไทย

ด้านจารึกภาษามอญบนใบลานนั้น พบมากมายตามหมู่บ้านมอญในประเทศไทย ส่วนที่ประเทศพม่าพบมากตามหมู่บ้านมอญเมืองสะเทิมและไจคะมีในรัฐมอญ ซึ่งมีการคัดลอกและรวบรวมนำมาเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติเมืองย่างกุ้ง และที่หอสมุดมอญเมืองเมาะลำเลิง นอกจากนี้กองโบราณคดีและกองวัฒนธรรม ยังได้จัดพิมพ์วรรณกรรม ชาดก ตำรามอญ และเคยมีการริเริ่มจัดพิมพ์พจนานุกรมมอญ–พม่าอีกด้วย

มอญอพยพ

แก้
 
วัดปรมัยยิกาวาส

ทุกวันนี้ชนชาติมอญไม่มีอาณาเขตประเทศปกครองตนเอง เนื่องจากตกอยู่ในภาวะสงคราม การแย่งชิงราชสมบัติกันเอง และการรุกรานจากพม่า ชาวมอญอยู่อย่างแสนสาหัส ถูกกดขี่รีดไถ มีการเกณฑ์แรงงานก่อสร้าง ทำไร่นาหาเสบียงเพื่อการสงคราม และเกณฑ์เข้ากองทัพ โดยเฉพาะสงครามในปี พ.ศ. 2300 สมัยพระเจ้าอลองพญา เป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่ชาวมอญพ่ายแพ้แก่พม่าอย่างราบคาบ ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเมืองไทยหลายต่อหลายครั้ง เท่าที่มีการจดบันทึกเอาไว้รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตีหงสาวดีแตกใน พ.ศ. 2082 ชาวมอญจำนวนมากหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองกรุงศรีอยุธยาชั้นนอก พระยาเกียรติ พระยารามและครัวเรือนให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองชั้นใน ใกล้พระอารามวัดขุนแสน และเมื่อถึง พ.ศ. 2084 ราชวงศ์ตองอูตีเมืองเมาะตะมะแตก มีการฆ่าฟันชาวมอญลงขนาดใหญ่ ก็เข้าใจว่ามีชาวมอญหนีเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาอีก ถือเป็นระลอกแรกของมอญอพยพ

ครั้งที่ 2 เมื่อพระนเรศวรเสด็จไปพม่าเมื่อคราวพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ แล้วประกาศเอกราช ทรงชักชวนชาวมอญที่เข้าสวามิภักดิ์ ให้อพยพเข้ามาพร้อมกัน ราว พ.ศ. 2127 ในการอพยพครั้งนี้ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ใด แต่คาดว่าคงเป็นย่านเดียวกับการอพยพคราวแรก

ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อหงสาวดีถูกยะไข่ทำลายใน พ.ศ. 2138 ครั้งนี้ก็มีการอพยพใหญ่ของชาวมอญมาทางตะวันออกเข้าสู่ดินแดนของกรุงศรีอยุธยา

ครั้งที่ 4 หลังจากที่ราชวงศ์ตองอูย้ายราชธานีไปอยู่ที่อังวะ หลังจากหงสาวดีถูกทำลายแล้ว ชาวมอญก็ตั้งอำนาจขึ้นใหม่ในดินแดนของตน ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโนเพตลุน พม่าก็ยกทัพมาปราบชาวมอญอีกใน พ.ศ. 2156 ทำให้เกิดการอพยพของชาวมอญเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา หลักฐานบางแห่งกล่าวว่าชาวมอญกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามแนวชายแดนไทย

ครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2204 หรือ 2205 ชาวมอญในเมืองเมาะตะมะก่อการกบฏขึ้นอีก แต่ถูกพม่าปราบลงได้ จึงต้องอพยพหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาอีกระลอกหนึ่ง ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าใจว่ากลุ่มนี้สัมพันธ์กับกลุ่มชาวมอญที่ตั้งอยู่ชายแดน

ครั้งที่ 6 ชาวมอญสามารถตั้งอาณาจักรของตนขึ้นมาใหม่ได้สมัยปลายราชวงศ์ตองอู และยกทัพไปตีกรุงอังวะแตก ต่อมาพระเจ้าอลองพญาได้รวบรวมกำลังพม่าลุกขึ้นต่อสู้จนตั้งราชวงศ์โก้นบองได้ในที่สุด และปี พ.ศ. 2300 ก็สามารถตีหงสาวดีได้อีก นโยบายของราชวงศ์นี้คือกลืนมอญให้เป็นพม่าโดยวิธีรุนแรง จึงมีชาวมอญอพยพหนีมาสู่เมืองไทยอีกหลายระลอก รวมทั้งกลุ่มที่หนีขึ้นเหนือไปสู่ล้านนา และเรียกกันว่าพวกเม็งในปัจจุบันนี้

ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2316 ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี ชาวมอญก่อกบฏในย่างกุ้ง พม่าปราบปรามอย่างทารุณแล้วเผาย่างกุ้งจนราบเรียบ ทำให้มอญอพยพเข้าไทยอีก พระเจ้าตากสินโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มมอญเก่า (พระยารามัญวงศ์) และมอญใหม่ (พระยาเจ่ง) คนที่นับตัวเองเป็นชาวมอญในปัจจุบันล้วนอพยพเข้ามาจากระลอกนี้หรือหลังจากนี้ ส่วนชาวมอญที่อพยพก่อนหน้านี้กลืนหายเป็นไทยไปหมด แม้แต่กลุ่มที่อยู่ตามชายแดนแถบเมืองกาญจนบุรี

ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2336 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยึดเมืองทวายได้ แต่รักษาไว้ไม่ได้ ต้องถอยกลับเข้าไทย ก็นำเอาชาวมอญโดยเฉพาะที่เป็นพวกหัวหน้าเข้ามา

ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2357 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อชาวมอญไม่พอใจที่ถูกพม่าเกณฑ์แรงงานก่อสร้างเจดีย์ ได้ก่อกบฏที่เมืองเมาะตะมะ ถูกพม่าปราบ ต้องอพยพเข้าไทยเป็นระลอกใหญ่มาก ราว 40,000 คนเศษ เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) เสด็จเป็นแม่กองพร้อมด้วยกรมหลวงพิทักษ์มนตรีออกไปรับถึงชายแดน พวกนี้มาตั้งรกรากที่สามโคก (ปทุมธานี), ปากเกร็ด และพระประแดง มอญที่อพยพเข้ามาครั้งนี้เรียกกันว่ามอญใหม่[49]

ชุมชนมอญ

แก้
 
คลองมอญ

ชาวมอญได้อพยพมาพำนักอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ยุคอาณาจักรอยุธยา สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระยาเกียรติและพระยารามขุนนางมอญที่มีความดีความชอบในราชการ และกลุ่มญาติพี่น้องได้รับพระราชทานที่ดินตั้งบ้านเรือน ณ บ้านขมิ้น ซึ่งได้แก่บริเวณวัดขุนแสนในปัจจุบัน มอญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งกลุ่มชาวมอญเก่าที่อยู่มาแต่เดิมและกลุ่มชาวมอญใหม่ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนอยู่ชานกรุงศรีอยุธยาบริเวณวัดตองปุและคลองคูจาม

ปัจจุบันแม้จะไม่มีชุมชนผู้สืบเชื้อสายมอญในอยุธยา บริเวณที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีชุมชนมอญและกลุ่มวัฒนธรรมมอญกระจายอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพหลายชุมชน ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ทางภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมากเป็นแหล่งที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา

ตัวอย่างชุมชนมอญในประเทศไทย[50]

อ้างอิง

แก้
  1. "The World Factbook". CIA.gov. สืบค้นเมื่อ January 24, 2018.
  2. Bauer 1990, p. 14.
  3. World Bank Group (October 1, 2019). Myanmar - Peaceful and Prosperous Communities Project : Social Assessment (PDF) (Report). สืบค้นเมื่อ April 4, 2021.
  4. Matisoff 1991, p. 482.
  5. McCormick & Jenny 2013, p. 86.
  6. Jenny 2013.
  7. Swearer 2002, p. 130–131.
  8. 8.0 8.1 8.2 Khin May Aung (July 24, 2015). "Historical Perspective on Mon Settlements in Myanmar" (PDF). Burma/Myanmar in Transition: Connectivity, Changes and Challenge. International Conference on Burma/Myanmar Studies.
  9. Desakura (February 24, 2020). "Where does the Mon Pak Lad shortcut?". Stationremodel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ August 7, 2020.
  10. Gaspar Ruiz-Canela (June 1, 2017). "Mon, Thai minority who once ruled Southeast Asia". Agencia EFE. สืบค้นเมื่อ September 5, 2019.
  11. Foster 1973, p. 211.
  12. Ngamying, Keeratiburana & Thidpad 2014.
  13. Bauer 1990, p. 34.
  14. Bauer 1990, p. 16.
  15. 15.0 15.1 South 2002.
  16. 16.0 16.1 "Miscellaneous Notes on the Word "Talaing"". SOAS Bulletin of Burma Research. 4 (2): 91−92. 2006.
  17. Garifas, Robert (1985). "The Development of the Modern Burmese Hsaing Ensemble". Asian Music. 16 (1): 1–28. doi:10.2307/834011. ISSN 0044-9202. JSTOR 834011.
  18. Aung-Thwin, Michael (2002-01-01), "Lower Burma and Bago in the History of Burma", The Maritime Frontier of Burma (ภาษาอังกฤษ), Brill, pp. 25–57, doi:10.1163/9789004502079_005, ISBN 978-90-04-50207-9, สืบค้นเมื่อ 2023-09-28
  19. "SEAlang Library Burmese Lexicography". Myanmar–English Dictionary. Myanmar Language Commission. 1993. ISBN 1881265471. สืบค้นเมื่อ September 12, 2018.
  20. 20.0 20.1 Michael A. Aung-Thwin (January 1, 2005). The Mists Of Ramanna: The Legend That Was Lower Burma (ภาษาอังกฤษ). Univ of Hawaii Pr. ISBN 0824828860.
  21. Aung-Thwin, Michael (2008). ""Mranma Pran": When Context Encounters Notion". Journal of Southeast Asian Studies. 39 (2): 193–217. doi:10.1017/S0022463408000179. ISSN 0022-4634. JSTOR 20071884. S2CID 154992861.
  22. "Rāmañña". Oxford Reference. สืบค้นเมื่อ April 11, 2021.
  23. "Ramanna, Rāmañña: 1 definition". Wisdom Library. 12 April 2009. สืบค้นเมื่อ April 11, 2021.
  24. Stewart 1937.
  25. Topich & Leitich 2013, p. 14–15.
  26. Tun, Than. History of Burma in pictures.
  27. Za Wa Na, V. (Jun 30, 2018). "The Trend of the Role of Ramañña Nikāya in the Next Decade in Mon State". 11 (3). The Journal of International Association of Buddhist Universities (JIABU): 194–211. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  28. Andaya 2001, p. 319.
  29. Pan Hla 1991.
  30. Blench 2018, p. 174–193.
  31. Sidwell, Paul (2022). "Austroasiatic Dispersal: the AA "Water-World" Extended" (PDF). JSEALS Special Publication No. 8: Papers from the 30th Meeting of the Southeast Asian Linguistics Society (2021). University of Hawai’i Press. (Video presentation)
  32. "มอญ : ชนชาติบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-30. สืบค้นเมื่อ 2013-07-27.
  33. 33.0 33.1 "จารึกวัดโพธิ์ร้าง". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2017.
  34. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-12. สืบค้นเมื่อ 2017-05-06.
  35. "อักษรมอญ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-30. สืบค้นเมื่อ 2013-07-27.
  36. "ภาษามอญ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-30. สืบค้นเมื่อ 2013-07-27.
  37. วิรัช นิยมธรรม, มอญ : ต้นตออารยธรรมอุษาคเนย์ เก็บถาวร 2008-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียบเรียงจากข้อเขียนของนายปันหละ พิมพ์ในสารานุกรมพม่า ฉบับที่ 10
  38. สุกัญญา เบาเนิด ว่าด้วยตัวตนคนมอญย้ายถิ่นในมหาชัย เก็บถาวร 2011-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วารสารเมืองโบราณ
  39. "ประวัติและความเป็นมาของจะเข้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-19. สืบค้นเมื่อ 2017-08-20.
  40. ดนตรีมอญในพม่าว่าด้วย"จะเข้"
  41. "เครื่องดนตรีไทย จะเข้ (เครื่องดีด)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-26. สืบค้นเมื่อ 2017-08-20.
  42. จะเข้ในบริบทสังคมไทย
  43. วรลักษณ์ กรรณวัฒน์. "พิธีกรรมเลี้ยงผีมอญ /รำผีมอญ". มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-20. สืบค้นเมื่อ 2021-08-20.
  44. 44.0 44.1 "พหุวัฒนธรรม 3 ชาติพันธุ์ 'แง่งาม' ของเกาะเกร็ด". มติชนออนไลน์. 9 มิถุนายน 2562. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  45. 45.0 45.1 สุดารา สุจฉายา (26 พฤษภาคม 2559). "พิธีสุหนัตของบรรดาลูกหลานแขกมอญ ทุ่งครุ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  46. "@SAMUTPRAKAN Travel Issue 1". pp. 22–23.
  47. "เมียนมา - อาหาร". ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
  48. "จารึกกลุ่มอักษรมอญโบราณ". จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
  49. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เล่าเรื่องมอญ เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทความ-สารคดี ฉบับที่ 2486 ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545
  50. ชุมชนมอญ เก็บถาวร 2008-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน monstudies.com

ข้อมูล

แก้

ดูเพิ่ม

แก้
  • Forbes, Andrew; Henley, David (2012). "Historic Lamphun: Capital of the Mon Kingdom of Hariphunchai". Ancient Chiang Mai. Vol. 4. Cognoscenti Books. ASIN B006J541LE.
  • South, Ashley (2013). Mon Nationalism and Civil War in Burma: The Golden Sheldrake. Routledge. ISBN 9781136129629.

หมายเหตุ

แก้
  1. จากข้อมูลของเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊ก ชาวมอญคิดเป็น 2% ของประชากรทั้งหมดในประเทศพม่า (55 ล้านคน) หรือประมาณ 1.1 ล้านคน
  2. 2.0 2.1 จำนวนที่แน่นอนของชาวมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ ไม่เป็นที่แน่ชัด มักถูกนับเป็นชาวพม่าหรือชาวเอเชียอื่น ๆ ในสำมะโน

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้