พระเจ้าสการะวุตพี
พระเจ้าสการะวุตพี[1] (พม่า: သုရှင်တကာရွတ်ပိ, ออกเสียง: [θṵ.ʃɪ̀ɰ̃ də.ɡà.jʊʔ.pḭ] ตุชีนดะกายุปิ; ค.ศ. 1511–1539) พงศาวดารมอญพม่าเรียกว่าพระเจ้าพะธิโรราชา[2] เป็นพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ที่ 18 และพระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรหงสาวดีในพม่าระหว่าง ค.ศ. 1526 ถึง 1539 พระองค์ขึ้นสืบราชบัลลังก์เมื่อพระชนมายุเพียง 15 พรรษา รัชสมัยของพระองค์ตรงกับช่วงอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญที่เคยยิ่งใหญ่เริ่มเสื่อมอำนาจลง และพระองค์ไม่เคยปกครองให้ขุนนางเกรงกลัวในอีก 13 ปีต่อมา เนื่องจากกษัตริย์หนุ่มอย่างพระเจ้าสการะวุตพีไร้ประสบการณ์และความสามารถทำให้อาณาจักรหงสาวดีที่สถาปนาตั้งแต่ ค.ศ. 1287 เสียให้แก่อาณาจักรเล็ก ๆ อย่างอาณาจักรตองอูของชาวพม่า
พระเจ้าสการะวุตพี | |
---|---|
กษัตริย์แห่ง อาณาจักรหงสาวดี | |
ครองราชย์ | 1526–1539 |
ก่อนหน้า | พญารามที่ 2 |
ถัดไป | สิ้นสุดอาณาจักรหงสาวดี |
ประสูติ | ค.ศ. 1511 พะโค |
สวรรคต | ค.ศ. 1539 |
คู่อภิเษก | พระนางมีนคองแมดอ |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์หงสาวดี |
พระราชบิดา | พญารามที่ 2 |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
พระราชประวัติ
แก้พระเจ้าสการะวุตพีประสูติเมื่อ ค.ศ. 1511 ที่กรุงหงสาวดี เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพญารามที่ 2 (ဗညားရံ บะญ่ายาน) กษัตริย์พระองค์ที่ 17 มีพระราชอนุชาคือสมิงทอ (သမိန်ထော ตะเมนทอ) พระเจ้าสการะวุตพีขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชนมายุเพียง 15 พรรษา[1] ซึ่งพญารามที่ 2 พระราชบิดานั้นเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน
เพราะการขาดสภาวะผู้นำของพระเจ้าสการะวุตพีเป็นการเปิดโอกาสให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ยุวกษัตริย์จากอาณาจักรตองอู อาณาจักรเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือและขุนศึกคู่พระทัยของพระองค์อย่างบุเรงนอง กรีธาทัพลงมาโจมตีอาณาจักรหงสาวดีถึง 3 ครั้งคือ ค.ศ. 1534, 1537 และ 1538 โดยเฉพาะใน ค.ศ. 1538 พระเจ้าสการะวุตพีขาดแม่ทัพที่มีความสามารถและพระองค์ไม่มีพระทัยที่จะสู้รบรวมถึงสอพินยา (စောဗညား ซอบะญ่า) เจ้าเมืองเมาะตะมะ ผู้เป็นพระเทวัน (พี่เขย) มิได้ส่งกำลังทหารมาช่วยจึงหนีไปพึ่งเมืองแปร ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยพระเจ้านรปติ (နရပတိ นะระปะติ) หรือในนวนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศเรียก พระเจ้านรบดี ผู้เป็นพระเทวัน (พี่เขย) อีกพระองค์หนึ่ง ในที่สุดตองอูก็เข้ายึดหงสาวดีได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อทำให้อาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญที่รุ่งเรืองมากว่า 252 ปีต้องล่มสลายลง พระเจ้าสการะวุตพีได้เสด็จไปยังเมืองแปรเพื่อให้พันธมิตรอย่างเมืองแปรและรัฐฉาน ช่วยกู้ราชบัลลังก์ของพระองค์คืนมาแต่ได้รับการปฏิเสธ พระองค์จึงออกจากเมืองแปรไปพร้อมกับทหารจำนวนหนึ่งเข้าสู่เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี เพื่อรวบรวมช้างศึกและไพร่พล ใกล้เมืองมะอูบีน แต่พระเจ้าสการะวุตพีก็ประชวรและสวรรคตลงกะทันหัน
หลังจากพระเจ้าสการะวุตพีสวรรคตแล้วสอพินยาได้ประกาศเอกราชและตั้งตนเป็นพระเจ้าเมาะตะมะ กระทั่งพ่ายแพ้และถูกสังหารโดยกองทัพตองอูเมื่อ ค.ศ. 1541 เป็นอันสิ้นสุดสงครามตองอู—หงสาวดี ที่กินเวลายาวนานถึง 7 ปี หลังการสวรรคตของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ใน ค.ศ. 1550 สมิงสอตุตและสมิงทอได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ของชาวมอญ แต่ในที่สุดสมิงทอก็ถูกไล่ล่าและสังหารโดยกองทัพตองอูภายใต้การนำของพระเจ้าบุเรงนองที่ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เมื่อ ค.ศ. 1552
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- บรรณานุกรม
- ประชุมพงศาวดารเล่ม 2 (ประชุมพงศาวดารภาค 1 ตอนปลาย และภาค 2). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 336 หน้า. หน้า 35-38.
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. หน้า 118-120. ISBN 978-974-7088-10-6