อำเภอปากเกร็ด
ปากเกร็ด เป็นอำเภอที่มีตำบลมากที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ที่ตั้งมีแม่น้ำเจ้าพระยาตัดผ่านตัวอำเภอ สภาพพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ต่าง ๆ ไร่นา ท้องทุ่ง ปศุสัตว์ ดังเช่นในชนบท ส่วนทางฝั่งตะวันออกมีที่พักอาศัย อุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และยังเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการส่วนกลางของประเทศ ในอดีตอำเภอปากเกร็ดเคยขึ้นกับจังหวัดพระนครอยู่ช่วงหนึ่ง และบางตำบลเคยอยู่ในอำเภอบางบัวทอง
อำเภอปากเกร็ด | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Pak Kret |
เจดีย์เอียงที่วัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด | |
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอปากเกร็ด | |
พิกัด: 13°54′45″N 100°29′54″E / 13.91250°N 100.49833°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | นนทบุรี |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 89.023 ตร.กม. (34.372 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 254,154 คน |
• ความหนาแน่น | 2,854.93 คน/ตร.กม. (7,394.2 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 11120 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1206 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอปากเกร็ด เลขที่ 701/2 หมู่ที่ 5 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอปากเกร็ดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือ 7.45 กิโลเมตร[2] มีพื้นที่การปกครองทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอลาดหลุมแก้วและอำเภอเมืองปทุมธานี (จังหวัดปทุมธานี) มีคลองสามวา คลองเจ๊ก คลองตรง (คลองขุด) คลองพระอุดม แนวระวางโฉนดที่ดินระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดปทุมธานี แนวรั้วหมู่บ้านพฤกษ์ภิรมย์ ราชพฤกษ์-345 คลองบางตะไนย์ แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองบ้านใหม่เป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตดอนเมืองและเขตหลักสี่ (กรุงเทพมหานคร) มีคลองประปาเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองนนทบุรี มีคลองบางตลาด แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองวัดแดงเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองนนทบุรีและอำเภอบางบัวทอง มีคลองแม่ร่องกร่าง คลองบางบัวทอง คลองขุนมหาดไทย (ท่าลาย) แนวกำแพงหมู่บ้านดิเอมเมอรัลด์การ์เด้นบางบัวทอง แนวกำแพงหมู่บ้านดิเอมเมอรัลด์พาร์ค 3 แนวกำแพงหมู่บ้านลภาวัน 10 คลองชลประทานพระอุดม-บางบัวทอง (คลองแอน) แนวระวางโฉนดที่ดินระหว่างอำเภอปากเกร็ดกับอำเภอบางบัวทอง คลองลำโพ และคลองลากค้อนเป็นเส้นแบ่งเขต
ที่มาของชื่ออำเภอ
แก้"ปากเกร็ด" เป็นคำประสมจากคำว่า "ปาก" ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะเนื่องมาจากชื่อวัดปากอ่าว และคำว่า "เกร็ด" ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ว่า "ห้วงน้ำแคบต่อจากห้วงน้ำใหญ่ทั้งสอง" ดังนั้น คำว่าปากเกร็ดจึงน่าจะหมายถึง "บริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นปากอ่าว มีอาณาเขตติดต่อกับแม่น้ำใหญ่"[3]
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง "ปากเกร็ด" อาจมีที่มาจากคลองที่ขุดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเพื่อลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตรงช่วงที่เริ่มไหลวกเข้าไปในคุ้งบางบัวทอง โดยในอดีตผู้คนจะเรียกคลองนี้ว่า "คลองเตร็ดน้อย"[4] และต่อมาเรียกว่า "คลองลัดเกร็ด" (หรือ "แม่น้ำลัดเกร็ด" ซึ่งทำให้เกิดเกาะเกร็ดขึ้นนั่นเอง) ส่วนบริเวณต้นคลองลัดนั้นก็เรียกว่า "ปากเกร็ด"[5]
ประวัติศาสตร์
แก้ชุมชนในแถบอำเภอปากเกร็ดในปัจจุบันสันนิษฐานว่ามีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเพราะในหนังสือ A traveler in Siam in the year 1655 หรือ จดหมายเหตุไคสแบร์ต เฮ็ก ค.ศ. 1655 ของนายไคสแบร์ต เฮ็ก (Gijsbert Heeck) แพทย์ประจำบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2198 ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้พรรณาถึงปากเกร็ดในตอนนั้นไว้ว่า ปากเกร็ดเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาราว 10 ลีก (ประมาณ 50 กิโลเมตร) มีตลาดขนาดใหญ่เช่นเดียวกับบางกอก และตลาดแก้ว และมีชุมชนชาวจีนอาศัยอยู่[6]
ท้องที่อำเภอปากเกร็ดในครั้งแรกเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอ (หรือแขวง) ที่มีอยู่ก่อนสองอำเภอ คือ "อำเภอตลาดขวัญ" และ "อำเภอบ้านแหลมใหญ่และเกาะศาลากุน" ต่อมาจึงได้แยกพื้นที่บางส่วนจากอำเภอทั้งสองมารวมกันแล้วจัดตั้งเป็น อำเภอปากเกร็ด โดยมีพระรามัญนนทเขตต์คดี (เนียม นนทนาคร) เป็นนายอำเภอคนแรก และตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ในที่ธรณีสงฆ์วัดสนามเหนือ ต่อมาจึงย้ายไปตั้งที่หมู่ที่ 2 ตำบลปากเกร็ด ในสมัยที่หลวงรามัญนนทเขตต์คดี (เจ็ก นนทนาคร) บุตรชายของพระรามัญนนทเขตต์คดี (เนียม นนทนาคร) ขึ้นเป็นนายอำเภอ
เมื่อ พ.ศ. 2463 กระทรวงนครบาลได้โอนตำบลอ้อมเกร็ด (เปลี่ยนชื่อมาจากตำบลบางบัวทอง) และตำบลบางพลับจากอำเภอบางบัวทอง กับโอนตำบลท่าอิฐจากอำเภอนนทบุรีมาขึ้นกับอำเภอ เพื่อความเหมาะสมด้านการปกครอง[7] ณ พ.ศ. 2470 อำเภอปากเกร็ดจึงมีท้องที่การปกครองรวม 13 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านปากเกร็ด ตำบลบางพูด ตำบลบ้านใหม่ตลาดเนื้อ ตำบลสีกัน ตำบลสองห้อง (ทุ่งสองห้อง) ตำบลบางตลาดฝั่งเหนือ (บางตลาด) ตำบลเกาะเกร็ด ตำบลท่าอิฐ ตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลบางพลับ ตำบลบ้านแหลมใหญ่ (คลองพระอุดม) ตำบลบางตะไนย์ และตำบลคลองข่อย[8]
เดิมอำเภอปากเกร็ดมีอาณาเขตทางด้านตะวันออกติดต่อกับอำเภอบางเขน จังหวัดพระนครโดยใช้คลองเปรมประชากรตั้งแต่คลองบางตลาดขึ้นไปจนถึงคลองบ้านใหม่ตลาดเนื้อเป็นเส้นแบ่งเขตเป็นเส้นแบ่งเขต[9] จนกระทั่งใน พ.ศ. 2475 ทางราชการได้โอนตำบลทุ่งสองห้องไปอยู่ในท้องที่ปกครองของอำเภอบางเขน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการตรวจตราของเจ้าหน้าที่และความสะดวกในการติดต่อราชการของประชาชน[10] และใน พ.ศ. 2480 ได้โอนตำบลสีกัน และหมู่ที่ 1 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านใหม่ เฉพาะส่วนที่อยู่ทางฟากตะวันออกของคลองประปา ไปขึ้นกับอำเภอบางเขน กับโอนพื้นที่หมู่ที่ 6 (ในขณะนั้น) ของตำบลบางตลาด เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตก ไปขึ้นกับตำบลทุ่งสองห้อง (ซึ่งได้ย้ายไปขึ้นกับอำเภอบางเขนอยู่ก่อนแล้ว) โดยใช้แนวเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตกเป็นเส้นเขต[11]
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2486 จังหวัดนนทบุรีถูกยุบลงเนื่องจากขณะนั้นเกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อำเภอปากเกร็ดย้ายไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร[12] จนกระทั่งใน พ.ศ. 2489 ได้มีการจัดตั้งจังหวัดนนทบุรีขึ้นมาอีกครั้ง[13] อำเภอปากเกร็ดจึงกลับมาอยู่ในการปกครองของทางจังหวัดนับแต่นั้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการปรับปรุงเขตการปกครองระดับตำบลภายในท้องที่อำเภอปากเกร็ดอยู่เนือง ๆ เช่น ยุบตำบลบ้านใหม่ตลาดเนื้อรวมเข้ากับตำบลบางพูด ยุบตำบลบางพลับรวมเข้ากับตำบลอ้อมเกร็ด เป็นต้น จนกระทั่งในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 กระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนแปลงเขตตำบลเดิมและตั้งตำบลใหม่อีกครั้ง โดยแยกพื้นที่บางส่วนจากตำบลปากเกร็ดตั้งเป็นตำบลบางตลาด แยกพื้นที่บางส่วนจากตำบลบางพูดตั้งเป็นตำบลบ้านใหม่ รวมพื้นที่บางส่วนจากตำบลบางตะไนย์และอ้อมเกร็ดตั้งเป็นตำบลคลองพระอุดม และแยกพื้นที่บางส่วนจากตำบลอ้อมเกร็ดตั้งเป็นตำบลบางพลับ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปีเดียวกัน[14]
ต่อมาอำเภอปากเกร็ดได้มีการย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งริมถนนแจ้งวัฒนะ หมู่ที่ 5 ตำบลปากเกร็ด เมื่อ พ.ศ. 2505 เพื่อให้ประชาชนมาติดต่อราชการได้สะดวกยิ่งขึ้น และในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2532 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศแยกพื้นที่ทางทิศตะวันออกของตำบลปากเกร็ดตั้งเป็นตำบลคลองเกลือ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ปีเดียวกัน[15] ท้องที่อำเภอปากเกร็ดจึงประกอบด้วย 12 ตำบลจนถึงปัจจุบัน
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอปากเกร็ดแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 12 ตำบล แต่ละตำบลแบ่งย่อยออกเป็นหมู่บ้าน รวม 85 หมู่บ้าน (หรือ 51 หมู่บ้าน หากไม่นับรวมในเขตเทศบาลนครปากเกร็ดซึ่งไม่มีตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านแล้ว) ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[16] |
สี | แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | ปากเกร็ด | Pak Kret | 5
|
36,469
|
||
2. | บางตลาด | Bang Talat | 10
|
45,256
|
||
3. | บ้านใหม่ | Ban Mai | 6
|
34,949
|
||
4. | บางพูด | Bang Phut | 9
|
63,312
|
||
5. | บางตะไนย์ | Bang Tanai | 5
|
6,337
|
||
6. | คลองพระอุดม | Khlong Phra Udom | 6
|
6,773
|
||
7. | ท่าอิฐ | Tha It | 10
|
18,480
|
||
8. | เกาะเกร็ด | Ko Kret | 7
|
5,680
|
||
9. | อ้อมเกร็ด | Om Kret | 6
|
5,226
|
||
10. | คลองข่อย | Khlong Khoi | 12
|
9,168
|
||
11. | บางพลับ | Bang Phlap | 5
|
11,596
|
||
12. | คลองเกลือ | Khlong Kluea | 4
|
9,701
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอปากเกร็ดประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลนครปากเกร็ด ครอบคลุมพื้นที่อำเภอปากเกร็ดฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ยกเว้นเกาะเกร็ด) ได้แก่ ตำบลปากเกร็ด ตำบลบางตลาด ตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางพูด และตำบลคลองเกลือทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลบางพลับ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางพลับทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางตะไนย์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางตะไนย์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองพระอุดม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองพระอุดมทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าอิฐ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าอิฐทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะเกร็ดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลอ้อมเกร็ด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอ้อมเกร็ดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองข่อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองข่อยทั้งตำบล
การคมนาคม
แก้ถนนสายหลักของอำเภอ ได้แก่
- ถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9)
- ถนนแจ้งวัฒนะ (ส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304)
- ถนนติวานนท์ (ส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306)
- ถนนนนทบุรี-ปทุมธานี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 307)
- ถนนบางบัวทอง-บางคูวัด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345)
- ถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (ทางหลวงชนบท นบ.3019)
- ถนนราชพฤกษ์ (ทางหลวงชนบท นบ.3021)
- ถนนชัยพฤกษ์ (ทางหลวงชนบท นบ.3030)
- ถนนศรีสมาน
- ทางพิเศษศรีรัช
- ทางพิเศษอุดรรัถยา
ปัจจุบันอำเภอปากเกร็ดมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง คือ สะพานนนทบุรี (สะพานนวลฉวี) เชื่อมระหว่างตำบลบ้านใหม่กับตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี และสะพานพระราม 4 เชื่อมระหว่างตำบลปากเกร็ดกับตำบลบางตะไนย์และตำบลคลองพระอุดม
ขนส่งทางท่าเรือ
แก้- ท่าปากเกร็ด ปากเกร็ด
- ท่าเกาะเกร็ด เกาะเกร็ด
- ท่าวัดกลางเกร็ด วัดกลางเกร็ด
- ท่าวัดสนามเหนือ วัดสนามเหนือ
ขนส่งทางราง
แก้สถานที่สำคัญ
แก้- เทศบาลนครปากเกร็ด
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- โรงเรียนปากเกร็ด
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
- โรงเรียนชลประทานวิทยา
- เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย
- ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
- ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน (เดิมคือ โรงพยาบาลชลประทาน)
อ้างอิง
แก้- ↑ รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543, หน้า 56.
- ↑ กรมทางหลวง. "สอบถามระยะทางระหว่างจังหวัดหรืออำเภอ. เก็บถาวร 2014-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน"
- ↑ รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543, หน้า 54.
- ↑ คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543, หน้า 41.
- ↑ หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547, หน้า 38.
- ↑ "บางกอก-ตลาดแก้ว-ปากเกร็ด ชาวดัตช์สมัยพระเจ้าปราสาททอง ระบุ เป็นแหล่งรายได้ของอยุธยา". ศิลปวัฒนธรรม. 22 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2024.
- ↑ "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่องเปลี่ยนนามตำบลบางบัวทอง เปนตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลพระภิมลเปนตำบลบางบัวทอง แลโอนท้องที่ตำบลบางพลับ ตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลท่าอิฐ ไปรวมในท้องที่อำเภอปากเกร็ด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 37 (0 ก): 434. 13 มีนาคม 2463.
- ↑ กระทรวงมหาดไทย. ทำเนียบท้องที่ หัวเมือง กระทรวงมหาดไทย พระพุทธศักราช ๒๔๗๐. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2471, หน้า 11.
- ↑ กรมแผนที่ทหาร. กองบัญชาการทหารสูงสุด. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474 = Maps of Bangkok, A.D. 1888-1931. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2542.
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ โอนตำบลลาดโตนด อำเภอนนทบุรี และตำบลทุ่งสองห้อง อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มาขึ้นอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 49 (0 ก): 475–476. 26 ตุลาคม 2475.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตต์จังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 54 (0 ก): 40–54. 1 เมษายน 2480. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ "พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๘๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (77 ก): 2447–2449. 10 ธันวาคม 2485. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ "พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช ๒๔๘๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (29 ก): 315–317. 9 พฤษภาคม 2489. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-17.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (26 ง): 1114–1433. 10 มิถุนายน 2490. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-17.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 106 (55 ง): 2566–2572. 11 เมษายน 2532.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
บรรณานุกรม
แก้- รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543.
- หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้13°54′45″N 100°29′54″E / 13.9125°N 100.498333°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อำเภอปากเกร็ด
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย