ยุคสามกัปสุดท้าย
ยุคสามกัปสุดท้าย[1] (จีน: 三期末劫) เป็นความเชื่อทางอันตวิทยาของลัทธิบัวขาว และได้สืบทอดมาจนกลายเป็นคำสอนหลักของลัทธิอนุตตรธรรมในปัจจุบัน[2]
ความเชื่อนี้ระบุว่าในช่วงปลายกัป พระแม่องค์ธรรมได้แบ่งธรรมกาล (陽) ออกเป็น 3 ยุค คือ คือยุคเขียวของพระทีปังกรพุทธเจ้า ยุคแดงของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว และปัจจุบันคือยุคขาวของพระเมตไตรยพุทธเจ้า[3]
พัฒนาการ
ศาสนาพุทธในประเทศจีนมีความเชื่อว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคเสื่อมเนื่องจากเป็นช่วงปลายกัป ลัทธิบัวขาวซึ่งเกิดขึ้นสมัยราชวงศ์หยวนได้รับความเชื่อนี้แล้วนำมาพัฒนาต่อว่า เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระแม่องค์ธรรมได้แบ่งธรรมกาลออกเป็น 3 ยุค คือ คือยุคเขียว ยุคแดง และยุคขาว แต่ละยุคได้ส่งพระพุทธเจ้ามาปกครองแตกต่างกัน เพื่อทำหน้าที่ฉุดช่วยสรรพสัตว์ โดยยุคเขียวเป็นของพระทีปังกรพุทธเจ้า ยุคแดงของพระศากยมุนีพุทธเจ้า และยุคขาวของพระเมตไตรยพุทธเจ้าซึ่งจะมาถึงในอนาคต เมื่อสิ้นสุดแต่ละยุคจะมีงานชุมนุมชื่อหลงหัวฮุ่ย (จีน: 龍華會) จัดขึ้นที่วิมานของพระแม่องค์ธรรม[4] เพื่อให้ผู้ที่บรรลุธรรมในแต่ละยุคได้มาประชุมร่วมฉลองกันและถวายรายงานต่อพระแม่องค์ธรรม ความเชื่อนี้ได้สืบทอดและพัฒนาต่อมาในลัทธิเซียนเทียนเต้าและลัทธิอนุตตรธรรมตามลำดับ
ลัทธิอนุตตรธรรมยังได้ผสานความเชื่อเรื่องสามกัปสุดท้ายเข้ากับความเชื่อเรื่องไตรรัตน์ โดยถือว่าแต่ละยุคมีลัญจกรและสัจจคาถากำกับแต่งต่างกัน ดังนี้
ธรรมกาล | ระยะเวลา | ผู้ปกครองธรรมกาล | รหัสคาถา | ลัญจกร | จำนวนภัยพิบัติ | จำนวนผู้บรรลุธรรม (คน) | งานชุมนุมอริยะ |
ยุคเขียว | 1886 ปี (3,086-1,200 ก่อน ค.ศ.) | พระทีปังกรพุทธเจ้า | อู๋เลี๋ยงโซ่วฝอ (จีน: 無量壽佛) | รูปใบบัว | 9 | 200,000 | อิงเถาฮุ่ย (櫻桃會) |
ยุคแดง | 3,114 ปี (1,200 ก่อน ค.ศ. - ค.ศ. 1912) | พระศากยมุนีพุทธเจ้า | หนันอู๋อาหมีถัวฝอ (จีน: 南無阿彌陀佛) | รูปดอกบัว | 18 | 200,000 | ผันเถาฮุ่ย (蟠桃會) |
ยุคขาว | 10,800 ปี (ค.ศ. 1912 - ปัจจุบัน) | พระเมตไตรยพุทธเจ้า | อู๋ไท่ฝอหมีเล่อ (จีน: 無太佛彌勒)[5] | รูปรากบัว | 81 | 9,600,000 | หลงหัวฮุ่ย (龍華會) |
อ้างอิง
- ↑ ศภนิมิต (นามแฝง), คุณวิเศษแห่งวิถีอนุตตรธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป., หน้า 70-71
- ↑ "Three Stages Final Kalpa". Encyclopedia of Taiwan. 2013. สืบค้นเมื่อ 6 February 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ศุภนิมิต, สายทอง (พงศาธรรม ๑), กรุงเทพฯ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป., หน้า 18-21
- ↑ Naquin, Susan (1976). "Inspiration: The Organization and Ideology of White Lotus Sects" (PDF). Yale University Press. สืบค้นเมื่อ 6 February 2014.
- ↑ Introduction to I Kuan Dao Cult เก็บถาวร 2013-10-05 ที่ archive.today, TAOLEAKS.ORG, Retrieved 6 February 2014