ลัทธิอนุตตรธรรม (จีนตัวเต็ม: 一貫道; จีนตัวย่อ: 一贯道; พินอิน: Yīguàn Dào; เวด-ไจลส์: I1-Kuan4 Tao4,[α] อีก้วนเต้า) หรือเรียกตนเองว่า วิถีอนุตตรธรรม[3][4] เป็นศาสนา[5]ที่หวัง เจฺว๋อี ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิงเมื่อปี ค.ศ. 1877[6] คำสอนเป็นการผสานความเชื่อระหว่างลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และศาสนาพุทธแบบจีน ทั้งยังยอมรับขนบที่มาจากต่างประเทศ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามด้วย

อักษร หมู่ หมายถึง "พระแม่องค์ธรรม" พระเป็นเจ้าตามความเชื่อของลัทธิบัวขาว ลัทธิเซียนเทียนเต้า และลัทธิอื่น ๆ ที่แตกแขนงมาภายหลัง รวมทั้งลัทธิอนุตตรธรรม

ลัทธิอนุตตรธรรมเกิดขึ้นและแพร่หลายที่จีนแผ่นดินใหญ่ ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ลัทธิอนุตตรธรรมถูกรัฐบาลกวาดล้างอย่างหนัก จึงย้ายไปเผยแผ่ที่ประเทศไต้หวันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946[6] ในปัจจุบันถือเป็นศาสนาที่มีศาสนิกชนมากที่สุดเป็นอันดับสามในไต้หวัน (รองจากศาสนาพุทธและศาสนาเต๋า)[5] ในประเทศจีนลัทธินี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ ส่วนไต้หวันได้รับรองในปี ค.ศ. 1987

ปัจจุบันลัทธิอนุตตรธรรมมีศาสนิกชนมากกว่า 10 ล้านคน ใน 86 ประเทศทั่วโลก[6]

ประวัติ

แม้ผู้นับถือลัทธิอนุตตรธรรมจะเชื่อว่าธรรมะของตนสืบมาจากศาสนาพุทธนิกายเซน แต่ในทางวิชาการประวัติศาสตร์ถือว่าลัทธิอนุตตรธรรมแยกตัวมาจากลัทธิเซียนเทียนเต้า ซึ่งลัทธิเซียนเทียนเต้าสืบคำสอนมาจากลัทธิบัวขาวและลัทธิหลัว

ลัทธิบัวขาวเกิดขึ้นสมัยราชวงศ์หยวน ต่อมาถูกทางการกล่าวหาว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ จึงถูกกวาดล้างอย่างหนักจนต้องปฏิบัติการเป็นองค์กรใต้ดิน ต่อมาหวง เต๋อฮุย ได้ตั้งลัทธิเซียนเทียนเต้าโดยการผสานความเชื่อของลัทธิบัวขาวกับลัทธิหลัวเข้าด้วยกัน[7] และประกาศตนเป็นธรรมาจารย์รุ่นที่ 9 โดยสืบมาจากนิกายเซน เน้นวัตรปฏิบัติเน้นเรื่องการกินเจ การถือพรต[8]

ต่อมาหวัง เจฺว๋อี สาวกลัทธิเซียนเทียนเต้า ได้แยกออกไปตั้งสำนักใหม่ที่เมืองชิงโจวบ้านเกิดของตน ชื่อสำนักตงเจิ้น (จีน: 東震堂) ปี ค.ศ. 1877 หวัง เจว๋อีอ้างว่าได้รับอาณัติแห่งสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรมแต่งตั้งให้เป็นธรรมาจารย์รุ่นที่ 15 เขาเน้นคำสอนของลัทธิขงจื๊อเป็นหลัก สำนักของหวังเริ่มเป็นที่แพร่หลาย ทำให้ทางการราชวงศ์ชิงระแวงว่าจะก่อกบฏ จึงดำเนินการปราบปรามสำนักนี้อย่างหนัก เมื่อหวัง เจว๋อี ถึงแก่กรรมแล้ว หลิว ชิงซฺวีศิษย์ของเขาได้ปกครองสำนักต่อแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามทางการ เขาจึงเปลี่ยนชื่อสำนักเป็นอีก้วนเต้า ในปี ค.ศ. 1882[9] (ในประเทศไทยเรียกว่าวิถีอนุตตรธรรม)

ตำแหน่งธรรมาจารย์ได้สืบทอดมาจนถึงสมัยของจาง เทียนหรัน ธรรมาจารย์รุ่นที่ 18 เขาได้ย้ายศูนย์กลางของลัทธิไปที่เมืองเทียนจินในปี ค.ศ. 1935 เมื่อญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีน สาวกหลายคนของลัทธิได้เข้าสนับสนุนญี่ปุ่น จึงทำให้ลัทธินี้รุ่งเรืองมากขึ้นในพื้นที่ที่ญี่ปุ่นยึดครอง[10] กองทัพจีนของพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งร่วมกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น จึงปราบปรามลัทธิอนุตตรธรรมด้วย จางเปลี่ยนชื่อลัทธิกลับไปเป็น "เทียนเต้า" เมื่อปี ค.ศ. 1940 และได้ใช้ทั้งสองชื่อสืบมาจนปัจจุบัน[11] เมื่อเทียนหรันถึงแก่กรรมแล้วซุน ฮุ่ยหมิง ธรรมาจารย์รุ่นที่ 18 อีกคนหนึ่งก็ปกครองสำนักต่อมา แต่ลัทธิยังคงถูกปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ส่งผลให้ลัทธิอนุตตรธรรมหมดไปจากประเทศจีนโดยสิ้นเชิงในปลายทศวรรษนั้น[10] ลัทธิอนุตตรธรรมจึงต้องย้ายไปเผยแผ่ที่ประเทศไต้หวัน ต่อมาจึงแพร่หลายในชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศต่าง ๆ และประชาชนพื้นเมืองในประเทศนั้นจนปัจจุบัน

ความเชื่อ

สิ่งศักดิ์สิทธิสำคัญ

 
สิ่งศักดิ์สิทธิ์หลัก 5 องค์ผู้โปรดสามโลกตามความเชื่อของลัทธิอนุตตรธรรม

ลัทธิอนุตตรธรรมนับถือสิ่งศักดิ์หลายองค์โดยมีพระเป็นเจ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญตามความเชื่อของลัทธิอนุตตรธรรมได้แก่

ไตรรัตน์

ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่า อนุตตรธรรม คือ สิ่งวิเศษสุด 3 อย่าง เรียกว่า ไตรรัตน์ ซึ่งไม่ใช่พระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา แต่หมายถึง[12][13][14]

  • จุดญาณทวาร (จีน: 玄關竅) คือตำแหน่งเหนือดั้งจมูก ตรงกลางระหว่างคิ้ว โดยเชื่อว่าจุดนี้เป็นที่สถิตของวิญญาณ วิญญาณเข้ามาในร่างกายทางจุดนี้ และเมื่อตายก็จะออกจากร่างกายทางจุดนี้เช่นกัน ถือเป็นประตูสู่นิพพาน เมื่อเตี่ยนฉวนซือเปิดจุดนี้ในพิธีรับธรรมแล้วจะทำให้ผู้นั้นบรรลุธรรมได้ง่าย
  • สัจจคาถา (จีน: 口訣) มี 5 คำ คือ "อู๋ ไท่ ฝอ หมี เล่อ" (จีน: 無太佛彌勒) ถือเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เป็นความลับของสวรรค์ ห้ามจดบันทึก ห้ามนำไปบอกต่อ เมื่อเผชิญภัยอันตรายท่องคาถานี้แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้พ้นอันตรายและวิบากกรรมต่าง ๆ ได้
  • ลัญจกร (จีน: 合同) โดยเอาปลายนิ้วโป้งขวาจรดโคนนิ้วนางขวาค้างไว้ แล้วนำปลายนิ้วโป้งซ้ายมากดที่โคนนิ้วก้อยขวา จากนั้นโอบมือเข้าหากันโดยให้มือซ้ายทับขวา เป็นท่าห่อประสานมือให้มีลักษณะเหมือนรากบัว เชื่อว่าการประสานมือแบบนี้เป็นสัญลักษณ์การไหว้ยุคพระศรีอริยเมตไตรยหรือธรรมกาลยุคขาว

ไตรรัตน์ข้างต้นนี้จะเปิดเผยได้โดยผู้ที่ได้รับอาณัติสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรมเท่านั้น และจะถ่ายทอดให้เฉพาะบุคคลที่รับอนุตตรธรรมในพิธีถ่ายทอดเบิกธรรม (จีน: 辦道禮節 ปั้นเต้าหลี่เจี๋ย) ซึ่งจะดำเนินพิธีเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้คนนอกรับรู้ ผู้ที่รู้แล้วจะห้ามนำไปเปิดเผยต่อ เพราะเชื่อว่าจะถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ

พงศาธรรม

พระธรรมาจารย์ในพงศาธรรมของลัทธิอนุตตรธรรม มีด้วยกันทั้งหมด 64 รุ่น ซึ่งสอดคล้องกับอัฏฐลักษณ์ (ปากั้ว) ที่พระเจ้าฝูซีได้ทำกำหนดไว้ และพระเจ้าโจวเหวินได้ค้นพบ[15]

ผู้นับถืออนุตรธรรมเชื่อว่าวิถีอนุตตรธรรมสืบสายชีพจรธรรมมาจากสามศาสนาหลัก คือศาสนาพุทธ ศาสนาขงจื๊อ และศาสนาเต๋า มีการสืบสายบรรพจารย์ตั้งแต่พระอริยเจ้าฝูซี ท่านเสินหนง พระเจ้าเหยา พระเจ้าซุ่น เล่าจื๊อ ขงจื๊อ เม่งจื๊อ ตลอดจนพระมหากัสสปะ พระโพธิธรรม ฮุ่ยเหนิง ซึ่งเป็นสังฆปรินายกของนิกายเซน[16] อย่างไรก็ตามความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้สอดคล้องกับพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา[17]

ลัทธิอนุตตรธรรมได้แบ่งพงศาธรรมออกเป็นสามยุคตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ลัทธิบัวขาว ดังนี้[18]

ธรรมกาลยุคเขียว ธรรมะถ่ายทอดสู่กษัตริย์ (พระทีปังกรพุทธเจ้าปกครองธรรมกาล)

ธรรมาจารย์ 18 รุ่น ก่อน พ.ศ. 2189 ปี กษัตริย์ 11 รุ่น เจ้าเมือง 7 รุ่น

สิ้นสุดการสืบทอดวิถีธรรมในแผ่นดินจีน ธรรมะแอบแฝงซ่อนเร้นในประเทศจีน เริ่มต้นยุคแดงในประเทศอินเดีย

ธรรมกาลยุคแดง ธรรมะถ่ายทอดสู่พระนักบวชและปัญญาชน (พระศากยมุนีพุทธเจ้าปกครองธรรมกาล)

ในอินเดีย 28 รุ่น ก่อน พ.ศ. 45 ปี ลัทธิอนุตตรธรรมนำแนวคิดนี้มาจากสายสังฆปริณายกในนิกายเซน[19] สังฆปริณายกนิกายเซนในอินเดียทั้ง 28 รุ่น มีดังนี้

สิ้นสุดการสืบทอดวิถีธรรมในประเทศอินเดีย การสืบทอดพงศาธรรมกลับสู่แผ่นดินจีนอีกครั้ง พระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) เดินทางสู่แผ่นดินจีนเพื่อสืบทอดพงศาธรรม

ธรรมกาลยุคแดง ตะวันตกตอนสอง ธรรมะถ่ายทอดสู่พระนักบวชและปัญญาชน (พระศากยมุนีพุทธเจ้าปกครองธรรมกาล)

ธรรมะกลับสู่แผ่นดินจีน 16 รุ่น พ.ศ. 1050 พระภิกษุ 6 รุ่น ฆราวาส 10 รุ่น ลัทธิอนุตตรธรรมผสมสายสังฆปริณายกของนิกายเซนในประเทศจีนกับสายธรรมาจารย์ของลัทธิเซียนเทียนเต้า ดังนี้

สิ้นสุดการสืบทอดธรรมะในยุคแดง เกณฑ์วาระแห่งธรรมได้เข้าสู่ธรรมกาลยุคขาว วิถีธรรมเริ่มต้นปรกโปรดอย่างกว้างขวาง

 
จาง เทียนหรัน จู่ซือรุ่นสุดท้ายในลัทธิอนุตตรธรรม

ธรรมกาลยุคขาว ธรรมะถ่ายทอดสู่สามัญชนทั่วไป (พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าปกครองธรรมกาล) ยุคขาว ตะวันออก สุดท้าย ทั่วโลก 2 รุ่น พ.ศ. 2473 เป็นต้นมา เป็นการปรกโปรด 3 โลกครั้งยิ่งใหญ่ 63. พระบรรพจารย์ลู่ จงอี 64. พระบรรพจารย์จาง เทียนหรัน และบรรพจารย์ซุน ฮุ่ยหมิง

  • พระธรรมาจารย์สมัยที่สิบแปดจาง เทียนหรัน ชาวมณฑลซานตง รับช่วงธรรมจักรวาลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1915 จนปี 1947
  • พระธรรมจารย์สมัยที่สิบแปดซุน ฮุ่ยหมิง (ซู่เจิน) ชาวซานตง ศึกษาธรรมคู่กับท่านจาง ขุยเซิน จนถึงปี 1975 ตราบสิ้นชีวิต ได้มีศิษย์เช่น เหล่าเฉียนเหริน เฉียนเหริน จนแพร่อนุตตรธรรมสมบูรณ์ ไปทั่วโลก
  • ที่สำคัญพระธรรมาจารย์นั้นสิ้นสุดลงเพียงรุ่นที่หกสิบสี่เพียงสองพระองค์เท่านั้น ไม่มีรุ่นที่หกสิบห้าหรือผู้รักษาการใด ๆ อีกต่อไป นับแต่พระธรรมจารย์ซุน ซู่เจิน สิ้นชีวิตลง งานธรรมกิจก็ดำเนินแยกไปตามแต่ละสายงานธรรมภายใต้การปกครองของท่านธรรมปริณายก เหล่าเฉียนเหริน เฉียนเหริน เตี่ยนฉวนซือ โดยไม่มีพระธรรมาจารย์อีกต่อไป แต่ได้มีคำทำนายไว้แล้วว่าภายหลังสิ้นพระธรรมจารย์ซุน ซู่เจิน แล้ว จะมีพระธรรมาจารย์ และพระบรรพจารย์ปลอมเกิดขึ้นอีกมากมาย[ต้องการอ้างอิง]

ความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับลัทธิอนุตตรธรรม

แม้ว่าลัทธิอนุตตรธรรมจะนำหลักธรรมและความเชื่อหลายอย่างมาจากศาสนาพุทธ แต่ทั้งสองก็ยังมีความเชื่อต่างกันหลายประการ เช่น

ลัทธิอนุตตรธรรม ศาสนาพุทธ
"พระอนุตตรธรรมมารดา" หรือ "พระแม่องค์ธรรม" คือพระเป็นเจ้า[20] ไม่มีพระเจ้า พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่และประเสริฐที่สุดในโลกทั้งปวง[21][22]
พระแม่องค์ธรรมเป็นผู้เปิดเผยธรรมะแก่ศาสดาทั้งหลาย[20] พระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง[23]
ธรรมกาลของพระศากยมุนีพุทธเจ้ามีอายุ 3,114 ปี และสิ้นสุดไปแล้วเมื่อเริ่มปีหมินกั๋ว (ค.ศ. 1912)[24] ศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้ามีอายุ 5,000 ปี[25]
ธรรมาจารย์ลู่ จงอี คือพระภาคหนึ่งของพระศรีอริยเมตไตรย[26] พระศรีอริยเมตไตรยตรัสรู้หลังศาสนาพุทธสิ้นสุด และขณะนั้นมนุษย์มีอายุขัย 80,000 ปี[27]
ปฏิบัติในวิถีอนุตตรธรรมเป็นบุญใหญ่กว่าและเป็นหนทางตรงเข้าถึงนิพพานได้ง่ายกว่าการเจริญสติปัฏฐาน 4[12] สติปัฏฐานเป็นทางเดียวเพื่อความดับทุกข์[28]
ผู้ที่รับวิถีอนุตตรธรรม จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบกรับหนี้กรรมให้ มีบุญกุศลส่งถึงบรรพบุรุษ 7 ชั่วรุ่น ถึงลูกหลานอีก 9 ชั่วรุ่น ให้พ้นทุกข์ได้[12] สัตวโลกล้วนมีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น[29]
ผู้ปฏิบัติในวิถีอนุตตรธรรมควรกินเจ[30] พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้กินเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ 3 อย่าง[31] ส่วนนิกายมหายานเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่าเนื้อสัตว์ทุกชนิดเป็นสิ่งที่ควรปฏิเสธ[32]
โอวาทและคำสอนของอนุตตรธรรมส่วนใหญ่มาจากการเข้าทรง[33] การเข้าทรงเป็นติรัจฉานวิชา[34]

หมายเหตุ

  1. ญี่ปุ่น: 一貫道, อักษรโรมัน: Ikkandō;[1]
    เกาหลี: 일관도, อักษรโรมัน: Ilgwando;[2]

อ้างอิง

  1. Kubo Noritada. "Ikkando ni tsuite (On the Unity Sect)". Toyo Bunka Kenkyujo kiyo, n. 4, March 1953: 186-187.
  2. เว็บไซต์ทางการ: Korean 일관도 Ilgwando International Morality Association
  3. Yusheng Lin. Yiguandao and Buddhism in Thailand. 2015.
  4. วิถีอนุตตรธรรม, เรียกข้อมูลวันที่ 23 เม.ย. 2556
  5. 5.0 5.1 "Taiwan Yearbook 2006". Government of Information Office. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2007.
  6. 6.0 6.1 6.2 Unity Sect (Yiguan Dao) เก็บถาวร 5 มีนาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Encyclopedia of Taiwan, เรียกข้อมูลวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556
  7. Tian Dao Hui 天道會 เก็บถาวร 19 เมษายน 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,
  8. Wang Chienchuan (บ.ก.). Prior Heaven School (ภาษาอังกฤษ). Encyclopedia of Taiwan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2013.
  9. I Kuan Dao เก็บถาวร 5 ตุลาคม 2013 ที่ archive.today, เรียกข้อมูลวันที่ 5 ตุลาคม 2013
  10. 10.0 10.1 Edward L. Davis, Yiguan Dao, Encyclopedia of contemporary Chinese culture, Routledge
  11. "ประวัติของวิถีอนุตตรธรรม". สังคมธรรมะออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 สิงหาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013.
  12. 12.0 12.1 12.2 เกษร สุทธจิต จันทร์ประภาพ, ธรรมประธานพร เล่ม ๕, เชียงใหม่: บี.เอส.ดี การพิมพ์, 2547, หน้า 185–191
  13. วิถีอนุตตรธรรม:รับธรรมะได้รับอะไร เก็บถาวร 20 มิถุนายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม 2013
  14. ความเป็นมาอนุตตรธรรม: บทที่ 2...สามสิ่งวิเศษ เก็บถาวร 5 เมษายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม 2013
  15. "ลำดับอนุกรมของเหวินหวัง". ชุมชนคนศึกษาอี้จิงแห่งประเทศไทย. 16 พฤษภาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015.
  16. พงศาธรรมทั้ง 64 รุ่น[ลิงก์เสีย]
  17. การสืบสายพระพุทธศาสนาตามพระไตรปิฎกปรากฏใน พุทธวงศ์ ขุททกนิกาย อปทาน สุตตันตปิฎก
  18. "Inspiration: The Organization and Ideology of White Lotus Sects" (PDF). Yale University Press. 1976. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2013. หน้า 9–13
  19. สุมาลี มหาณรงค์ชัย, พุทธศาสนามหายาน, 2546, หน้า 309
  20. 20.0 20.1 ธรรมะคืออะไร[ลิงก์เสีย]. วิถีอนุตตรธรรม: สายทองแห่งธรรมมหาเทพจิ้นเต๋อต้าเซียน.
  21. ปัจเจกพุทธาปทานที่ ๒. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
  22. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
  23. ธชัคคสูตร สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ 865
  24. สายทอง (พงศาธรรม ๑), ศุภนิมิต ผู้แปล, กรุงเทพฯ: ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป., หน้า 30
  25. อรรถกถามหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
  26. ประวัติพระบรรพจารย์[ลิงก์เสีย]
  27. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตร ท่อน ๔๘ ย่อหน้า ๔
  28. มหาสติปัฏฐานสูตร. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
  29. ฐานสูตร.พระไตรปิฎก เล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
  30. ลลิตา ธัญญาลาภสกุล (2015). อนุตตรธรรม : ขบวนการใหม่ทางศาสนาของไต้หวัน (PDF) (Report). สาขาวิชาเอเชียศึกษา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-28. สืบค้นเมื่อ 2022-11-28.
  31. พระวินัยปิฎก เล่มที่ 1 มหาวิภังค์ ภาคที่ 1 ช้อ 591
  32. ลังกาวตารสูตร ภาคภาษาไทย แปลโดยพุทธทาสภิกขุ
  33. โอวาทและคำสอนของอนุตตรธรรมส่วนใหญ่มาจากการเข้าทรง
  34. พรหมชาลสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ 9 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค