พญาทะละ (พม่า: ဗညားဒလ, ออกเสียง: [bəɲá dəla̰] บะญาดะละ; ? – ธันวาคม ค.ศ. 1774) เป็นพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ที่ 2 และพระองค์สุดท้ายในช่วงฟื้นฟูอาณาจักร ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1747 ถึง 1757 พระองค์เป็นหนึ่งในผู้นำที่รวบรวมชาวมอญขึ้นโค่นล้มราชวงศ์ตองอูที่ปกครองพม่าตอนล่างได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1740

พญาทะละ
ဗညားဒလ
กษัตริย์แห่งหงสาวดีฟื้นฟูใหม่
ครองราชย์มกราคม ค.ศ. 1747 – 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1757
ก่อนหน้าสมิงทอพุทธกิตติ
ต่อไปไม่มี
ประสูติเชียงใหม่[1]
สวรรคตธันวาคม ค.ศ. 1774
พระนามเต็ม
Aung Hla (အောင်လှ)
ราชวงศ์หงสาวดี
ศาสนาพุทธเถรวาท

พระราชประวัติ

แก้

พญาทะละ มีเชื้อสายไทใหญ่จากเมืองเชียงใหม่ มีพระนามเดิมว่าธอระแซงมู[2] และมีพระนามเดิมในภาษาพม่าว่า อองละ (အောင်လှ, [àʊ̯ɰ̃ l̥a̰] เอ่าง์ละ) เดิมมีตำแหน่งเป็นนายกองช้าง เมื่อยึดอำนาจจากมองซวยเยนะระทาเจ้าเมืองหงสาวดีแล้ว จึงถวายราชสมบัติแก่สมิงทอพุทธกิตติ ส่วนพระองค์ได้รับแต่งตั้งเป็นพญาทะละ ต่อมาพระองค์ยึดอำนาจจากสมิงทอพุทธกิตติเมื่อ ค.ศ. 1747 แล้วสืบราชบัลลังก์ต่อมา[3] ทรงพระนามว่าพระเจ้าปรมินทราชานราธิบดี[4]

พระองค์สามารถบุกขึ้นไปยึดอังวะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ตองอูได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1750 ทำให้ราชวงศ์ตองอูล่มสลายลง แต่ความผิดพลาดของพระองค์คือทิ้งกองทัพเล็ก ๆ ไว้ 2 – 3 กองทัพดูแลกรุงอังวะ เป็นโอกาสให้ผู้ใหญ่บ้านมุกโชโบชื่อ มังอองไชยะ สามารถรวบรวมกำลังผู้คนบริเวณเหนืออังวะทั้งหมดพร้อมกับสถาปนาราชวงศ์โกนบอง ใน ค.ศ. 1752 ซึ่งต่อมาได้มีการเถลิงพระนามเป็นพระเจ้าอลองพญา และขับไล่กองทัพหงสาวดีออกจากพม่าตอนบน ได้ทั้งหมดเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1753

พญาทะละได้เริ่มเปิดฉากการโจมตีพม่าตอนบนเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1754 แต่ก็ถูกกองทัพโกนบองโจมตีแตกพ่ายกลับมา ทำให้พระองค์สั่งสำเร็จโทษพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ตองอูและเชื้อพระวงศ์ทั้งหมด พร้อมกับบังคับให้ชาวพม่าตอนล่างตัดผมและแต่งตัวแบบชาวมอญเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี[5]

การบุกขึ้นเหนือที่ล้มเหลวของพระองค์ทำให้จากที่เป็นฝ่ายรุก ต้องตกเป็นฝ่ายป้องกันการรุกรานจากกองทัพโกนบอง กระทั่งต่อมาพระเจ้าอลองพญาสามารถเข้ายึดดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีได้สำเร็จ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1755 และยึดท่าเรือของฝรั่งเศส ที่เมืองตานลยีน ได้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1756 และสุดท้ายยึดหงสาวดีได้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1757 พญาทะละและเชื้อพระวงศ์ถูกจับคุมขังที่มุกโชโบ[6] พระองค์ถูกคุมขังนานถึง 17 ปี จนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1774 พระเจ้ามังระพระราชโอรสพระองค์ที่สองของพระเจ้าอลองพญา รับสั่งประหารชีวิตพญาทะละต่อหน้าสาธารณชนหลังเกิดเหตุการณ์กบฏมอญในปี ค.ศ. 1773 เนื่องจากเข้าใจว่าพระองค์สนับสนุนให้มีการเกิดกบฏ[7]

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ต้นตระกูลคชเสนี สืบเชื้อสายเดียวกับพญาทะละ โดยพญาเจ่งเป็นโอรสของเจ้าเมืองเมียวดีผู้ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระยาทะละ โดยพญาเจ่งอพยพเข้ามารับราชการในสยามสมัยกรุงธนบุรี[8][9][10]

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. Hmannen 1829, p. 382.
  2. ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 60
  3. Phayre 1967, p. 144.
  4. พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 241
  5. Lieberman 2003, pp. 202–206.
  6. ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 115
  7. Phayre 1967, p. 207.
  8. [1] ๘๐ ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี
  9. ประชาไท สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่องรามัญ
  10. หอบรรณสารสนเทศ สำนักงานหอสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
บรรณานุกรม
  • ประชุมพงศาวดารเล่ม 2 (ประชุมพงศาวดารภาค 1 ตอนปลาย และภาค 2). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 336 หน้า. หน้า 60-123.
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. หน้า 240-267. ISBN 978-974-7088-10-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. หน้า 364. ISBN 978-616-7146-08-9
  • Hall, D.G.E (1955). A History of South-East Asia. New York: St Martin's Press Inc.
  • Hall, D.G.E (1960). Burma. London: Hutchinson & Co (Ltd). ISBN 978-1-4067-3503-1.
  • Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar. 1829. p. 382.
  • Victor B Lieberman (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800-1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. pp. 202–206. ISBN 978-0-521-80496-7.
  • Myint-U, Thant (2006). The River of Lost Footsteps-Histories of Burna. New York: Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-16342-6.
  • Lt. Gen. Sir Arthur P. Phayre (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta. pp. 145–148.
  • Symes, Michael (Spring 2006). "An Account of an Embassy to the Kingdom of Burma, sent by the Governor-General of India, in the year 1795". SOAS Bulletin of Burma Research. issue 1. 4.
ก่อนหน้า พญาทะละ ถัดไป
สมิงทอพุทธกิตติ   พระเจ้าหงสาวดี
(ค.ศ. 1747 - 1757)
  ยกเลิกตำแหน่ง